กลยุทธ์ลดความอิจฉา
เคยรู้สึกอิจฉาใครบางคนที่เขาเก่งกว่า รวยกว่า หล่อกว่า สวยกว่า หรือประสบความสำเร็จมากกว่าหรือไม่ จริง ๆแล้วไม่มีใครอยากเป็นตัวอิจฉา แต่บางครั้งเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในใจของเราอย่างช่วยไม่ได้
ความรู้สึกด้านลบในสังคมวัตถุนิยม
เรื่องของความอิจฉาริษยา บางทีหลายคนปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยเป็น แต่ความจริงแล้วสังคมเรามีความเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนในยุคเกษตรกรรม เป็นสังคมที่อยู่กันแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนความแตกต่างกันทางด้านวัตถุมีไม่มาก แต่ต่อมามีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้น จึงกลายเป็นลักษณะของสังคมวัตถุนิยม คือมีการสร้างวัตถุที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างมาก
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่มองเห็นได้ชัด เมื่อก่อนเราเดินทางไปไหนมาไหนโดยใช้เกวียนกับม้าเป็นยานพาหนะ ไม่มีเกวียนยี่ห้อเฟอร์รารี (Ferrari) ไม่มีเกวียนรุ่นท็อป (Top) อย่างมากก็มีแค่ม้าสีขาวกับม้าสีน้ำตาล มีแค่ม้าสวยกับม้าไม่สวย ซึ่งมีข้อเปรียบเทียบน้อย แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปยานพาหนะของคนเราก็เปลี่ยนไปด้วย มีทั้งรถญี่ปุ่น รถยุโรป ไปจนถึงรถราคาแพง ๆ 3-40 ล้านบาทอย่างซูเปอร์คาร์
ในสังคมวัตถุนิยมทำให้สิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน ถ้าเรามัวแต่สนใจรายละเอียดจนลืมนึกถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักก็จะเกิดการเปรียบเทียบขึ้นในใจลึก ๆ ข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ นั้น จะขยายวงกว้างตอนที่เราเริ่มใช้สื่อออนไลน์ (Social Media) คือพอมีการแชร์ข้อความเรื่องราวต่าง ๆ เราก็จะเห็นว่าคนนั้น ซื้อรถคันใหม่บ้าง คนโน้นมีความก้าวหน้าในชีวิตบ้าง
จากผลสำรวจในประเทศเยอรมนีพบว่า ผู้คนคิดว่า Social Media นี่เองที่ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกด้านลบ และอิจฉาเพื่อน ๆ พอใครโพสต์รูปที่บ่งบอกถึงความสุขความสำเร็จในชีวิต คนอื่น ๆ ก็มักจะเกิดความรู้สึกอิจฉาขึ้นไม่มากก็น้อย คนที่ไม่มีอย่างเขาก็รู้สึกอยากได้อยากมีบ้าง
ผลวิจัยนี้ยังระบุอีกด้วยว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้สึกไม่พึงปรารถนา ที่ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในวังวนของความริษยาได้ เพราะฉะนั้น เราต้องละความอิจฉาในตัวด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ข้อเสียของความอิจฉานอกจากไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์แล้ว ยังส่งผลเสียหายต่อการสื่อสาร และทำให้ตัวเราเองรู้สึกแย่ จนบางทีส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพร่างกายเลยทีเดียว เช่น บางคนอิจฉามากจนกระทั่งเกิดอาการท้องมวน รู้สึกแน่นหน้าอกอึดอัดไปหมด เป็นต้น สรุปว่าความอิจฉานี้ไม่มีอะไรดีเลย
เทคนิค 9 ประการ ลดความอิจฉา
ประการที่ 1 เฝ้าดูอารมณ์
พอเกิดการเปรียบเทียบขึ้นในใจเมื่อใดก็ให้เราเฝ้าดูอารมณ์นั้น ดูการดำเนินไปของอารมณ์นั้น แล้วลองดูสิว่า การที่เราเผชิญหน้ากับความรู้สึกเปรียบเทียบ อิจฉา อยากได้อยากมี ดีกว่าเราจะไปกดอารมณ์เหล่านั้นเอาไว้จริงหรือไม่
จากนั้นก็ให้ฝึกเอาชนะความเป็นอัตตาของตัวเอง มองทุกอย่างด้วยสติปัญญา แล้วเราจะเริ่มเข้าใจว่า อารมณ์เหล่านั้นเข้ามาอย่างไร มีผลกระทบต่อจิตใจเราอย่างไร และมีผลกระทบต่อร่างกายเราอย่างไร
โดยเราต้องเผชิญหน้าอย่างมีปัญญา เฝ้ามองอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คิดปรุงแต่งต่อไปอีก การเผชิญหน้านี้จะทำให้อารมณ์ในทางลบค่อย ๆ จางลงไปเอง เพราะความอิจฉาไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ใครก็เกิดความรู้สึกอิจฉาได้หากยังไม่หมดกิเลส
ประการที่ 2 รักและยอมรับตัวเอง
บางครั้งเราอาจเผลอมองว่าตัวเราด้อยกว่าคนอื่นแล้ว เกิดการเปรียบเทียบขึ้น จริง ๆ แล้วในโลกนี้ทุกคนมีจุดดีจุดแข็งแตกต่างกัน และทุกคนมีความงดงามในตัวเอง ไม่ว่าเราจะสูงต่ำดำขาวหรือมีลักษณะทางร่างกายอย่างไร ทุกคนล้วนมีความงดงามอยู่ในนั้นหมด มันเป็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ นั่นคือความงดงามด้านจิตใจ รูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกัน ก็ไม่สามารถทดแทนความงามด้านจิตใจที่อยู่ภายในของแต่ละคนได้เลย
ถ้าเรามองลึกลงไปถึงศูนย์กลางกายของแต่ละคน ข้างในนั้นคือความงดงามของกายที่สมบูรณ์แบบ คือ “ธรรมกาย” ซึ่งทุกกายในโลกมีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองให้ลึกและรู้จักรักตัวเอง รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น มองให้เห็นถึงคุณค่าในตัวเราว่ามีจุดเด่นจุดดีอะไรบ้าง แนวโน้มที่เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นก็จะลดน้อยลง
ประการที่ 3 หยุดเปรียบเทียบ
หยุดเปรียบเทียบ เพราะการเปรียบเทียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ และความอิจฉาริษยาเสมือนดอกผล เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราต้องไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร แล้วมองให้เห็นเนื้อแท้ของสิ่งต่าง ๆ และเนื้อแท้ของตัวเอง มองให้เห็นคุณค่าในความแตกต่างกัน
ความแตกต่างของมนุษย์เป็นกฎธรรมชาติ และมีความงดงามอยู่ในนั้น ถ้าเรามัวแต่เปรียบเทียบก็จะไม่มีที่สิ้นสุด เพราะยังมีคนที่เขาดีกว่า เก่งกว่า สวยหล่อกว่าอยู่อีกมากมาย
ประการที่ 4 ค้นหาสิ่งที่มาคุกคามใจ
จริง ๆ แล้วคนเรามักมีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกหวั่นไหว หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย เราควรค้นหาแล้วถามตัวเองให้ได้ว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เรารู้สึกหวั่นไหว หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น เราเห็นคนอื่นถือกระเป๋าราคาแพงเดินเข้ามาในแวดวงที่เราอยู่ เราเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจเพราะเราไม่มีอย่างเขา หรือพอเราออกไปสู่สังคมแล้วเห็นคนอื่นใช้รถหรูราคาแพง ๆ กันหมดเราจึงเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมา
แล้วประเด็นไหนกันแน่ที่เรากลัว อะไรกันแน่ที่เราคิดว่าทุกคนควรมีควรได้ เมื่อรู้แล้วก็ให้เร่งตัดสินใจที่จะเอาชนะภัยคุกคามนั้นให้ได้ ด้วยการวางแผนหาหนทางมองสถานการณ์จากจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคง ไม่ใช่จิตใจที่หวาดกลัวและหวั่นไหว
ยกตัวอย่าง ภรรยาเจ้าของบริษัทเฟซบุ๊ก (Facebook) ทุกวันนี้เธอยังขับรถญี่ปุ่นเพราะเธอมั่นใจในตัวเอง กระทั่งมหาเศรษฐีในประเทศไทยบางท่านก็ยังใช้รถญี่ปุ่นอยู่เช่นกัน ในขณะที่บางคนไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถยุโรปราคาแพง ๆ ใช้เพราะฉะนั้น เราต้องค้นหาสิ่งที่มาคุกคามจิตใจเราให้พบ แล้วเราจะรู้ว่าเราสามารถมองสิ่งเหล่านั้นด้วยมุมมองที่เข้มแข็งได้
ประการที่ 5 จดบันทึกความคิดของตัวเอง
การจดบันทึกความคิดของตัวเอง คือเทคนิคที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวความคิดต่าง ๆ ของตัวเองได้ดี ถ้าเรามัวแต่คิดก็จะยิ่งฟุ้งซ่านไปกันใหญ่ คือเมื่อใดก็ตามที่เรามองความคิดออกก็ให้ลงมือจดบันทึกทันที
โดยเวลาที่จดบันทึกนั้นเราไม่ต้องไปคิดอะไรมาก นึกอะไรได้ก็ให้เขียนลงไปเลย เขียนเรียงลำดับความคิดออกมายาว ๆ แล้วค่อยมาจัดหมวดหมู่ในภายหลัง ถ้าเรานึกขึ้นมาได้ว่าเราจะแก้ไขอะไรตรงจุดไหน ก็ให้เราลากเส้นออกมาแล้วเขียนสิ่งที่จะแก้ไขไว้ข้าง ๆ ข้อความแรก นี่คือขั้นตอนแรกที่จะทำให้เราเริ่มถอดความคิดออกมาเป็นตัวอักษร การเขียนบันทึกนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราลำดับความคิดของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ประการที่ 6 อยู่ในโลกความเป็นจริง
ในโลกของความเป็นจริง ถ้าเราเกิดข้อเปรียบเทียบที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเขา ให้เราลองถามตัวเองว่าสิ่งนั้นเป็นภัยคุกคามเราจริงหรือไม่ แล้วความรู้สึกเช่นนี้เป็นบวกหรือและให้คุณหรือโทษแก่เรา มีผลต่ออะไรในชีวิตเราหรือไม่
ความจริงแล้วข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของเราเลย แต่กลับมีผลลบทางด้านจิตใจของเรา คือเกิดความรู้สึกไม่ดีที่ทำให้เกิดอารมณ์อิจฉาริษยา
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราก็จะนึกออกว่าไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราควรจะยึดถือความคิดต่าง ๆ เหล่านั้นเอาไว้ แล้วปลดปล่อยมันไปได้ง่ายขึ้น เพราะคุณค่าในตัวเรายังอยู่ครบแม้เราจะใช้รถราคาถูกกว่า หรือกระเป๋าราคาถูกกว่าคนอื่น ๆ ก็ตาม
ประการที่ 7 หาจุดแข็งของตัวเอให้เจอ
ทุกคนมีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง เช่น เราอาจจะเรียนไม่เก่งแต่เล่นดนตรีเก่ง บางครั้งเราทำงานอะไรได้ดีแต่เรากลับ มองว่าคนอื่นก็ทำได้เหมือนกันกับเรา เราจึงลืมชื่นชมความสำเร็จ หรือความสามารถเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเอง ให้เราลองหันมาชื่นชมตัวเองทั้งความสามารถเเละความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆของเรา แล้วเราจะรู้ว่าตัวเรานั้นมีคุณค่ามากแค่ไหน
ประการที่ 8 หันเหความสนใจ
ให้ลองหันเหความสนใจไปที่อื่น โดยไม่โฟกัสกับตัวเองมากจนเกินไป เช่น เราอาจจะออกไปวิ่งออกกำลังกาย ว่ายน้ำ กินอาหารนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้รู้สึกผ่อนคลายเพื่อที่เราจะได้หันเหตัวเองออกจากอารมณ์ความรู้สึกด้านลบความรู้สึกอิจฉาก็จะเบาบางจางหายลงไปเอง
ประการที่ 9 ถามตัวเองถึงความต้องการจริง ๆ
กลยุทธ์ลดความอิจฉาประการสุดท้าย คือให้เราลองถามตัวเองว่า ความรู้สึกสนใจต่ออารมณ์ด้านลบต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ หรือไม่ ความจริงแล้วเราอยากอิจฉาเขาหรือไม่ หรือว่าเราควรเข้าไปแสดงความชื่นชมยินดีกับคนอื่นเมื่อเขาประสบความสำเร็จ
แล้วลองดูสิว่า อะไรที่ทำให้เขาเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ความสามารถของเราก็ไม่น้อยไปกว่าเขาเข้าไปพูดคุยและขอคำแนะนำต่าง ๆ จากเขา นี่เองคือสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้อย่างแท้จริง และอย่างน้อยเมื่อเราเปิดใจสัมพันธภาพของเพื่อนก็จะยังคงอยู่ต่อไป
จริง ๆ แล้วความรู้สึกต่าง ๆ เข้ามาหาเราได้ทีละอย่าง ถ้าความรู้สึกไหนเข้ามาหาเราก่อน เราก็จะถูกครอบงำด้วยความรู้สึกนั้น เช่น ถ้าเรารู้สึกอิจฉาเขาก่อน เราก็จะรู้สึกยินดีกับเขาได้ยาก เพราะฉะนั้น ให้รีบแสดงความยินดีกับเขาไปก่อน ความอิจฉาจะได้ไม่เข้ามาในใจเรา
จากหนังสือ เนรมิตจิตใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)