13เเนวทางสร้างกำลังใจให้ตนเอง

วันที่ 31 พค. พ.ศ.2563

13เเนวทางสร้างกำลังใจให้ตนเอง


                      มนุษย์มีศักยภาพในตัวเองมากมาย แต่เราไม่สามารถดึงศักยภาพที่เรามีมาใช้ได้ทั้งหมด เพราะเราอาจจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือไม่มีกำลังใจที่จะนำพาตัวเองไปสู่ความสุขและความสำเร็จ

 

เทคนิคสร้างกำลังใจให้เกิดกับตนเอง


                  จริง ๆ แล้วความสำเร็จของแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในคือ “ตัวเรา” นั่นเอง ส่วนปัจจัยภายนอกอย่างอื่น เช่น มีผู้ใหญ่สนับสนุน ภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยให้ก็มีความสำคัญ แต่ยังเป็นเพียงปัจจัยรอง ถ้าตัวเราไม่พร้อม ปัจจัยภายนอกแม้มีพร้อมมูลก็ไม่เกิดประโยชน์


                 เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า คนธรรมดา ๆ อย่างเราสามารถพัฒนาตัวเองให้เกิดแรงบันดาลใจ แล้วมีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จได้มากเท่ากับผู้ที่เขาประสบความสำเร็จแล้วในโลกนี้อย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) หรือ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ได้หรือไม่


               คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เคยสงสัยไหมว่า  ทำไมบางคนสามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นอย่างที่หวังและตั้งใจได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “เขาไม่ยอมถอดใจง่าย ๆ” เรียกว่า “พรแสวง” เหนือกว่า “พรสวรรค์
 


แนวทางที่ 1 กำหนดเป้าหมายในชีวิต

 

                 สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกัน คือแรงบันดาลใจ และความมุ่งมั่นที่จะยกระดับชีวิตของตัวเอง ยกระดับการงาน  รวมทั้งเป้าหมายในชีวิต และความเชื่อว่าเราเป็นได้มากกว่าที่ตัวเองเป็นอยู่ แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะดึงศักยภาพของตนเองออกมา หรือสร้างกำลังใจให้ตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จได้จริง

 

                 เราจะเห็นได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเป้าหมายในชีวิตที่เราตั้งไว้ ถ้าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้เลยก็เหมือนเรือที่ไม่มีเข็มทิศ มุ่งหน้าไปโดยไม่ได้ปรับหางเสือเรือให้ตรงทิศทาง เรือจึงลอยไปเรื่อย ๆ ไร้จุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้น ขยันอย่างเดียวยังไม่พอ

 

                  ก่อนอื่นเราต้องกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตัวเองให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะต้องเป็นเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงที่สุดว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตบ้าง แล้วเลิกพร่ำบ่นกับโชคชะตาฟ้าลิขิต หันมากำหนดชีวิตให้ชัดเจนว่า เป้าหมายที่แท้จริงในชีวิตของเราคืออะไร และสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ นั้นคืออะไร



แนวทางที่ 2 มองให้ทะลุไปถึงผลลัพธ์สุดท้าย

 

                   เราจำเป็นจะต้องมองทะลุไปให้ถึงผลลัพธ์สุดท้ายของสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราจะได้อะไรในภาพสุดท้ายนั้น เช่น เป้าหมายของเราคือการลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม เป้าหมายสุดท้ายที่เรามองทะลุไปถึง คือเราจะมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น ร่างกายกระฉับกระเฉง และมีกำลังวังชาไปไหนมาไหนได้สะดวกเวลาไปร้านขายเสื้อผ้าเราสามารถลองชุดได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าเราจะเดินไปที่ไหนคนอื่นก็ต้องเหลียวมองเรา เพราะว่าเรามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นต้น

 


               จริง ๆ แล้วการมองให้ทะลุไปถึงผลลัพธ์สุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะภาพสุดท้ายจะเป็นแรงจูงใจให้เราเดินไปได้ตลอดเส้นทาง เพราะฉะนั้น เราจำเป็นจะต้องมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ

 


               ยกตัวอย่าง เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะรวยเพียงเท่านี้อาจจะคลุมเครือไป เราต้องสร้างความชัดเจนในเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เช่น เราจะหาเงินให้ได้ 3 แสนบาทเพื่อนำไปทำบุญหรือเพื่อไปท่องเที่ยวช่วงวันหยุดพักร้อน หรือเพื่อขยายธุรกิจของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งเราจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายต่าง ๆ ให้ชัดเจนได้ดีที่สุด ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายชัดเจน และเป็นสิ่งที่ทำได้จริงก็จะนำเราไปสู่แผนปฏิบัติการอื่น ๆ ต่อไปได้



แนวทางที่ 3 สร้างภาพสำเร็จให้เกิดขึ้นก่อน


               การตั้งเป้าหมายโดยการสร้างภาพสำเร็จให้เกิดขึ้นก่อนนั้น ให้เราลองหลับตาแล้ววาดฝันมองให้เห็นภาพอย่างจริงจังว่า ถ้าเราไปถึงเป้าหมายนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร พยายามสร้างความรู้สึกนี้ไปให้ทั่วร่างกาย ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นี่คือการสร้างภาพสำเร็จให้เกิดขึ้นก่อน แล้วความสำเร็จจริงๆ
จะตามมา ถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของเราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เรามีแรงเดินหน้าต่อไปนั่นเอง

 

 

แนวทางที่ 4 บันทึกเป้าหมายเป็นตัวอักษร


                บันทึกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเป้าหมายในชีวิตออกมาเป็นตัวอักษร ด้วยการเขียนมันลงไปในหน้ากระดาษ การจดสิ่งที่เป็นความคิดลงไปในหน้ากระดาษทำให้เราได้ทบทวนเป้าหมายทุก ๆ วัน ใจเราก็จะจดจ่อถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่เราต้องการ ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายอะไรไว้ก็ตาม ถ้าเราทำเป้าหมายสมมติ
ขึ้นมา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่มันจะมีความท้าทายตามมาเสมอ

 


                 พอเราเขียนเป้าหมายของตัวเองลงไปเป็นตัวอักษรแล้ว ให้ติดมันไว้ในสถานที่ที่เรามองเห็นได้ทุกวัน เพื่อจะเป็นตัวช่วยย้ำเตือนให้เราขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้อย่างไม่ไขว้เขว เป้าหมายไม่ถูกเบี่ยงเบนไปเพราะเราได้ตอกย้ำอยู่เสมอว่า เป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร และเราต้องการอะไรจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมายนั้น

 


แนวทางที่ 5 แตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นลำดับขั้น


               แตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นลำดับขั้น ไม่ให้เป้าหมายเป็นเพียงคำพูดลอย ๆ ด้วยการจัดระบบเป้าหมายให้เริ่มเป็นจริงด้วยการระดมความคิดของตัวเอง แล้วแยกย่อยเป้าหมาย  ออกเป็นข้อๆ เหมือนขั้นบันได เช่น

                    ถ้าเราจะหาเงินให้ได้ 3 แสน เราควรเริ่มวางแผนจัดระบบความคิดว่า ใน 1 สัปดาห์ เราจะสามารถทำงานหาเงินได้เท่าไร เราจะหาช่องทางสร้างรายได้เสริมด้วยวิธีการอย่างไร  แล้วแต่ละช่องทางนั้นใช้เวลาเท่าไร ได้ผลตอบแทนประมาณเท่าไร หรือเราควรลงทุนอะไรถึงจะได้ผลตอบแทนที่สามารถครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการได้ และต้องไม่ลืมที่จะมองไปถึงรายจ่ายที่ไม่จำเป็นด้วย นี่คือการแตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นขั้นบันได พร้อมกับเขียนทั้งหมดลงบนหน้ากระดาษ


แนวทางที่ 6 วางแผนปฏิบัติการ


                  หลังจากที่เราได้แตกเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกเป็นขั้นบันไดแล้ว ให้นำไปสู่ตัวของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) คือการเขียนแผนรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไร และลงมือทำเมื่อใด


แนวทางที่ 7 ประเมินแผนปฏิบัติการทุกวัน


                หมั่นประเมินแผนปฏิบัติการทุกวัน เพื่อจะได้รู้ว่าเราเข้าถึงหรือบรรลุแผนในขั้นนั้น ๆ แล้วหรือไม่ แล้วจดบันทึกความสำเร็จในส่วนของแผนการแต่ละขั้นไว้ด้วย ถ้าเรายังไม่บรรลุแผนขั้นใดก็ให้ประเมินว่าเราติดขัดตรงไหน แล้วปรับเปลี่ยนแผนตามความเหมาะสม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้



แนวทางที่ 8 สร้างบรรยากาศส่งเสริมกำลังใจ


                  ทุกการเดินทางของเรามักจะมี “มารผจญ” หรือตัวขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างบรรยากาศส่งเสริมกำลังใจให้ตัวเอง ด้วยการอยู่ท่ามกลางคนที่ให้กำลังใจเรา เพื่อเราจะได้มุ่งมั่นเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้

                    ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นมาจากตัวเราเองด้วย บางคนใช้เทคนิคบอกกับตัวเองว่า “วันนี้ไม่ดี ไม่เป็นไร พรุ่งนี้จะต้องดีขึ้น กว่าเมื่อวาน แล้วดีขึ้นทุก ๆ วัน" นี่คือการสร้างความมุ่งมั่นให้แก่ตัวเอง และไม่ยอมให้ใครมาทำลายกำลังใจเราได้ง่าย ๆ


แนวทางที่ 9 ทำทุกอย่างด้วยความสนุกสนานท้าทาย


                 ให้ทำทุกอย่างอย่างสนุกสนานท้าทาย โดยเริ่มต้นจากเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จ และหัวเราะให้กับความล้มเหลว


                 ให้โอกาสตัวเองได้ใช้เวลาชื่นชมยินดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องสนุกสนานท้าทาย เติมสีสันลงไประหว่างการเดินทางสู่เป้าหมาย  เพื่อที่เราจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสิ่งที่เราทำอยู่ทุก ๆ วัน และประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
 


แนวทางที่ 10 มีความรับผิดชอบที่จะบรรลุเป้าหมาย


                   เมื่อเราเขียนความต้องการของตัวเองไว้แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราเกิดความรับผิดชอบต่อความต้องการของตัวเอง และบรรลุเป้าหมายได้ คือเราต้องตอกย้ำกับตัวเองเสมอว่า “เราทำได้” ที่สำคัญเราจะต้องมีวินัยในตัวเอง มีความพยายาม และต้องเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เราถึงจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด



แนวทางที่ 11 มองหาตัวช่วยให้ดี


                 ทรัพยากรที่จำเป็นจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ เราจำเป็นจะต้องหาตัวช่วยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัว ขอการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพในเรื่องที่เราไม่ถนัด เช่น ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ที่ปรึกษาด้านภาษา เป็นต้น เรียกได้ว่าให้เขาเป็นทั้งตัวช่วย และเป็นทั้งต้นแบบที่ดี
 


                เราควรมองหากลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ยกตัวอย่าง ถ้าเราต้องการบรรลุธรรมภายในพรรษานี้ เราควรหาตัวช่วยด้วย การจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใน Social Media หรือช่องทางใดก็ได้  หรือมองหากลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน และได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และมีการจดบันทึกอยู่เสมอ ๆ  การกระทำในรูปแบบนี้ถือเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ที่จะทำให้เราไม่เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

 

แนวทางที่ 12 คิดหาแนวทางใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

               

                  คิดหาแนวทางใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสร้างสรรค์ แล้วเราจะพบว่า ตัวเรามีศักยภาพมากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้


                   แนวทางที่คนอื่นเคยเดินมาก่อน เราทำได้อย่างมากก็แค่เดินไปตามเส้นทางนั้น แต่ถ้าเราสร้างแนวทางใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับสิ่งที่ตลาดมีอยู่แล้ว เช่น หาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนวิธีคิดต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เราก็ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร แต่แข่งขันกับตัวเอง


                   ยกตัวอย่าง มีคนสองคนนำรองเท้าไปขายที่ประเทศอินเดีย พอไปถึงเห็นคนอินเดียไม่มีใครใส่รองเท้าเลย คนที่หนึ่งบอกว่าขายไม่ได้แน่  จัดแจงขนรองเท้ากลับบ้าน แต่อีกคนหนึ่งกลับบอกว่า ที่นี่เป็นตลาดใหญ่มากเพราะยังไม่มีใครมีรองเท้าเลย ทุกคนมีโอกาสซื้อรองเท้าของเขาทั้งนั้น นี่เองถือว่าเป็นการคิดวางแผนหาแนวทางใหม่ ๆ


                  แม้แต่อุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จในการขายก็เกิดจากการคิดหาแนวทางใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม  โดย สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) คิดแบบผู้นำที่ไม่เชื่อผลการวิจัยตลาดของทีมวิจัย แต่เชื่อมั่นในตัวเองว่า เขารู้ว่าตลาดต้องการอะไร เพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ยังไม่มีในท้องตลาด  กลุ่มผู้บริโภคยังไม่รู้จัก ผู้บริโภคไม่เคยใช้เลยแล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าตนจะชอบหรือไม่ชอบ คิดฉีกแบบผู้นำอย่างนี้ถึงจะประสบความสำเร็จ

 

แนวทางที่ 13 ลงมือเดี๋ยวนี้
 

               "Just do it " ก็แค่ทำมันซะ ลงมือเลย! เรานั่งวางแผนมาเป็นเดือนเป็นปีแล้ว ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำมันก็เป็นแค่แบบแผนในหน้ากระดาษ

                หากมีแผนการแล้วแต่ทุกอย่างยังไม่พร้อมทั้งหมด ก็จงอย่าคาดหวังความพร้อมเต็มทั้ง 100% ถ้าเรามองเห็นโอกาสและศักยภาพในตัวเอง ที่สำคัญมองเห็นความเป็นไปได้แล้ว เมื่อนั้นเราควรกล้าตัดสินใจที่จะเสี่ยง แล้วเริ่มกำจัดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น สำรวจว่าเรามีความเสี่ยงในการสูญเสียครั้งนี้มากแค่ไหน และเราสามารถรับความสูญเสียนั้น ๆได้ หรือไม่ หากดูแล้วในกรณีแย่สุดเราพอรับได้ก็ตัดสินใจทำไปเลยอย่างกล้าหาญ โอกาสแห่งความสำเร็อถูกเปิดออกเเล้ว  เหลือเพียงอย่างเดียวคือ “การตัดสินใจทำ” 

 

จากหนังสือ เนรมิตจิตใจ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0039660493532817 Mins