มโหสถบัณฑิตตอนที่๑๐

วันที่ 10 มค. พ.ศ.2550

 

.....ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างเสาะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความสุข ปัญญา หรือที่พึ่งที่ระลึกในชีวิต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะสมปรารถนาได้ เมื่อเราได้พบพระรัตนตรัย หรือได้เข้าถึงพระธรรมกาย จึงได้ชื่อว่าประสบความสุข และความสำเร็จในชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์

 

.....การได้เข้าถึงพระธรรมกาย จะทำให้เราพบกับความสุขที่แท้จริง พบกับความรู้แจ้งภายใน อันเป็นปัญญาบริสุทธิ์ที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น จากความทุกข์ทรมานทั้งหลาย หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จากการบังคับ บัญชาของพญามาร เป็นความรู้อันประเสริฐที่จะทำให้เราบรรลุจุดมุ่งหมาย ปลายทางของชีวิต คือ บรรลุมรรคผลนิพพานอันเกษม ถึงที่สุดแห่งธรรม 

มีวาระพระบาลีใน สัมภวชาดกว่า

“ชเวน ภทฺรํ ชานนฺติ พลิพทฺธญฺจ วาหิเย

โทเหน เธนุ ชานนฺติ ภาสมานญฺจ ปณฺฑิตํ

 

.....ม้าดีรู้ได้ด้วยฝีเท้า โคถึกรู้ได้ในคราวลากเข็น แม่โคนม รู้ได้ในคราวรีดนม บัณฑิตที่แท้จริง รู้ได้เมื่อเจรจา” ครั้งนี้ เรามาติดตามดูการใช้ปฏิภาณไหวพริบ และวิธีการเจรจาต่อหน้า มหาสมาคมของมโหสถกันว่า จะสามารถฉายแววแห่งความเป็นบัณฑิต นักปราชญ์ต่อเบื้องพระพักตร์พระราชา และเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารได้อย่างไร เรื่องดำเนินถึง ตอนที่มโหสถบัณฑิต และท่านสิริวัฒนเศรษฐีผู้เป็นบิดา พร้อม ทั้งอนุเศรษฐีอีก ๑,๐๐๐ คน ได้เดินทางเข้าสู่ราชสำนักตามพระบรมราชโองการ

 

.....*เมื่อท่านเศรษฐีพาเศรษฐีทั้งหลายเข้าไปยังราชสำนัก พระราชาทรงทักทาย ปราศรัยตรัสถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี มโหสถบุตรของท่านอยู่ที่ไหนล่ะ” เศรษฐีทูลตอบว่า “จะตามมาภายหลัง พระเจ้าข้า” พระราชาทรงดีพระทัยและทรงมีพระทัยจดจ่อ อยากจะเห็นตัวบัณฑิตคนใหม่ จึงตรัสสั่งให้ท่านเศรษฐีนั่งบนอาสนะที่สมควรแก่ตน

(*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๕๑)

 

.....ฝ่ายมโหสถมีเด็ก ๑,๐๐๐ คน ห้อมล้อม ได้นั่งรถที่ประดับแล้ว เดินทางเข้าสู่เมือง ระหว่างทาง เห็นลาตัวหนึ่ง จึงสั่งให้ผูกและให้นำไปด้วย มหาชนเห็นรูปร่างหน้าตา ของมโหสถ ต่างเกิดความรัก พากันชื่นชมในความสง่างามของพระโพธิสัตว์ เมื่อไปถึงประตูพระราชฐาน มโหสถขึ้นสู่ปราสาท ถวายบังคมพระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นมโหสถ ทรงปีติปราโมทย์ ทรงกล่าวปฏิสันถาร อย่างอ่อนหวาน ราวกับมโหสถเป็นราชโอรสสุดที่รัก ทรงรับสั่งให้มโหสถเลือก อาสนะตามสมควร

 

.....เนื่องจากการเลือกที่นั่งถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งในความเป็น นักปราชญ์ เพราะความรู้จักตน รู้จักประมาณ และรู้จักที่ชุมชน จัดเป็นองค์คุณ สำคัญของผู้เป็นบัณฑิต การนั่งในสมาคมต้องรู้ที่อันเหมาะสมแก่ตน ยิ่งในมหาสมาคม ที่มีพระราชาเป็นประมุข ยิ่งเป็นที่เพ่งเล็ง หากเลือกได้เหมาะสมก็แสดงว่า เป็นผู้ควรแก่ความเป็นนักปราชญ์ แต่หากเลือกไม่เหมาะสมก็จะเป็นที่ติเตียนเย้ยหยัน ฉะนั้น พระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสบอกมโหสถให้เลือกหาที่นั่งตามสมควร

 

.....ด้วยความเป็นปราชญ์ของมโหสถที่ได้นัดแนะกับบิดาไว้แล้ว เมื่อได้ยินพระดำรัส มโหสถชำเลืองดูทางบิดาทันที ท่านเศรษฐีรีบลุกจากอาสนะ พลางเชื้อเชิญลูกชาย ให้มานั่งแทนที่ของตน มโหสถไม่รีรอตรงไปนั่งแทนที่บิดา บรรดาอำมาตย์ ข้าราชบริพารที่เฝ้าแหนอยู่เห็นกิริยาเช่นนั้น โดยเฉพาะอาจารย์ทั้งสี่ ต่างพากันโห่ร้อง ปรบมือหัวเราะชอบใจ และพูดเหน็บแนมว่า มโหสถไม่ใช่บัณฑิตอย่างที่คนทั่วไป เขารํ่าลือกัน เพราะแม้ที่นั่ง ก็ยังไปแย่งของบิดา เป็นการไม่เคารพต่อบิดาผู้ให้กำเนิด ไม่สมควรที่จะเป็นบัณฑิตเลย

 

.....ฝ่ายมโหสถกลับมีกิริยามั่นคงประดุจขุนเขา ที่ไม่หวั่นไหวในแรงลมที่มากระทบ ได้แต่นึกในใจว่า คราวนี้แหละเราจักสำแดงให้พวกอาจารย์เห็นปรีชาของเราบ้าง พลางกราบทูลอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานวโรกาสสุดแต่จะโปรดกรุณา เท่าที่ได้สังเกต ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระพักตร์ ผุดผ่องเมื่อข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้า แต่บัดนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท กลับมีพระพักตร์แปรเปลี่ยนไป เพราะเหตุอะไร พระพุทธเจ้าข้า”

 

.....พระเจ้าวิเทหราชตรัสตอบว่า “ใช่แล้วบัณฑิตน้อย เป็นความจริงที่เขากล่าวกันว่า บุคคลบางคนได้ยินข่าวกล่าวขวัญแล้ว น่ารักน่าชื่นใจ แต่พอได้เห็นตัวเข้า ความน่ารักน่าชื่นใจก็หมดไป ดังเช่นที่เราได้ประสบอยู่นี่แหละ เรารู้สึกเสียดายจริงๆ ที่ความชื่นใจอันเกิดจากการฟังเรื่องราวที่ดีของเจ้านั้น ได้สุดสิ้นลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น เมื่อได้พบเจ้า เรากำลังคิดว่า การไม่พบเห็นเจ้าเลยยังจะดีเสียกว่า”

 

.....แทนที่มโหสถจะเศร้าสลดไปด้วย ยังคงแจ่มใสเป็นปกติ กราบบังคมทูลว่า “ขอเดชะ พระบารมีเป็นล้นพ้น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงสำคัญมั่นว่า บิดาเท่านั้น สูงกว่าบุตร ไม่ว่าในฐานะไหน ๆ ทั้งสิ้นหรือพระเจ้าข้า”

 

.....เมื่อได้รับคำยืนยันจาก พระราชาเช่นนั้น ก็ทูลต่อไปว่า “พระองค์พระราชทาน ข่าวไปว่า ให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวายไม่ใช่หรือ พระเจ้าข้า” ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ก็สั่งให้บริวารจูงลาเข้ามาข้างใน และกราบทูล ถามว่า “ลาตัวนี้ราคาเท่าไร พระเจ้าข้า”

 

.....พระราชาตรัสตอบว่า “ถ้ามันมีอุปการะมาก ราคาของมันอย่างมากก็เพียง ๘ กหาปณะ” มโหสถทูลถามต่อไปว่า “ก็ม้าอัสดรอาศัยลานี้เกิดในท้องนางม้าสามัญ หรือนางลาซึ่งเป็นแม่ม้าอาชาไนย ราคาเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า” ครั้นพระราชาตรัสตอบว่า “หาค่ามิได้เลย บัณฑิต”

 

.....เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนั้น มโหสถจึงย้อนความเดิมว่า “ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในทุกสถาน ลาของพระองค์ นี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดร เพราะลาเป็นพ่อของม้าอัสดร ขอพระองค์จงทรงรับลา นั้นไว้เถิด แต่หากม้าอัสดรซึ่งเป็นลูกจะอุดมกว่าลาทั้งหลาย พระองค์ก็จงทรงรับม้า อัสดรนั้นไว้ และถ้าพระองค์ยังทรงยืนยันว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ขอได้ทรงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้ ถ้าบุตรอาจประเสริฐกว่าบิดาได้ ขอได้ทรงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า”

 

.....ราชบริษัททั้งปวงฟังแล้ว ต่างปรบมือแซ่ซ้องสาธุการว่า “มโหสถบัณฑิตกล่าว ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ” ส่วนพระเจ้าวิเทหราชได้สดับถ้อยคำอุปมาอุปไมยเช่นนั้น ทรงชื่นชมโสมนัส จากนั้นก็ไม่ทรงรีรอ ทรงจับพระสุวรรณภิงคารที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำหอม หลั่งคันโธทกให้ตกลงในมือของเศรษฐี พร้อมกับมีพระดำรัสว่า “ท่านคฤหบดี ขอให้มโหสถบัณฑิตมาเป็นบุตรของเราเถิด เราจะเลี้ยงดูให้ดีประดุจบุตรสุดที่รัก ที่เกิดแต่อกเราทีเดียว”

 

.....แม้ท่านเศรษฐีจะรัก และคิดถึงบุตรสุดที่รักมากเพียงไร แต่เมื่อเป็นราชประสงค์ ก็ไม่อาจขัดได้ อีกทั้งเห็นว่าเป็นโอกาสที่มโหสถ จะได้แสดงปรีชาญาณของความเป็น บัณฑิต อันจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติบ้านเมือง จึงตัดสินใจมอบมโหสถให้พระราชา

 

.....ตั้งแต่นั้นมามโหสถบัณฑิตกับบริวารได้รับราชการอยู่ในราชสำนักของ พระเจ้าวิเทหราช และพร้อมกันนั้นยังต้องเผชิญหน้ากับคณาจารย์ประจำราชสำนักชุด เก่าทั้ง ๔ ท่าน อันมีท่านเสนกะเป็นหัวหน้า ซึ่งจะต้องขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิง จนกว่าจะยอมจำนน ทางฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชเอง ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชา ของพสกนิกร ทรงเป็นพระบิดาบุญธรรมของมโหสถ และทรงเป็นศิษย์ของอาจารย์ทั้งสี่ ก็ต้องทำใจมากๆ ทีเดียว เนื่องจากต้องสมานทั้งสองฝ่ายไว้

 

.....นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนักเท่านั้น มโหสถ ยังจะต้องผ่านด่านการพิสูจน์อีกหลายอย่าง ต้องพบเจอปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละตอนล้วนน่าสนใจ และน่าศึกษามาก มโหสถจะใช้ปัญญาแก้ไข ปัญหาด้วยวิธีการอย่างไร อีกทั้งพวกเราจะนำวิธีการแก้ปัญหาของท่าน มาประยุกต์ ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ให้มาติดตามกันตอนต่อไป ให้พวกเราทุกคน หมั่นเจริญสมาธิภาวนา จะได้มีปัญญาบริสุทธิ์ ที่จะทำให้เราฝ่าฟันปัญหา และอุปสรรคทั้งหลายไปได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015536014238993 Mins