มัชฌิมาปฏิปทาอันประเสริฐ
อันบุคคลผู้ปรารถนาจะใคร่พ้นจากวัฏสงสารสละเพศฆราวาส ออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว พึงปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา หรือหนทางสายกลางอันประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยองค์ 8 ประการ หรือเรียกว่า "มรรคมีองค์ 8" ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ประจักษ์แจ้งด้วยพระอนาวรณญาณอันวิเศษ มรรคมีองค์ 8 นี้เป็นเหตุให้เห็นแจ้งในอริยสัจ 4 อันประกอบด้วยทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจ มรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นเหตุปัจจัยให้รำงับกิเลสเป็นเหตุปัจจัยให้ตรัสรู้อริยสัจ เป็นเหตุปัจจัยให้เห็นแจ้งประจักษ์
ในพระนิพพานอันเป็นอมตะ
มรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นธรรมอันอุดมล้ำเลิศประเสริฐยิ่งของพระอริยเจ้า เปรียบประดุจสมเด็จบรมจักรพัตราธิราชผู้ทรงไว้ซึ่งพระเดชาคุณอันสูงส่ง เหล่าอริราชทั้งมวลย่อมสยดสยองมิอาจจะต้านทานต่อราชฤทธิ์ของพระองค์ได้ มรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นที่ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง เปรียบประดุจดังมหา มุทรอันเป็นที่ประชุมแห่งแม่น้ำทั้งปวง แม่น้ำน้อยใหญ่บรรดามีในโลกนี้ย่อมหลั่งไหลลงสู่มหาสมุทรทั้งสิ้น ฉันใดก็ดี มรรคมีองค์ 8 นี้ ก็เป็นองค์ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันประกอบด้วย สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 และโพชฌงค์ 7 ก็ฉันนั้น
1) สติปัฏฐาน 4 การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงประกอบด้วย
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม
2) สัมมัปปธาน 4 ความเพียรชอบ 4 อย่าง ได้แก่
1. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
2. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
3) อิทธิบาท 4 คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ ประกอบด้วยองค์ 4 คือ
1. ฉันทะ ความพอใจ หมายถึง ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
2. วิริยะ ความเพียร หมายถึง ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม อดทน
3. จิตตะ ความคิด หมายถึง ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่
4. วิมังสา ความไตร่ตรองหรือทดลอง หมายถึง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อบกพร่องในสิ่งที่ทำนั้น ตลอดจนคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง
4) อินทรีย์ 5 ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน ประกอบด้วย
1. สัทธา คือ ความเชื่อ
2. วิริยะ คือ ความเพียร
3. สติ คือ ความระลึกได้
4. สมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่น
5. ปัญญา คือ ความรู้ทั่วชัด
อินทรีย์ 5 มีองค์ประกอบเหมือนพละ 5 ที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะหมายความว่าเป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่าง ๆ ของตน คือ เป็นเจ้าในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธาความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงตามลำดับ
5) พละ 5 ธรรมอันเป็นกำลัง ประกอบด้วยองค์ 5 เช่นเดียวกับอินทรีย์ 5 ที่เรียกว่าพละ เพราะมีความหมายว่าเป็นพลัง ทำให้เกิดความมั่นคงซึ่งความไร้ศรัทธา เป็นต้น แต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้ พละหมวดนี้เป็นหลักปฏิบัติทางใจให้ถึงความหลุดพ้นโดยตรง
6) โพชฌงค์ 7 องค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้มี 7 ประการ คือ
1. สติ มีความรู้สึกตัวเต็มที่
2. ธัมมวิจยะ มีปัญญาเข้าใจธรรม
3. วิริยะ มีความเพียรพยายาม
4. ปีติ มีความอิ่มใจ
5. ปัสสัทธิ มีความสงบใจ
6. สมาธิ มีใจตั้งมั่น
7. อุเบกขา รู้จักปล่อยวางอารมณ์
มรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นยอดมงคลพิเศษแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เปรียบประดุจดังแก้วมณีอันเป็นยอดเวชยันต์ปราสาทแห่ง มเด็จพระอมรินทราธิราช หรือมิฉะนั้นก็เปรียบประดุจแก้วมณีโชติแปดเหลี่ยม อันบันดาลความสำเร็จแห่งมโนรถ อันตั้งปรารถนาในสิ่งทั้งปวงหรือมิฉะนั้นก็เปรียบประดุจดังเวชยันต์รถ ซึ่งเป็นยานอันประเสริฐของสมเด็จอมรินทราธิราชมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นยานอันอุดมอันสูงสุด ด้วยเหตุนี้ถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็จะบรรลุซึ่งพระนิพพานเป็นแน่แท้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree