สุดยอดแห่งธรรมคือ อริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ นี้เป็นทั้ง โลกุตตรธรรม และ ศาสนธรรมที่กล่าวว่า อริยสัจ ๔ เป็นโลกุตตรธรรม เพราะเป็นความจริงอันประเสริฐสูงสุด ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง แล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่กล่าวว่า อริยสัจ ๔ เป็นศาสนธรรม เพราะเป็นคำสอนที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความประเสริฐ คือสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พ้นจากกิเลสอาสวะ สิ้นทุกข์ทั้งปวง และเข้าถึงบรมสุขได้อย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องอริยสัจ ๔ ว่า เป็นสุดยอดแห่งธรรม เพราะสามารถตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้โดยเด็ดขาด ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ท่านผู้อ่านจะเกิดความเข้าใจคุณค่าของ อริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้และเกิดความเคารพในพระธรรมมากยิ่งขึ้น ถ้าได้ติดตามศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะมิได้ตรัสรู้ เพราะมิได้แทงตลอดอริยสัจ ๔ เราตถาคตและเธอทั้งหลายด้วยจึงโลดแล่นไปเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้ ” ๑
ครั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแสดง เพื่อเป็นการขยายความและเป็นการตอกย้ำให้พระภิกษุทั้งหลาย เห็นคุณค่าของอริยสัจ ๔ ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก โดยทรงกล่าวถึงอริยสัจ แต่ละข้อ ๆ ว่าเพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ คือ ๑.ทุกข์ ๒.เหตุแห่งทุกข์ ๓.ความดับทุกข์ ๔.ทางปฏิบัติไปสู่ความดับทุกข์ เราตถาคตและเธอทั้งหลายด้วย จึงโลดแล่นไป เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
แต่เพราะเราตถาคตตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้วซึ่งอริยสัจ ๔ เราตถาคตจึงถอนตัณหาในภพขึ้นแล้ว (ความอยากเกิด ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่)ตัณหานำไปสู่ภพใหม่ สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก เมื่อตรัสเทศนาจบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เราตถาคตและเธอทั้งหลายด้วย จึงเร่ร่อนไปในชาติทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแล ตลอดกาลยาวนาน
บัดนี้ อริยสัจ ๔ นั้น เราตถาคตเห็นแล้ว ตัณหานำไปสู่ภพ เราก็ถอนได้แล้ว รากเหง้าของทุกข์เราก็ถอนทิ้งแล้ว บัดนี้จะไม่มีเกิดอีกต่อไป” ๒
การรักษาศีลได้บริสุทธิ์ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก และเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งสำหรับการเจริญสมาธิภาวนา
การเจริญสมาธิภาวนามีผลมาก มีอานิสงส์มาก และเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ให้เกิดปัญญา
ปัญญาอันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา (ภาวนามยปัญญา) มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นปัจจัยให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ได้แก่
กามาสวะ (กิเลสที่แฝงในจิตใจ ก่อให้เกิดสันดานแห่งความใคร่)
ภวาสวะ (กิเลสที่แฝงอยู่ในจิตใจ ก่อให้เกิดความสืบสานแห่งความอยากเกิดใหม่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่อยู่ตลอดไป)
อวิชชาสวะ (กิเลสที่แฝงอยู่ในจิตใจสืบสานความโง่เขลา คือความไม่รู้ตามความเป็นจริง) แน่นอนเหลือเกินว่าปัญญาดังที่พระพุทธองค์ตรัสนี้ ต้องเป็นอธิปัญญา จึงเห็นแจ้งรู้แจ้งอริยสัจ ๔
จากธรรมบรรยายทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า การรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ อันเป็นสุดยอดแห่งธรรมนั้น บุคคลจะต้องมีความเคารพอย่างยิ่ง ๒ ประการ ในเบื้องต้น คือ เคารพในพระพุทธเจ้าและเคารพในพระธรรม เพราะการเคารพพระพุทธเจ้าจะเป็นปัจจัยให้เคารพในพระธรรม การเคารพในพระธรรมจะเป็นปัจจัยให้บุคคลขวนขวายศึกษาหาความรู้โดยวิธีการที่สะดวกและเหมาะสมกับตน
ซึ่งจะเกิดผลเป็นความเข้าใจและศรัทธาในปริยัติสัทธรรม ทั้งจะเป็นปัจจัยนำไปสู่ปฏิบัติสัทธรรม และก่อให้เกิดสัมฤทธิผลเป็นปฏิเวธสัทธรรม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะแตกต่างกันไปแต่ละคน อย่างไรก็ตาม สัมฤทธิผลสูงสุดก็คือ ความรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ นั่นเอง
เชิงอรรถ อ้างอิง
๑. ที.ม. ๑๓/๘๖/๒๖๐ (แปล.มมร)
๒. ที.ม. ๑๓/๘๗/๒๖๑ (แปล.มมร)
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
โดยคุณครูไม่เล็ก