ธรรมจักร ยานสู่พระนิพพาน

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

ธรรมจักร ยานสู่พระนิพพาน

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , ธรรมจักร ยานสู่พระนิพพาน , ธรรมจักร

      คำว่า จักร โดยทั่วไปหมายถึง ล้อ เมื่อนำไปประสมกับคำอื่น เช่น จักรเกวียน ก็หมายถึงล้อเกวียน จักรรถ ก็หมายถึงล้อรถ ล้อย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ กง กำ และดุม

       กง หมายถึงส่วนที่เป็นวงล้อ
       กำ หมายถึงส่วนที่เป็นซี่ล้อซึ่งเชื่อมระหว่างกงกับดุม
       ดุม หมายถึงส่วนกลางของล้อ เป็นที่รวมของกำและเป็นที่ อดเพลา

     ส่วนประกอบทั้งสามสิ่งคือ กง กำ และดุม หากแบ่งแยกกันอยู่ก็ยังไม่เรียกว่า วงล้อ หรือ วงจักร ต่อเมื่อนายช่างผู้ชาญฉลาดนำดุมมาเจาะ แล้วติดกำเข้ากับดุม แล้วเอากงมาสวมเข้าตรงปลายกำ เชื่อมโยงกัน ควบคุมกันเข้าเป็นอันดีแล้ว จึงได้ชื่อว่าจักรเกวียน หรือจักรรถ

     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ประกอบด้วยองค์ 3 คือ

1. โพธิปักขิยธรรม ซึ่งอุปมาเสมือนเป็นดุม
2. ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งอุปมาเสมือนเป็นกำ
3. อริยสัจ 4 ซึ่งอุปมาเสมือนเป็นกง

     จากการที่ทรงอุปมาเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างธรรมทั้ง 3 หมวด โดยเหตุนี้จึงมีชื่อว่า "ธรรมจักร" ในทำนองเดียวกับจักรเกวียน หรือจักรรถ ซึ่งส่วนประกอบต่างๆ มีดุม กำ และกง เป็นต้น ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน หากส่วนประกอบทั้ง 3 นี้ ถูกแยกออกจากกัน ก็ไม่เรียกว่าจักรเกวียน หรือจักรรถ

    ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ถ้าตรัสแสดงเฉพาะอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วยทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจพระธรรมเทศนานั้นก็ได้ชื่อว่าอริยสัจ 4 มิได้มีชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ถ้าตรัสแสดงเฉพาะโพธิปักขิยธรรม พระธรรมเทศนานั้นก็จะได้ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรม มิได้ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ถ้าเมื่อใดพระพุทธองค์ตรัสเทศนาครบทั้ง 3 หมวด คือ โพธิปักขิยธรรม ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ โดยมีความสัมพันธ์ตลอดถึงกัน พระธรรมเทศนานั้นจึงได้ชื่อว่า "ธรรมจักร" หรือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"เปรียบเสมือนหนึ่งนายช่างได้ประกอบดุม กำ และกงเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลายเป็น "จักรเกวียน" หรือ "จักรรถ" ฉะนั้น

     แม้สำหรับอริยสัจที่ทรงเปรียบเสมือนเป็นกงนั้น ถ้าทรงแสดงไม่ครบทั้ง 4 หัวข้อ คือ อาจจะทรงแสดงเพียง 2 หรือ 3 หัวข้อ ก็ไม่ทรงถือว่าเป็น "กง" ของธรรมจักร ต่อเมื่อได้แสดงครบบริบูรณ์ทั้ง 4 ประการ คือ ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจแล้วจึงจัดเป็นกงแห่งธรรมจักรได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การทำกงเกวียนหรือกงรถก็มีอุปไมยฉันนั้นเพราะตามธรรมดานายช่างที่ทำกงเกวียนหรือกงรถแต่ละอันจะต้องใช้ไม้มะขาม 4 ชิ้นประกอบกันถ้ามีไม้มะขามไม่ครบ 4 อัน ย่อมไม่สามารถทำกงเกวียนหรือกงรถได้สมความปรารถนา

   ส่วนปฏิจจสมุปบาทธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกำแห่งธรรมจักรนั้นเล่า ทรงจัดไว้ 12 กำด้วยกัน คือ (1) อวิชชา (2)สังขาร (3) วิญญาณ (4) นามรูป (5) สฬายตนะ (6) ผัสสะ (7) เวทนา (8) ตัณหา (9) อุปาทาน (10) ภพ (11) ชาติ (12) ชรา มรณะ

     สำหรับโพธิปักขิยธรรมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นดุมแห่งพระธรรมจักรนั้น ทรงจัดไว้ 37 ประการด้วยกัน คือ ติปัฏฐาน 4สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8 ธรรมทั้ง 37 ประการนี้จัดเป็นดุมแห่งธรรมจักรก็เพราะเป็นที่ประชุมแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรม อันประกอบด้วยอวิชชาและสังขาร เป็นต้น ตามธรรมดากำเกวียน และกำรถทุกซี่ย่อมประชุมลงในดุม จะหาวงล้ออันใดปราศจากดุมย่อมไม่มี ข้อนี้มีอุปมาฉันใดโพธิปักขิยธรรมทั้ง 37 ก็มีอุปไมยฉันนั้น

    แท้จริงแล้วผู้เจริญภาวนาในขณะที่เจริญสติปัฏฐานสัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และมรรคมีองค์ 8 อยู่นั้น ย่อมจะต้องพิจารณาสังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เป็นอารมณ์ควบคู่กันไปด้วย ด้วยเหตุนี้โพธิปักขิยธรรมทั้ง 37 จึงจัดเป็นดุม ซึ่งเป็นที่ประชุมของกำ อันได้แก่ ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง

     พระธรรมเทศนาอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนานั้น มีโพธิปักขิยธรรมเป็นดุมมีปฏิจจสมุปบาทเป็นกำ มีอริยสัจเป็นกง การตรัสเทศนาแต่ละครั้งย่อมมีเนื้อหาสาระเกี่ยวเนื่องกัน ขณะที่ทรงแสดงเรื่องดุม ย่อมเกี่ยวเนื่องกับกำและกงโดยตลอด ขณะที่ทรงแสดงเรื่องกงก็กระทบถึงกำและดุม ขณะที่ทรงแสดงเรื่องกำก็มีนัยเกี่ยวเนื่องครอบคลุมทั้งดุมและกงจะมีนัยเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งนั้นหามิได้ แต่มีอรรถหรือเนื้อความสัมพันธ์กันโดยตลอดทั้งสามส่วน ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า "ธรรมจักร"

 


*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0084229826927185 Mins