พุทธชัยมงคลคาถา ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า

วันที่ 25 กย. พ.ศ.2562

พุทธชัยมงคลคาถา ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า

พุทธชัยมงคลคาถา

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า

       พุทธชัยมงคลคาถา หรือ "คาถาพาหุง" เป็นบทสวดที่คนนิยมสวดกันมาก

       เพราะเป็นบทสวดที่กล่าวถึงชัยชนะอันใหญ่ทั้ง ๘ ครั้งของพระพุทธเจ้า เพราะสวดขึ้นต้นด้วยคำว่า "พาหุง" จึงนิยมเรียกว่า "คาถาพาหุง" และสวดต่อด้วยมหาการุณิโกหรือชยปริตร

ความเป็นมาคาถาพาหุง

       ที่มาของบทสวดคาถาพาหุงนี้ หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้กล่าวไว้ว่า เป็นตำราเก่าแก่ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นใบลานทองคำจารึกของ "สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว" ปัจจุบันเรียกว่า "วัดใหญ่ชัยมงคล" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รจนาถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

       สมเด็จพระพนรัตน์องค์นี้เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวร

       ในเรื่องนี้ หลวงพ่อจรัญวัดอัมพวัน ได้กล่าวถึงความเป็นมาไว้อย่างน่าสนใจว่า

       คืนหนึ่งท่านฝันว่า ได้เดินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่งครองจีวรคร่ำ สมณสารูปเรียบร้อยน่าเลื่อมใสเห็นว่าเป็นพระอาวุโสบวชมานาน จึงเข้าไปกราบนมัสการท่านหยุดยืนตรงหน้าแล้วกล่าวว่า "ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้วแห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอไปที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อดูจารึกที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวร เนื่องในวาระที่สร้างพระเจดีย์ฉลองชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชแห่งพม่า และประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทยจากหงสาวดีเป็นครั้งแรก เธอไปดูไว้แล้วจดจำมาเผยแพร่ออกไป ถึงเวลาที่เธอจะได้รับรู้แล้ว"

       ในฝันนั้นท่านได้รับปากพร้อมกับรู้ตำแหน่งที่บรรจุไว้ แล้วก็ตกใจตื่นตอนใกล้รุ่ง แล้วก็ทบทวนความฝัน นึกอยู่ในใจว่าตัวท่านมีสติกำหนดจิตอยู่เสมอ เรื่องฝันฟุ้งซ่านไม่ค่อยมี และก็ได้ทราบข่าวในวันนั้นว่า กรมศิลปากรจะทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหญ่ วัดใหญ่ชัยมงคล และจะทำการบรรจุพระบรมธาตุที่ยอดพระเจดีย์

       ท่านจะได้ขอร้อง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ช่วยบอกนายภิรมณ์ ชินเจริญ ให้เลื่อนการปิดยอดเจดีย์ไปอีกวันหนึ่ง เพื่อที่จะได้นำพระซุ้มเสมาชัยไปร่วมบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์บ้าง

       วันนั้น ท่านเดินทางไปถึง ก็ได้เดินขึ้นไปบนเจดีย์จนสุดบันได แล้วมองเห็นโพรงที่ทำทางเข้าสำหรับลงไปด้านล่าง มีนั่งร้านพอไต่ลงไปภายใน จึงตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า ลงไปคราวนี้ ถ้าพลาดตกจากนั่งร้านก็ยอมตาย

       เมื่อท่านลงไปภายในได้พบใบลานทองคำ ๑๓ ใบลาน ดังที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้บอกไว้จริงๆ จึงได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านได้จารึกถวายพระพร ก็คือบทสวดมนต์ที่เรียกว่า "พาหุงมหาการุณิโก" ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า "เราสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ศรีอโยธเยศ คือผู้จารึกรจนาเอาไว้ ถวายพระพรแด่พระมหาบพิตรเจ้า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

       ท่านจึงได้เข้าใจในบัดนั้นเองว่า บทพาหุงนี้คือบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ถวายให้สมเด็จพระนเรศวรไว้สวดเป็นประจำ ทั้งเวลาอยู่ในพระบรมราชวังและในระหว่างออกศึกสงคราม ซึ่งปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงรบ ณ ที่ใด ก็ทรงมีชัยชนะอยู่ตลอดเวลา ด้วยอำนาจแห่งคาถาพาหุงที่ทรงสวดเป็นประจำนั่นเอง

       ท่านจึงสอนให้ลูกศิษย์สวดคาถาพาหุง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

       ผู้ที่สวดคาถาพาหุงเป็นประจำ ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองปลอดภัยในชีวิต ไม่เพียงแต่สมเด็จพระนเรศวรเท่านั้นที่พบความมหัศจรรย์ของคาถาพาหุง

       มีเรื่องเล่าไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินครั้นตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว ก็ทรงเล็งเห็นว่าสงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดเยื้อ จึงทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระยอดธงตามแบบศรีอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระนเรศวร ด้วยการสวดคาถาพาหุง จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ

       เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การจะฟันฝ่าวิกฤติต่างๆให้ผ่านพ้นไปนั้น ต้องใช้อานุภาพแห่งความดีและมีสติกับการแก้ปัญหา

       จึงทำให้รอดพ้นจากวิกฤติได้อย่างแท้จริง

 

บทสวดและคำแปล

(๑)        พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง

ค๎รีเมขะลังอุทิตะโฆระสะเสนะมารัง

ทานาทิธัมมะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท

ต้นเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานี

       พญามารเนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ

ขี่ช้างครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามาร โห่ร้องก้องกึก

พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยธรรมวิธีมีทานบารมี เป็นต้น

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๒)       มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง

โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง

ขันตีสุทันตะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลานิ

       อาฬวกยักษ์ผู้กระด้าง ปราศจากความอดทน ดุร้าย

สู้รบกับพระพุทธเจ้าอย่างทรหดยิ่งกว่ามาร ตลอดราตรี

พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยขันติวิธีที่ทรงฝึกฝนมาดี

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๓)       นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตั้ง

ทาวัคคิจักกะมะสะนี้วะ สุทารุณันตั้ง

เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลา

       พญาช้างชื่อ นาฬาคิรี ตกมัน ดุร้ายยิ่งนัก

ประดุจไฟป่า จักราวุธ และสายฟ้า

พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยวิธีรดด้วยน้ำคือเมตตา

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๔)        อุกชิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง

ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตั้ง

อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลานิ

       โจรองคุลิมาล ถือดาบเงื้อง่าวิ่งไล่ฆ่าพระพุทธเจ้า

ตลอดระยะทาง ๓ โยชน์ พระจอมมุนีทรงบันดาล

อิทธิฤทธิ์ทางใจ เอาชนะได้ราบคาบด้วยเดช

แห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๕)       กัต๎วานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา

จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ

สันเตนะ โสมะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลา

       นางจิญจมาณวิกาเอาไม้กลมๆ มาผูกท้อง

ทำอาหารประหนึ่งว่าตั้งท้อง ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า

ท่ามกลางฝูงชน พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้

ด้วยสันติวิธี ระงับพระหฤทัยอันงดงาม

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๖)       สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง

วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตั้ง

ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลานิ

       สัจจกนิครนถ์ผู้ถือตัวว่าฉลาดเป็นนักโต้วาทะชั้นยอด

เสียสัจจะ เป็นคนมืดบอดยิ่งนัก

ตั้งใจมาโต้วาทะเพื่อหวังเอาชนะ

พระพุทธองค์ พระจอมมุนีผู้สว่างรุ่งเรืองด้วย "แสงปัญญา"

ทรงเอาชนะได้ ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น

ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๗)       นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุอัง มะหิทธิง

ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต

อิทธูปะเทสะวิธินา ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลานิ

       พญานาคชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก

พระจอมมุนี ทรงมีพุทธบัญชาให้พระโมคคัลลานะพุทธโอรส

ไปปราบด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

(๘)       ทุคคาหะทิฏฐิภชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง

พ์พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิต๎วา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะ ลา

       พรหมชื่อพกะ ถือตัวว่ามีความบริสุทธิ์ รุ่งเรือง

และมีฤทธิ์ ยึดมั่นในความเห็นผิด ดุจมีมือถูกอสรพิษ

ขบเอา พระจอมมุนี ทรงเอาชนะด้วยวิธีใช้ยาแก้

คือความรู้แจ้ง(ญาณ) ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น

ขอชัยมงคล จงมีแก่ท่าน

 

(๙)       เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา

โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที

หิต๎วานะ เนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ

โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ

       คนมีปัญญาสวดพุทธชัยมงคลคาถาทั้ง ๘ บทนี้

เป็นประจำ โดยไม่เกียจคร้าน จึงสามารถขจัด

อุปัทวันตรายทั้งหลาย ได้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน

อันเป็นสุขอย่างยิ่ง

 

ธรรมะจากบทสวดมนต์

       คำแปล "พุทธชัยมงคลคาถา" ทั้ง ๘ คาถา มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ

       คาถาที่ ๑ มีความหมายเพื่อเอาชนะศัตรูในการสู้รบ

       มีเรื่องเล่าว่าพญามารยกพลพร้อมทั้งเสนามารมาเป็นกองทัพใหญ่ เพื่อทวงบัลลังก์ที่นั่งคืนจากพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระพุทธเจ้าเลิกทำความเพียร เพราะมารกลัวว่าหากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ จะมาข่มหรือครอบงำไม่ได้อีก แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาชนะได้การอธิษฐานถึงบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา มีทานบารมี เป็นต้น จนเป็นเหตุให้พญามารพ่ายแพ้กลับไป

       คาถาที่ ๒ มีความหมายเพื่อเอาชนะใจคนที่กระด้างกระเดื่องเป็นปฏิปักษ์

       เรื่องเล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่งชื่ออาฬะวกะเป็นผู้มีจิตกระด้างและมีกำลังยิ่งกว่าพญามาร พยายามใช้กำลังทำร้ายพระองค์อยู่จนตลอดคืนยันรุ่ง พระพุทธเจ้าทรงทรมานยักษ์ตนนี้ให้พ่ายแพ้ไปได้ด้วยขันติบารมี ที่ทรงฝึกฝนอบรมมาดี

       คาถาที่ ๓ มีความหมายเพื่อเอาชนะสัตว์ร้ายหรือคู่ต่อสู้

       มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระเทวทัตคิดทรยศต่อพระพุทธเจ้า หวังการใหญ่ด้วยการคิดปฏิวัติล้มล้างการปกครองสงฆ์ อยากเป็นใหญ่เสียเอง หาทางทำร้ายพระพุทธเจ้าทุกวิธีทาง ได้จัดการให้คนปล่อยช้างนาฬาคีรีที่กำลังตกมัน เพื่อมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึงก็ไม่อาจทำร้ายได้ เพราะพระองค์ทรงเอาชนะได้ด้วยเมตตาบารมี

       คาถาที่ ๔ มีความหมายเพื่อเอาชนะโจรร้ายใจบาป

       เป็นเรื่องราวขององคุลีมาล ซึ่งมีตำนานว่าเป็นจอมโจรกลับใจ องคุลีมาลนั้นศึกษากับอาจารย์จนใกล้สำเร็จวิชา แต่ถูกศิษย์ใกล้ชิดอิจฉาใส่ร้ายป้ายสี อาจารย์จึงบอกไว้ว่า ถ้าฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัยให้ได้ครบพัน ก็จะมีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่องคุลีมาลฆ่าคนและตัดนิ้วมือได้ ๙๙๙ เหลืออีกนิ้วเดียวจะครบพันก็ได้มาพบกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสามารถเอาชนะด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ จนองคุลิมาลวิ่งตามไม่ทัน ยอมทิ้งดาบเลิกเป็นโจร และขอบวช กลายเป็นสาวกองค์สำคัญองค์หนึ่ง

       เรื่องนี้มีอธิบายโดยละเอียดในอังคุลิมาลปริตร

       คาถาที่ ๕ มีความหมายเพื่อเอาชนะการใส่ร้ายป้ายสีหรือคดีความ

       มีเรื่องเล่าว่า หญิงคนหนึ่งนามว่า "จิญจมาณวิกา" สาวกของพวกนิครนถ์ (คนนอกศาสนา) พยายามใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า โดยเอาไม้กลมๆ ใส่เข้าที่ท้องแล้วก็เที่ยวประกาศข่าวให้เล่าลือกันทั่วเมืองว่า นางตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าทรงเอาชนะได้ด้วยสันติวิธีอันงดงาม คือไม่ตอบโต้รอให้ความจริงปรากฏ ต่อมา ความจริงจึงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าเป็นแผนการณ์อันชั่วร้ายของคนบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ จึงถือเป็นบทที่สวดเพื่อเอาชนะคดีความหรือการใส่ร้ายป้ายสี

       คาถาที่ ๖ มีความหมายเพื่อเอาชนะการโต้ตอบ

       เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะสัจจะกะนิครนถ์ซึ่งเป็นคนเจ้าโวหาร ถือตัวว่าเป็นคนฉลาด บังอาจเข้ามาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเอาชนะด้วยพระปัญญาบารมี ที่เหนือกว่า

       คาถาที่ ๗ มีความหมายเพื่อเอาชนะคนเจ้าเล่ห์

       เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าให้พระโมคคัลลานะ อัครมหาสาวกไปต่อสู้กับพระยานาคชื่อ "นันโทปนันทะ" ผู้มีฤทธิ์มาก มีเล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้มากมาย พระโมคคัลลานะผู้เป็นยอดสาวกในด้านผู้มีฤทธิ์เอาชนะด้วยฤทธิ์ที่เหนือกว่า

       คาถาที่ ๘ มีความหมายเพื่อเอาชนะคนเจ้าทิฏฐิ

       เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะผกาพรหม ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าสำคัญว่าตนเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด แต่สุดท้ายพระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถเอาชนะได้ด้วยญาณวิธี คือความรู้แจ้งอันสูงสุดเหนือมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย จนทำให้ผกาพรหมยอมละทิ้งทิฏฐิมานะ คลายความเห็นผิดและยอมรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สูงสุดกว่า

       คาถาสุดท้าย เป็นบทสรุปว่า ถ้าใครมีใจเลื่อมใสศรัทธาสวดบทพุทธชัยมงคลคาถาเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน ย่อมทำให้ชีวิตผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคไปได้ เกิดสิริมงคล และประสบความสำเร็จในชีวิต และเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกัน

       มีคนหลายคนได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติของชีวิตด้วยการสวดมนต์บทนี้

       ฉะนั้น ในเวลามีพิธีทำบุญพิธีต่างๆ เมื่อเราได้ยินพระสวดพุทธชัยมงคลคาถา ควรตั้งใจฟังทุกครั้ง ด้วยจิตที่เป็นกุศลเป็นสมาธิบางทีเราเคยได้ยินพระสวดจนชิน แต่นึกไม่ถึงว่าคาถาพาหุงนี้มีความสำคัญอย่างไร

       แท้จริงแล้วพุทธชัยมงคลคาถาหรือคาถาพาหุงนี้ เป็นการน้อมใจให้เรานึกถึงความดีคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าเป็นการสอนตัวเราว่า การเอาชนะคนอื่นๆ นั้น หากไรซึ่งยุทธวิธีย่อมมีแต่ความพ่ายแพ้ บางครั้งแพ้ บางครั้งชนะ ไม่มีผู้ชนะอย่างแท้จริง

       แต่การเอาชนะตัวเองได้ ถือว่าเป็นยอดคน เป็นยอดฝีมืออย่างแท้จริง

       การสวดพุทธชัยมงคลคาถานี้ เป็นการอ้างเอาอานุภาพของพระพุทธเจ้า เพื่อปลุกใจให้เกิดชัยมงคลแก่เรา บทสวดทุกตอนจะจบลงท้ายด้วยคำว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ"

       เวลาพระสวดให้เรา ท่านจึงสวดใช้คำว่า "เต" ซึ่งแปลว่า "แก่ท่าน"

       แต่ถ้าเราสวดให้ตัวเองเพื่อให้ชัยชนะเกิดแก่ตัวเราเอง ก็ให้เปลี่ยนจาก "เต" เป็น "เม" ซึ่งแปลว่า "แก่ข้าพเจ้า"

       คือให้สวดว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ"

       เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราอยากจะสวดมนต์กันหรือยัง





 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034776270389557 Mins