อริยสัจ 4

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

อริยสัจ 4

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจ 4  , ศิลปะแห่งการตรัสเทศนาอริยสัจ

ศิลปะแห่งการตรัสเทศนาอริยสัจ

   ดังได้กล่าวแล้วว่า ในการตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอรรถาธิบายหมวดธรรมต่าง ๆ แต่ละหมวดโดยมีเนื้อความสัมพันธ์กันโดยตลอด ไม่เฉพาะแต่ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเท่านั้น แม้เพียงแต่การตรัสเทศนา เฉพาะอริยสัจที่จัดเป็นกงนั้น เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเทศนาทุกขอริยสัจ ก็จะมีเนื้อความกระทบถึงสมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจ หรือเมื่อตรัสเทศนาสมุทัยอริยสัจ ก็จะมีเนื้อความกระทบถึงทุกขอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจ ขณะเมื่อตรัสเทศนานิโรธอริยสัจก็มีเนื้อความกระทบถึงทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ และมรรคอริยสัจ ขณะเมื่อตรัสเทศนามรรคอริยสัจ ก็มีเนื้อความกระทบถึงทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ และนิโรธอริยสัจ สรุปได้ว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเทศนาอริยสัจแต่ละข้อ ๆ ย่อมมีอรรถหรือเนื้อความครบทั้ง 4 ประการ

1. อรรถแห่งทุกขอริยสัจ
       เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเทศนาทุกขอริยสัจ ก็จะมีอรรถครบ 4 ประการ คือ

1. มีอรรถว่าเบียดเบียน
2. มีอรรถว่าปัจจัยประชุมแต่ง
3. มีอรรถว่าเดือดร้อน
4. มีอรรถว่าแปรปรวน

       1. ทุกข์ มีอรรถว่าเบียดเบียน นี้เป็นลักษณะแห่งทุกขอริยสัจโดยแท้ มีอยู่ 12 ประการ คือ

1.1 ชาติ ได้แก่ ทุกข์ประจำ อันบังเกิดแก่สัตว์ที่ถือกำเนิดอยู่ในวัฏสงสาร

1.2 ชรา ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะทำให้อินทรีย์ร่างกายทรุดโทรม คร่ำคร่า วิกลวิปริต

1.3 พยาธิ ได้แก่ ทุกข์อันเกิดจากความเจ็บไข้ ทำให้ได้ประสบทุกขเวทนาด้วยประการต่าง ๆ

1.4 มรณะ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะตัดเสียซึ่งชีวิต

1.5 โสกะ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะทำให้เดือดร้อน พลุ่งพล่าน กระวนกระวาย อัดอั้นตันใจ เหมือนมีไฟสุมอยู่ในอก แห้งใจ

1.6 ปริเทวะ ได้แก่ ทุกข์อันเป็นเหตุให้ร่ำไห้ หลั่งน้ำตาฟูมฟาย น้ำตานองหน้า

1.7 ทุกขะ ได้แก่ ลักษณะที่ทำให้จิตใจ ลดหดหู่ หมดกำลังใจ ไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ ได้

1.8 โทมนัสะ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะที่ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ขัดใจ และขึ้งเคียด

1.9 อุปายาสะ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะทำให้สะอื้นไห้เพราะความอาลัยอาวรณ์

1.10 อัปปิเยหิสัมปโยคะ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะทำให้ขัดข้องหมองมัว ตรอมใจด้วยเหตุที่ต้องประสบสิ่งอันมิได้เป็นที่รัก

1.11 ปิเยหิวิปปโยคะ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะทำให้โศกศัลย์โศกา เมื่อพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก

1.12 ยัมปิจฉัง นลภติ ได้แก่ ทุกข์อันมีลักษณะทำให้หม่นหมอง หมกมุ่น วุ่นวายใจในขณะที่ปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่สมปรารถนา

    กองทุกข์ทั้ง 12 ประการนี้ ย่อมเบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากนานัปการเกิดมาเป็นสัตว์มีชีวิตแล้วสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนก็คือจะต้องถูกทุกข์เบียดเบียน จะมีผู้ใดปราศจากทุกข์นั้นหามิได้เลย ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาถึงอรรถประการแรกว่า "ทุกข์นั้นมีลักษณะเบียดเบียน"

     2. ทุกข์ มีอรรถว่าปัจจัยประชุมแต่ง อรรถประการที่ องนี้ ได้ตรัสอธิบายเกี่ยวเนื่องไปถึงสมุทัยอริยสัจ โดยทรงแสดงพระธรรมเทศนามีใจความสำคัญว่า กองทุกข์นี้บังเกิดขึ้นก็เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัยประชุมแต่งสิ่งอื่นใดที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ยิ่งไปกว่าตัณหานั้นไม่มีอีกแล้ว

     3. ทุกข์ มีอรรถว่าเดือดร้อน อรรถประการที่สาม ทรงแสดงอรรถาธิบายเกี่ยวพันถึงมรรคอริยสัจโดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่า กองทุกข์ทั้งปวงจะกระทำให้สัตว์เดือดร้อนระส่ำระสาย ก็เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายมัวเมา ตั้งอยู่ในความประมาท ขาดความอุตสาหะในการปฏิบัติตามมรรคอริยสัจอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ถ้าสัตว์ทั้งหลายอุตสาหะเพียรพยายามปฏิบัติตามมรรคอริยสัจแล้ว กองทุกข์ทั้งปวงก็จะไม่บังเกิดขึ้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์จะทรงชี้ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ตลอดถึงมรรคอริยสัจ จึงทรงแสดงอรรถแห่งทุกขอริยสัจในคำรบสามนี้

    4. ทุกข์ มีอรรถว่าแปรปรวน อรรถประการที่สี่นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงอรรถาธิบายเกี่ยวเนื่องตลอดถึงนิโรธอริยสัจ ทรงมีพระพุทธประสงค์จะแสดงให้เห็นว่า กองทุกข์ทั้งปวง มีชาติทุกข์หรือทุกข์แห่งการเกิด เป็นต้น จะกระทำให้สัตวโลกเดือดร้อนถึงซึ่งวิปริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะเหตุที่ยังมิได้สำเร็จนิโรธอริยสัจคือพระนิพพาน เมื่อใดท่านผู้มีวาสนาบารมี มีปัญญาแก่กล้าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว เมื่อนั้นกองทุกข์ทั้งปวงก็จะอันตรธานไปสิ้น จะประสบแต่ความสุขชั่วนิรันดร์ ที่จะแปรปรวนวิปริตตกไปอยู่ในอำนาจทุกข์นั้นจะไม่มีเป็นอันขาด ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะชี้ให้เห็นความชัดตลอดถึงนิโรธอริยสัจ จึงทรงแสดงอรรถแห่งทุกขอริยสัจประการที่ 4


2. อรรถแห่งสมุทัยอริยสัจ
      สำหรับสมุทัยอริยสัจนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอรรถไว้ 4 ประการเหมือนกัน คือ

1. มีอรรถว่าประมวลมา
2. มีอรรถว่าเป็นเหตุ
3. มีอรรถว่าประกอบการ
4. มีอรรถว่าเป็นกังวล

    1. สมุทัย มีอรรถว่าประมวลมา อรรถประการแรกนี้เป็นลักษณะแห่งสมุทัยอริยสัจโดยตรง กล่าวคือตัณหานั้นเป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นพนักงานตกแต่งกองทุกข์ให้แก่สัตว์ทั้งปวงไม่เลือกหน้า ตัณหานั้นแบ่งออกโดยสังเขปได้ 2 ประการ คือ

1.1 อัตตัตถะตัณหา คือ ปรารถนาจะให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ต้องการจะให้ทรัพย์ศฤงคารและบริวารทั้งปวงมาเป็นของตน

1.2 ปรัตถะตัณหา คือ ปรารถนาจะช่วยบุคคลที่ตนรักใคร่ มีบุตรภรรยา เป็นต้นความปรารถนาทั้งสองประการนี้ ถ้าไม่สมประสงค์จำนงหมาย ก็ย่อมก่อให้เกิดทุกข์อยู่เนือง ๆ แม้ได้สำเร็จสมประสงค์ แต่ได้มาชักช้าไม่รวดเร็วทันใจปรารถนา ก็ย่อมเกิดอารมณ์เศร้าหมองกระวนกระวายกระสับกระส่ายอยู่มิรู้วาย อันกองทุกข์ทั้งปวงที่บังเกิดแก่สรรพสัตว์ในไตรภพ ล้วนบังเกิดด้วยอำนาจแห่งตัณหาทั้งสิ้น แม้สัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น ตัวเรือดและตัวไรก็ย่อมบังเกิดทุกข์ เพราะเหตุมีความปรารถนาตามวิสัยแห่งตนที่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ขึ้นชื่อว่าประกอบอยู่ด้วยความปรารถนาคือตัณหาแล้ว ก็ย่อมประกอบอยู่ด้วยความทุกข์และอุปัทวันตรายต่าง ๆ อันความทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญที่บังเกิดแก่สัตว์ทั้งปวง ก็เพราะตัณหาตกแต่งให้ ตัณหาประมวลมาทุกสิ่งทุกประการสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นลักษณะแห่งสมุทัยอริยสัจ จึงทรงมีพระดำรัสเทศนาประการที่ 1

     2. สมุทัย มีอรรถว่าเป็นเหตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะประทานอรรถาธิบายให้เห็นชัดว่า กองทุกข์จะมีแก่ รรพสัตว์ทั้งปวง ก็ด้วยอาศัยตัณหาเป็นเหตุ มีเหตุคือตัณหาแล้วก็ย่อมจะยังผลให้เกิดตามมา นั่นคือกองทุกข์ทั้งปวง มีชาติทุกข์เป็นสิ่งแรก และสิ่งสำคัญพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง ระหว่างทุกขอริยสัจและสมุทัยอริยสัจ จึงทรงแสดงอรรถประการที่ 2

    3. สมุทัย มีอรรถว่าประกอบการ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะประทานอรรถาธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสมุทัยอริยสัจกับนิโรธอริยสัจ จึงทรงมีพระดำรัสเทศนาว่า การที่ตัณหาประกอบสัตว์ทั้งปวงไว้ในวัฏสงสาร ก็เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งปวงยังมิได้ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน แต่ยังมีสันดานมืดมนอยู่ด้วยราคะ โทสะ โมหะ ตัณหาจึงสามารถประกอบสัตว์ทั้งปวงไว้ในอำนาจ ให้เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารหาที่สิ้นสุดมิได้

    4. สมุทัย มีอรรถว่าเป็นกังวล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ชัดว่าสัตว์ทั้งหลายล้วนมีธุระกังวลอยู่ด้วยกิเล กามและวัตถุกาม ไม่สามารถเปลื้องความกังวลนี้ได้ก็เพราะเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามมรรคอริยสัจ 8 ประการ ถ้าหากปฏิบัติตามมรรคอริยสัจแล้ว ก็อาจจะเปลื้องความกังวลในกามทั้งปวงเสียได้ คือหลุดพ้นจากอำนาจแห่งตัณหาเสียได้ นี้คือพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสมุทัยอริยสัจกับมรรคอริยสัจ


3. อรรถแห่งนิโรธอริยสัจ
     สำหรับนิโรธอริยสัจก็มีอรรถอยู่ 4 ประการเหมือนกัน คือ

1. มีอรรถว่ารื้อตนออก
2. มีอรรถว่าสิ้นความกังวล
3. มีอรรถว่าหยุดคิดปรุงแต่ง
4. มีอรรถว่าเป็นอมตะ คือไม่ตาย

    1. นิโรธ มีอรรถว่ารื้อตนออก อรรถข้อแรกนี้เป็นลักษณะอันแท้จริงของนิโรธอริยสัจ กล่าวคือ บุคคลใดบรรลุพระนิพพานแล้ว บุคคลนั้นย่อมยกตนพ้นออกไปจากวัฏสงสารไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดกันอีก

     2. นิโรธ มีอรรถว่าสิ้นความกังวลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าสัตว์ทั้งปวงจะเป็นธุระกังวลอยู่ด้วยกิเล กามและวัตถุกาม ทั้งนี้เพราะมีสันดานประกอบอยู่ด้วยตัณหาถ้าตัดตัณหาได้ขาดจากสันดาน ก็จะทำให้สิ้นธุระกังวลทั้งปวง และปราศจากทุกข์ทั้งปวงนั่นคือบรรลุพระนิพพาน พระธรรมเทศนาย่อมชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนิโรธอริยสัจกับสมุทัยอริยสัจ

     3. นิโรธ มีอรรถว่าหยุดคิดปรุงแต่ง พระธรรมเทศนาข้อนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนิโรธอริยสัจกับมรรคอริยสัจ โดยประทานพระธรรมเทศนาว่า พระโยคาวจรเจ้าผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นว่านายช่างคือตัณหาย่อมตกแต่งเรือนคือรูปกายให้แก่สัตว์ทั้งปวง ให้สัตว์ทั้งปวงเวียนทุกข์เวียนทนวิบากอยู่ในเรือนของตน ถ้าหากผู้ใดต้องการจะหลบลี้หนีไปจากรูปกายอันปรุงแต่งไว้ด้วยตัณหา ก็จะต้องปฏิบัติตามมรรคอริยสัจ ให้ใจหยุดคิดปรุงแต่งให้ได้ นั่นคือ หยุดเป็นตัวสำเร็จ

    4. นิโรธ มีอรรถว่าเป็นอมตะคือไม่ตาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างนิโรธอริยสัจกับทุกขอริยสัจ จึงประทานอรรถาธิบายว่า นิโรธอริยสัจนั้นเป็นน้ำอมฤตที่จะระงับโรคคือทุกข์ทั้งปวง กล่าวคือกองทุกข์ทั้ง 12 ประการดังได้กล่าวมาแล้วนั้น เปรียบเสมือนโรคอันทำให้บุคคลเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสาร หากได้ดื่มน้ำอมฤต คือนิโรธอริยสัจแล้ว โรคทั้ง 12 ประการย่อมระงับดับหายไปสิ้นเป็นแน่แท้


4. อรรถแห่งมรรคอริยสัจ
     สำหรับมรรคอริยสัจก็มีอรรถ 4 ประการเช่นเดียวกัน คือ

1. มีอรรถว่านำตนออกจากภพ
2. มีอรรถว่าเป็นเหตุ
3. มีอรรถว่าสำแดงออก
4. มีอรรถว่าเป็นใหญ่

    1. มรรค มีอรรถว่านำตนออกจากภพ อรรถข้อนี้เป็นลักษณะของมรรคอริยสัจโดยแท้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษปรารถนาจะข้ามมหาสมุทร คือวัฏสงสาร จะต้องอาศัยมรรคอริยสัจเป็นเสมือนสำเภาธรรมอันล้ำเลิศมีขนาดใหญ่มหึมา แม้จะประสบพายุกล้าสักเพียงใดสำเภานั้นก็ไม่เอียง ไม่โคลง ไม่เพียบ ไม่จม ไม่แตกทำลาย ไม่สะทกสะท้าน แต่จะแล่นฉิวไปอย่างราบเรียบ ในไตรภพนี้จะหาสำเภาลำใดเทียบด้วยสำเภามรรคอริยสัจใช้ข้ามโลกิยสมุทรไปนั้น อย่าได้หาเลย

     อันโลกิยสมุทรนี้เต็มเปียมไปด้วยน้ำ อันเปรียบเสมือนปริเทวทุกข์ โทมนัสทุกข์ และอุปายาสทุกข์ ลักษณะที่บุคคลร่ำไห้พิรี้พิไรด้วยความแค้นเคืองขัดใจ โศกาอาลัยสะอื้นไห้แทบไม่สมประดีนั้น จัดเป็นน้ำในโลกิยสมุทร อันประกอบด้วยระลอกใหญ่หลวงมหึมาซึ่งเปรียบได้กับชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ หรือการเกิด แก่ เจ็บ ตายนั่นเอง

   ในโลกิยสมุทรย่อมเต็มไปด้วยผีเสื้อสมุทรและปลาร้ายทั้งหลายเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งเปรียบได้กับโลภะ โทสะ โมหะ และมัจฉริยธรรม คือความตระหนี่ โลกิย มุทรนี้ล้ำลึกยิ่งนักนอกจากสำเภามรรคอริยสัจแล้วก็ไม่มีสำเภาลำใดแล่นข้ามไปได้ ขืนแล่นไปก็รังแต่จะอับปางแตกทำลายลง เพราะไม่สามารถจะต้านทานระลอกคลื่นและลมได้ เสาและใบก็จะหักพินาศลงเป็นเสี่ยง ๆ ฝูงคนก็จะประสบความพินาศฉิบหายกลายเป็นภักษาหารของเหล่ามัจฉาชาติอันดุร้ายไปเสียเท่านั้น ทะเลใดจะมีลมพายุกรรโชกกล้ารุนแรงเหมือนทะเลโลกีย์นี้หามิได้อีกแล้วกระนั้นก็ตามสำเภาอันอุดม คือมรรคอริยสัจนี้เท่านั้นที่จะสามารถบรรทุกประชุมชนทั้งหลายให้ข้ามพ้นทะเลโลกนี้ไปได้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาจะชี้ให้เห็นความยิ่งใหญ่ของมรรคอริยสัจ จึงทรงแสดงอรรถประการที่หนึ่งตายนัยดังกล่าวแล้ว

     2. มรรค มีอรรถว่าเป็นเหตุ สำหรับอรรถที่สองนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมรรคอริยสัจกับสมุทัยอริยสัจ โดยทรงชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่ปรารถนาจะข้ามไปให้พ้นทะเลโลก แต่ยังข้ามมิได้ ก็เพราะเหตุที่ยังมีสันดานเกลือกกลั้วอยู่ด้วยตัณหาอยู่เป็นนิจนิรันดร์ ขาดปัญญาที่จะพิจารณาโทษอันเลวร้ายแห่งตัณหามิหนำซ้ำยังมีอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นส่งเสริมกำลังแห่งตัณหาให้ทวีพลังแก่กล้ายิ่งขึ้นอีกสุดที่องค์ปัญญาจะหักรานตัณหาลงได้ จึงไม่รู้จักแสวงหาสำเภา คือมรรคอริยสัจผลก็คือไม่อาจจะข้ามทะเลโลกไปได้

  ถ้าบุคคลมีปัญญาอันเป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ในกมลสันดานแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอุปัทวันตรายต่าง ๆ เมื่อเล็งเห็นโทษแห่งตัณหาแล้ว พยายามปฏิบัติตามทางแห่งมรรคอริยสัจ ขวนขวายหาสำเภาคือมรรคอริยสัจได้แล้ว ก็จะพาตนเองให้พ้นจากโลกิยสมุทรได้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระราชประสงค์จะชี้ให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมรรคอริยสัจและสมุทัยอริยสัจ จึงทรงแสดงอรรถประการที่สองนี้

     3. มรรค มีอรรถว่าสำแดงออก ในข้อนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะชี้ให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมรรคอริยสัจกับนิโรธอริยสัจ จึงทรงแสดงอรรถาธิบายว่า มรรคอริยสัจนี้เป็นอุบายที่จะแสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งในนิโรธอริยสัจ คือ เมื่อปฏิบัติตามมรรคอริยสัจแล้ว ก็จะสามารถพบเห็นนิโรธอริยสัจ คือพระนิพพานเป็นแน่แท้

     4. มรรค มีอรรถว่าเป็นใหญ่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอรรถาธิบายว่ามรรคอริยสัจนี้ยิ่งใหญ่ในอันที่จะรำงับทุกข์ทั้งปวง กองทุกข์ทั้งปวงจะดับสูญก็ด้วยการปฏิบัติตามมรรคอริยสัจ อันมรรคอริยสัจนี้อุปมาเสมือนโอ ถและมนตราอันวิเศษสำหรับรำงับพิษแห่งโรคร้าย คือทุกข์ทั้งปวง หรือมิฉะนั้นมรรคอริยสัจก็อุปมาเสมือนท่อธารน้ำฝนซึ่งตกลงมาจากฟากฟ้า ย่อมยังให้พืชพันธุ์ไม้และข้าวกล้ามีผลบริบูรณ์ปราศจากฉาตกภัย คือภัยอันเกิดจากการอดอาหารเพราะความแห้งแล้ง มรรคอริยสัจนี้เป็นใหญ่เป็นประธานในอันที่จะรำงับทุกข์ทั้งปวง ในอรรถนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานอรรถาธิบายชี้ให้เห็น ความสัมพันธ์ระหว่างมรรคอริยสัจกับทุกข์อริยสัจ ตามนัยดังกล่าวแล้ว


5. สัมพันธภาพระหว่างอรรถแห่งอริยสัจ
  ในอริยสัจทั้ง 4 หมวดนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงลักษณะของแต่ละหมวดไว้ในอรรถประการแรก เช่น ในทุกขอริยสัจได้ตรัสเทศนาถึงลักษณะของทุกขอริยสัจว่าเบียดเบียน ในสมุทัยอริยสัจได้ตรัสเทศนาถึงลักษณะของสมุทัยอริยสัจว่า ประมวลมา ในนิโรธอริยสัจได้ตรัสเทศนาถึงลักษณะของนิโรธอริยสัจว่า รื้อตนออก ในมรรคอริยสัจได้ตรัสเทศนาถึงลักษณะของมรรคอริยสัจว่า นำตนออกจากภพ

    สำหรับทุกขอริยสัจนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาให้เว้นอรรถประการแรก ซึ่งแสดงลักษณะแห่งทุกข์ 12 ประการ และให้หันมาพิจารณาอรรถประการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ ในอรรถที่ 2 แม้จะเป็นอรรถแห่งทุกขอริยสัจแต่ก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสมุทัยอริยสัจส่วนอรรถที่ 3 แม้จะเป็นอรรถแห่งทุกขอริยสัจ แต่ก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับมรรคอริยสัจส่วนอรรถที่ 4 นั้นเล่า แม้จะเป็นอรรถแห่งทุกขอริยสัจ แต่ก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับนิโรธอริยสัจ

    ในทำนองเดียวกัน อรรถประการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในสมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจ ล้วนมีความสัมพันธ์กับอริยสัจหมวดอื่น ๆ ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแล้ว

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.088849532604218 Mins