ทำไม..ต้องสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหน้าพระมหาธรรมกายเจดีย์ ?
การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหน้าพระมหาธรรมกาย เป็นการปฏิบัติบูชา ซึ่งถือเป็นการบูชาอย่างสูงสุด เพราะจะทำให้ผู้ปฏิบัติบูชามีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพิ่มขึ้น จนสามารถหมดกิเลสเข้านิพพานได้โดยง่าย
อีกทั้งการปฏิบัติบูชาหน้าพระมหาธรรมกายเจดีย์ ยังเท่ากับเป็นการปฏิบัติบูชาต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรซึ่งเป็นองค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงล้านพระองค์ เนื่องจากการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวยังได้อานิสงส์สุดจะนับจะประมาณมิได้เลย และถ้าบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงล้านพระองค์ จะได้อานิสงส์มากขนาดไหนก็ลองคิดดูเถิด เพราะการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์จะมีพระชนม์ชีพอยู่หรือปรินิพพานนานแล้ว แต่ถ้าผู้บูชามีจิตเลื่อมใสเสมอกัน บุญย่อมได้เท่ากัน !!
อานิสงส์จากการใช้เสียงด้วยจิตเลื่อมใสทำให้ไปเกิดเป็นโฆษกเทพบุตร
หากศึกษาจาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ 2 อัปปมาทวรรควรรณนา เรื่องพระนางสามาวดี ในช่วงเรื่องของ โฆษกเทพบุตร จะทำให้เราเห็นอานิสงส์ผลบุญจากการบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยเสียงอย่างชัดเจนว่า สามารถเปลี่ยนสถานะภพภูมิจากสัตว์เดรัจฉานให้กลายเป็นเทพบุตรได้ คือ เมื่อครั้งที่โฆษกเทพบุตรเกิดเป็นสุนัข ก็ได้หอนด้วยความอาลัยรักและเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อท่านเสด็จจากไป จากนั้นสุนัขก็ขาดใจตาย
และด้วยบุญนี้..ทำให้ไปเกิดเป็นโฆษกเทพบุตรผู้มีเสียงไพเราะมากในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกทั้งยังมีเสียงที่ทรงพลานุภาพ เพราะแค่กระซิบเพียงเบาๆ เสียงก็ดังไปไกลถึง 16 โยชน์ แต่ถ้าพูดด้วยน้ำเสียงธรรมดา ก็จะดังกลบทั่วภพสวรรค์ และเมื่อไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้เป็นมหาเศรษฐีประจำเมือง แล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในที่สุด
แม้ค้างคาวฟังสวดโดยไม่รู้ความหมาย ยังได้ไปเกิดบนสวรรค์
มีเรื่องราวที่น่าศึกษามากอีกเรื่องใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ 14 เรื่องยมกปาฏิหาริย์ เพราะมีค้างคาว 500 ตัวในถ้ำได้ฟังเสียงพระสวดอภิธรรม โดยที่ค้างคาวไม่รู้และไม่เข้าใจความหมายของบทที่พระสวดเลย แต่ขณะฟังก็ทำให้จิตค้างคาวมีสภาพผ่องใส และด้วยบุญนี้ เมื่อค้างคาวตายแล้ว ก็ไปเกิดบนสวรรค์เสวยทิพยสมบัตินานถึง 1 พุทธันดร และเมื่อลงมาเกิดเป็นมนุษย์ พอได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ ก็เกิดเลื่อมใสศรัทธา จึงขอบวชในสำนักของพระสารีบุตร
ต่อมาในช่วง 3 เดือนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเทศน์พระอภิธรรมให้พุทธมารดาฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสบอกพระสารีบุตรว่า ให้ไปเทศน์บทพระอภิธรรมให้พระภิกษุบริวารทั้ง 500 รูปฟังด้วย เนื่องจากชาติที่เกิดเป็นค้างคาวคุ้นกับธรรมบทนี้มาก และพอพระภิกษุทั้ง 500 รูป ได้ฟังพระสารีบุตรเทศน์ ก็เกิดความแตกฉานและเข้าใจในพระอภิธรรมได้อย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว จนกระทั่งถึงวันออกพรรษา เมื่อพระภิกษุทั้ง 500 รูปเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำการเปิดโลกตอนเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ทำให้พระภิกษุทั้ง 500 รูปนั้นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด
จะเห็นว่า แม้สัตว์เดรัจฉานที่ไม่เข้าใจความหมายของบทสวดพระอภิธรรมเลย แต่พอฟังเสียงสวดจนจิตผ่องใส ก็ส่งผลให้หลังตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์
แต่ที่น่าคิดไปกว่านั้น คือ พอในชาติที่มาเกิดเป็นคน เมื่อได้ฟังบทสวดบทเดิมในชาติที่เกิดเป็นค้างคาวด้วยความคุ้นเคยในบทสวดนี้อย่างยิ่ง จึงทำให้แตกฉานและเข้าใจธรรมะบทนี้อย่างง่ายดาย
บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ก็เช่นกัน ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต้องแสดงธรรมบทนี้เป็นบทแรก* ซึ่งถ้าเราได้ไปเกิดเจอพระองค์แล้วมีโอกาสได้ฟังธรรมด้วยความคุ้นเคยที่เราได้สวดบทนี้เป็นประจำในชาตินี้ ก็จะทำให้เรามีสิทธิ์บรรลุธรรมทันทีตามพระองค์อย่างง่าย ๆ นั่นเอง
(* ศึกษาหลักฐานยืนยันการแสดงธรรมบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลาย ๆ พระองค์ จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก ข้อที่ 21-26)
ทำไม..ต้องสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สวดมนต์บทอื่นไม่ได้หรือ ?
สวดได้...สมมุติว่าเราสวด คาถาชินบัญชร อยู่แล้ว ก็เท่ากับเราได้สวดอัญเชิญบารมีของพระอรหันต์หลาย ๆ พระองค์มาปกป้องคุ้มครองเรา หรือถ้าเรา สวดอิติปิโสฯ ก็เท่ากับเราได้สวดสรรเสริญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แต่ถ้าจะให้ครอบคลุมและเกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรควบคู่ไปด้วย เพราะบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร.. เป็นบทหลักและเป็นบทแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงนำมาเทศน์สอนแล้วมีผู้บรรลุธรรมตาม จนเกิดองค์แห่งพระรัตนตรัยครบถ้วนสมบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
อีกทั้งเนื้อหาของบทสวดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ชัดเจนถึงวิธีการที่ทำให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ทรมานของชีวิต และหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จนสามารถก้าวข้ามไปสู่หนทางแห่งพระนิพพานได้โดยง่าย
Cr. ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ