พระอริยสงฆ์...จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงวางให้แก่พระสงฆ์(ต่อ)

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2563

 พระอริยสงฆ์...จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงวางให้แก่พระสงฆ์(ตอนจบ)

 

               ในแง่ของการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ปรากฏในพระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี กัณฑ์ที่ ๑ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งในส่วนของ พระสังฆคุณ ท่านได้กล่าวไว้โดยมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้   

     

                  พระอริยบุคคลบำเพ็ญกิจถูกส่วน เพ่งที่ศูนย์กลางกายเป็นดวงใสจนแลเห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรมเป็นชั้นที่ ๕ เป็นชั้น ๆ ไปโดยนัยดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

 

                 ชั้นต้น ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ให้เป็นดวงใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒ วา หนา ๑ คืบ ใสเหมือนกระจกเงาส่องหน้านี่เป็น ปฐมฌาน แล้วกายธรรมนั่งบนนั้น ดังนี้เรียกว่า กายธรรมเข้าปฐมฌาน

 

                แล้วเอาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้นธรรมกายน้อมเข้าฌานที่ ๒ นั้น แล้วฌานที่ ๑ ก็หายไป ฌานที่ ๒ มาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่า ธรรมกายเข้าฌานที่ ๒       

   

               โดยทำนองเดียวกันต่อ ๆ ไปในกายรูปพรหม กายอรูปพรหม ต่อจากนี้ไป ให้ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มีอีกฌานที่ ๔ ก็หายไป ฌานที่ ๕ เกิดขึ้นแทนที่ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ

 

               เมื่อ ธรรมกาย นั่งอยู่บนฌานที่ ๕ ดังนี้แล้ว ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๕ ก็หายไป ฌานที่ ๖ เข้ามาแทนที่ เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ

 

              ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๖ แล้วนั้นใจกายธรรมน้อมไปอีกว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๖ ก็หายไป ฌานที่ ๗ มาแทนที่ เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ

 

              ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๗ นั้นแล้ว ใจธรรมกายก็น้อมไปอีกว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๘ ก็บังเกิดขึ้นทันทีนี้เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ

 

              รู้สึกละเอียดจริงประณีตจริง นี้เรียกว่า เข้าฌานที่๑-๘ โดย อนุโลม แล้วย้อนกลับ จับแต่ฌานที่ ๘ นั้นถอยลงมาหาฌานที่ ๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ เรียกว่า ปฏิโลม ทำดังนี้ ๗ หนธรรมกายจึงคงไปอยู่บนฌานที่ ๘

 

               ในระหว่างเข้าฌานนั้น ตั้งแต่ ๑ ถึง ๘ นั้น ตาธรรมกายดู ทุกขสัจ เห็นชัดแล้วดู สมุทัยสัจ เห็นชัดแล้วดู นิโรธสัจ เห็นชัดแล้วดู มรรคสัจ เมื่อถูกส่วนเข้าธรรมกายตกศูนย์เป็นดวงใสวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๕ วา ในไม่ช้าศูนย์นั้นจะกลายกลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง ๕ วา สูง ๕ วา นี้เป็น พระโสดาบันแล้ว

 

                 ต่อไปธรรมกายโสดาบันนั้นเข้าฌาน แล้วพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายทิพย์ ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อถูกส่วน ธรรมกายโสดาบันตกศูนย์วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๐วา ไม่ช้าศูนย์นั้นกลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง ๑๐ วา สูง๑๐ วา มีชื่อว่า พระสกทาคามี

 

                  ครั้น แล้วธรรมกายก็เข้าฌาน และพิจารณาอริยสัจ ในกายรูปพรหมทำนองเดียวกันนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายสกทาคามีตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๕ วา แล้วกลับเป็นธรรมกายหน้าตักกว้าง ๑๕ วา สูง ๑๕ วา มีชื่อว่า พระอนาคามี

 

                   ครั้นแล้วเอาธรรมกายของพระอนาคามีเข้าฌานพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายอรูปพรหม เห็นชัดเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา เมื่อถูกส่วนธรรมกายพระอนาคามีตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒๐ วา แวบเดียวกลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา นี้เป็น พระอรหัตต์ แล้ว

 

                   สำหรับ ธรรมกาย นั้น มีสัณฐานเป็นรูปพระพุทธปฏิมากร เกตุดอกบัวตูมสีขาวเป็นเงาใสเหมือนกระจกส่องหน้า ชั้นพระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่ท่านละสักกายทิฏฐิได้ ก็โดยท่านพิจารณาเห็นชัดว่า สังขารร่างกายนี้เหมือนเรือนที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่ช้าก็จะแตกทำลายไป จะยึดถือเอาเป็นตัวเป็นตนมิได้

 

                  เป็นสักแต่ธาตุทั้งหลายประสมรวมกันเข้า จึงเป็นรูปเป็นนาม ย่อมแปรผันไปตามลักษณะของมัน ไม่ยืนยงคงที่ ถ้าไปยึดถือเป็นตัวเป็นตน ก็รังแต่จะนำความทุกข์มาให้ ดังที่กล่าวมานี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ส่วนธรรมกายนั้นท่านเห็นว่าเป็น นิจจัง สุขัง อัตตา ท่านจึงไม่แยแสต่อกายมนุษย์ โดยเห็นว่าเป็นของไม่มีสาระดังกล่าวข้างต้น ท่านจึงข้ามพ้นสักกายทิฏฐิไปได้

 

                 ที่ท่านละวิจิกิจฉาได้ ก็เพราะท่านเข้าถึงธรรมกายแล้วถอดกายทั้ง ๔ ซึ่งเป็นโลกีย์ ถอดเป็นชั้นออกไปเสียได้แล้ว ท่านจึงหมดความกินแหนงสอดแคล้วในพระรัตนตรัย เพราะท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียแล้ว

 

            ที่ท่านละสีลัพพตปรามาสได้นั้น ก็เพราะเมื่อท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียเช่นนี้แล้ว ศีลและวัตรใดอันเป็นฝ่ายมิจฉาทิฏฐินอกพระพุทธศาสนาไม่มีในท่านแล้ว จึงได้ชื่อว่าท่านพ้นจากสีลัพพตปรามาส คือ การยึดมั่นซึ่งศีลและวัตรนอกพระพุทธศาสนา

 

                   ชั้นพระสกทาคามี นอกจากกิเลส ๓ อย่าง ดังที่พระโสดาบันละได้แล้วนั้น ยังละกามราคะ พยาบาทอย่างหยาบได้อีก ๒ อย่าง

 

                    กามราคะ ได้แก่ ความกำหนัด ยินดีในวัตถุกามและกิเลสกาม พยาบาท คือ ผูกใจโกรธ

                    พระอนาคามี ละกามราคะ พยาบาทขั้นละเอียดได้พระอรหัตต์ ละกิเลสทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้วนั้นได้โดยสิ้นเชิง แล้วยังละสังโยชน์เบื้องบนได้อีก ๕ คือ ๑) รูปราคะ ความกำหนัดยินดีในรูปฌาน ๒) อรูปราคะ ความกำหนัดยินดีในอรูปฌาน ๓) มานะ ความถือตน ๔) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน๕) อวิชชา ความมืด ความโง่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังขาร ไม่รู้ ปฏิจจสมุปบาทธรรม และ อริยสัจ จึงรวมเป็น ๑๐ ที่พระอรหัตต์ละได้...

                      พระอริยบุคคลทั้ง ๔ คู่ ๘ บุคคลดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ได้ชื่อว่า อริยสาวก อันประกอบด้วยองค์คุณ คือ สังฆคุณ ๙ นอกจากนี้สังฆคุณ ๙ ดังกล่าว ยังสามารถมองเป็นข้อปฏิบัติของสมมติสงฆ์เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นพระอริยสงฆ์ได้อีกด้วย

 

                      โดยเราสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ๑) ส่วนที่เป็นการประกอบเหตุ ๒) ส่วนที่เป็นผลหรืออานิสงส์ สำหรับส่วนที่ ๑ ซึ่งเป็นส่วนของการประกอบเหตุนั้น คือ สังฆคุณข้อที่ ๑ - ๔ กล่าวคือ เมื่อพระสงฆ์ได้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติสมควร ย่อมสามารถก้าวล่วงภูมิของปถุชนไปสู่ภูมิของพระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุรุษ และยังไดรั้บผลหรืออานิสงส์อีก ๕ ประการ คือ เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ เป็นผู้ควรทำซึ่งอัญชลี และเป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมของชาวโลก ซึ่งปรากฏในสังฆคุณข้อที่ ๕ - ๙

 

                      แม้เนื้อความในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่มักจะมีคำว่า อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ (อิธ อริยสาวโก) ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า หลักธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในเนื้อความนั้น จะหมายเอาเพียงพระอริยสงฆ์เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายที่พระพุทธองค์ทรงวางให้แก่พระสงฆ์ผู้เป็นปุถุชน เพื่อที่จะได้เป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติ ดังเช่นสิ่งที่ปรากฏอยู่ใน สังฆคุณ ๙ นี้อีกด้วย

 

"เมื่อพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีตามพระธรรมวินัย ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ การต้อนรับ การทำบุญ การไหว้และเป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมของชาวโลก"

 

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04944896697998 Mins