ธรรมกายคืออะไร
“ธรรมกาย” คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่มีอยู่แล้วในศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุเป็นรูปดอกบัวตูม ใสสว่างเป็นแก้วตลอดทั้งองค์
ปฐมบทวิชชาธรรมกาย
ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่ ณ โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้วนั้นทรงตั้งสัจจะด้วยพระทัยอันเด็ดเดี่ยวว่า “แม้เลือดเนื้อในกายของเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่เส้นเอ็น หนัง และกระดูกก็ตาม หากไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้เป็นอันขาด” จากนั้นทรงเจริญสมาธิภาวนา ครั้นถึงยามต้น ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณความหยั่งรู้ระลึกชาติได้ยามที่ ๒ ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณความหยั่งรู้ถึงความจุติและความเกิด ยามที่ ๓ ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่กําจัดอาสวกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตใจให้หมดสิ้นไป
การตรัสรู้ของพระองค์นั้น พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ํา ภาษีเจริญ กล่าวไว้ว่า “...ทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งหมด เห็นจริง ๆ เห็นด้วยตาของธรรมกายไม่ใช่เห็นด้วยตามนุษย์ หรือคิดคาดคะเนเอา ...การที่พระองค์เห็นนี้ โดยมิได้มีผู้ใดสอนให้รู้ให้เห็น รู้เห็นโดยลําพังพระองค์เอง และสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้น ตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น มิใช่คาดคะเนหรืออนุมานเอา...”
ธรรมกาย คืออะไร
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไประยะหนึ่งแล้ว จํานวนพระอริยบุคคลทั้งหลายก็ค่อย ๆ ลดลง ผู้เข้าถึง “ธรรมกาย” ก็ลดน้อยลงเช่นกัน เป็นเหตุให้“วิชชาธรรมกาย” ของพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า ที่เคยดํารงอยู่ในครั้งพุทธกาลและสืบทอดมาอีกระยะหนึ่งได้เลือนหายไปในที่สุด ความรู้ที่มีเหลืออยู่ในคัมภีร์ไม่มากพอที่คนรุ่นหลังจะเข้าใจได้ ทําให้เกิดการตีความขึ้นในภายหลังว่า “ธรรมกาย” เป็นเพียงชื่อหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
จนกระทั่งพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึง “ธรรมกาย” และค้นพบ “วิชชาธรรมกาย” แล้วนําความรู้ที่ท่านเข้าถึงและค้นพบมาเผยแผ่แก่ประชาชน คําว่า “ธรรมกาย” จึงเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้นมาอีกครั้ง
คําว่าธรรมกายนี้พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)อธิบายไว้ว่า “ธรรมกาย” คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่มีอยู่แล้วในศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุเป็นรูปดอกบัวตูม ใสสว่างเป็นแก้วตลอดทั้งองค์
คําว่า “ธรรมกาย” นั้น พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มิได้เป็นผู้บัญญัติขึ้นเอง ในพระไตรปิฎกก็มีคํานี้และยังมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ในอดีตก็เคยมีการสอนวิธีปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายปรากฏอยู่ใน “หนังสือพุทธรังษีธฤษดีญาณ ว่าด้วยสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๔ ยุค” หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงวิธีปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาแบบโบราณ ๔ ยุค คือ ยุคกรุงศรีสัตตนาคณหุตฯ (เวียงจันทร์) กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีอยู่วิธีหนึ่งชื่อว่า “แบบขึ้นกัมมัฏฐานห้องพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ” เป็นแบบที่สืบเนื่องมาจากท่านทิศาปาโมกขาจารย์ ๕๖ องค์แต่ครั้งโบราณ ประชุมกันจารึกไว้เมื่อประมาณพุทธศักราช ๕๗๒ วิธีปฏิบัติในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง “ธรรมกาย” ไว้ในวิธีการทําสมาธิด้วย ถือเป็นหลักฐานสําคัญชิ้นหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการกล่าวถึง “ธรรมกาย” ในวิธีการทําสมาธิ
ส่วน “วิชชาธรรมกาย” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ค้นพบนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว จากนั้นอาศัยธรรมจักษุของพระธรรมกายที่ท่านเข้าถึงศึกษาค้นคว้าความรู้ในวิชชาธรรมกายต่อไป
วิชชาธรรมกายอันเป็นแก่นแท้ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ค้นพบนี้ ได้เลือนหายไปนานเกือบ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังพระธรรมเทศนาของท่านว่า
“...นี่แหละหลักพระพุทธศาสนา จําเป็นตํารับตําราเอาไว้อย่าดูหมิ่นดูแคลนหนา พระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นในโลกละก็ธรรมอันนี้ไม่มีใครแสดง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเล่าให้ฟัง ถึงกระนั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับเสียเกือบ ๒,๐๐๐ ปีมาเกิดขึ้นที่วัดปากน้ํานี้แล้ว อุตส่าห์พยายามทํากันไป...” ประเสริฐกว่า เข้าถึงพุทธรัตนะแล้วเลิศประเสริฐกว่าทั้งนั้นรัตนะใดสู้ไม่ได้ทั้งนั้น สวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะที่อยู่ในไตรภพสู้ไม่ได้ทั้งนั้น แพ้พุทธรัตนะทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้พุทธรัตนะ ที่ได้แล้วอย่าดูเบาหนา ดับมาเกือบ ๒,๐๐๐ ปีหนา มาโผล่ขึ้นในครั้งนี้นะเป็นอัศจรรย์ทีเดียว...”
ก่อนหน้าที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จะค้นพบวิชชาธรรมกาย เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมกายที่ยังคงปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้น ยังไม่มีผู้ค้นพบ หรือที่พบแล้วก็ไม่เข้าใจว่า “ธรรมกาย” คืออะไร จะเข้าถึงได้หรือไม่อย่างไร แต่พระมงคลเทพมุนีท่านเชื่อมั่นและยืนยันว่าวิชชาธรรมกายที่ท่านค้นพบเป็นของจริงมาโดยตลอด อีกทั้งท่านยังตรวจสอบความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติธรรมของท่านกับพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งพบว่าไม่คลาดเคลื่อน เช่น คําว่า “เห็น” ก็สามารถ “เห็น” ได้จริง ๆหรือพระรัตนตรัยที่แปลว่าแก้ว ๓ ประการ ก็สามารถเห็นได้ว่าใสเป็นแก้วจริง ๆ ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์โดยไม่จําเป็นต้องตีความ
การปฏิบัติธรรมจนเข้าถึง “ธรรมกาย” และการค้นพบวิชชาธรรมกายของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)ถือเป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการรื้อฟื้นคําสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในด้านการปฏิบัติให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และยังเป็นการจุดประกายให้พระพุทธศาสนาสว่างไสวโชติช่วงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
หลักฐานธรรมกาย
คําว่า “ธรรมกาย” (ธมฺมกาย) นี้มีปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ทั้งในพระไตรปิฎก และในคัมภีร์ต่าง ๆ
ธรรมกายในพระไตรปิฎกปรากฏอยู่ในพระสูตร ๔แห่ง ดังนี้
แห่งแรก อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ความว่า
ตถาคตสฺส เหตํวาเสฏฺฐา อธิวจนํธมฺมกาโย อิติป พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิฯ
(ดูก่อน วาเสฏฐะและภารทวาชะ คําว่าธรรมกายก็ดีพรหมกายก็ดีธรรมภูติก็ดีพรหมภูติก็ดีนี้แหละ
เป็นชื่อของตถาคต)
แห่งที่ ๒ อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน โสภิตวรรคที่ ๑๔ ความว่า
ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺติ เกวลํรตนากรํ วิโกเปตํน สกฺโกนฺติ โก ทิสฺวา นปฺปสีทติฯ
(ชนทั้งหลายไม่สามารถกําจัดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงแสดงธรรมกาย และผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัยอย่างเดียวได้ใครเล่าเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส)
แห่งที่ ๓ อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน พุทธวรรคที่ ๑ ความว่า
ภวนฺติปจฺเจกชินา สยมฺภูมหนฺตธมฺมา พหุธมฺมกายา
(นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้สยมภูทรงเป็นผู้มีธรรมใหญ่มีธรรมกายมาก)
แห่งที่ ๔ อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เอกุโปสถวรรคที่ ๒ ความว่า
สํวทฺธิโตยํสุคต รูปกาโย มยา ตว
อานนฺทิโย ธมฺมกาโย มม สํวทฺธิโต ตยาฯ
(ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้อันหม่อมฉันทําให้เจริญเติบโตแล้ว พระธรรมกายอันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉันพระองค์ทําให้เติบโตแล้ว)
หลักฐานธรรมกายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อื่น ๆ
๐ ในอรรถกถา มีปรากฏอยู่ ๒๕ แห่ง
๐ ในฎีกาพระวินัยที่ชื่อว่า “สารัตถทีปนี” กล่าวถึง “ธรรมกาย” ในฉบับภาษาบาลีอยู่ประมาณ ๖ แห่ง
๐ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวถึง “ธรรมกาย” อยู่ ๒ แห่ง๐ ในคัมภีร์มิลินทปัญหากล่าวถึง“ธรรมกาย”อยู่ ๑ แห่ง
๐ ในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๓” กล่าวว่าในศิลาจารึกหลักที่ ๕๔ พ.ศ. ๒๐๙๒ ที่จารึกไว้เป็นภาษาไทยและมคธ ก็มีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวของพระธรรมกายไว้
๐ ในหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา” ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พระอุปคุตต์เห็นพระธรรมกาย นั่นคือ พระธรรมกายนั้นสามารถเห็นได้ข้อความนี้เป็นเครื่องยืนยันความรู้อันเกิดจากการปฏิบัติธรรมของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีและศิษย์ของท่านเป็นอย่างดี
๐ ในจารึกลานทอง กล่าวถึง “ส่วนสูงของพระธรรมกาย” ไว้ด้วย หลักฐานนี้ยืนยันคําสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีและศิษย์ เกี่ยวกับ “การวัดมิติของพระธรรมกาย” ว่าไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตําราแต่อย่างใด สําหรับต้นฉบับจารึกลานทองนี้ปัจจุบันตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
๐ นอกจากนี้ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมกายอยู่มากกว่าในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท และในคัมภีร์เหล่านั้นมีอยู่หลายตอนที่กล่าวตรงกันกับการค้นพบของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีเช่น ในคัมภีร์ศรีมาลาเทวีสหนาทสูตรตอนหนึ่งกล่าวว่า “ธรรมกายนั้นย่อมเที่ยงแท้แน่นอนที่สุด เป็นสุขล้วน ๆ เป็นตัวตนคืออัตตาที่แท้จริง บริสุทธิ์ที่สุด ผู้ใดได้เห็นธรรมกายของตถาคตในลักษณะนี้แล้ว ย่อมถือว่าเห็นถูก”
จากหนังสือ "ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน"