มโหสถตอนที่๑๓ (ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์)

วันที่ 31 มค. พ.ศ.2550

 

.....มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ทำให้ใช้เวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน ด้วยการมุ่งแต่ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน วุ่นวายอยู่กับครอบครัว เพลิดเพลินสนุกสนานไปวันหนึ่งๆ และถึงแม้มีเป้าหมาย ก็มุ่งเพียงให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ อันเป็นเป้าหมายในชาตินี้เท่านั้น ไม่ได้ใส่ใจในเป้าหมายที่เป็นชาติหน้า และเป้าหมายหลัก คือ มรรคผลนิพพาน อีกทั้งเมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขาดกัลยาณมิตรคอยแนะนำ ชีวิตจึงเวียนวนอยู่ในกระแสโลก กระแสแห่งความทุกข์ระทม ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจชีวิตไปตามความเป็นจริง และมุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน

 

มีธรรมภาษิตใน ขุททกนิกาย มโหสถชาดกว่า

.....“แม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ทะเลนั้นมีกำลังมากตลอดกาล ทะเลใหญ่นั้นแม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไปได้ ฉันใด กิจการที่คนเขลาประสงค์ ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้ คนไม่ฉลาดย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ในกาลไหนๆ ฉันนั้น”

 

.....นี่เป็นถ้อยคำของบัณฑิตนักปราชญ์ ที่สรรเสริญปัญญาว่าเป็นยอดกว่าทรัพย์สินเงินทอง หรือของมีค่าใดๆ ในโลกนี้ ดังจะได้นำเรื่องการโต้ตอบกันของบัณฑิตในสมัยก่อน ที่ท่านมีความเห็นว่า แม้ขาดทรัพย์แต่ไม่ไร้ปัญญา ยังประเสริฐกว่าคนมีทรัพย์แต่ไร้ปัญญาอย่างไร

 

.....*เรื่องมีอยู่ว่า พระราชเทวีอุทุมพร ทรงรู้ว่าบัณฑิตทั้งสี่สามารถตอบปริศนาธรรม ของพระราชาได้เพราะมโหสถ แต่ก็ได้ลาภสักการะเท่ากัน จึงกราบทูลพระราชา ตามความเป็นจริง พระราชาดำริว่า ที่ผ่านมาก็แล้วกันไป ทรงมีพระราชประสงค์ จะทดลองปฏิภาณไหวพริบ แนวความคิดของบัณฑิตทั้งห้าว่า ใครจะแสดงความเห็นได้ถูกต้อง และถูกพระทัยมากกว่ากัน จึงคิดปัญหาอย่างหนึ่ง เรียกว่าสิริเมณฑกปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างปัญญาและทรัพย์ว่า อะไรจะประเสริฐกว่ากัน

(*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๗๐)

 

.....เช้าวันหนึ่ง เมื่อบัณฑิตทั้งห้ามาเข้าเฝ้าตามปกติ พระราชาได้ตรัสกับเสนกะว่า “ท่านอาจารย์เสนกะ บรรดาคน ๒ พวก คือ คนสมบูรณ์ด้วยปัญญาแต่เสื่อมจากสิริ และคนมียศแต่ไร้ปัญญนักปราชญ์บัณฑิตยกย่องใครว่าประเสริฐกว่ากัน” เสนกะ กราบทูลเฉลยปัญหานั้นทันทีว่า “ข้าแต่พระจอมประชาราษฎร์ คนฉลาด และคนเขลา คนบริบูรณ์ด้วยศิลปะ และหาศิลปะมิได้ แม้มีชาติตระกูลสูงย่อมเป็นผู้รับใช้ ของคนหาชาติมิได้แต่มียศ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงขอทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม ส่วนคนมีสิริเป็นคนประเสริฐ”

 

.....พระเจ้าวิเทหราชได้สดับคำของเสนกะ ก็ไม่ตรัสถามอาจารย์อีก ๓ คน แต่ข้ามไปถามมโหสถบัณฑิตว่า “ดูก่อนมโหสถ ระหว่างคนพาลผู้มียศ และบัณฑิตผู้ไม่มีโภคะ นักปราชญ์ยกย่องคนไหนว่าประเสริฐกว่ากัน” มโหสถทูลตอบอย่างไม่ลังเลใจว่า “โปรดสดับเถิดพระมหาราชเจ้า คนพาลทำกรรมที่เป็นบาปหยาบช้า สำคัญว่าอิสริยยศของเราในโลกนี้ประเสริฐ คนพาลมองเห็นแต่ประโยชน์ในโลกนี้ ไม่เห็นประโยชน์ในโลกหน้า ต้องได้รับเคราะห์ร้ายในโลกทั้งสอง ข้าพระองค์เห็นความเหล่านี้ จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาประเสริฐแท้”

 

.....เมื่อมโหสถบัณฑิตบรมโพธิสัตว์กราบทูลเช่นนั้น พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร มาทางเสนกะอีกครั้ง ทรงพอพระทัยที่จะฟังบัณฑิตของพระองค์แสดงความคิดเห็น จึงตรัสถามเสนกะว่า “มโหสถสรรเสริญคนมีปัญญาว่าเป็นผู้สูงสุด ท่านจะแย้งว่าอย่างไรล่ะ” เสนกะทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถยังเด็ก แม้ทุกวันนี้ปากของเธอยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มโหสถจะรู้อะไร ฝูงนกบินไปบินมาตามต้นไม้ในป่าที่มีผลดกฉันใด ชนเป็นอันมากย่อมคบหาสมาคมผู้มั่งคั่งมีโภคทรัพย์มาก เพราะความต้องการด้วยทรัพย์ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น คนมีสิริสมบัติเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ”

 

.....พระราชาทรงสดับดังนั้น ก็ตรัสว่า “พ่อมโหสถบัณฑิต เจ้าจะกล่าวแก้อย่างไร” มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ เสนกะจะรู้อะไรเห็นแต่ทรัพย์เท่านั้น ไม่เห็นค้อนไม้อันใหญ่ที่จะตกลงบนศีรษะ เหมือนกาอยู่ในที่เทข้าวสุก เหมือนสุนัขอยากจะดื่มนมส้ม เพราะฉะนั้น คนมีปัญญาน้อยได้ความสุขแล้วย่อมประมาท เมื่อมีความสุขหรือความทุกข์ที่จรมาถูกต้องแล้วเขาย่อมหวั่นไหว เหมือนปลาดิ้นรนในที่ร้อน ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาแลประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่”

 

.....เมื่อพระราชาตรัสถามเสนกะอีกว่า “ท่านอาจารย์เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร” เสนกะจึงทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดฟังเถิด แม่น้ำน้อยใหญ่ย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา แม่น้ำเหล่านั้นทั้งหมดย่อมละชื่อ และถิ่นของตน แม่น้ำคงคาไหลไปสู่สมุทรย่อมไม่ปรากฏชื่อ คงได้แต่ชื่อว่ามหาสมุทรเท่านั้น ฉันใด สัตวโลกแม้มีฤทธิ์ย่อมไม่ปรากฏ เหมือนแม่น้ำคงคาเข้าไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้น ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาไม่ประเสริฐกว่าคนมีทรัพย์”

 

.....พระราชาตรัสอีกว่า “พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร” มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า “โปรดสดับเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะกล่าวแก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์กล่าว แม่น้ำน้อยใหญ่ ย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ทะเลนั้นมีกำลังมากยิ่ง ทะเลใหญ่นั้น แม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไปได้ ฉันใด กิจการที่คนเขลาประสงค์ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้ คนมีสิริย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ในกาลไหนๆ ฉันนั้น ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่”

 

.....เสนกะโต้ตอบกลับไปว่า “ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถนี้ยังเป็นเด็กรุ่นจะรู้อะไร พวกข้าพระองค์ทั้งหมดแม้เป็นบัณฑิต ยังเคารพบำรุงพระองค์ พระองค์ทรงเป็นใหญ่ครอบงำพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งดาวดึงส์พิภพ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาไม่ประเสริฐ คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ”

 

.....มโหสถเห็นเสนกะยังไม่ยอมแพ้ จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะนี้เป็นคนเขลานัก แลดูอยู่เฉพาะยศ และสิริเท่านั้น ไม่รู้ความวิเศษแห่งปัญญา โปรดฟังข้าพระองค์เถิด คนเขลามียศเป็นดุจทาสของคนฉลาด ในเมื่อมีกิจต่างๆ เกิดขึ้น คนฉลาดย่อมจัดการภารกิจนั้นได้ คนเขลาย่อมถึงความหลงในกิจนั้น ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐสุด”

 

.....ครั้นพระบรมโพธิสัตว์แสดงภูมิปัญญา เหมือนผู้วิเศษคุ้ยทรายทองขึ้นจากเชิง เขาสิเนรุ เหมือนผู้มีฤทธิ์ยังดวงจันทร์เต็มดวงให้ปรากฏขึ้นในท้องนภา จนเสนกะบัณฑิตหมดคำโต้แย้ง และไม่อาจกล่าวแย้งได้อีก ได้แต่นั่งคอตก จากนั้นมโหสถ บัณฑิตได้กล่าวขึ้นอีกว่า “ปัญญาเป็นที่สรรเสริญของสัตบุรุษ ทั้งหลาย สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญปัญญาว่า ประเสริฐอย่างแท้จริง สิริเป็นที่ใคร่ของพวกคนเขลา คนเขลาใคร่สิริ ยินดีในโภคสมบัติ ก็ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ใคร ๆ ไม่สามารถเปรียบด้วยอุปมาใดๆ ได้ คนมีสิริย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาในกาลไหนๆ ผู้รู้ผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ”

 

.....พระเจ้าวิเทหราชได้สดับการบันลือสีหนาทของมโหสถเช่นนั้น ทรงชื่นชมโสมนัส ทรงบูชามโหสถด้วยทรัพย์สมบัติ และเครื่องสักการะมากมาย เหล่าข้าราชบริพารต่างแซ่ซ้องสาธุการต่อชัยชนะของมโหสถในครั้งนั้น

 

.....เราจะเห็นว่า นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน ท่านสรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ โบราณจึงกล่าวว่า มีปัญญาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้ยินได้ฟังกันเช่นนี้แล้ว อย่าลืมที่จะแสวงหาดวงปัญญา แสวงหาความรู้ใส่ตัวให้มาก คนเราจะล่วงทุกข์ได้ ต้องอาศัยปัญญา และความเพียร ฉะนั้น ให้หมั่นนั่งธรรมะทุกๆ วัน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.07500780026118 Mins