10 ขั้นตอน สลัดทุกข์หยุดโกรธ

วันที่ 25 พค. พ.ศ.2563

10 ขั้นตอน สลัดทุกข์หยุดโกรธ


                   ความโกรธนั้นเหมือนระเบิด ที่จะต้องทำลายตัวเองก่อนแล้วค่อยลุกลามไปทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ที่โกรธก็เช่นเดียวกัน ต้องทำให้ตัวเองทุกข์ใจก่อนแล้วค่อย ๆ ทำให้คนที่อยู่รอบข้างทุกข์ใจตามไปด้วย


                ความโกรธนั้นไม่ดี แต่ในเมื่อเรายังมีกิเลสไม่สามารถกำจัดความโกรธให้หมดไปได้ เราลองมาเปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นการสื่อสารอย่างสันติ ใคร ๆ ต่างก็ต้องมีความโกรธด้วยกันทั้งนั้นเพราะเรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน แต่เราจะบริหารความโกรธอย่างไรให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ได้นี่คือสิ่งสำคัญ

 

วิธีบริหารความโกรธ

             ชารี ไคล์น (Shari Klein) เเละ นีล กิ๊บสัน  (Neill Gibson)  นักจิตวิทยาและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาบุคคล  วิเคราะห์เรื่องความโกรธไว้อย่างน่าสนใจว่า ทำไมคนถึงโกรธ  แล้วเราจะเปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นความเข้าใจได้อย่างไร


             ก่อนอื่นเราควรวิเคราะห์ก่อนว่า เวลาที่เราโกรธนั้น เกิดอะไรขึ้น เริ่มแรกจะเกิดความไม่พอใจขึ้น สาเหตุของความไม่พอใจ คือความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง อยากได้แล้วไม่ได้ดั่งใจ เกิดการเพ่งโทษตำหนิผู้อื่น อาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ใครบางคนหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น วัตถุแห่งความโกรธคือคน สัตว์ หรือสิ่งของนั่นเอง


            ในขณะที่เราโกรธ พอเราพูดหรือทำอะไรลงไป ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมักจะทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ แสดงว่าความโกรธไม่มีประโยชน์ เราจึงควรแปรสภาพความโกรธให้เป็นอย่างอื่นที่ดีกว่า

 

            เพราะฉะนั้น เรามาเริ่มเรียนรู้ 10 ขั้นตอนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เเล้วค้นให้พบว่าความโกรธนั้นมาจากไหน เรียนรู้ว่าเราควรจะแสดงความโกรธออกมาในวิถีทางอย่างไร โดยเข้าใจว่าเราต้องได้รับการตอบสนองร่วมกับผู้อื่น เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายโดยไม่ใช้ความโกรธ


ขั้นตอนสลัดทุกข์หยุดโกรธ

ขั้นตอนที่ 1 สัญญาณเตือน


            ขั้นตอนแรกเราควรมองว่า “ความโกรธคือสัญญาณเตือน” เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดอารมณ์คุกรุ่นรุนแรงขึ้นมา เรามักจะมุ่งความสนใจไปยังคู่กรณี แล้วมองว่าความคิด คำพูดหรือการกระทำของอีกฝ่ายนั้นผิด


           เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราต้องหยุดความคิดลักษณะนี้  แล้วมองว่าคนอื่นไม่ได้เป็นฝ่ายผิด และไม่ได้เป็นศัตรูของเรา  แต่อารมณ์โกรธนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนว่า “ความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนอง” เราไม่ควรมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ไม่ได้ดังใจ หรือพุ่งเป้าไปเพ่งโทษคนอื่น จากนั้นให้พยายามไตร่ตรองว่าเราอยากได้อะไรกันแน่

 

ขั้นตอนที่ 2 ดูให้ชัด


           เวลาที่เราโกรธเราต้องหาคำตอบที่แท้จริงให้ได้ว่าสิ่งที่เราโกรธนั้นคืออะไร ดูให้ชัดว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น แล้วอธิบายให้ได้ว่าเราต้องการอะไรกันแน่ เพราะถ้ามีความชัดเจนเกิดขึ้นก็จะทำให้เวลาสื่อสารเราไม่ไปเพ่งโทษอีกฝ่าย แต่เราจะมีความพยายามที่จะสื่อสารให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น


           เมื่อความต้องการชัดเจนขึ้น คือพอเรารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และอีกฝ่ายรู้ว่าเราต้องการอะไร ก็มีโอกาสมากขึ้นที่อีกฝ่ายจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิดและพูด เราต้องมีสติเพราะถ้าคลุมเครือเราก็จะรู้เพียงว่าเราโกรธ แต่มองไม่เห็นว่าโกรธเพราะอะไร

 

ขั้นตอนที่ 3 รับผิดชอบ


            ต้องรับผิดชอบและจริงใจต่อความรู้สึกของตัวเอง เพราะความโกรธเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเรามีแนวคิดเชิงตัดสินแล้วกล่าวโทษ และละเลยความต้องการที่สำคัญบางอย่างของตัวเองไป  ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดจากใจเรานั้นเป็นสัญญาณเตือน ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการในใจเราที่ไม่ได้รับการตอบสนอง  ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนจุดสนใจ แทนที่จะไปเพ่งโทษเขาก็มาหาเหตุว่าเราต้องการอะไรให้ชัดเจน

 

ขั้นตอนที่ 4 รู้เท่าทันความคิด


             โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะละเลยความต้องการของตัวเอง เพราะด้วยวัฒนธรรมเรามักถูกสั่งสอนว่า ไม่ให้ใส่ใจความต้องการของตัวเองมากนัก โดยให้พยายามลดความจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิตลง ยกตัวอย่าง ถ้าใครคนหนึ่งบอกความต้องการลึก ๆ ของตนเองออกมา ก็มักจะถูกคนในสังคมมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว


            เรามักจะไม่แสดงออกถึงความต้องการของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ทั้งหมด เราจึงรู้สึกโกรธ เพ่งโทษคนอื่นบ่อย ๆ มีอารมณ์ความรู้สึกด้านลบแฝงอยู่ในใจเสมอ เนื่องจากความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนองนั่นเอง

 

             เพราะฉะนั้น ให้เรารู้เท่าทันความคิดของตัวเอง และกระจ่างชัดกับความต้องการว่า จริง ๆ แล้วเรารู้สึกอะไร เช่น  จริง ๆ แล้วเรารู้สึกกลัว รู้สึกเสียใจ รู้สึกกังวล รู้สึกสับสน  แล้วให้มุ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกของเราว่า เราเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา จากนั้นให้เราแยกความรู้สึกออกจากการตัดสินผู้อื่น  ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะจะนำไปสู่ความต้องการที่แท้จริงของเรา แล้วจะส่งผลให้ได้รับการตอบสนองด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

ขั้นตอนที่ 5 ค้นหาความต้องการที่แท้จริง

            ค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง โดยเริ่มฝึกการสื่อสารอย่างมีสติ คือสังเกตว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้น และมองให้เห็นว่าเรารู้สึกอย่างไร จากนั้นให้ดูว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร จากนั้นทบทวนว่าเราจะขอร้องให้อีกฝ่ายมาเติมเต็มสิ่งใดที่เราขาดไปบ้าง


           เพราะฉะนั้น เราควรใส่ใจในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตัวเอง มากกว่าการใส่ใจในรายละเอียดที่จะส่งผลไปสู่การตัดสินผู้อื่น แทนที่เราจะใส่ใจว่าคนอื่นจะรู้สึกตัวบ้างไหมที่ทำให้เราโกรธ ก็ให้เราเปลี่ยนมามุ่งความสนใจไปที่ความต้องการของตัวเองว่า เราต้องการให้อีกฝ่ายตอบสนองอะไรเรา  แล้วเกิดความพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

           ถ้าเรารู้ความต้องการพื้นฐานของตัวเอง ก็จะช่วยให้เรารับฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้งขึ้น เพราะเกิดความเคารพและเข้าใจผู้อื่น  ส่วนความเอื้ออาทรและการเกื้อกูลของอีกฝ่ายก็เป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องการ ในขณะที่เราต้องการ เขาก็ต้องการด้วยเช่นกัน


           จากนั้นให้วิเคราะห์ว่า จริง ๆ แล้วที่เราโกรธนั้นเป็นเพราะเรายังขาดอะไร หรือว่าเขาไม่ได้ตอบสนองสิ่งใดที่เราต้องการ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องของความคาดหวังของเราที่มีต่ออีกฝ่าย แต่ไม่ได้พูดกันให้เข้าใจ เป็นต้น

 

ขั้นตอนที่ 6 จับประเด็น


          ต้องสรุปประเด็นสำคัญให้ได้ว่า สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คืออะไร เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อบรรลุถึงความต้องการนั้นได้  เราโกรธเพราะเราไม่ได้สิ่งที่ต้องการ จงอย่าเอาความโกรธเป็นประเด็น แต่ให้เอาสิ่งที่เราต้องการเป็นประเด็น


ขั้นตอนที่ 7 เปลี่ยนแปลงอารมณ์โกรธ


           เราควรเปลี่ยนแปลงอารมณ์โกรธให้กลายเป็นขั้นของการเรียนรู้ คือเรียนรู้วิธีการที่จะขอร้องให้อีกฝ่ายตอบสนองในสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วเขาสามารถที่จะตอบสนองเราได้จริง


ขั้นตอนที่ 8 ให้ความสำคัญอีกฝ่าย


           เราต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับความต้องการของอีกฝ่าย  การที่คนทั้งสองฝ่ายจะสื่อสารกันรู้เรื่อง เราต้องเข้าใจเขาด้วยว่า จริง ๆ แล้วเขากำลังต้องการการตอบสนองอะไรบ้าง ไม่ใช่คิดเพียงว่าเราอยากจะได้รับการตอบสนองอะไรบ้างแต่ไม่ฟังอีกฝ่ายเลย เพราะฉะนั้น หูของเราอย่าไปฟังเสียงที่เขาทำให้เราโกรธ แต่ควรคิดวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งว่า จริง ๆ แล้วอีกฝ่ายเขาต้องการอะไร

 

ขั้นตอนที่ 9 ใครควรพูดก่อน


            เมื่อเรามองทุกอย่างรอบด้านแล้วให้เราตัดสินใจว่า “ใครควรจะเป็นคนพูดก่อน” เราหรืออีกฝ่าย โดยให้คิดดูว่าใครเป็นทุกข์มากกว่ากัน แล้วใครมีความกระจ่างชัดมากกว่ากัน โดยถ้าเราเปิดโอกาสให้คนที่มีความกระจ่างชัดมากกว่าพูดก่อน การสื่อสารในครั้งนั้นก็จะไม่ล้มเหลว เช่น เรามีความชัดเจนโดยรู้ทันความรู้สึกทั้งหมดแล้วในขณะที่อีกฝ่ายยังทุกข์อยู่


           เมื่อเรารู้ทันความรู้สึกของตัวเองแล้วจึงสามารถคาดคะเนความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ เพราะเรารู้แล้วว่าเขาอยากได้อะไร รู้สึกอย่างไร เช่น เขากำลังกลัว หรือเขากำลังสับสน


          เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความกระจ่างชัดมากกว่า พอไปรับฟังคนที่เขากำลังจมอยู่ในความทุกข์อยู่ เหตุการณ์ก็จะคลี่คลายได้ดีกว่า เป็นต้น


           ที่สำคัญขั้นสุดท้ายคือ “การเริ่มต้นสนทนา” สรุปว่า พอเรารู้เท่าทันความโกรธ และค้นหาความต้องการของตัวเอง และอีกฝ่ายได้แล้ว ก็มาสรุปด้วยการสื่อสารอย่างสันติ

 

ขั้นตอนที่ 10 เริ่มต้นการสนทนา

                ก่อนเริ่มต้นการสนทนา ให้เรานึกถึงหลักว่า “เราต้องการอะไร” และ “อีกฝ่ายมีความรู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร” วิเคราะห์ให้ออกทั้งความรู้สึกของเขา และความต้องการของเราด้วย


              จากนั้นให้รู้ว่า “เราต้องการให้เกิดผลอะไรในขั้นต่อไป” นี่คือตัวกรองคำพูดของเรา เพราะถ้าเราไม่คิดว่าตัวเองต้องการให้เกิดผลอะไรในขั้นต่อไป เราก็จะพูดโพล่งกล่าวโทษอีกฝ่าย ออกไปอย่างไม่ทันคิด ซึ่งอาจจะทำให้ทะเลาะกันจนเกิดผลเสียหายบานปลาย แล้วต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

               ผลที่เกิดขึ้นตามมานั้นเกิดจากคำพูดและการกระทำของเราเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ความต้องการที่ชัดเจนแล้ว ให้เราคิดก่อนว่าควรพูดอะไรและไม่ควรพูดอะไร

             เราควรวิเคราะห์ความรู้สึกว่า เรารู้สึกกังวล รู้สึกอยากได้ความเห็นใจ รู้สึกอยากได้ความรัก รู้สึกอยากได้ความจริงใจ  จากนั้นให้รับฟังแล้วแสดงความต้องการของเราออกมา

 

              ที่สำคัญให้เราพยายามพูดในสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึก เช่น “ผมรู้นะว่าคุณต้องการความรักความเอาใจใส่” เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการเปิดใจให้อีกฝ่ายพร้อมที่จะรับฟังความต้องการของเราเช่นกัน โดยไม่มีความโกรธหลงเหลืออยู่เลย

 

               เพราะฉะนั้น ควรตั้งหลักอย่างชัดเจน การเจรจาไม่ใช่การเอาชนะกันด้วยวิวาทะ แต่เป็นการสร้างสันติร่วมกัน และอีกหนึ่งอย่างที่ต้องเน้นย้ำ คือเราจะขอให้อีกฝ่ายทำอะไรให้ก็ควรขอในสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของเขาด้วย

 

จากหนังสือ เนรมิตจิตใจ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001605749130249 Mins