หลักธรรมปลดล็อกจิตใจ
เรามักจะได้ยินคำว่า “อิจฉาริษยา” นั้นมาคู่กันเสมอ จริง ๆ แล้ว “อิจฉา” หมายความว่า พอเราเห็นคนอื่นได้ดีก็ปรารถนาอยากได้อย่างเขา แต่ถ้าเกิดความ “ริษยา” แล้วเราจะรู้สึกไม่อยากให้ใครได้ดี เห็นใครได้ดีแล้วทนไม่ได้ ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วระดับของความริษยานั้นหนักกว่าความอิจฉามาก แต่อย่างไรเสียทั้งความอิจฉาและริษยาก็ไม่ดี และควรได้รับการแก้ไขทั้งนั้น
ชาดกว่าด้วยโทษของความอิจฉาริษยา
ในครั้งพุทธกาล มีหมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่ที่ชานแคว้นโกศล มีชาวประมงอาศัยอยู่ประมาณ 1 พันครอบครัว อยู่มาวันหนึ่งมีหญิงคนหนึ่งเกิดตั้งครรภ์ ปรากฏว่าทั้งหมู่บ้านถูกไฟไหม้ถึง 7 ครั้ง เสียค่าปรับให้แก่พระราชาอีก 7 หน เกิดเรื่องราวร้าย ๆ สารพัดจนทุกคนในหมู่บ้านคิดว่า ต้องมีคนกาลกิณีเกิดขึ้นในหมู่พวกเขาแน่ ๆ พวกเขาจึงทดลองแยกครอบครัวต่าง ๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม ปรากฏว่ากลุ่มที่หญิงมีครรภ์คนนี้อยู่ได้รับแต่ปัญหา แต่ไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นกับอีกกลุ่มหนึ่งเลย
พวกเขาค่อย ๆ แยกครอบครัวออกเป็นกลุ่มย่อยไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายพบว่า ปัญหามาจากครอบครัวของหญิงมีครรภ์คนนี้ ชาวบ้านจึงไล่หญิงมีครรภ์ออกจากหมู่บ้าน นางต้องออกร่อนเร่พเนจรกระทั่งคลอดลูกก็ยังได้รับความลำบากสารพัด พอลูกเดินได้และโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้นางจึงบอกกับลูกว่า “ลูก...แม่ลำบากกับเจ้ามามากมายเหลือเกินแล้ว เจ้าเอาชามดินเผาไปขอทานเองเถิด” เด็กน้อยจึงต้องออกร่อนเร่พเนจรเอง เก็บของเหลือกินให้พอประทังชีวิตไปวัน ๆ
กระทั่งวันหนึ่ง พระสารีบุตรออกบิณฑบาต เเล้วได้พบ เด็กน้อยคนนี้กำลังเก็บเม็ดข้าวที่เหลือทิ้งติดจาน เขากินข้าวทีละเม็ดด้วยความหิวโหย พระสารีบุตรเกิดความสงสารจึงพาเด็กน้อยกลับไปที่วัดแล้วให้บวชเป็นสามเณรได้ชื่อว่า “โลสกะติสสะ”
จากนั้นสามเณรโลสกะติสสะก็อยู่ในโอวาทพระสารีบุตรมาโดยตลอด เชื่อฟังคำสั่งสอนและตั้งใจปฏิบัติธรรม พออายุครบบวชโลสกะติสสะจึงได้บวชเป็นพระ แล้วปฏิบัติธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์
ตลอดชีวิตแม้ได้บวชเป็นพระแล้วก็ยังไม่เคยได้ฉันอิ่มแม้เพียงครั้งเดียว พอออกบิณฑบาตชาวบ้านเขาก็ตักบาตรให้แค่ทัพพีเดียวเพราะกรรมมันบังตา คือคนใส่บาตรเขาเห็นว่าข้าวเต็มบาตรแล้วเขาจึงไม่ใส่ให้อีก สุดท้ายจึงได้อาหารบิณฑบาตมานิดเดียวแค่พอกันตาย แต่ไม่เคยได้ฉันอิ่มเลยจนร่างกายทรุดโทรม
กระทั่งวันหนึ่งพระสารีบุตรรู้ด้วยญาณทัสสนะว่า ภิกษุผู้เป็นศิษย์วันนี้จะนิพพานแล้ว ท่านจึงสงสารอยากให้ได้ฉันอิ่มบ้างสักมื้อ เลยให้ออกบิณฑบาตด้วยกันโดยเดินตามหลังท่านไป
ปรากฏว่าผลกรรมแรงจนทำให้วันนั้นพระสารีบุตรไม่ได้รับบิณฑบาตอาหารเลย พระสารีบุตรจึงต้องให้พระโลสกะติสสะกลับวัด แล้วท่านรับบาตรเองเสร็จเรียบร้อยค่อยนำอาหารไปให้
พอพระโลสกะติสสะแยกทางกลับวัดเท่านั้นเองก็มีคนใส่บาตรพระสารีบุตรมากมาย พระสารีบุตรรีบแบ่งอาหารบิณฑบาตให้คนนำไปถวายให้พระโลสกะติสสะ ปรากฏว่าด้วยผลกรรมคนรับอาหารเดินทางมาถึงกลางทางแล้วเกิดลืมว่าจะเอาอาหารไปทำอะไร จึงนั่งกินเองจนหมด
พระสารีบุตรท่านกลับถึงวัดจึงรู้ว่าพระโลสกะติสสะยังไม่ได้ฉัน แต่ยังพอมีเวลาจึงเข้าวังไปหาพระเจ้าปเสนทิโกศล หวังจะไปบิณฑบาตกับพระราชา
พระราชาเห็นว่าใกล้เพลแล้ว พระองค์ทรงเกรงว่า เวลาจะไม่พอจึงไม่ถวายของคาว ถวายแต่ของหวานคือเภสัชทั้งหลาย มีน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น พอพระสารีบุตรกลับมาก็คะยั้นคะยอให้พระโลสกะติสสะฉันภัตตาหารจากบาตรที่พระสารีบุตรถือไว้ อาศัยบุญพระสารีบุตรไว้เพราะเกรงว่า ถ้าวางบาตรลงอาจจะมีเหตุให้ภัตตาหารหายไปอีก พระโลสกะติสสสะจึงได้ฉันอิ่มในมื้อสุดท้ายแล้วนิพพานวันนั้นเอง
หลังจากพระโลสกะติสสะนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำพิธีฌาปนกิจแล้วให้เก็บอัฐิซึ่งเป็นพระธาตุของท่านบรรจุในพระสถูปเจดีย์ ภิกษุทั้งหลายสงสัยจึงกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุใดพระโลสกะติสสะปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ แต่ทำไมถึงมีวิบากกรรมหนักหนาขนาดนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงระลึกชาติไปดูเหตุแล้วนำมาเล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า โลสกะติสสะภิกขุ ภพในอดีตเคยบวชเป็นพระ ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามปกติ กระทั่งวันหนึ่งเศรษฐีอุปัฏฐากใหญ่ของวัดแห่งนี้เห็นพระอรหันต์เดินทางผ่านมา แล้วได้เห็นกิริยาอาการน่าเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้เข้ามาพักที่วัดนี้ แล้วปรนนิบัติดูแลอย่างดีจนพระเจ้าอาวาสเกิดความอิจฉา รู้สึกว่าถ้าขืนปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไป
เศรษฐีต้องไปศรัทธาพระอาคันตุกะนี้มากกว่าตนแน่
พอตอนเช้าก่อนจะออกบิณฑบาตเจ้าอาวาสก็วางอุบายด้วยความอิจฉาริษยา คือแทนที่เจ้าอาวาสจะเคาะระฆังปลุกพระลูกวัดให้ออกบิณฑบาต ท่านกลับเอาเล็บเคาะระฆังเบาๆ แล้วกระซิบกับระฆังว่า “เคาะระฆังปลุกแล้วไม่ได้ยินเสียงเองช่วยไม่ได้นะ” แล้วท่านก็ออกไปบิณฑบาต
พอท่านเจ้าอาวาสเจอเศรษฐีก็ใส่ร้ายพระอาคันตุกะทันทีว่า สงสัยท่านนอนหลับอุตุยังไม่ตื่น เมื่อวานท่านเศรษฐีถวายภัตตาหารมาก พระท่านคงจะฉันอิ่มเกินไป
แต่ท่านเศรษฐีมีท่าทีนิ่งเฉย พอใส่บาตรเสร็จท่านก็ฝากภัตตาหารไปถวายพระอาคันตุกะด้วย พอถึงกลางทาง ท่านเจ้าอาวาสตั้งใจจะแกล้งพระอาคันตุกะจึงเทอาหารทิ้งทั้งหมด ด้วยวิบากกรรมนี้จึงส่งให้พระโลสกะติสสะตกนรก
พอพ้นกรรมจากนรกก็มาเกิดเป็นยักษ์ จากยักษ์มาเกิดเป็นสุนัขอีก 500 ชาติ เป็นสุนัขเร่ร่อนอดอยากยากแค้นแสนสาหัส ผอมแห้งเห็นกระดูกซี่โครง จนกระทั่งก่อนตายถึงได้กินอิ่มหนึ่งมื้อ คือกินเศษอาหารที่เขาอาเจียนออกมา ตอนเป็นสุนัขหิวโซทุกชาติไป จนกระทั่งพ้นกรรมจากสัตว์แล้วมาเกิดเป็นคน
ท่านก็ยังต้องเจอวิบากกรรมอย่างนี้เรื่อยไป
เพราะฉะนั้น เราอย่าไปอิจฉาริษยาใครเด็ดขาด เห็นใครเขาทำความดีแล้วประสบความสำเร็จก็ให้มีมุทิตาจิต อนุโมทนาสาธุด้วย
บุคคล 2 ประเภท
ลองสังเกตว่า เมื่อมีคนประสบความสำเร็จ คนที่พบเห็นจะมี 2 ประเภท คือ “อิจฉาริษยา” และ “มีมุทิตาจิต” คือ บุคคลผู้ “อิจฉาริษยา” มักจะมีความรู้สึกอยากทำให้เขาย่ำแย่ลง ไม่คิดพัฒนาตัวเองแต่กลับอยากจะฉุดเขาลงมา เขาจะได้ไม่เด่นเกินหน้าเกินตาเรา ซึ่งเป็นความคิดทางลบ หรือพลังด้านการทำลายที่ไม่เคยทำให้ใครเจริญขึ้นเลย
ส่วนบุคคลผู้มี “มุทิตาจิต” มีความคิดทางบวก หรือมีพลังสร้างสรรค์ พอเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จก็มักจะเกิดมุทิตาจิต รู้สึกชื่นชมอนุโมทนา แล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองให้ดีอย่างนั้นบ้าง มีพลังแห่งความสร้างสรรค์ที่จะดึงตัวเองให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป
ถ้าประเทศโดฝึกนิสัยคนในชาติให้มีมุทิตาจิต ประเทศนั้นก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต่างชาติใครทำดีก็มักชื่นชมให้รางวัล หรือสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติ ผู้คนจะได้เกิดแรงบันดาลใจอยากเอาเป็นแบบอย่าง และอยากที่จะขวนขวายพัฒนาตัวเอง
ประเทศสหรัฐอเมริกาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วก็เพราะว่า ชาวยุโรปที่อพยพเข้าไปบุกเบิกบ้านป่าเมืองเถื่อนอยู่ที่นั่น ไม่มีข้าวของเครื่องใช้ที่ให้ความสะดวกสบาย จะเดินทางกลับไปนำข้าวของเครื่องใช้มาจากยุโรปก็ไกล
ดังนั้น ถ้ามีใครคิดค้นหรือสร้างอะไรขึ้นมาใช้ได้เองในประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าช่วยให้ประชากรทุกคนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้น เขาจึงได้รับความชื่นชมอย่างมากจนเกิดเป็นค่านิยมในสังคมว่า ต้องชื่นชมยกย่องคนที่ฉลาดและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้สำเร็จในทุก ๆ ด้าน
ในสหรัฐอเมริกา ถ้าใครสร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีประโยชน์แล้วประสบความสำเร็จ รัฐบาลจะประกาศเชิดชูเกียรติคุณ สังคมก็เชิดชูเกียรติคุณ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็เกิดแรงบันดาลใจอยากจะเอาเป็นแบบอย่าง สหรัฐอเมริกาจึงสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้มากมาย
ในประเทศญี่ปุ่นก็เหมือนกัน มีอนุสาวรีย์อยู่ทั่วทุกหัวระแหง ในหมู่บ้านก็ยังมีอนุสาวรีย์ประจำหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านนี้มีใครประสบความสำเร็จและควรยกย่องชื่นชมในทุกด้าน อาทิ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักกีฬาทีมชาติ เป็นดารา นักร้อง นักแสดง หรือเป็นนักเขียน เขาก็จะสร้างรูปปั้นอนุสาวรีย์ให้ เเล้วเล่าให้ลูกหลานในหมู่บ้านฟังต่อ ๆ กันไปด้วยว่า บุคคลนี้เป็นใคร และทำความสำเร็จอะไร ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก ๆ เกิดแรงบันดาลใจว่า อยากจะฝึกตัวเองให้ดีอย่างนั้นบ้าง
พระเอกประจำชาติ คือบุคคลที่สร้างสรรค์จนประสบความสำเร็จ พระเอกประจำชาติของผู้ชายไทยไม่ควรเป็นขุนแผน ที่ชายไทยต้องเอาเป็นแบบอย่างด้วยการมีบ้านเล็กบ้านน้อยให้มากที่สุด แต่ว่าพระเอกประจำชาติควรเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบ ขยันและอดทนสู้งานหนัก
ประเทศไทยของเราเองก็ควรฝึกมุทิตาจิตให้เกิดขึ้นในระดับชาติ รัฐบาลต้องเป็นผู้นำ สื่อมวลชนนักวิชาการ และคนในสังคมต้องร่วมมือกันยกย่องชื่นชมคนที่ประสบความสำเร็จ โดยพยายามให้ข่าวเชิงบวก เปลี่ยนวงจรลบซึ่งเป็นพลังที่คอยถ่วงรั้งสังคมจนกลายเป็นสังคมทอนกำลัง เพราะชอบอิจฉา ริษยาทำลายกัน เปลี่ยนใหม่ให้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยมุทิตาจิต ใครทำอะไรได้ดีก็ชื่นชมยกย่องให้เป็นแบบอย่าง พัฒนากันไป
ทั้งสังคม
พ่อแม่ต้องคอยสอนลูกอย่างนี้บ่อยๆ เราก็จะเอาชนะความอิจฉาริษยา แล้วกลายเป็นผู้ที่มีมุทิตาจิต สังคมไทยก็จะกลายเป็นสังคมที่สงบร่มเย็นสมกับเป็นสังคมเมืองพุทธ และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก
จากหนังสือ เนรมิตจิตใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)