ทำบุญมากได้มากจริงหรือ ?
วัดพระธรรมกายสอนผิดหรือไม่ ?
_________________________________________
ทำบุญมาก ยิ่งทำให้เราขัดเกลากิเลสตระกูลโลภะได้มาก
เมื่อเราขัดเกลาได้มาก ใจเราก็จะบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ
และได้บุญมากขึ้นตามไปด้วย
_________________________________________
การทำบุญอย่างสุดกำลังบ่อย ๆ จะทำให้เรามีอัธยาศัยไม่โลภ ตัดความตระหนี่ออกจากใจได้ง่าย ไม่คิดอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน มักน้อย สันโดษใจกว้าง ปลอดกังวลในเรื่องทรัพย์ได้ง่ายและมีสภาพจิตใจที่ไม่ติดอะไรเลย ทำให้เวลานั่งสมาธิ จะปล่อยวางได้ง่าย ใจจะรวมหยุดนิ่งได้เร็ว จิตใจจะปลอดโปร่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นจนเกินเหตุ สามารถอดทนต่อความพลัดพรากจากของรักได้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป ทำให้มีนิสัยสลัดตนออกจากภพได้ง่าย
เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรากว่าพระองค์จะมีบารมีแก่กล้ามากพอที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต้องสละทรัพย์จำนวนมหาศาล และต้องสละชีวิตมานับภพนับชาติไม่ถ้วน พระองค์สละเลือดเป็นทานมากกว่าน้ำในท้องมหาสมุทรทั้งสี่ สละเนื้อเป็นทานมากกว่าผืนแผ่นดินนี้ควักลูกนัยน์ตาให้ทานมากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้าและสละศีรษะเป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ซึ่งในสมัยที่พระองค์เกิดเป็นพระเวสสันดร ก็สละทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ราชสมบัติ บุตร ภรรยา แล้วภพชาติสุดท้ายก็สละราชสมบัติอีก จนท้ายที่สุดก็สามารถละกิเลสได้จนหมดสิ้น
ฉะนั้น ถ้าดูในแง่ของการกำจัดกิเลส ถ้าละได้มาก บุญก็จะได้มาก กิเลสตระกูลโลภะก็จะหมดได้เร็ว
แต่ถ้าจะอธิบายในแง่ของปริมาณบุญหากศึกษาข้อมูลจากอรรถกถา ขุททกนิกายอุทาน นันทวรรคที่ ๓ มหากัสสปสูตร จะพบว่า การทำบุญแล้วจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า ครบองค์แห่งทานสมบัติ ๓ ประการหรือไม่หรือองค์แห่งทานนี้บริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งองค์แห่งทานนี้ ได้แก่
๑. เขตสมบัติ (บุคคลบริสุทธิ์) คือ ผู้รับทาน จะต้องเป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้มีศีล
๒. ไทยธรรมสมบัติ (วัตถุบริสุทธิ์) คือวัตถุที่นำมาถวายทาน ต้องเป็นของบริสุทธิ์ได้มาอย่างสุจริต
๓. จิตตสมบัติ (เจตนาบริสุทธิ์) คือ ผู้ให้ต้องมีเจตนาให้ทานด้วยจิตที่บริสุทธิ์เป็นบุญกุศล และต้องปลื้มทั้งก่อนทำทาน ขณะทำทานและหลังจากทำทาน
สมมุติว่า มีคน ๒ คน ทำทานโดยมีองค์แห่งทานทั้ง ๓ ข้อเท่ากันหมด แต่มีใครคนหนึ่งทำบุญด้วยวัตถุทานที่มากกว่า คนนั้นย่อมได้บุญมากกว่า
เปรียบเหมือนกับมีชาวนา ๒ คน มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพเท่ากัน มีปุ๋ยเท่ากัน มีน้ำ เท่ากัน สรุปคือ มีตัวแปรต่าง ๆ เหมือนและเท่ากันหมด แต่ถ้าชาวนาคนหนึ่งทำนาด้วยพื้นที่ที่มากกว่า ก็ย่อมได้ผลผลิตมากกว่าคนที่ทำนาด้วยพื้นที่ที่น้อยกว่า
ดังนั้น จากคำสอนที่ว่า ยิ่งทำบุญมาก..ยิ่งได้มาก จึงถือว่าสอนถูกต้องเมื่อองค์แห่งทานสมบัติทั้ง ๓ ข้อ เท่ากัน
ในสมัยพุทธกาลหรือในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างของบุคคลที่ทำบุญมากแล้วได้มากไหม ?
มีมากมาย อย่างท่านโชติกเศรษฐีที่เกิดมารวยที่สุดในโลกยุคนั้น ก็เพราะอดีตชาติท่านทำบุญแบบครบองค์แห่งทานสมบัติ ๓ ประการกับพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังทำบุญด้วยทรัพย์ในปริมาณมากจนยากที่จะหาใครทำได้อย่างท่าน จึงทำให้เกิดมารวยกว่าคนอื่นและอานิสงส์โดยตรงที่สุดของการทำบุญมากของท่านก็คือ บุญนี้ทำให้ท่านละกิเลสและบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด
Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑