เสนาสนสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนักก็จะทำให้เเจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงในปัจจุบัน
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า "เเม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาเเละจรณะ เสด็จไปดี รู้เเจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาเเละมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า1 เป็นพระผู้มีพระภาค2 "
๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุ สำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรเเก่การบำเพ็ญเพียร
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวดไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร3 เพี่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มเเข็ง4 มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาเห็น ทั้งความเกิดเเละความดับ อันเป็นอริยะชำเเรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้เเล
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร
คือ เสนาสนะในธรรมวินัยนี้
๑. อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก5 มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม เเดด เเละสัตว์เลื้อยคลาน กระทบน้อย
๒. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น มีจีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ เเละคิลานปัจจัย เภสัชชบริขาร ที่เกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย
๓. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์6 ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น
๔. ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควรเเล้ว จึงสอบถามไต่ถามว่า "พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความเเห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร "
๕. ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย เเละบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างเเก่ภิกษุนั้น
เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้เเล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ก็จะทำให้เเจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเเล้ว เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา : เสนาสนสูตร องฺ. ทสก. ๒๔/๑๑/๑๗-๑๙ (มจร.)
เชิงอรรถอ้างอิง
1 ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง เเละทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
2 ชื่อว่า พระผู้มีพระภาค เพราะ
(๑) ทรงมีโชค
(๒) ทรงทำลายข้าศึกมีกิลส
(๓) ทรงประกอบด้วยภคธรรม ๖ ประการ
(๔) ทรงจำเเนกเเจกเเจงธรรม
(๕) ทรงเสพอริยธรรม
(๖) ทรงคลายตัณหาในภพทั้งสาม
(๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก
(๘) ทรงอบรมพระองค์ดีเเล้ว
(๙) ทรงมีส่วนเเห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น
(วิ. อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘)
3 ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงประคองความเพียรทางกายเเละใจไว้ (องฺ. ปญฺจก. อ. ๓/๒/๑)
4 มีความเข้มเเข็ง ในที่นี้หมายถึงมีกำลังความเพียร (องฺ. ปญฺจก. อ. ๓/๒/๑)
5 เสนาสนะที่อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีอธิบายประกอบว่า เสนาสนะที่อยู่ไกลนัก เมื่อภิกษุอยู่อาศัยย่อมลำบากกายที่จะเที่ยวบิณฑบาต จิตใจกระสับกระส่าย ไม่สามารถเจริญสมาธิให้เกิดได้ เสนาสนะที่อยู่ใกล้นักก็จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน (องฺ. ทสก. อ. ๓/๑๑/๓๒๐)
6 เรียนจบคัมภีร์ (อาคตาคม) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ๕ นิกาย ได้เเก่ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย เเละขุททกนิกาย (องฺ. ติกฺ. อ. ๒/๒๐/๙๘)
จากหนังสือ กวาดวัด กวาดใจ ไปนิพพาน "เสนาสนวัตร"
โดย คุณครูไม่เล็ก