การถางกิเลสออกจากใจ

วันที่ 10 เมย. พ.ศ.2563

การถางกิเลสออกจากใจ

การถางกิเลสออกจากใจ

       ตลอดทั้งพรรษาที่ผ่านมา พวกท่านได้อุตส่าห์ศึกษาเล่าเรียนธรรมะกันมาอย่างเข้มข้น ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ ทุกท่านได้ทราบแล้วว่า เป้าหมายสูงสุดของธรรมะแต่ละข้อที่เรียนกันมา คือ นำมากำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ

       เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเห็นชัดแล้วว่า กิเลสเป็นผู้บังคับบัญชามนุษย์ให้ทำความชั่ว โดยเป็นฉากหลังคอยส่งเสริมมนุษย์ ให้คุ้นเคยกับความชั่วทีละเล็กทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว จนกระทั่งความชั่วเล็กน้อยที่คุ้นเคยเหล่านั้นได้ลุกลามกลายเป็นนิสัยชั่วทั้งน้อยและใหญ่จนยากที่จะแก้ไขให้หมดสิ้นไปเพียงในชาติเดียว

       ดังนั้นในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ จึงมีบทฝึกให้ภิกษุใช้ถางกิเลสออกจากใจด้วยวิธีการแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า หนามยอกก็เอาหนามบ่ง ด้วยการเพาะนิสัยดีๆ ขึ้นมาแทนนิสัยไม่ดี ผ่าน ๓ ขั้นตอนต่อไปนี้ ควบคู่กันไปตลอดเวลา คือ

       ๑) การกำจัดกิเลส ผ่านการบำเพ็ญเพียรภาวนา
       ๒) การกำจัดกิเลส ผ่านกิจวัตรประจำวัน
       ๓) การกำจัดกิเลส ผ่านการฝึกความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ

ขั้นตอนที่ ๑ การกำจัดกิเลส ผ่านการบำเพ็ญเพียรภาวนา

       เนื่องจากกิเลสทั้ง ๓ ตระกูล มันจ้องคอยบีบคั้นใจ ให้เราคิดพูด ทำ แต่สิ่งที่หยาบกระด้าง จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยมักง่ายหยาบคายร้ายกาจต่างๆ การกำจัดกิเลสจึงต้องฝึกใจให้พรากจากกิเลสให้ได้

       การฝึกใจให้พรากจากกิเลสต้องทำอย่างไร ?
       ๑) ต้องตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในภาคปริยัติ ให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง
ตามเป็นจริงให้ได้

       ๒) เมื่อเข้าใจถูกต้องตามเป็นจริงแล้ว ต้องพยายามหักห้ามใจไม่ให้คิด พูด ทำความชั่ว เป็นการละเมิดพระธรรมวินัยอีก

       ๓) หมั่นบำเพ็ญเพียรทำภาวนาไม่ให้ขาด เริ่มจากทำภาวนาเป็นครั้งคราว แล้วถี่ขึ้นๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยรักการภาวนาเป็นชีวิตจิตใจ เยี่ยงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มพูนกำลังใจในการหักห้ามใจไม่ให้ทำความชั่ว และตั้งใจทำให้ใจละเอียดนุ่มนวล ใสสว่างยิ่งๆ ขึ้นไป

       ดังนั้นตลอดทั้งพรรษานี้ พระอาจารย์ และพระพี่เลี้ยง นอกจากจะจัดการเรื่องการเรียนธรรมะให้อย่างเข้มข้นแล้ว ยังกำหนดเวลาให้พวกท่านนั่งสมาธิกันวันละหลายๆ ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องอีกด้วยทั้งหมดนี้ก็เพื่อฝึกให้พวกเรามีนิสัยรักการทำภาวนานั่นเอง

ขั้นตอนที่ ๒ การกำจัดกิเลส ผ่านกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวเนื่องด้วยการใช้สอยปัจจัย ๔

       เนื่องจากชีวิตของเราต้องอาศัยปัจจัย ๔ ทั้งส่วนที่เป็นเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคในการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้เองจึงเป็นอุปกรณ์การเพาะนิสัยทั้งดีและไม่ดีให้แก่เราได้ ถ้าเราใช้ในทางที่ถูกต้องมันก็เพาะนิสัยที่ดีให้แก่เรา แต่ถ้าเราใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง มันก็สามารถเพาะนิสัยเลวร้ายให้แก่เราได้

       ในพระวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงกำหนดกิจวัตรในเรื่องการใช้สอยและดูแลปัจจัย ๔ ให้เป็นบทฝึก เป็นอุปกรณ์ส่าหรับกำจัดกิเลสไว้หลายข้อ เช่น

       กิจวัตรเกี่ยวกับการบิณฑบาต การขบฉันข้าวปลาอาหาร การดูแลรักษาบาตร ฯลฯ

       กิจวัตรเกี่ยวกับการดูแลเครื่องนุ่งห่มสบงจีวร การชัก การตากการพับ ฯลฯ

       กิจวัตรเกี่ยวกับการทำความสะอาดดูแลโต๊ะ เตียง เก้าอี้ การปัดกวาดเช็ดถูที่อยู่อาศัย ลานวัด ลานเจดีย์ ฯลฯ

       กิจวัตรเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรค แม้ที่สุด การใช้นํ้ามูตรหรือปัสสาวะของตนเองเป็นยา ฯลฯ

       การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดพระวินัยแฝงไว้ในกิจวัตรประจำวันเช่นนี้ เพราะทรงทราบดีว่า กิเลส มันงอกเงยขึ้นในใจผ่านการใช้สอยปัจจัย ๔ ได้อย่างไร พระองค์ก็ทรงแก้ทางกิเลสด้วยการใช้หนามบ่งหนาม คือ การสอนให้พระภิกษุรู้จักใช้ปัจจัย ๔ รอบตัวให้ถูกต้อง เป็นอุปกรณ์ถางกิเลสออกจากใจเสียเลย

       สิ่งที่ได้กลับมาจากการฝึกฝนตนเองผ่านเส้นทางนี้ ก็คือ นิสัยรักการรักษาศีล รู้จักรอบคอบ ระมัดระวังป้องกันไม่ให้กิเลสกำเริบเสิบสานขึ้นมาในใจของตนเองขณะใช้ปัจจัย ๔

       เส้นทางที่ ๓ คือ การกำจัดกิเลส ผ่านการฝึกความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ

       เนื่องจากการสู้รบกับกิเลสในใจตัวเองเป็นงานใหญ่ และใช้กำลังใจมาก ที่สำคัญก็คือ กิเลสที่บีบคั้นใจเราอยู่นั้น ไม่ใช่มีแค่ลำพังกิเลสของเราแต่ยังมีคลื่นกิเลสของคนอื่นที่อยู่รอบข้างบีบคั้นเข้ามาด้วย

       เพราะฉะนั้น ถ้าหากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและบุคคลรอบข้างไม่มีส่วนสนับสนุนการฝึกฝนตนเองเพื่อถางทางไปพระนิพพานเสียแล้วการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงย่อมมีมาก แล้วก็เป็นเหตุให้กิเลสกำเริบเสิบสานเพิ่มมากขึ้นไปอีก

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยให้พระภิกษุมีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ ด้วยการฝึกให้ดูแลวัดให้เป็นวัดที่มีสิ่งแวดล้อมและบุคคลรอบข้างที่เหมาะสมแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมซึ่งวัดต่างๆ สามารถฝึกโดยผ่านงาน ๕ อย่างต่อไปนี้ นั่นคือ

       ๑) งานช่วยกันดูแลสถานที่และสิ่งแวดล้อมภายในวัด ให้มีความสะอาดตั้งแต่ปากทางเข้าวัด สะอาดไปจนกระทั่งถึงห้องน้ำ และยังต้องให้มีความสงบวิเวก ร่มรื่น ไม่อึกทึกครึกโครมด้วยเสียงดนตรีขับร้อง หรือเสียงใดๆ ที่เย้ายวนกวนใจให้ฟุ้งซ่านด้วยกิเลส และยังต้องช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ใหใครนำสิ่งที่ร้อนใจ หรือสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการประพฤติพรหมจรรย์เข้ามาในวัด

       ๒) งานช่วยกันดูแลปัจจัย ๔ ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ญาติโยมนำมาถวายด้วยศรัทธา โดยต้องรู้จักประมาณในการรับรู้จักประมาณในการใช้ และรู้จักดูแลรักษา

       ๓) งานฝึกตนเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หมู่คณะ นั่นคือ พระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ในวัด ก็ต้องปฏิบัติตนเป็นต้นแบบในด้านการบำเพ็ญภาวนา การใช้สอยปัจจัย ๔ และการป้องกันหมู่คณะให้ปลอดภัยจากสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการประพฤติพรหมจรรย์

       ๔) งานฝึกญาติโยมที่มาทำบุญให้มีความเคารพในธรรม เริ่มจากการแต่งกายมาวัดด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สุภาพเรียบร้อยรู้จักการลุก การยืน การเดิน การนั่ง ด้วยความสำรวมระวังสมกับที่เป็นชาวพุทธ และแน่นอนว่าพระภิกษุเองก็ต้องเป็นต้นแบบในการนุ่งห่มและกิริยามารยาทต่างๆ ให้แก่ญาติโยมก่อน

       ๕) งานฝึกหมู่คณะให้มีความพร้อมเพรียงในการปฏิบัติธรรมร่วมกัน คือ พระภิกษุ สามเณร และญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดต้องกำหนดกิจวัตรในการปฏิบัติธรรมอย่างชัดเจนโดยต้องแบ่งเวลาออกเป็น ๔ ช่วง และระบุเวลาให้ชัดเจน ได้แก่

       (๑) แบ่งเวลาสำหรับการเข้าไปศึกษาหาความรู้ธรรมะจากพระภิกษุผู้เป็นครูบาอาจารย์
       (๒) แบ่งเวลาสำหรับสนทนาธรรม เพื่อไตร่ตรองธรรมะที่ได้เรียนมาแล้วให้เข้าใจ จะได้นำมาแก้ไขนิสัยไม่ดีของตนเองอย่างถูกต้อง
       (๓) แบ่งเวลาสำหรับทำภาวนาในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง
       (๔) แบ่งเวลาสำหรับการหลีกเร้นออกไปทำภาวนาในช่วงยาว

       การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกให้พระภิกษุมีนิสัยรับผิดชอบต่อหมู่คณะเช่นนี้ ก็เพราะพระองค์ทรงต้องการให้เรารู้จักสร้างสิ่งแวดล้อมและบุคคลแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เราได้มีโอกาสซึมซับรับเอาความดีจากผู้อื่นเข้ามาไว้เป็นนิสัยประจำตัว ในขณะเดียวกัน นิสัยที่ไม่ดีในตัวเราก็สามารถถูกกำจัดออกไปโดยอัตโนมัติ แล้วผู้อื่นก็สามารถซึมซับรับเอานิสัยที่ดีของเราเข้าไปเป็นนิสัยประจำตัวของเขาได้เช่นกัน เป็นอันว่า ทันทีที่ทุกคนในวัดมีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะสมาชิกทั้งหมดของวัดก็กลายเป็นการช่วยเหลือซึ่งและกันในการกำจัดกิเลสให้หมดไปโดยอัตโนมัติ

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์ คือ ความประเสริฐต่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง

       เหล่านี้คือ พระสัจฉริยภาพของพระพุทธองค์ในการสร้างยุทธวิธีกำจัดกิเลส แบบหนามยอกหนามบ่ง คือ กิเลสงอกขึ้นจากที่ตรงไหนพระองค์ก็สอนให้ถางกิเลสออกไปจากใจที่ตรงนั้นเป็นกิจวัตรเราไม่สามารถหาสุดยอดบรมครูเช่นนี้ได้จากที่ไหนอีกแล้ว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015075882275899 Mins