กรณีศึกษาวิบากแห่งการเคารพหรือไม่เคารพในพระพุทธองค์
กรณีที่ ๒ ชฎิลเศรษฐี
ในสมัยพุทธกาล ในกรุงราชคฤห์มีเศรษฐีอยู่หลายคน ในบรรดาเศรษฐีเหล่านั้น มีอยู่คนหนึ่ง คือ ชฎิลเศรษฐี มีภูเขาทองสูงประมาณ ๘๐ ศอก เกิดขึ้นเองที่หลังบ้าน วันใดต้องการทอง ก็จะเอาจอบที่มีด้ามเป็นทองคำ ตัวจอบเป็นเพชรไปขุดมาใช้ตามที่ต้องการ สุวรรณบรรพตที่ขุดแล้วกลับเต็มตามเดิม ภายหลังต่อมาท่านเศรษฐี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงมอบสมบัติให้บุตรชายทั้ง ๓ แล้วออกบวช
ไม่นานก็สำเร็จอรหัตผลในครั้งนั้น ขณะที่พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ พระเวฬุวัน
ได้ตรัสแสดงบุรพกรรมของชฎิลเศรษฐี ซึ่งกล่าวโดยย่อได้ดังนี้ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ของพระพุทธองค์ พระขีณาสพรูปหนึ่งได้ไปสู่เจดีย์สถานนั้นมองเห็นว่ามุขทางด้านเหนือของเจดีย์ยังไม่ได้ก่อขึ้นจึงถามถึง สาเหตุก็ได้คำตอบว่า “ทองยังไม่พอ” พระขีณาสพจึงเข้าไปสู่พระนคร
เพื่อชักชวนมหาชนให้บริจาคทองสำหรับสร้างเจดีย์เมื่อไปถึงบ้านนายช่างทอง พระขีณาสพจึงแจ้งความประสงค์ให้นายช่างทองทราบ นายช่างทองได้ตอบสวนออกมาทันควันว่า “ท่านจงโยนพระศาสดาของท่านลงน้ำไปเสีย” (ขณะนั้นนายช่างทองยังไม่หายโกรธภรรยาเนื่องจากทะเลาะกัน) ทันใดนั้นภรรยาของเขา
จึงเตือนสติว่า “ท่านทำกรรมอย่างสาหัสยิ่ง ท่านโกรธดิฉันก็ควรจะด่าหรือเฆี่ยนดิฉันเท่านั้น เหตุไฉนท่านจึงทำเวรในพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันเล่าเมื่อถูกภรรยาเตือน นายช่างทองจึงรู้สึกผิดและเสียใจมาก จึงหมอบลงแทบเท้าพระเถระ พลางกล่าวขอขมาโทษพระเถระพระเถระจึงกล่าวกับช่างทองว่า เขาไม่จำเป็นต้องขอขมาโทษพระเถระ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดต่อพระเถระเลย แต่เขาได้กล่าวล่วงเกินพระศาสดาต่างหาก
นายช่างทองขอคำแนะนำในการขอขมาโทษพระศาสดาพระเถระจึงแนะนำนายช่างทองให้ทำหม้อดอกไม้ทองคำ ๓ หม้อไปบรรจุไว้ในที่บรรจุพระธาตุบุตรชายคนโตและคนกลางต่างปฏิเสธ ไม่ยอมช่วยบิดา โดยอ้างเหตุผลว่า ตนไม่มีส่วนในการกล่าวล่วงเกินพระพุทธองค์
แต่บุตรชายคนเล็กมีความคิดว่า กิจของบิดาย่อมเป็นภาระของบุตรจึงช่วยบิดาทำหม้อดอกไม้ทองคำขนาดสูง ๑ คืบ จำนวน ๓ หม้อเสร็จแล้วจึงนำไปบรรจุในที่บรรจุพระธาตุ เพื่อเป็นการขอขมาโทษต่อ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยกรรมที่กล่าวล่วงเกินพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาตินั้น เป็นเหตุให้นายช่างทองถูกนำไปทิ้งลอยน้ำเมื่อเกิดเป็นทารกถึง ๗ ชาติด้วยกัน ในชาติที่ ๗ ซึ่งเกิดมาในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา มีแม่เป็นธิดาเศรษฐีแต่ลักลอบมีครรภ์กับวิทยาธร เมื่อนางคลอดบุตร จึงนำทารกใส่ภาชนะปิดฝา นำพวงดอกไม้ไว้บนฝานั้น แล้วให้นางทาสีแอบเอาไปลอยในแม่น้ำคงคาครั้งนั้น มีหญิงชาวบ้านผู้เป็นอุปัฏฐายิกาของพระมหา
กัจจายนเถระเก็บไปเลี้ยงไว้ ด้วยหวังจะให้เด็กบวชในสำนักของพระเถระ และให้ชื่อว่า “ชฎิละ”
ครั้นเมื่อเด็กทารกเดินได้แล้ว นางจึงถวายเด็กแก่พระเถระ
พระเถระตรวจพิจารณาด้วยญาณแล้วก็พบว่า ชฎิลกุมารมีบุญมากจะได้เสวยสมบัติใหญ่ แต่ยังเล็กนัก จึงได้พาไปฝากไว้กับกุฎุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากคนหนึ่งในกรุงตักสิลา กุฎุมพีผู้นั้นจึงรับไว้และดูแลอย่างดี
เหมือนบุตรวันหนึ่ง กุฎุมพีผู้นั้นได้รวบรวมสินค้าในเรือนซึ่งสะสมไว้นานตลอด ๑๒ ปี ออกไปขายที่ตลาด ขณะที่กุฎุมพีนั้นกลับบ้าน ก็ให้ชฎิลกุมารทำหน้าที่ขายของแทน
ครั้นเมื่อกลับมาก็ปรากฏว่า ชฎิลกุมารสามารถขายสินค้าหมดเกลี้ยง กุฎุมพีปลื้มใจมาก จึงยกลูกสาวของตนให้แก่ชฎิลกุมาร พร้อมทั้งจัดการให้ช่างสร้างเรือนใหม่ให้แก่ทั้งสองคน เมื่อช่างสร้างเรือนใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงบอกให้ทั้งสองคนย้ายออกไปอยู่ในเรือนใหม่ ขณะที่เท้าข้างหนึ่งของชฎิลกุมาร
เหยียบธรณีประตู ก็ปรากฏว่า ภูเขาทองสูงประมาณ ๘๐ ศอก ได้ชำแรกแผ่นดินขึ้นมา ณ บริเวณหลังเรือน
ฝ่ายพระราชาทรงทราบข่าวว่า ภูเขาทองชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นใกล้เรือนของชฎิลกุมาร จึงทรงส่งฉัตรสำหรับเศรษฐีไปประทานแก่เขา เขาจึงได้ชื่อว่า “ชฎิลเศรษฐี” ภายหลังต่อมาก็มีบุตรชาย ๓
คน (บุตร ๓ คนนี้ก็คือ บุตร ๓ คน ในสมัยที่เขาเกิดเป็นนายช่างทองนั่นเอง)
อีกหลายปีต่อมา ด้วยความเคารพเลื่อมใสพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชฎิลเศรษฐีจึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตออกบวชในสำนักของพระพุทธองค์ ก่อนบวช ท่านเศรษฐีได้เรียกบุตรทั้ง ๓ เข้ามาหา
แล้วมอบจอบซึ่งทำด้วยเพชรและมีด้ามเป็นทองคำให้แก่บุตรชายคนโต แล้วให้ลองไปขุดเอาลิ่มทองจากภูเขาทองที่หลังเรือนครั้นเมื่อบุตรชายคนโตเอาจอบไปสับที่ภูเขาทอง ก็ปรากฏว่าภูเขาทองนั้นแข็งเสมือนภูเขาหิน จอบฟันไม่เข้า ครั้นเมื่อให้บุตรชายคนกลางเอาจอบไปสับที่ภูเขาทอง ก็ปรากฏเช่นเดียวกับบุตรชาย
คนโต
แต่เมื่อให้บุตรชายคนเล็กเอาจอบไปสับที่ภูเขาทอง ก็ปรากฏเหมือนกับดินเหนียวที่กองไว้ฉะนั้นท่านเศรษฐีจึงกล่าวกับบุตรชายทั้ง ๓ ว่า ภูเขาทองลูกนี้เกิดขึ้นเพื่อตัวของท่านและบุตรชายคนเล็กเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้บุตรทั้งสองร่วมใช้สอยกับบุตรคนเล็ก
จากทั้งสองกรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า การมีความเคารพบูชาในพระพุทธเจ้านั้นมีอานิสงส์อเนกอนันต์ในกรณีของนางขุชชุตตรานั้น แม้นางจะถวายกำไลงา ซึ่งมิได้มีราคา
ค่างวดอะไรนัก แต่อานิสงส์ที่นางได้รับนั้นสามารถปิดนรกได้สนิททีเดียว และนอกจากเปิดประตูสวรรค์ให้นางแล้ว ยังใกล้นิพพานอย่างมาก เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะบรรลุพระนิพพาน
สำหรับชฎิลเศรษฐีและบุตรชายคนเล็กนั้น
การถวายหม้อดอกไม้ทองคำ ๓ ใบ เพื่อบูชาพระพุทธองค์ แม้สิ่งที่ถวายจะมีราคาค่างวดพอสมควร แต่ก็เทียบไม่ได้กับภูเขาทองคำที่เกิดขึ้นอย่าง อัศจรรย์ สามารถขุดมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดชีวิต
ส่วนการขาดความเคารพในพระพุทธเจ้าแม้เพียงทางกายด้วย การทำท่าล้อเลียนลับหลังเพียงเล็กน้อย ก็มีวิบากให้นางขุชชุตตรา เกิดมาเป็นคนร่างพิการไม่สมประกอบ หรือแม้เพียงทางวาจาด้วยอารมณ์โกรธ โดยไม่มีเจตนาจะกล่าวประทุษร้าย ก็ทำให้ชฎิลเศรษฐีต้องประสบเคราะห์กรรมโดยการถูกลอยนนตั้งแต่ยังเป็นทารกแบเบาะถึง ๗ ชาติ
นอกจากนี้ การไม่สนใจเคารพพระพุทธเจ้า ซึ่งดูเหมือนไม่ได้ ก่อกรรมชั่วแต่ประการใด แต่ก็ไม่อำนวยโชควาสนาให้ ดังกรณีบุตรชายคนโตและคนกลางของชฎิลเศรษฐีผลหรือวิบากของกรรมทั้ง ๓ ลักษณะนี้ ถ้าจะถามว่าพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงบันดาลให้เกิดขึ้นกระนั้นหรือ ตอบได้ว่าไม่ใช่อย่างแน่นอน เนื่องจากท่านมิได้ทรงเห็นหรือรับรู้ถึงพฤติกรรมของบุคคลทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าวเลย
อย่างไรก็ตามวิบากดังกล่าวนี้ อาจเทียบกับคุณสมบัติของไฟก็คงจะได้ กล่าวคือ ไฟทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกระแสไฟฟ้า หรือไฟประเภทคบเพลิงชนิดใดก็ตาม ถ้าบุคคลรู้จักนำมาใช้อย่างชาญฉลาด และถูกวิธีย่อมได้รับประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าใช้อย่างประมาท หรือผิดวิธีย่อมได้รับโทษอเนกอนันต์ เพราะไฟอาจเผาผลาญททำลายล้าง
ทุกสิ่งทุกคนให้เป็นจุลไปได้ ส่วนบุคคลที่ไม่สนใจนำไฟมาใช้เลย แม้เขาจะไม่ได้รับประโยชน์จากไฟและดูเหมือนว่า จะไม่ได้รับโทษโดยตรงแต่ถ้าพิจารณาให้ดีเขาย่อมได้รับโทษและทุกข์โดยอ้อมด้วย ดังกรณีบุตรชายคนโตและคนกลางของชฎิลเศรษฐี ข้อนี้ฉันใด การไม่มีความเคารพ ตลอดจนความไม่สนใจที่จะเคารพพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก