เรื่อง แรงปรารถนา ตอน กำเนิดหญิงงาม

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2562

นิทานก่อนนอน
เรื่อง แรงปรารถนา
ตอน กำเนิดหญิงงาม

ในอดีตกาล ในแคว้นสีวี พระราชาทรงพระนามว่า สีวี ทรงครอบครองราชสมบัติ ในอริฏฐบุรีนคร. พระองค์มีราชโอรสซึ่งเกิดจากพระครรภ์ของพระอัครมเหสี  พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย พากันขนานพระนามพระราชโอรสนั้นว่า สีวิกุมาร. 
ในวันที่พระราชโอรสประสูติ ก็เป็นวันที่บุตรของท่านเสนาบดี คลอดเช่นกัน. พวกหมู่ญาติ พากันตั้งชื่อเด็กนั้นว่า อภิปารกะ. เด็กทั้งสองคนนั้น เป็นสหายกัน พอเจริญวัยมีอายุได้ ๑๖ ปี ไปยังกรุงตักกศิลา พอเล่าเรียนศิลปะจบแล้ว จึงพากันกลับมา. 
พระราชาได้ทรงพระราชทานพระราชสมบัติให้พระราชโอรสครอบครอง. แม้พระราชโอรสนั้น ก็ทรงแต่งตั้งอภิปารกะไว้ในตำแหน่งเสนาบดี ทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรม.
ในพระนครนั้นนั่นเอง เศรษฐีชื่อติริฏิวัจฉ ผู้มีทรัพย์สมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ ท่านมีบุตรสาวคนหนึ่ง เธอมีรูปร่างสวยยิ่งนัก เลอเลิศด้วยความงาม ประกอบด้วยลักษณะอันงดงาม. ในวันตั้งชื่อ หมู่ญาติได้ตั้งชื่อเธอว่า อุมมาทันตี. เมื่อเธอมีอายุได้ ๑๖ ปี เธอมีผิวพรรณเกินล้ำหมู่มนุษย์ งดงาม น่าดูน่าชมปานเทพธิดาชั้นฟ้า. พวกปุถุชนที่พบเห็นเธอเข้า  ทุกคนไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน เป็นผู้เมา ด้วยความเมาคือกิเลส เหมือนเมาเพราะน้ำเมา ฉะนั้น ชื่อว่า ผู้สามารถจะตั้งสติได้ ไม่มีเลย 
ครั้งนั้นท่านติริฏิวัจฉะผู้เป็นบิดาของนาง เข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ อิตถีรัตนะอันสมควรแด่พระเจ้าแผ่นดิน ได้บังเกิดขึ้นแล้วในเรือนของข้าพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดส่งพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะทั้งหลายไป ให้พิจารณาอิตถีรัตนะนั้นแล้ว โปรดจงทำตามความพอพระทัยเถิด. 
พระราชา ทรงรับคำ แล้วทรงสั่งพราหมณ์ทั้งหลายไปแล้ว. 
พราหมณ์เหล่านั้นไปยังเรือนของท่านเศรษฐีแล้ว ได้รับการต้อนรับด้วยสักการะและ
สัมมานะ พากันบริโภคข้าวปายาส  ในขณะนั้น นางอุมมาทันตี ผู้ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ได้เข้าไปหาพราหมณ์เหล่านั้น  พราหมณ์เหล่านั้น พอเห็นนางเข้าก็ไม่สามารถจะดำรงสติไว้ได้ เป็นผู้เมาด้วยความเมาคือกิเลส ไม่รู้เลยว่าตนกำลังบริโภคค้างอยู่. บางพวก ก็จับคำข้าวเอาวางไว้บนศีรษะด้วยสำคัญว่าเราจะบริโภค. บางพวก ก็ยัดใส่ในระหว่างซอกรักแร้. บางพวก
ก็ทุบตีฝาเรือน. พวกพราหมณ์ได้กลายเป็นคนบ้าไปแม้ทั้งหมด. 
นางเห็นพราหมณ์เหล่านั้นเข้า จึงกล่าวว่า ทราบว่าพราหมณ์เหล่านี้ มาตรวจดูลักษณะของเรา ท่านทั้งหลาย จงลากคอพราหมณ์เหล่านั้นออกไปให้หมด ดังนี้แล้ว ให้คนรับใช้นำพราหมณ์เหล่านั้นออกไป. 
พราหมณ์เหล่านั้น ได้รับความอับอาย เจ็บแค้นนางอุมมาทันตี เมื่อไปยังพระราชนิเวศน์แล้ว จึงกราบทูลความเท็จว่า ขอเดชะ ผู้หญิงคนนั้น เป็นหญิงกาลกรรณี มิได้สมควรแก่พระองค์เลยพระเจ้าข้า.
พระราชา ทรงทราบว่า หญิงคนนั้น เป็นกาลกรรณี จึงมิได้ทรงรับสั่งให้นำเธอมา. 
นางอุมมาทันตีได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว คิดว่า พระราชาไม่ทรงรับเราด้วยทรงสำคัญว่า ทราบว่าเราเป็นคนกาลกรรณี ขึ้นชื่อว่า หญิงกาลกรรณีย่อมไม่มีรูปร่างอย่างนี้เป็นแน่  จึงผูกอาฆาตในพระราชาพระองค์นั้นว่า ช่างเถอะ ก็ถ้าว่าเราได้เข้าเฝ้าพระราชา ก็จักรู้กัน(อันตราย อย่าทำให้ผู้หญิงโกรธ)
ครั้นต่อมา ท่านบิดา ได้มอบเธอให้แก่ท่านอภิปารกะ. นางเป็นที่รัก ที่ชอบใจของท่านอภิปารกเสนาบดี. 
ถามว่า ก็นางได้มีรูปร่างงดงามอย่างนี้ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ? ตอบว่า ด้วยวิบากแห่งการถวายผ้าแดง.
ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี นางได้บังเกิดในตระกูลที่ขัดสน ในวันมหรสพ นางมองเห็นหญิงทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยบุญ นุ่งผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ ประดับประดาตบแต่ง  กำลังเล่นกันอยู่ เป็นเหตุให้นางต้องการจะนุ่งผ้าเช่นนั้นเล่นกับเขาบ้าง จึงกลับไปบอกมารดาบิดา
ท่านทั้ง ๒ กล่าวว่า ลูกเอ๋ย! พวกเราเป็นคนจนขัดสน จะได้ผ้าอย่างนั้นแต่ที่ไหนเล่า 
นางกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงอนุญาตให้ฉัน ทำการรับจ้างในตระกูลมั่งคั่งแห่งหนึ่งเถิด พวกนายจ้างเหล่านั้น รู้คุณของเราแล้วก็คงจัดให้เอง 
บิดามารดา กล่าวว่า เอาเถิดลูก 
นางพอได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาแล้ว จึงเข้าไปยังตระกูลหนึ่ง กล่าวว่า ดิฉันมาสมัครทำงานรับจ้าง เพื่อต้องการผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ.
พวกนายจ้างกล่าวกะเธอว่า เมื่อเจ้าทำงานครบ ๓ ปีแล้ว พวกเรารู้คุณความดีของเจ้าแล้วจักให้แน่. 
นางรับคำแล้วเริ่มทำงาน ด้วยความขยันหมั่นเพียร เมื่อยังไม่ครบ ๓ ปีบริบูรณ์ดี พวกนายจ้างเหล่านั้น รู้คุณความดีของนางแล้ว จึงได้มอบผ้าชนิดอื่นพร้อมกับผ้าที่ย้อมแล้วด้วยดอกคำชนิดเนื้อแน่น ให้แก่นาง  แล้วสั่งนางว่า เธอจงไปอาบน้ำพร้อมกับพวกสหายของเธอ เสร็จแล้ว จงลองนุ่งผ้านี้ดู. 
นางไปกับพวกหญิงสหายแล้ว วางผ้าที่ย้อมแล้วไว้บนฝั่งอาบน้ำแล้ว.
ในขณะนั้น พระสาวกของพระทศพลทรงพระนามว่ากัสสปะรูปหนึ่งถูกโจรชิงจีวรไป นุ่งและห่มกิ่งไม้ที่หักได้ มาถึงยังที่นั้นแล้ว.
นางเห็นท่านแล้วคิดว่า ท่านผู้เจริญรูปนี้ เห็นที่จักถูกโจรชิงจีวรไป ผ้านุ่งของเราเป็นของหาได้ยาก เพราะไม่ได้ให้ทานไว้ในกาลก่อน เราจักฉีกผ้านั้นออกเป็น ๒ ส่วน จักถวายส่วนหนึ่งแด่พระคุณเจ้า ดังนี้แล้ว ขึ้นจากน้ำ นุ่งผ้านุ่งส่วนตัว แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าขา นิมนต์หยุดก่อนเจ้าข้า จึงไปไหว้พระเถระแล้ว ฉีกผ้านั้นตรงกลาง ได้ถวายส่วนหนึ่งแก่พระเถระนั้น. 
พระเถระนั้น ยืนอยู่ในที่กำบังส่วนหนึ่ง ทิ้งกิ่งไม้ที่หักได้เสียนุ่งผ้าผืนนั้นชายหนึ่ง ห่มชายหนึ่ง แล้วจึงออกไป. ลำดับนั้น เพราะรัศมีแห่งผ้าอาบทั่วร่างพระเถระ ได้มีแสงรัศมีเป็นอันเดียวกัน ดุจดังพระอาทิตย์ทอแสงอ่อน ๆ ฉะนั้น. 
นางมองดูพระเถระนั้นแล้ว คิดว่า ทีแรกพระคุณเจ้าของเราไม่งามเลย บัดนี้งามรุ่งโรจน์ดุจพระอาทิตย์ทอแสงอ่อน ๆ ฉะนั้นเราจักถวายแม้ผ้าท่อนนี้แก่พระผู้เป็นเจ้านี้แหละ แล้วถวายผ้าส่วนที่สอง ได้ตั้งความปรารถนาว่า ท่านผู้เจริญ ดิฉันท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีรูปอันงดงาม คนใดคนหนึ่ง พบเห็นดิฉันแล้ว อย่าได้อาจดำรงอยู่โดยภาวะของตนเลย ผู้หญิงอื่น ที่ชื่อว่ามีรูปสวยงามเกินกว่าดิฉัน อย่าได้มีเลย 
แม้พระเถระ กระทำอนุโมทนาแล้ว ก็หลีกไป. 
นางท่องเที่ยวไปในเทวโลกบังเกิดในอริฏฐบุรีในกาลนั้นแล้ว ได้มีรูปร่างงดงาม เหมือนอย่างที่ได้ปรารถนาไว้แล้วนั้น.
ครั้งนั้น ในพระนครนั้น ประชาชนทั้งหลายได้โฆษณางานมหรสพประจำเดือนกัตติกมาส  ประชาชนทั้งหลายได้ตระเตรียมพระนครไว้ในวันมหรสพ เพ็ญเดือนกัตติกมาสแล้ว. 
ท่านอภิปารกเสนาบดีก่อนจะไปยังที่ทำงานของตน ได้เรียกภริยามาแล้วพูดว่า อุมมาทันตีน้องรัก! วันนี้ เวลาค่ำคืนแห่งกัตติกมาส จะมีมหรสพ พระราชาจักทรงทำประทักษิณพระนคร เสด็จผ่านประตูเรือนของเรานี้เป็นเรือนแรก น้องอย่าปรากฏตัวให้พระราชาทรงเห็นนะ เพราะถ้าพระองค์เห็นน้องแล้ว จักไม่อาจดำรงสติไว้ได้. 
นางอุมมาทันตีนั้นรับคำสามีว่า ไปเถิดพี่ ถึงเวลานั้นแล้ว ดิฉันจักรู้เอง  เมื่อสามีไปแล้ว จึงสั่งนางทาสีว่า ในเวลาที่พระราชาเสด็จมายังประตูเรือนของเรานี้ เจ้าจงบอกแก่เราให้ทราบด้วย
นางทาสีรับคำว่า เจ้าข้า นายหญิง
เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว พระจันทร์เพ็ญลอยเด่นขึ้นแทนที่ พระนครที่ประดับประดาตบแต่งแล้ว ดูงดงามปานเทวนคร ประทีปลุกโพลงสว่างไสวทั่วทุกทิศ พระราชาทรงประดับตบแต่งด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพทรงประทับบนรถม้าคันประเสริฐ แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ทรงกระทำประทักษิณพระนครด้วยยศใหญ่ เสด็จถึงประตูเรือนของท่านอภิปารกเสนาบดีเป็นเรือนแรกทีเดียว. ก็เรือนหลังนั้น แวดล้อมด้วยกำแพงสีดังมโนศิลา มีหอคอยอยู่ที่ซุ้มประตูอันประดับตบแต่งจนงามเลิศ น่าดูชม. 
ขณะนั้น นางทาสีได้เรียนแจ้งให้นางอุมมาทันตีทราบแล้ว. นางอุมมาทันตีให้นางทาสีถือพาน ดอกไม้แล้ว ยืนพิงบานหน้าต่างด้วยลีลาอันงดงามดุจนางกินรี โปรยดอกไม้ใส่พระราชา. 


จบตอน กำเนิดหญิงงาม

เล่ม 28 ขุ. ชา.

ประเด็นน่าสนใจ
    นางอุมมาทันตี มีรูปงดงามประหนึ่งเทพธิดา ผู้ใดเห็นเป็นต้องลุ่มหลง ไม่อาจคุมสติได้ นั่นเพราะนางทำบุญแล้วอธิษฐานไว้  ทำบุญแล้วอธิษฐาน ความสำเร็จย่อมบังเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การให้ผลของบุญ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข อย่างน้อย ๒ ประการ คือ
    ๑ เวลา บุญ บางอย่างให้ผลในชาตินี้ เหมือนบุญของนายปุณณะที่ทำบุญกับพระสารีบุตรแล้วได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น  บางอย่างให้ผลในชาติหน้า บางอย่างให้ผลในชาติถัดๆ ไป เหมือนบุญของโชติกเศรษฐี หรือเศรษฐีอีกหลายๆ ท่าน รวมทั้งบุญของนางอุมมาทันตีด้วย ทำบุญแล้วอธิษฐานได้ แต่ต้องรอเวลาให้ผล
    ๒ ปริมาณบุญ ความปรารถนาแต่ละอย่างอาศัยบุญไม่เท่ากัน จะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีต้องอาศัยบุญมาก จะเป็นพระราชามหากษัตริย์ต้องอาศัยบุญมากกว่า จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิต้องอาศัยบุญมากกว่านั้น จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์  เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต้องอาศัยบุญมากยิ่งๆขึ้นไป และผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องอาศัยบุญมากอย่างยิ่ง อยากเป็นอะไรก็เป็นได้ ขอเพียงมีบุญมากพอ
    ทำบุญแล้วอธิษฐานอะไรได้ตามความปรารถนา แต่อย่าลืมอธิษฐานให้ยึดเหนี่ยวพระนิพพาน(นิพพานะ ปัจจโย โหตุ) เพื่อมิให้พลัดหลงจากเส้นทางของความดี

Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017358501752218 Mins