วิธีปฏิบัติธรรม
ให้เข้าถึงพระธรรมกาย
ใจของคนเรานั้นถ้าหยุดได้เพียงสักกระพริบตาเดียวเท่านั้น ได้ชื่อว่าเราได้สร้างบุญใหญ่กุศลใหญ่ เราจะไปสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญสักร้อยหลัง ก็สู้บุญที่เกิดจากการบําเพ็ญสมถวิปัสสนาไม่ได้ เมื่อเราแสวงหาเขตบุญในพระพุทธศาสนา พึงบําเพ็ญสมถวิปัสสนาทําใจให้มั่นคงดังนี้ ให้ใจหยุด หยุดนี้เป็นตัวสําคัญนัก เพราะเป็นทางมรรคผลนิพพาน
หลวงปู่ท่านมีวิธีสอนการปฏิบัติธรรมที่เข้าใจได้ง่าย โดยมีอุปกรณ์การสอนครบครัน คือมีหนังสือแจกให้ลูกศิษย์เพื่อเป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรม และมีกระดานชนวนวาดเป็นรูปคนด้านข้างผ่าซีก แสดงฐานที่ตั้งของใจทั้ง ๗ ฐาน มีไม้ยาวสําหรับชี้การเลื่อนดวงนิมิตไปตามฐานต่าง ๆ และมีดวงแก้วใส ๑ ลูก
ท่านสอนให้ผู้เริ่มปฏิบัติรู้จักฐานที่ตั้งของใจ ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ฐานเสียก่อน ดังนี้
ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา
ฐานที่ ๒ เพลาตา หญิงซ้าย ชายขวา
ฐานที่ ๓ กลางกั๊กศีรษะตรงกับจอมประสาท ได้ระดับพอดีกับตา แต่อยู่ภายในตรงศูนย์กลาง คือจากดั้งจมูกตรงเข้าไปจรดท้ายทอย จากเหนือหูซ้ายตรงไปเหนือหูขวาตรงกลางที่เส้นทั้งสองตัดกัน คือ ฐานที่ ๓
ฐานที่ ๔ ปากช่องเพดาน เหนือลิ้นไก่ตรงที่รับ-ประทานอาหารสําลัก
ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก อยู่ตรงกลางช่องคอพอดี
ฐานที่ ๖ สุดลมหายใจเข้าออก คือกลางตัวตรงกับสะดือ แต่อยู่ภายใน
ฐานที่ ๗ ถอยหลังกลับขึ้นมาเหนือสะดือประมาณ ๒ นิ้วมือ ในกลางตัว (นึกขึงเส้นด้าย ๒ เส้นให้ตึง จากสะดือทะลุหลัง จากเอวซ้ายทะลุเอวขวา ตรงเหนือจุดตัดขึ้นไป ๒ นิ้วมือ คือ ฐานที่ ๗)
ขณะปฏิบัติธรรมให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายจรดปลายนิ้วชี้ข้างขวา ตั้งกายให้ตรง หลับตาเบา ๆ พอปิดสนิท ตั้งสติไม่ให้เผลอ แล้วกําหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงกลมใส เหมือนดังเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีรอยขีดข่วนคล้ายขนแมวดวงโตเท่าแก้วตาดํา (จัดเป็นอาโลกกสิณหรือกสิณแสงสว่าง) ผู้หญิงให้กําหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายให้กําหนดเข้าปากช่องจมูกขวา เรียกว่าฐานที่ ๑ ให้บริกรรมภาวนาประคองใจกับดวงกลมใสนั้นว่า “สัมมา อะระหัง” ๓ ครั้ง (จัดเป็นพุทธานุสสติ) แล้วจึงเลื่อนดวงนิมิตนั้นต่อไปตามฐานต่าง ๆ จนถึงฐานที่ ๗ หากรู้จักที่ตั้งของฐานทั้ง ๗ ดีแล้วในการทําสมาธิคราวต่อ ๆ ไป จะน้อมใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลยก็ได้ แล้วกําหนดบริกรรมภาวนาว่า “สัมมา อะระหัง” และนึกบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วหรือพระพุทธรูปใส ทั้งบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิตนี้เป็นกุศโลบายเพื่อประคองใจให้หยุดนิ่ง ณ ฐานที่ตั้งนี้เมื่อหยุดนิ่งได้ถูกส่วนแล้ว ก็จะเห็นดวงกลมใสสว่างปรากฏขึ้นมาจากกึ่งกลางดวงนิมิตนั้น จากนั้นให้เลิกบริกรรมภาวนา
ดวงที่ปรากฏขึ้นนี้ไม่ใช่นิมิตที่กําหนดขึ้น แต่เป็น “ดวงปฐมมรรค” อันเป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน
เมื่อปฏิบัติธรรมจนเห็นดวงปฐมมรรคแล้ว ให้ตั้งใจทําความเพียรโดยเอาใจจรดไว้ที่กลางดวงปฐมมรรคนั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าไม่เอาจริงเอาจัง ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจ ไม่พากเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดวงปฐมมรรคที่เพิ่งเข้าถึงใหม่ ๆ (หรือแม้กระทั่งธรรมะที่ละเอียดกว่าดวงปฐมมรรคก็ตาม) ก็จะหายไป ไม่สามารถรักษาไว้ได้
ดังที่ปรากฏอยู่ในคําสอนของหลวงปู่ว่า “...อาตาปีเพียรให้กลั่นกล้า ๆ ...เพียรไม่ย่อไม่ท้อไม่ถอยทีเดียว เอาเป็นเอาตายทีเดียว เรียนกันจริง ต้องใช้ความเพียรประกอบด้วยองค์สี่ทีเดียว องค์สี่นั้นอะไรบ้างเนื้อ เลือด กระดูก หนังหนังเนื้อเลือดจะแห้งเหือดไปไม่ว่า เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ไม่ลดละ ใจต้องจรดอยู่ทีเดียว ...นี่เขาเรียกว่า อาตาปีเพียรเร่งเร้าเข้าอย่างนี้...ไม่เผลอ เผลอไม่ได้เผลอก็จะหายเสียเท่านั้น ถ้าได้ใหม่ เป็นใหม่ๆ เผลอไม่ได้เป็นหาย เผลอไม่ได้เป็นหายทีเดียว...”
เมื่อผู้ปฏิบัติดําเนินจิตเข้ากลางดวงปฐมมรรคเรื่อยไปก็จะเข้าถึงกายในกายต่าง ๆ เป็นชั้น ๆ จนกระทั่งถึงกายธรรม
กายในกาย
จากการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ ท่านพบว่ามนุษย์เราไม่ได้มีเพียงกายมนุษย์ที่เห็นได้ด้วยตาเนื้ออย่างเดียวแต่ยังมีกายภายในที่ละเอียดประณีตซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆอีก ๑๗ กาย เมื่อรวมกายมนุษย์ด้วยก็มีถึง ๑๘ กาย ดังนี้ คือ กายมนุษย์กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภูกายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระโสดาละเอียด กายธรรมพระสกิทาคา กายธรรมพระสกิทาคาละเอียด กายธรรมพระอนาคา กายธรรมพระอนาคาละเอียด กายธรรมพระอรหัต กายธรรมพระอรหัตละเอียดโดยกายที่ละเอียดกว่าซ้อนอยู่ในกายที่หยาบกว่า เช่น กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม กายธรรมโคตรภูซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม เป็นต้น
เมื่อเข้าถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียดแล้ว ก็จะหลุดจากกิเลส เสร็จกิจในพระพุทธศาสนาทั้งสมถะและวิปัสสนา
ตั้งแต่กายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหมละเอียดจัดอยู่ในขั้นสมถะ ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูถึงกายธรรมพระอรหัตจัดอยู่ในขั้นวิปัสสนา ดังที่หลวงปู่ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาไว้ว่า
“...ตั้งแต่กายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหมละเอียด แค่นั้นเรียกว่าชั้นสมถะ ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด จนกระทั่งกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็นชั้นวิปัสสนาทั้งนั้น ที่เรามาเรียนสมถวิปัสสนาวันนี้ต้องเดินแนวนี้ผิดแนวนี้ไม่ได้และต้องเป็นอย่างนี้ผิดอย่างนี้ไปไม่ได้ผิดอย่างนี้ไปก็เลอะเหลว...”
เรื่องกายในกายนี้เป็นสิ่งอัศจรรย์ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน หลวงปู่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า กายมนุษย์ละเอียด ก็คือกายเดียวกับที่เวลาเรานอนหลับแล้วฝันไปท่านบอกว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดก็จะฉลาดกว่าคนทั่วไปชั้นหนึ่ง เรื่องลี้ลับอะไรก็รู้หมด ไปตรวจดูได้หมด ไม่ว่าจะไปกลางวันหรือกลางคืน เช่น ฝันไปเมืองเพชร ไปเขาวัง เพียงนาทีเดียวเท่านั้น กายมนุษย์ละเอียดก็สามารถฝันไปเอาเรื่องในเขาวังมาเล่าให้กายมนุษย์หยาบฟังได้แล้ว ฝันได้ทั้งที่ตื่น ๆ ไม่ใช่หลับฝันประเดี๋ยวเดียวฝันได้หลายเรื่อง ถ้าหลับฝันต้องใช้เวลานานกว่าจะได้สักเรื่อง บางคืนก็ไม่ฝันเลย
กายมนุษย์ละเอียดนี้ยังสามารถรู้เรื่องที่กายมนุษย์หยาบไม่รู้เรื่องอีกมากมาย แม้ใครจะมาโกหกเรา ถ้าเราเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว ก็สามารถสืบได้ว่าโกหกหรือเปล่า แค่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดยังฉลาดถึงเพียงนี้ถ้าเข้าถึงกายต่าง ๆ ที่ละเอียดกว่านี้จะมีความสามารถพิเศษสักเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้หลวงปู่ท่านกล่าวไว้ว่า
“...ถ้าว่าทําธรรมกายเป็นละก็มันฉลาดกว่ามนุษย์หลายสิบเท่าเชียวนะ นี่พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็ฉลาดกว่าเท่าหนึ่งแล้ว สูงกว่าเท่าหนึ่งแล้ว เข้าถึงกายทิพย์ก็สองเท่าแล้ว กายทิพย์ละเอียดก็สามเท่าแล้ว กายรูปพรหมสี่เท่า กายรูปพรหมละเอียดห้าเท่า กายอรูปพรหมหกเท่า กายอรูปพรหมละเอียดเจ็ดเท่า เข้าถึงกายธรรมและกายธรรมละเอียด ๘-๙ เท่าเข้าไปแล้ว มันมีความฉลาดกว่ากันอย่างนี้นะ...”
ส่วนหลักสําคัญในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลนั้นหลวงปู่ท่านสอนไว้ว่า “...เราต้องตั้งใจให้หยุด ใจของคนเรานั้นถ้าหยุดได้เพียงสักกระพริบตาเดียวเท่านั้น ได้ชื่อว่าเราได้สร้างบุญใหญ่กุศลใหญ่ เราจะไปสร้างโบสถ์วิหารศาลาการเปรียญสักร้อยหลัง ก็สู้บุญที่เกิดจากการบําเพ็ญสมถวิปัสสนาไม่ได้เมื่อเราแสวงหาเขตบุญในพระพุทธศาสนา พึงบําเพ็ญสมถวิปัสสนาทําใจให้มั่นคงดังนี้ให้ใจหยุด หยุดนี้เป็นตัวสําคัญนัก เพราะเป็นทางมรรคผลนิพพาน พวกที่ให้ทานรักษาศีลนั้นยังไกลกว่า หยุดนี้ใกล้นิพพานนัก พอหยุดได้เท่านั้น ถูกคําสั่งสอนของพระศาสดาแล้ว...”
เมื่อใจเริ่มหยุด ความสุขก็จะเกิดขึ้น และเมื่อปฏิบัติต่อไปอย่างถูกวิธีความสุขก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตรงตามวาระพระบาลีว่า “นตฺถิสนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่ง ไม่มี”
หลวงปู่ท่านสอนให้ฝึกปฏิบัติสมาธิเบื้องต้นนี้ให้เชี่ยวชาญเสียก่อน ให้หยุดได้เสียก่อน ท่านบอกว่า “...ถ้าไม่หยุดจะถึงธรรมกายไม่ได้ ทําใจให้หยุดได้ก็เข้าถึงธรรมกายได้ทุกคนต้องทํได้ขอเพียงให้ทําจริงเป็นต้องได้ทุกคน ถ้าทําไม่จริงละเป็นไม่ได้แน่ ที่ว่าทําจริงนั้น ก็คือจริงแค่ชีวิต ถึงเลือดเนื้อจะแห้งเหือดหมดไป จะเหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ถ้าไม่ได้เป็นไม่ลุกจากที่ ถ้าทุกคนทําจริงแค่นี้ละก็ทําได้ทุกคน ตัวฉันเองนั้นถึงสองคราว คือเมื่อเริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนาใหม่ ๆ ได้เข้าที่ทําสมาธิตั้งใจว่าถ้าไม่ได้ก็ให้ตายเสียเถอะ นิ่งทําสมาธิอยู่ พอถึงกําหนดเข้าก็ทําได้ไม่ตายสักที...”
เมื่อลูกศิษย์เข้าถึงธรรมกายแล้ว หลวงปู่ท่านก็จะสอนธรรมะขั้นสูงให้ต่อไป ดังที่ท่านเคยให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณรในพระอุโบสถไว้ว่า “พวกเธอพยายามให้ได้ธรรมกายเสียก่อน แล้วฉันจะสอนต่อไปให้อีก ๒๐ ปีก็ยังไม่หมด”
จากหนังสือ ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน