ตำนานพระปริตร

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2562

ตำนานพระปริต

        คำว่า "พระพุทธมนต์" หมายถึง พระพุทธพจน์อันเป็นธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีปรากฏในพระไตรปิฏกบ้าง เป็นบทสวดที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง เป็นคาถาบ้าง เป็นพระสูตรบ้าง โดยถือกันว่าพระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันอันตรายต่างๆ ได้

        จึงเรียกอีกอย่างว่า ''พระปริตร"

        คำว่า "ปริตร" มีความหมายว่า คุ้มครอง ป้องกัน รักษา

        ในสมัยก่อนได้มีการรวบรวมไว้มี ๗ บท เรียกว่า "๗ ตำนาน" บางแห่งมี ๑๒ บท เรียกว่า "๑๒ ตำนาน"
        ส่วนคำว่า "ตำนาน" หมายถึง เรื่องราวที่เล่าสืบๆ กันมา

        แต่ในที่นี้เป็นการเรียกพระปริตรบทหนึ่งๆ ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะแผลงมาจาก คำว่า "ตาณะ'' ในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึง "ต้านทาน'' หรือ "ป้องกัน''

        การสวดพระปริตร (ตามตำนาน) กล่าวว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราว พ.ศ. ๕๐๐ เนื่องด้วยชาวศรีลังกาที่นับถือพุทธศาสนาในขณะนั้น มีความประสงค์จะให้พระสงฆ์ช่วยเหลือตนให้เกิดพ้นจากทุกข์ภัยเกิดสิริมงคล และป้องกันภยันตรายต่างๆด้วยการสวดมนต์ และคาถาตามแบบอย่างพราหมณ์

        ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ศรีลังกาจึงได้คิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น โดยเลือกเอาพระสูตรหรือคาถาที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย อันเกิดขี้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นบทสวดมนต์โดยการสวดครั้งแรกๆ ก็ขึ้นกับเหตุการณ์ที่ไปสวด เช่น สวดพิธีมงคล ก็ใช้บทมงคลสูตร สวดให้คนเจ็บป่วยก็ใช้บทโพชฌงคสูตร

        ครั้นต่อมา คนนิยมมากขึ้นก็คิดค้นพระสูตรต่างๆ มาสวดเป็นพระปริตรมากขึ้นตามลำดับ ต่อมา พระเจ้าแผ่นดินประเทศศรีลังกา ก็ได้รับสั่งให้คณะสงฆ์ปรับปรุงพระสูตรและคาถาที่ใช้สวดขึ้นใหม่ให้เหมาะกับเหตุการณ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีหลวงโดยได้เพิ่มพระสูตรและคาถาให้มากขึ้น

        เรียกว่า ''ราชปริตร" แปลว่า มนต์สำหรับสวดคุ้มครองพระเจ้าแผ่นดิน

        โบราณาจารย์ได้จำแนกพระปริตรออกเป็น ๒ ประเภท คือ

        ๑. จุลราชปริตร พระปริตรชุดเล็ก มี ๗ บท ได้แก่ มงคลปริตร รัตนปริตร เมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร และอาฏานาฏิยปริตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "๗ ตำนาน''

        ๒. มหาราชปริตร พระปริตรชุดใหญ่ มี ๑๒ บท โดยเพิ่มจากจุลราชปริตรอีก ๕ บท คือ วัฏฏกปริตร อังคุลิมาลปริตร โพชฌงคปริตร อภยปริตร และชัยปริตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ''๑๒ ตำนาน''

        ต่อมา ประชาชนต่างก็นิยมให้มีการสวดพระปริตรในพิธีของตนบ้าง จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012263381481171 Mins