ความหมายของคำว่าตถาคต ๘ นัย

วันที่ 16 ตค. พ.ศ.2562

 

ความหมายของคำว่าตถาคต ๘ นัย


             เพื่อให้เห็นพระพุทธคุณได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปในอีกแง่มุม จึงขอนำเสนอความหมายของ “ตถาคต” ให้ได้ศึกษากัน  คำว่า “ตถาคต” เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเองพร้อมกับที่พระพุทธองค์บรรลุพระโพธิญาณ เช่นเดียวกับคำว่า “อรหํ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงแสดงว่าการที่พระองค์มีเนมิตกนาม เช่นนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผล ๘ ประการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า  คำว่า ตถาคต มีความหมายอยู่ ๘ นัย คือ



๑. พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น หมายถึง เสด็จมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง ดังเช่นพระผู้มีพระภาคเจ้าในอดีตที่ทรงพระนามว่า วิปัสสี สิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ เป็นต้น
 

๒. พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น มีความหมาย ๒ ประการ ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อน ๆ ประสูติได้ครู่เดียวก็เสด็จดำเนินไปได้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราก็เสด็จดำเนินไปได้ฉันนั้น
๒) พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงทำลายอวิชชา และทรงตัดขาดกิเลสทุกอย่างด้วยอรหัตมรรค ดังเช่นพระผู้มีพระภาคองค์ก่อน ๆ

 

๓. พระผู้เสด็จมาสู่ลักษณะอันแท้จริง หมายถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระญาณทัสสนะ เห็นและรู้ถึงลักษณะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง และสรรพธาตุสรรพธรรมทุกอย่าง เช่น ลักษณะแห่งวิญญาณธาตุว่าเป็นเครื่องรู้ ลักษณะแห่งจิตเอกัคคตาว่าความไม่ฟุ้งซ่าน ลักษณะของตัณหาว่าเหตุแห่งทุกข์ ลักษณะของมรรคว่าเป็น
เหตให้ถึงความดับทุกข์ลักษณะของสติว่าความเป็นใหญ่ ลักษณะของปัญญาสูงกว่าธรรมทั้งหมด ลักษณะของวิมุตติว่าเเก่น ลักษณะของนิพพานที่หยั่งลงสู่อมตะว่าที่สิ้นสุด

 

๔. พระผู้ตรัสรู้ธรรมตามที่เป็นจริง หมายถึง ตรัสรู้อริยสัจ ๔  หรือปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน
 

๕. พระผู้มีปกติเห็นอารมณ์ที่จริงแท้ หมายถึง ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ (ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์) ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหม ได้ประสบและพากันแสวงหา ดังที่ตรัสว่า

“อารมณ์ใดที่โลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ที่หมู่สัตว์ กับทั้งเทวดา และมนุษย์ได้เห็น ได้สดับ ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุได้แสวงหา ได้คิดค้น ตถาคตรู้อารมณ์ ตถาคตรู้อย่างแท้จริงซึ่งอารมณ์นั้น
 

๖. พระผู้มีปกติตรัสวาทะที่จริงแท้ หมายถึง พระดำรัส ทั้งปวง นับตั้งแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งถูกต้องและจริงแท้ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ไม่ขาดไม่เกิน บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า

“ความผิดพลาดในพระพุทธพจน์นั้น แม้เพียงปลายขนทรายก็ไม่มี ทั้งหมดนั้นเป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ราวกับประทับด้วยพระราชลัญจกรอันเดียวกัน ราวกับว่าตวงด้วยทะนานเดียวกันและราวกับว่าชั่งด้วยตาชั่งคันเดียวกันฉะนั้น”
 

๗. พระผู้มีปกติทำจริง หมายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีปกติตรัสอย่างใด ก็ทรงมีปกติทำอย่างนั้น และมีปกติทำอย่างใด ก็ทรงมีปกติตรัสอย่างนั้น ดังที่ตรัสว่า
 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีปกติพูดอย่างใด ก็มีปกติทำอย่างนั้น มีปกติทำอย่างใด ก็มีปกติพูดอย่าง
นั้น เพราะเหตุนี้ จึงได้รับขนานพระนามว่า “ตถาคต”

 

๘. พระผู้ครอบงำ หมายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือสรรพสัตว์ทุกระดับ ทรงสามารถครอบงำในเบื้องบนตั้งแต่พรหมในระดับสูงสุด ลงมาถึงสรรพสัตว์ในโลกธาตุอันหาปริมาณมิได้ เรื่อยลงไปจนถึงอเวจีมหานรก ด้วยอำนาจแห่งศีลบ้างสมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง วิมุตติบ้าง วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ครอบงำ (แต่) ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นอย่างถ่องแท้ เป็นผู้
แผ่อำนาจได้ในโลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์กับทั้งเทวดาและมนุษย์ เพราะเหตุนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า “ตถาคต”

 

จากความหมายของคำว่า “ตถาคต” ทั้ง ๘ ประการนี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้เห็นพระพุทธคุณ ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐอย่างยิ่งของพระพุทธองค์ได้ชัดเจนเพิ่มขึ้นจากพระพุทธคุณ ๕ ประการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่สกุลุทายิปริพาชก


ดังนั้น จึงมั่นใจว่าผู้มีปัญญาทั้งหลายคงจะเกิดความรู้สึกเทิดทูนพระพุทธองค์อย่างเปี่ยมล้นจิตใจ และนอบน้อมถวายความเคารพต่อพระพุทธองค์ด้วยชีวิต นั่นคือเกิดแรงบันดาลใจ มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม ด้วยความวิริยอุตสาหะ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยศรัทธามั่นว่าจะสามารถบรรลุผลไปตามลำดับ ๆ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ดีแล้ว แม้จะยังไม่สามารถบรรลุผลสูงสุดได้ในภพชาตินี้ แต่การประพฤติดีปฏิบัติชอบของเรา ก็จะถูกสั่งสมเป็นบุญบารมี สำหรับการไปสู่สุคติ ตลอดจนการบรรลุผลสูงสุดในภพชาติ
ต่อ ๆ ไป

 

"ผู้มีปัญญาย่อมเกิดความรู้สึก
เทิดทูนพระพุทธองค์อย่างเปี่ยมล้น นอบน้อมเคารพ
พระองค์ด้วยชีวิต คือ มุ่งมั่นศึกษา
ปฏิบัติธรรม ด้วยความวิริยอุตสาหะ
ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานตามพระบรมศาสดา" 

 

 

๑ ม.มู.อ. มูลปริยายสูตร (ไทย) ๑๗/๑๐๕-๑๒๑

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012024641036987 Mins