การบริหารเพื่อจัดโครงสร้างของร่างกาย

วันที่ 22 มิย. พ.ศ.2561

การบริหารเพื่อจัดโครงสร้างของร่างกาย
 


 

      การบริหารเพื่อจัดโครงสร้างของร่างกาย คือ การบริหารร่างกาย เพื่อจัดการให้โครงสร้างของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลเสมอ ด้วยตัวของมันเอง เพราะเหตุที่โครงสร้างร่างกายของเรา ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่ยึดโยงกันเพื่อให้เกิดภาวะสมดุลและตามปกติคนเรามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลานอนหลับ ดังนั้น โอกาสที่โครงสร้างร่างกายของเราจะเสียสมดุลย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องคอยระมัดระวัง โดยการฝึกกล้ามเนื้อให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หรือขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อก็ต้องถูกดึงไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อควบคุมโครงสร้างของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุลอยู่เสมอ

 

ทำไมต้องบริหารร่างกาย

       อันที่จริงไม่ว่าจะเป็นการหายใจให้ถูกต้อง การนั่งให้ตัวตรงและการรักษาอิริยาบถให้อยู่ในท่าพื้นฐาน ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นถือว่าเป็นการบริหารร่างกายแล้ว แต่เป็นการบริหารร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันและแก้ไขอาการบิดเบี้ยวของโครงสร้างร่างกาย ที่ได้รับแรงกระทบกระแทกจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องมีท่าบริหารร่างกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ ให้สามารถรักษาโครงสร้างของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุลให้ใต้ตลอดเวลา

      แม้เพียงแค่การนอน ก็มีโอกาสทำให้โครงสร้างของร่างกายเสียสมดุลได้แล้ว เพราะขณะที่หลับ เราก็อาจจะนอนบิด ตะแคงบ้าง ตัวงอบ้าง โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าก็ควรจัดการให้โครงสร้างของร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุล ด้วยการบริหารร่างกายสักครั้งหนึ่ง

      การบริหารร่างกาย นอกจากจะเป็นการจัดการให้โครงสร้างของร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุลแล้ว ยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อให้ได้เรียนรู้ว่า การเคลื่อนไหวหรือการถูกดึงรั้งไปในทิศทางใดผิดหรือถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่มีท่าบริหาร กล้ามเนื้อก็ไม่ถูกฝึก

 

การบริหารร่างกาย มีวิธีปฏิบัติอย่างไร

    การบริหารร่างกายที่ดี ควรมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การปรับสร้างความสมดุลให้แก่ร่างกายและจิตใจ ท่าบริหารต่อไปนี้ นพ.ถาวร กาสมสัน ได้รับการถ่ายทอดจาก รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ และได้ปรับปรุงในรายละเอียด โดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา

    อนึ่งในการบริหารร่างกายนั้นไม่ว่าจะกระทําที่ไหน เมื่อใดแต่งกายอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้นขอเพียงให้สามารถเคลื่อนไหวในแต่ละท่าได้สะดวกไม่ติดขัดเป็นใช้ได้ อีกทั้งต้องมีความตั้งใจและเอาใจใส่ในการบริหารอย่างจริงจังเท่านั้น ก็จะประสบผลดี มี สุขภาพดีอย่างแน่นอน

 

บริหารร่างกายแค่ไหนจึงจะพอดี

      คนเราต้องฝึกบริหารร่างกายอย่างน้อยวันละครั้ง แต่ดีที่สุดควรเป็น วันละ ๒-๓ ครั้ง คือ ตอนเข้าเมื่อตื่นนอน ตอนกลางวันช่วงพักจากการทำงาน และตอนเย็นก็บริหารอีกรอบ เพื่อจัดโครงสร้างของร่างกายให้เข้าที่ก่อนจะพักผ่อน

       การบริหารจะเกิดประสิทธิผลอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ถ้าร่างกายเสียสมดุลเพียงเล็กน้อยครั้นฝึกเพียงเล็กน้อยก็เข้าที่แล้ว คนที่เสียสมดุลมาก เวลาฝึกจะรู้สึกว่ายาก กรณีเช่นนี้ต้องทำหลายๆ ครั้งโครงสร้างจึงจะเข้าที่

       มีคนไข้คนหนึ่ง ปวดหลัง ปวดคอ ทรมานมาก ครั้นมาฝึกท่าบริหาร ในช่วงแรก เขารู้สึกว่า เป็นเรื่องยากมาก แต่ครั้นพอรู้สึกว่า ตนมีอาการดีขึ้น เขาก็เกิดกำลังใจบริหารร่างกายทุกๆ ๓ ชั่วโมง ๓ วันต่อมา ก็เปลี่ยนเป็นทุกๆ ๔ ชั่วโมง เดี๋ยวนี้เขาบริหารร่างกาย วันละ ๑-๒ ครั้ง ก็รู้สึกสบายแล้ว

 

ข้อควรระวังในการบริหารร่างกาย

      สิ่งที่ต้องระวังในการบริหารร่างกาย คือ อย่าบริหารผิดท่าต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามรายละเอียดที่แนะนำไว้ข้างต้น บางคนนั่งดึงแขนแต่หลังงอ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าผิดแล้ว หรือเมื่อเหยียดแขน ถ้ายกไหล่ด้วย ก็จะทําให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไปอยู่ผิดที่ เป็นต้น

      ต้องตระหนักไว้เสมอว่า ขณะที่เราฝึกท่าต่างๆ ต้องให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ถูกต้อง การวางอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ฯลฯ ต้องอยู่ในตำแหน่งถูกต้องตามที่กําหนดไว้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041828382015228 Mins