ติลักขณาทิคาถา ๒
(วิปัสสนาภูมิ)
๔ เมษายน ๒๔๙๗
นโม.....
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ.....
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมสำหรับพุทธบริษัทที่ โดยทรงแยกแยะธรรมเป็นหลายประเภทที่ยกมาแสดงนี้เป็นประเภทวิปัสสนาภูมิปาท หรือธรรมบทวิปัสสนา หลังการเสด็จดับขันธปรินิพพานได้มีการทำสังคายนา ดังมีความว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ เมื่อบุคคลเห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษรูป เวทนาปัญญาสังขาร วิญญาณ ของกายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหม ๘ กาย ล้วนไม่เที่ยง มีอายุขัยกัปป์ เช่น อายุมนุษย์ลดจาก ๑๐๐ ปี ใน สมัยพุทธกาล ลงเหลือ ๗๕ ปี
สิ่งที่อาศัยธธาตุ อาศัยธรรมสังขารนี้ไม่เที่ยงเลย ไม่ว่าจะเป็น ติณชาติ รุกขชาติ บ้านเรือนภูเขา ฯลฯ เมื่อโลกอันตรธาน ก็ย่อยยับหมด
เมื่อเห็นตามปัญญานี้ ความถือมั่นใดๆ ในโลกในภพ ย่อมไม่มี เป็นหนทางอันหมดจดวิเศษ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
เบญจขันธ์ของกายมนุษย์เป็นทุกข์ ตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง เป็นทุกข์ทั้ง ๘ กาย มีสุขบ้างเล็กน้อยเมื่อมนุษย์รู้เห็นเช่นนี้ ก็เบื่อหน่ายในทุกข์เป็นหนทางหมดจดวิเศษ
"นึกดูเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ของกายมนุษย์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าว่าคนเจ็บไข้ละก็เห็นว่าเป็นทุกข์ คนแก่ชรานั่นเห็นเป็นทุกข์จริงๆ ถ้าว่าเป็นทุกข์จริง เป็นทุกข์ ตลอด เด็กอยู่ในท้องก็ดี คลอดแล้วก็ดี เป็นเด็กเล่นโคลนเล่นทรายอยู่ก็ดี หรือรุ่นหนุ่ม รุ่นสาวก็ดี หรือแก่เฒ่าชราปานใดก็ดี ถ้าว่าไม่พิจารณาตามความเป็นจริงแล้วสุขหายากนักทุกข์มากเป็นทุกข์จริง"
ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว
-รูปธรรม นามธรรมไม่ใช่ตัว
- เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ในภพทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์จริงๆ
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มนุษย์ละเอียด ถึงพระอรหัต ก็ล้วนไม่ใช่ตัว เพียงแต่อาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อเห็นจริงลงไปดังนี้ว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ
เมื่อว่าไม่ใช่ตัว แล้วอะไรเป็นตัว
เรื่องนี้แสดงไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงโรดภัททิยะราชกุมาร ๓๐ ทรงแสดงถึงตัวนี้ว่า กายมนุษย์เป็นตัวโดย สมมุติ ถึงกายอรูปพรหมละเอียดทั้ง ๘ กาย เข้าถึงกายอรหัตละเอียด จึงเป็นพระอรหันต์ เป็นตัววิมุตติแท้ๆ ออกจาก ราคธาตุ ราคธรรม เข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรม
"มีวิปัสสนาก็มีธรรมกาย เห็นด้วยตาธรรมกายนั่นแหละเรียกว่า วิปัสสนาแปลว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ เห็นต่างๆ เห็นไม่มีที่สุด เห็นด้วยตากายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียดกายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด เห็นเท่าไรก็เห็นไป เรียกว่าอยู่ในหน้าที่สมถะทั้งนั้น ไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาละก็ต้องเห็นด้วยตาธรรมกายนั่นแหละเป็นตัววิปัสสนาจริงๆ ละ"
ในตอนท้ายกล่าวว่า น้อยคนนักที่เข้าถึงฝังนิพพาน
ขยายความ
หมู่สัตว์ล้วนเลาะอยู่ในสักกายทิฏฐิ ไต่อยู่แต่กายมนุษย์นี่เอง ใจไม่พ้นกายมนุษย์ไป แม้พ้น กายมนุษย์ก็ไปไต่อยู่กับกายมนุษย์ละเอียด จนถึงอรูปพรหมละเอียด ออกจากภพไม่ได้ ได้ชื่อว่าเลาะอยู่แต่ชายฝังนี้ ไม่ไปถึงพระนิพพาน
"ในวัดปากน้ำนี้มีจำนวนภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ๑๕๐ กว่า แต่หมดประเทศไทย นอกจากวิชชานี้แล้ว ไม่มีใครไปนิพพานได้เลย ไปนิพพานได้ก็แต่ธรรมกายเท่านั้น"
"พวกมีธรรมกายนั้นไปถึงนิพพาน ผู้ที่ไปถึงนิพพานแล้วมามองดูผู้ที่ไม่ไปนั่น ผู้ที่ไปนิพพานได้หาว่าผู้ที่ไม่ไปนั่นตาบอด มองไม่เห็นนิพพาน งุ่มง่ามเงอะงะอยู่ในกายเหล่านี้เอง งุ่มง่ามอยู่ในนี้เอง ตาบอดแล้วไม่รู้ว่าตัวตาบอดด้วยนะใช่ว่าจะรู้ตัวเมื่อไรล่ะ ไม่รู้เสียด้วย ถ้ารู้ตัวว่าตัวตาบอดก็รีบทำให้ตาดี ให้เข้าถึงธรรมกาย ให้ได้ เข้าถึงธรรมกาย ก็เป็นตาดีกัน ไม่เข้าถึงไปนิพพานไม่ได้"
เมื่อรู้จักหลัก จึงพึงปฏิบัติตามธรรมในธรรมที่ตัวเป็นพระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้ว เพื่อให้ถึงนิพพาน
ธรรมอะไรที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบ
ธรรมที่ทำให้เป็นกายต่างๆ จนถึงกายพระอรหันต์ เป็น สวากขาตธรรม ตัดกิเลส เป็น สมุทเฉทปหาน เมื่อไปทางนี้ ก้าวล่วงเสียซึ่ง วัฏฏะ อันได้แก่ กรรมวัฏฏ์ กิเลส วัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ให้ละธรรมดำยังธรรมขาวให้เจริญ ด้วยการเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสเป็นแก้วเข้าไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงธรรมกายตลอดไป
ธรรมขาวเป็นอย่างไร
กณฺหํ ธมฺมํ อาศัยซึ่งนิพพาน ไกลจากอาลัย ในรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ด้วยการมีธรรมกาย และไปนิพพาน
วิเวเก ยินดีได้ด้วยยากในนิพพานอันสงัดใด
"ถ้าว่าไม่มีธรรมกายแล้ว ไปยินดีไม่ได้ ถ้าไม่ถึง ไม่รู้รสชาติของนิพพานทีเดียว ถ้ามีธรรมกายแล้ว ยินดีนิพพานได้ นิพพานเป็นที่สงัด เป็นที่สงบ เป็นที่เงียบเป็นที่หยุดทุกสิ่ง ถึงนิพพานแล้วสิ่งที่ดีจริงอยู่ที่นิพพานทั้งนั้น"
ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย ละกามทั้งหลายเสียได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกังวลแล้ว ปรารถนายินดีจำเพาะในพระนิพพานนั้น
"พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มุ่งนิพพานทั้งนั้น เมื่อเป็นพระอรหัตนั้น มีจำนวนเท่าไรองค์ ก็มุ่งนิพพานทั้งนั้น ตั้งแต่อนาคาก็มุ่งนิพพาน อยากจะอยู่ในนิพพาน เป็นที่เบิกบานสำราญใจ กว้างขวางทำให้อารมณ์กว้างขวางทำให้เยือกเย็น สนิท ปลอดโปร่งในใจทำให้ สบายมากนัก นิพพาน"
ปริโยทเปยฺย บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญาเรียกว่า คนฉลาดชำระตนให้ผ่องแผ้วสะอาด จากธรรม เครื่องเศร้าหมอง เหลือแต่ธรรมกายใสสะอาดเป็นชั้นๆไป ตั้งแต่โคตรภู ถึงอรหัต บัณฑิตนั้นย่อมไม่ถือมั่น ปล่อยเสียหมดได้พระสูตรบทสุดท้าย มุ่งเน้นถึงตัดกิเลส เป็นพระอรหันต์ จึงเป็นธรรมทางวิปัสสนา
ขีณาสวา บัณฑิตนั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะทั้งกามาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ย่อมเป็นผู้โพลง รุ่งเรือง ว่าง ดับ สนิทในโลกด้วยประการดังนี้
ธรรมที่แสดงมานี้ เป็นทางวิปัสสนาโดยกล่าวมาตามปริยัติ แต่โดยทางปฏิบัติลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยธรรมกายเท่านั้น เมื่อธรรมกายปรากฏ ก็เห็นธรรมตามที่กล่าวมาแล้วว่าเป็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ในขันธ์ ๕ทั้ง ๘ กาย (ภูมิ สมถะ) รวมทั้งสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายสัตว์นรก ว่าขันธ์นั้นเกิดจากธาตุจาก ธรรมเป็นตัวยืน ขันธ์มีกี่ชาติก็เป็นอนิจจังทุกขัง และไม่ใช่ตัว และ (ดวง) ธรรมที่ทำให้เป็นขันธ์ทุกกายก็ไม่ใช่ ตัวจึงปล่อยละเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กายหยาบเข้าหากายธรรมถึงขั้นวิปัสสนา
ในขั้น ๘ กาย เป็นขั้น สมถะ จึงยังเข้าถึงวิปัสสนาไม่ได้
ภูมิ สมถะ มี ๔๐ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ (กำหนดอาหาร เป็นปฏิกูล) จตุธาตุววัตถาน ๑ (กำหนดธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ) พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔
ภูมิวิปัสสนา ตาธรรมกายเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ประกอบด้วย ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒
ตาธรรมกายมองเห็นอริยสัจ ๔ ว่า
ทุกข์ คือ การเกิด (ชาติปิทุกขา คือ ความเกิดเป็นทุกข์) รวมถึงแก่ เจ็บ ตาย
เหตุเกิดทุกข์ คือ กามตัณหา (ความอยากได้) ภวตัณหา (ความอยากให้มีให้เป็น) วิภวตัณหา(ไม่อยากให้แปรไป)
"เหมือนเราเป็นหญิงเป็นชาย ไม่มีลูกอยากได้ลูก นั่นเป็นกามตัณหาแล้วได้ลูก สมเจตนาเป็นภวตัณหาขึ้นแล้ว ไม่อยากให้ลูกนั้นแปรไปเป็นอย่างอื่น นั่นเป็นวิภวตัณหาอีกแล้ว"
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นเหตุให้เกิดชาติ ต้องดับด้วยศีลสมาธิ ปัญญา วิมุตติวิมุตติญาณทัสสนะ ถอดกันเป็นชั้นๆ จนถึงอรหัตดับหมดเป็นตัวนิโรธ เข้าถึงมรรคจึงเข้าถึงซึ่งความดับ
ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ ธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเป็นแดนเกิด
โดยย่อคือ ความยึดถือมั่นในขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นทุกข์ เกิดจากอวิชชาทั้งนั้น ถ้าว่าเมื่อถึงพระอรหัตแล้วอวิชชาหลุดหมด นี้เป็นตัววิปัสสนาชัดๆ อย่างนี้นะ ถึงรู้จักนี้แหละตามปริยัติชัดๆ ทีเดียว เมื่อรู้จักละก็ให้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ จะได้พาตนหลีกลัดลุล่วงพ้น จากวัฏฏสงสาร มีนิพพาน เป็นที่ไปในเบื้องหน้า