สังคหวัตถุ ๑

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

สังคหวัตถุ ๑

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,   สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , สังคหวัตถุ ๑

 

๒๐ กันยายน ๒๔๙๖
นโม.....
ทานญฺจ เปยฺยวชฺชญจ.....

 

                     "พระรัตนตรัย" เป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายสิ่งอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว แยกโดยวัตถุออกเป็น ๓ คือ

พุทฺโธ เป็นเนมิตกนาม เกิดจาก พุทธรัตนะ

ธมฺโม เป็นเนมิตกนาม เกิดจาก ธรรมรัตนะ

สงฺโฆ เป็นเนมิตกนาม เกิดจากสังฆรัตนะ

                     แต่โดยอรรถประสงค์แล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ เป็นตัวพระพุทธศาสนาและมีอยู่ในตัวเราทุกคน

                     เหตุนี้พระบาลีจึงกล่าวไว้ว่า

                     นตฺถิ เม สรณํ..... "สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งของเรา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา"

                    บัดนี้ท่านทั้งหลายพากันมาบริจาคทานแก่พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ณ วัดปากน้ำถูก  "ทักขิไณยบุคคล" มี  ๘๐ กว่าบุคคล จึงได้ผลยิ่งใหญ่ไพศาล

                   "การบริจาคทาน ถ้าถูกทักขิไณยบุคคลก็เป็นผลยิ่งใหญ่ไพศาล ถ้าไม่ถูกทักขิไณยบุคคลแล้ว ผลนั้นก็ทรามต่ำลง ถ้าถูกทักขิไณยบุคคล ผลนั้นก็รุนแรงสูงขึ้น มีกำลังกล้าขึ้น"

                   ทักขิไณยบุคคล มี ๙  จำพวก เป็นบุคคลผู้ควรถวายทานให้

๑. พระอรหัตผลขั้นสูง

๒. พระอรหัตมรรค

๓. พระอนาคามิผล

๔. พระอนาคามิมรรค

๕. พระสกทาคามิผล

๖. พระสกทาคามิมรรค

 ๗. พระโสดาปัตติผล

 ๘. พระโสดาปัตติมรรค

 ๙. โคตรภูบุคคลผู้ที่มีธรรมกายทั้งพระภิกษุสามเณร เด็ก หญิงชายหลวงพ่อวัดปากน้ำขยายความในทางด้านปริยัติไว้ว่า

                    เมื่อบริจาคทานแด่ทักขิไณยบุคคล ได้ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ ประการแก่ปฏิคาหก ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของมหาชนทั้งหลาย คือ

๑. อายุ เจ้าของทานให้อายุ ชื่อว่าให้อายุแก่ตัวเองย่อมมีอายุยืนนาน

๒. วรรณะ เจ้าของทานให้ความสวยงามแก่ร่างกาย ชื่อว่าให้ความสวยงามแก่ตัวเอง คือ ความสดชื่นแห่งร่างกาย ผิวพรรณจึงผุดผ่องดึงดูดตา

๓.สุขะ เจ้าของทานให้ความสุขกายสบายใจ ชื่อว่าให้ความสุขแก่ตัวเอง มีความสบายกายสบายใจ

๔. พละ เจ้าของทานให้กำลัง (ทั้งกาย วาจา ใจ) ชื่อว่าให้กำลังแก่ตัวเองทั้งกาย วาจา ใจ

                  "กำลังทั้ง ๓ นี่แหละสำคัญนัก กำลังกาย เวลาจะใช้งานการด้วยกาย กำลังวาจาที่ต้องใช้วาจาโต้ตอบระหว่างประเทศต่อประเทศนั้น หรือเวลาพูดกับคน ก็ใช้วาจา กำลังใจที่จะคิดการงานใหญ่โตกว้างขวางออกไป"

๕. ปฏิภาณ เจ้าของทานให้ความเฉลียวฉลาด ชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดแก่ตัวเองในทุกสิ่งทุกอย่างและในหน้าที่ของตัว

                    ในหมู่มนุษยโลกจะมีความสุข อาศัยสังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ

                     ๑.ทาน คือการให้ มีตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล นับแต่มารดาบิดาที่อยู่ร่วมกัน ก็ต้องแบ่งปันกันทั้งเงินทอง เสื้อผ้า อาหาร การให้จึงเป็นข้อสำคัญนัก

                      "ทานการให้ เป็นหลักสำคัญที่จะให้ความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ให้" เช่น คนจีนรู้จักให้ก่อน จึงได้เป็นเถ้าแก่ใหญ่โตในประเทศอื่นได้

                      "อยู่ในสถานที่ใด ก็อย่าลืมทานการให้"

                       พ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกันต้องให้กัน แม่ให้นมลูก ที่กลั่นออกมาจากเงินแม่ เพราะนมนั้นกลั่นออกมาจากเงินทอง มารดาบริโภคอาหารเข้าไป อาหารก็ไปเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน แม้โตขึ้นพ่อและแม่ก็ยังช่วยกันเลี้ยงดูให้ได้ทุกอย่าง

                       "เพราะการให้อย่างนี้แหละถึงได้นามระบือลือเลื่องไปทั้งเมืองว่า พ่อและแม่"

                       "โลกจะจงรักภักดีซึ่งกันและกัน ก็เพราะอาศัยให้"

                        บุคคลใดโกรธเคืองด่าว่าเรา เราค่อยๆ ให้เขา พอให้แล้ว เขาก็เชื่อง ใช้เขาทำอะไรเขาก็ทำเลิกด่า เลิกอิจฉาริษยา พ่อแม่ได้รับความนับถือจากลูก ภรรยามัดใจสามีด้วยเสน่ห์ปลายจวักปรนนิบัติให้ดี

                        "ศาสนาพุทธอยู่ได้ด้วยการให้"

                         ถ้าทุกบ้านเลิกให้ข้าวปลาอาหารสักเดือน พระเณรสึก หายหมด ศาสนาดับ

                         ฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะสุขะ พละ ปฏิภาณ เป็นที่ปรารถนาของมหาชนทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต

                         ท่านเจ้าภาพที่มาบริจาคทาน จึงได้ชื่อว่าให้ความสุข ย่อมได้รับความสุขนั้นด้วย ได้ชื่อว่าทานนั้นย่อมมีผล

                        "พระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพาน มาให้ทานอย่างนี้ท่านก็มามากเหมือนกันเต็มหมดในศาลา ในหมู่พระก็เต็มหมด ในหมู่อุบาสก อุบาสิกาก็เต็มหมด"

                        "พระพุทธเจ้าท่านก็คอยดูสอดญาณส่องญาณคอยดู ได้รับความสุขแค่ไหน ได้รับความทุกข์แค่ไหนท่านก็ช่วยเหลือเผื่อแผ่ คอยแก้ไข บำบัดความทุกข์บำรุงความสุขให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เพราะอาศัยพระพุทธเจ้าอยู่ลับๆ เรานับได้ในประเทศไทย พระพุทธเจ้ามีจริงๆ ในที่ลับๆ ประเทศนิดเดียวเท่านี้แหละเป็นเอกราชอยู่ได้ ปืนผาหน้าไม้ทำกับเขาไม่เป็น เรือแพนาวาเรือยนต์กลไฟต่อไม่ได้ทั้งนั้น แต่ว่าเป็นเอกราชได้ แปลกเหลือเกิน เป็นเอกราชได้ด้วยอะไร นี่เป็นเอกราชด้วยพุทธศาสนา ด้วยพระพุทธเจ้าท่านคอยดูแลแก้ไข รักษาชาติศาสนาของท่านไว้ให้ ศาสนาดำรงอยู่ เพราะหมดทั้งชมพูทวีป ศาสนาเดี๋ยวนี้แน่นหนาอยู่ในเมืองไทยเท่านั้น"

                        บริจาคทานกับทักขิไณยบุคคล ได้ชื่อว่าเป็นบุญใหญ่ เมื่อเจ้าภาพ สละไทยธรรมถวายแด่พระภิกษุท่านรับไปเป็นสิทธิ์ของท่านจะบริโภค หรือให้ต่อก็ได้

                        "ขาดจากสิทธิ์ของผู้ให้ขณะใด ขณะนั้นแหละ "ปุญญาภิสันธา" บุญไหลมาจากสายธาตุสายธรรมของตัวเองโดยอัตโนมัติ เข้าสู่อัตโนมัติ คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ในกลางมนุษย์นี้ กลางดวง นั้นแหละเป็นที่ตั้งของบุญ"

                        "บุญไหลมาติดกลางดวงนั้น เหมือนยังกับไฟติดอยู่ในหลอดไฟฟ้า"

                        ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นี้ บุญมากเท่าไรก็ใส่เข้าไปไม่เต็ม

                        วันนี้เจ้าของทานและคณะทุกคน ได้บุญกุศลใหญ่วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑,๐๐๐ วา เป็นดวงกลม ติดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เพราะทำกับทักขิไณยบุคคล ให้เอาใจนึกอยู่ตรงดวงบุญใหญ่นั้น

                        เมื่อมีภัยให้จรดอยู่ที่ดวงบุญนั้น นึกถึงบุญกุศลที่ทำ เป็นที่พึ่ง แม้พระพุทธเจ้าก็นึกถึงบุญของท่าน คือบารมี ๑๐ทัศ แม่พระธรณีผุดขึ้นมา รูดน้ำที่พระองค์ทรงกรวดเป็นทะเลท่วมพญามาร

                        การหยุดนิ่งอยู่ที่ดวงธรรม ถูกดวงบุญพอดีทานก็สำเร็จเป็นบุญ เรียก ทานญฺจ

                        ๒.ปิยวาจา มีพวกพ้องแล้วก็ต้องมีวาจาไพเราะ เป็นที่ดึงดูดใจให้สมัครสมานในกันและกัน ไม่กระทบกระเทือนต่อคนทุกชนชั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นคนสุภาพ มีมารยา คนอยากฟังแล้วอยากฟังอีก

                        ๓. อัตถจริยา ประพฤติให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ อย่าเอาแต่ความสุขส่วนตัวสุขเสมอทั่วหน้ากัน เช่นมีลูกต้องเลี้ยงให้ได้ปริญญา ได้ชื่อว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกก่อน "ลูกกตัญญู

                        คนเดียวเท่านั้นแหละ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ให้เป็นสุขเหมือนเทวดาได้"

                        อบรมให้ลูกหลาน คนใกล้เคียง วงศาคณาญาติเลี้ยงตัวเองได้ มีวิชาความรู้ให้ความสุขแก่ มนุษย์เพื่อนบ้าน

                         "ทางพุทธศาสนาต้องการนัก ภิกษุบวชก่อน ประพฤติตัวให้เป็นตำรับตำราต่อภิกษุบวชหลัง เป็นลำดับไป นี้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน"

                         ๔. สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมนั้นๆ ในบุคคลนั้นๆ เช่น เราจะเข้าไปในหมู่คณะใด จะชาติภาษาใด ต้องไม่ให้กระทบกระเทือนวาจา ใจ เสมอเขาด้วยความพอเหมาะพอดี เหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนคนคนเดียวกัน

                          โลกได้รับความสุขเพราะธรรมทั้ง ๔ นี้

                          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

                           เอเต โข สงฺคหา.... "ความสงเคราะห์ในโลกเรานี้ เหมือนลิ่มสลักเพลารถที่แล่นไปอยู่ฉะนั้น" คือถ้าลิ่มสลักเพลาไม่มี กงรถก็หลุดจากเพลา แล่นไปไม่ได้ฉันใด โลกที่คับขันจะได้ความร่มเย็นเป็นสุขก็ด้วยอาศัยความเกื้อกูลสงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างนี้

                            "ท่านเจ้าภาพได้ประพฤติสงเคราะห์เช่นนี้ เพราะดำเนินด้วยคติของปัญญาจึงได้ให้ความสุขแก่คนมากถึงขนาดนี้ เมื่อให้ความสุขแก่คนมากขนาดนี้ ก็เป็นผู้น่าสรรเสริญชมเชย น่าเลื่อมใสเป็นตัวอย่างที่ดีในยุคนี้ และต่อไปในภายหน้า.....พึงรักษาให้ดำรงและทวีขึ้นเป็นลำดับไป"

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028646814823151 Mins