:: ชยปริตร ::
เพิ่มความมั่นใจ มุ่งสู่ชัยชนะ
ชยปริตรนี้นิยมสวดต่อจากคาถาพาหุง
บทสวดนี้ เรามักได้ยินกันเป็นประจำเวลาพระสงฆ์ประพรมน้ำพุทธมนต์ว่า "ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฒฑะโน" เป็นต้นไป
เรียกกันง่ายๆ ว่า "สวดชะยันโต"
แต่คนรุ่นหลังนำคำศัพท์ทางศาสนามาใช้ในทางที่ผิดพูดเล่นปนจริงกลายเป็นคำที่มีความหมายผิดเพี้ยนไป เช่น โดนผู้ใหญ่ด่า ก็บอกว่า "โดนสวดชะยันโต"
ชยปริตรนี้มีความเป็นมาจากชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าที่ทรงเอาชนะหมู่มารที่โคนต้นโพธิ์และทรงบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจึงมีการประพันธ์เป็นคาถาเพื่อสรรเสริญคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
ท่อนแรกของชยปริตรเป็นการกล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า จนเอาชนะมารทั้งหลายแล้วบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนท่อนหลังได้นำข้อความมาจากปุพพัณหสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ตรัสสอนให้ถือว่าการทำดีด้วยกาย วาจา ใจ นั่นแหละ เป็นมงคลเป็นฤกษ์ดียามดีที่สำคัญที่สุด
เพื่อให้เกิดชัยมงคล เพื่อให้ประสบชัยชนะจึงนิยมใช้สวดในงานพิธีมงคลต่างๆ
และเป็นบทสวดในการประพรมน้ำพุทธมนต์ด้วย
บทสวดและคำแปล
มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรต๎วา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลัง
พระโลกนาถผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงบำเพ็ญบารมีครบถ้วน เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ
ชะยันโต โพธิยา มูเล สัก๎ยานัง นันทิวัฑฒะโน
เอวัง ต๎วัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล
อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะทะวิโปกขะเล
อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ
สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปปะภาตั้ง สุหุฏฐิตัง
สุขะโณ สุมุตโต จะ สุยิฏฐัง พ๎รัหมะจาริสุ
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง
ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธิ เต ปะทักขิณัง
ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ
ขอท่านจงประสบความสำเร็จในการประกอบหน้าที่การงาน มีชัยชนะในชัยมงคล เหมือนพระพุทธเจ้าผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวศากยะ ทรงชนะมาร ณ โคนต้นโพธิ์ ทรงถึงความเป็นผู้เลิศเบิกบานพระหฤทัย เหนือบัลลังก์แห่งชัยชนะ ณ พื้นปฐพีอันประเสริฐ อันเป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
วันที่ทำความดีทางกาย วาจา ใจ นั่นหละถือเป็นฤกษ์ดี มงคลดี ยามดี ขณะดี ครู่ดี ทานที่ถวายแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในวันนั้น เป็นทานดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และความตั้งใจที่ทำในวันนั้นเป็นสิ่งที่ดีเมื่อทำความดีแล้ว ย่อมได้รับผลดีฯ
ธรรมะจากบทสวดมนต์
บทสวดมนต์นี้เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ฟัง เพื่อให้ประสบความสำเร็จเหมือนพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทรงเอาชนะนะมารทั้งหลายตรัสรู้ ณ โคนต้นโพธิ์
พระองค์ผ่านการทดสอบบารมีมานับไม่ถ้วน จนชาติสุดท้ายถึงประสบผลดังปรารถนา
คนเราก็จะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความพากเพียรพยายาม
ไม่ใช่เกิดจากฤกษ์ยาม ดวงชะตาหรือฟ้าลิขิตแต่อย่างใด
ที่สำคัญการกระทำหรือพฤติกรรมของเราเองนั่นหละที่ลิขิตชีวิตของเรา ที่เรียกว่า "กรรมลิขิต" ดังคำกลอนที่ว่า
มิใช่เทวาจะมาอุ้มสม ไม่ใช่พระพรหมจะมาเสกสรร
ไม่ใช่ศุกร์เสาร์หรืออาทิตย์จันทร์ จะมาบันดาลให้เราชั่วดี
อันกรรมลิขิตชีวิตของคน ยากดีมีจนสุดแต่วิถี
กฎแห่งกรรมทำดีต้องได้ดี ถ้าทำชั่วก็มีแต่ไปอบาย
ชีวิตของเราจึงอยู่ในกำมือเรา
ผิดพลาดอะไรมา อย่าไปโทษคนอื่น ให้โทษตัวเองจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของเรา
เป็นการสอนให้มนุษย์มีความฉลาดเกิดสติปัญญา ไม่งอมือ งอเท้า ไม่รอโชควาสนาหรือราชรถมาเกย แต่ให้ลงมือทำความดีด้วยตนเอง และความดีจะส่งผลเอง
การทำดีจึงเป็นหน้าที่ของคน ส่วนการให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม
ในนักขัตตชาดก กล่าวไว้ว่า "ประโยชน์มักล่วงเลยคนที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่ ความพร้อมในปัจจุบันแล้วเกิดประโยชน์นั่นแหละ คือฤกษ์ยามที่ดีที่สุด ดวงดาวก็ช่วยอะไรไม่ได้"
และในภัทเทกรัตตสูตร ได้ชี้บอกแนวทางแห่งความสำเร็จว่า "คนขยันทำมาหากิน ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค ย่อมประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ไม่ใช่เพราะโชคชะตา"
เหมือนกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ กว่าจะมีวันนี้ได้ก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ขึ้นสวรรค์ลงนรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ผ่านมาหลายภพชาติ กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงมี
ปณิธานที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
เมื่อเราทำอะไร มุ่งมั่นทำจริง ไม่รอโชคชะตา ย่อมประสบความสำเร็จ
น้ำมนต์หรือจะสู้หยาดเหงื่อแรงงาน
ความสำเร็จต้องมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของเราเอง
น้ำมนต์เป็นเพียงกำลังใจ อย่าให้น้ำมนต์มีอิทธิพลเหนือจิตใจ
สิ่งที่จะทำให้งานสำเร็จ มิใช่น้ำมนต์จากพระสงฆ์ชื่อดังแต่เป็นน้ำพักน้ำแรงหยาดเหงื่อแรงงานของเราเอง ที่อดทนต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ไม่ว่างานนั้นจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ เราจะได้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า
หากล้มเหลวเราจะไม่ทำมันอีกและถือเป็นบทเรียน
หากสำเร็จเราจะพัฒนาความรู้ต่อไปเหมือนนักวิทยาศาสตร์นามว่า โทมัส เอดิสัน
เอดิสันต้องออกจากโรงเรียนและเรียนหนังสือไม่จบ เพราะครูรับไม่ได้กับพฤติกรรมของเขา ถึงขนาดประณามว่าเอดิสันหัวขี้เลื่อย แต่คนที่เข้าใจพฤติกรรมของเอดิสันคือคุณแม่ เมื่อออกจากโรงเรียนคุณแม่ก็สรรหาหนังสือวิทยาศาสตร์มาให้อ่านเพราะเขาเป็นเด็กที่ชอบทดลองค้นคว้า
เมื่ออายุ ๘ ขวบ โทมัส เอดิสัน เป็นไข้ดำแดง จึงส่งผลกระทบถึงระบบการฟัง ทำให้หูตึง และไม่นานก็หูหนวกสนิท จากการลองผิดลองถูกเป็นหมื่นๆ ครั้ง ต่อมา ผู้คนทั่วโลก ต่างตกตะลึงกับสิ่งประดิษฐ์ของเขา ทั่วโลกสว่างไสวไปด้วยหลอดไฟนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เขามักถูกคนถามอยู่เสมอว่า "คุณรู้สึกอย่างไร ที่คนทั่วไปมองคุณว่าเป็นคนอัจฉริยะ"
เขาตอบว่า "คำว่าอัจฉริยะในความหมายของผมมีพรสวรรค์เพียง ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ มาจากความพยายาม"
นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเคยถามเอดิสันว่า "ถ้าหากการทดลองหลอดไฟตอนนั้นยังไม่สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น" เอดิสันตอบว่า "ตอนนี้ผมก็คงกำลังทดลองอยู่นะสิ แทนที่จะเสียเวลามานั่งคุยกับคุณ"
นี้คือตัวอย่างของคนสู้ชีวิตไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว