พุทธคารวตาเคารพในพระพุทธเจ้า

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2562

พุทธคารวตาเคารพในพระพุทธเจ้า

คำว่า “พระพุทธเจ้า” ในที่นี้หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้เป็นพระบรมศาสดา หรือพระบรมครู (ผู้ควรเคารพยิ่ง) ของมนุษย์  และเทวาทั้งหลาย ซึ่งชาวพุทธในปัจจุบันพากันเรียกพระองค์เพียงสั้น ๆ ว่า “พระพุทธเจ้า” ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงความเคารพในพระพุทธเจ้าในหนังสือเล่มนี้จึงหมายถึงความเคารพในพระศาสดาของพวกเรานั่นเอง
 

สำหรับบุคคลที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือมีความรู้บ้าง แต่ยังไม่เข้าใจซาบซึ้ง อาจสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีคุณวิเศษอย่างไร ทำไมเราจึงต้องสักการะเคารพบูชาพระองค์ท่าน หาไม่แล้วเราจะไม่เจริญรุ่งเรือง หรือถึงขนาดประสบความเสื่อมทรามอย่างร้ายแรงทีเดียว ความสงสัยของท่านจะหมดไป ถ้าท่านได้ติดตามศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธเจ้าต่อไป

 

พระพุทธเจ้าคือใคร ?

พระพุทธเจ้า คือพระศาสดาผู้ทรงประดิษฐานหรือทรงตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น ตั้งแต่อดีตกาลอันไกลโพ้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้เคยมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน สำหรับพระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้ มีพระนามว่า “พระสมณโคดมพุทธเจ้า” ซึ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานไปสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ยังตกทอดสืบกันต่อมาให้พวกเราได้ศึกษากันจนถึงทุกวันนี้
 

กว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เราควรจะได้ทราบถึงธรรมชาติแห่งการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าสักเล็กน้อย บุคคลที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ (พระญาณเป็นเครื่องตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง) เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แต่เดิมเริ่มแรกก็เป็นปุถุชนผู้ยังหนาด้วยกิเลสเช่นเรา ท่านทั้งหลายนี่เอง แต่ทว่าใจใสมากพอ จึงมีปัญญามองเห็นทุกข์โทษภัยของการมีชีวิตอยู่ในวัฏฏะคือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก มีความเห็นว่า การเกิดมาในสังสารวัฏนี้ ก็คือการติดคุกแห่ง
การเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จบสิ้นอยู่ในโลก จึงตั้งใจมุ่งมั่นค้นหาวิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ประสบอิสรภาพอย่างแท้จริง ไม่ต้องติดอยู่ในคุกคือโลกอีกต่อไป เมื่อพบเเล้วก็ทุ่มเทชีวิตฝึกหัดขัดเกลาอบรม
ตนอย่างจริงจัง เพื่อขจัดวงจรแห่งทุกข์ ด้วยการบำเพ็ญบุญบารมีคือ ความดีอย่างยิ่งยวดชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นเวลานานแสนนาน หลายร้อยภพ หลายร้อยชาติ หลายสิบอสงไขยโดยไม่ท้อถอย ไม่เลิกรา ด้วยเชื่อมั่นว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเท่านั้นที่จะต้องช่วยตนเอง ไม่มีใครช่วยให้เราพ้นวงจรแห่งทุกข์ได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีปณิธานอันแน่วแน่ว่า เมื่อตนพ้นทุกข์แล้ว ก็จะสงเคราะห์สัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นทุกข์ด้วย ความคิดที่เป็นอุดมการณ์ชีวิตอันสูงส่งนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้บุคคลพากเพียรบำเพ็ญบารมีอย่างอุกฤษฏ์

 

" แต่เดิมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา
แต่มีปัญญาเห็น ภัยในวัฏฏสงสาร มุ่งมั่นค้นหาวิธีปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และมีปณิธานแน่วแน่ว่า เมื่อตนพ้นทุกข์แล้ว
จะพาสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ด้วย "

บุคคลที่กำลังมุ่งมั่นบำเพ็ญบารมีเพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณนั้นในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “พระสัมมาสัมโพธิสัตว์” ซึ่งจัดเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทหนึ่งในบรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งแต่ละองค์ ล้วนบำเพ็ญทศบารมี (บารมี ๑๐ ประการ) เหมือน ๆ กัน ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี แต่การบำเพ็ญทศบารมีของพระสัมมาสัมโพธิสัตว์นี้ ยังแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ
 

๑) ขั้นปกติ หรือบารมีตามปกติ ได้แก่ การสละทรัพย์เป็นทาน เป็นต้น
๒) ขั้นกลาง เรียกว่าอุปบารมี ได้เเก่ การสละอวัยวะ เลือดเนื้อ เป็นทาน เป็นต้น
๓) ขั้นสูงสุด เรียกว่า ปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเป็นทาน เป็นต้น

 

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นแล้วว่า แม้การสร้างทานบารมีเพียงประการเดียว พระโพธิสัตว์ยังต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การบำเพ็ญบารมีอื่น ๆ พระโพธิสัตว์จะไม่ทุ่มชีวิตบำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์ ชนิดตายเป็นตาย ความมุ่งมั่นทุ่มเทกายใจฝึกหัดขัดเกลาอบรมตนเอง ด้วยการบำเพ็ญทศบารมีทั้ง ๓ ระดับ ของพระโพธิสัตว์นี้ แม้จะหนักหนาสาหัส

เพียงใด แต่ผลที่เกิดขึ้นคือพัฒนาการด้านคุณธรรมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และสั่งสมเป็นคุณวิเศษประจำจิตใจของพระโพธิสัตว์ เหนือปุถุชนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า จนกระทั่งถึงขีดสูงสุดในระดับที่สามารถบรรลุ
พระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลพ้นโลก ทศบารมีนั้นย่อมคุ้มค่าแก่การบำเพ็ญมิใช่หรือ

 

" พระโพธิสัตว์ ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อบำเพ็ญทศบารมีอย่างอุกฤษฏ์
พัฒนาคุณธรรมในใจให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นคุณวิเศษประจำใจ
จนกระทั่งถึงขีดสุดจึงตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "

คุณวิเศษของพระพุทธองค์
คุณวิเศษสำคัญอันเป็นคุณสมบัติสูงสุดเหนือมนุษย์ธรรมดา ที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มีอยู่เหมือน ๆ กัน อันเกิดจากการบำเพ็ญทศบารมีจนกระทั่งตรัสรู้นั้น โดยย่อมีอยู่ ๓ ประการ คือ

 

๑) พระปัญญาธิคุณ หมายถึง มีปัญญาทั้งรู้แจ้งเห็นแจ้งเกี่ยวกับความเป็นไปของสรรพธรรมและสรรพสัตว์ทั้งมวลตามความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญารู้แจ้งเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ อย่าง ครบวงจรด้วยญาณทัสสนะ อันเป็นเหตุให้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีครูผู้สั่งสอน ดังที่ตรัสกับอุปกาชีวกว่า
“เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี
ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลกเราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็น
พระสัมมาสัมพุทธะ ”1

 

ดังพระบาลีว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง “โลกวิทู” เป็นผู้รู้แจ้งโลก “พุทฺโธ” เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม และ “ภควา” เป็นผู้จำแนกแจกธรรม

นอกจากนี้ ยังหมายถึงปัญญาในการเลือกสรรวิธีปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุความรู้แจ้งเห็นแจ้งซึ่งสามารถกำจัดอวิชชาและความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน (อุปาทาน) ได้โดยเด็ดขาด จึงบรรลุอาสวักขยญาณคือกำจัดกิเลสออกจากใจจนหมดสิ้น ดังพระบาลีว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
 

๒) พระบริสุทธิคุณ หมายถึง ความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงเด็ดขาดแล้ว ย่อมไปสู่แดนอันเกษมคือนิพพาน ดังพระบาลีในบทสวดบูชาพระพุทธเจ้าว่า “อรหํ” เป็นผู้ไกลจากกิเลส และ “สุคโต” เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
 

๓) พระมหากรุณาธิคุณ หมายถึง ทรงมีน้ำพระทัยสงสาร สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่ามนุษย์ เทวดา หรือพรหม ที่ล้วนตกอยู่ในวงจรแห่งกิเลส กรรม วิบาก อันเต็มไปด้วยทุกขเวทนาอย่างไม่มีวันจบสิ้น ให้ได้ประสบสันติสุขและอิสรภาพอันไพบูลย์อย่างถาวร ด้วยการพร่ำสั่งพร่ำสอนพร่ำชี้แนะแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้ โดยมิได้คำนึงถึง ความเหนื่อยยากลำบากใด ๆ ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า “อนุตฺตโรปรุ สิ ทมมฺ สารถ”ิ เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
“สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

" พระพุทธองค์ทรงมีคุณวิเศษ โดยย่อ ๓ ประการ คือ
๑) ทรงมีพระปัญญารู้แจ้งเห็นแจ้งสรรพสิ่งตามความเป็นจริง
๒) ทรงบริสุทธิ์ยิ่งทั้งกาย วาจา ใจ
๓) ทรงมีน้ำพระทัยสงเคราะห์สัตว์โลกอย่างยิ่ง


พร่ำสั่งสอนแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยาก "

จากธรรมบรรยายทั้งหมดในช่วงนี้ ท่านผู้อ่านย่อมได้คำตอบแล้วว่า พระพุทธเจ้าคือใคร เปี่ยมสมบูรณ์ด้วยคุณวิเศษเหนือมนุษย์และเทวดาเพียงใด ทั้งยังดำรงอยู่ในฐานะบุคคลพ้นโลกอีกด้วยและย่อมทราบด้วยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ทรงเปี่ยมด้วย
คุณวิเศษดังกล่าวทุกประการ

 

ดังนั้น จึงเป็นการสมควรและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งมวล รวมทั้งผู้อยู่นอกพระพุทธศาสนา ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะพึงมีความเคารพในพระพุทธองค์ คือพยายามค้นหาคุณความดีของพระองค์เพื่อยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม

"ผู้มีปัญญาทั้งหลาย
พึงพยายามค้นหาคุณความดี
ของพระพุทธองค์
เพื่อยึดถือเป็นแบบอย่าง
ในการปฏิบัติตาม"

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก

1 วิ.มหา. มหาขันธกะ (ไทย) ๖/๑๑/๔๐-๔๑

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0081292827924093 Mins