พระธรรมคุณาภรณ์ เทพเจ้าของชาวกาญจน์

วันที่ 24 เมย. พ.ศ.2547


 

​.....ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมแตกดับไปเหมือนกันทุกคน และเป็นอยู่เช่นนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ต่างแต่ว่าชีวิตบางคนมีความเป็นไปที่น่าศึกษา มีผู้คนระลึกถึง กล่าวขวัญถึงอยู่ได้นาน ๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น วีรกรรมของเขามีผลต่อสังคม ดีก็มีคนกล่าวขวัญถึงในทางที่ดี ชั่วมากมักมีคนกล่าวถึง เช่นกัน ดังคำประพันธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนหนึ่งว่า “ความดีก็ปรากฏ กฤติยศฤาชา ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร” ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังได้เลือกแบบเป็นตัวอย่างว่าอันใดควรเว้น อันใดควรกระทำ อีกทั้งได้ศึกษาชีวิตและผลงานของท่านทั้งสุชีวิตและทุชีวิต แน่นอนเหลือเกินว่า ทุกคนย่อมปรารถนาที่จะเป็นสุชีวิตด้วยกันทั้งนั้น อันมีประโยชน์แก่สังคมชาวโลก

​.....ชีวิตของพระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญโญ ป.ธ.๘) เป็นชีวิตหนึ่งที่เกิดมา ตั้งอยู่และแตกสลายไปในที่สุด ตามกฎของสังขตธรรม คือสังขารที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อท่านได้ทิ้งร่างกายไว้บนพื้นแผ่นดินนี้แล้วก็จริง แต่ได้ทิ้งผลงานอันเป็นเกียรติยศของผู้ดำเนินชีวิตแบบสุชีวิต คือชีวิตอันประเสริฐเป็นอนุสรณ์ไว้แทนเพื่อให้จารึกจดจำนานเท่านาน ยากจะลบเลือนไปจากจิตใจของผู้คนและศิษยานุศิษย์ ที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นประวัติและผลงานบางประการพอเป็นสังเขป

​.....พระธรรมคุณาภรณ์ เกิดในตระกูลกลีบทอง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๓ ณ ตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มีโยมบิดาชื่อ หน่วง กลีบทอง โยมมารดาชื่อ น้ำเตียน มีพี่น้องรวม ๗ คน

​.....ชีวิตในเยาว์วัยได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีตามแบบชนบท เมื่อย่างเข้าวัยที่ควรได้รับการศึกษาเล่าเรียน โยมมารดาจึงนำท่านไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดห้วยสะพาน (โยมบิดาตายเมื่อท่านอายุได้ ๒ ปี) ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ผลการเรียนที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจของครูทุกท่าน จัดว่าเป็นนักเรียนอัจฉริยะผู้หนึ่งทีเดียว จึงเป็นความหวังของครูใหญ่ที่จะให้เรียนต่อในชั้นสูงระดับมัธยม เพื่อนำชื่อเสียงมาสู่หมู่บ้าน เด็กชายไพบูลย์จึงมีความมาดมั่นว่าจะศึกษาต่อ ครั้นไปขอเข้าเรียนกับโยมแม่ตอนแรกนักเรียนน้อยแสนดีใจเมื่อโยมแม่บอกว่าตกลง แต่เข่าแทบทรุดเมื่อมองไปตามมือที่โยมแม่ชี้ไปที่กลางทุ่งนา อันมีความหมายว่าคำว่า ม. ก็คือฝูงวัวที่เจ้าจะได้เลี้ยงมัน จึงรับหน้าที่เป็นนายโคบาลแทนการเรียนตั้งแต่นั้นมาการเรียนจึงพักไว้ ได้แต่คาดหวังว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้เรียนกับเขาบ้าง จากนั้นจึงตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือครอบครัว ประกอบอาชีพด้วยความหมั่นเพียร จนกระทั่งเข้าวัยหนุ่ม

​.....ครั้งมีอายุครบ ๒๐ ปีโยมแม่และญาติผู้ใหญ่จึงนำไปฝากวัดเพื่ออุปสมบทที่วัดสาลวนาราม (วัดดอนตาเพชร) ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ (ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ) โดยมีพระปลัดซ้ง อินทสาโร เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระครูพนมคุณาธาร (ณรงค์) เจ้าอาวาสวัดห้วยสะพาน และเจ้าคณะอำเภอพนมทวน เป็นพระกรรมวาจารย์ และมีพระอธิการเพิ่ม ฐิตวิริโย เจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสังขละบุรารักษ์ เจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า
“กตปุญโญ”

 

​.....หลังจากเข้ามาบรรพชา อุปสมบทแล้ว จึงมีโอกาสเล่าเรียนศึกษา พระธรรมวินัย สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี โท เอก ในสำนักเรียนวัดสาลวนาราม อาศัยที่ท่านใคร่ต่อการศึกษาอยู่แล้วเมื่อจบนักธรรมชั้นเอก อุปัชฌาย์ได้มอบหมายให้เป็นครูสอนนักธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัดและวัดอื่น ๆ อีกหลายวัด การที่ท่านใคร่ต่อการศึกษาเป็นทุนอยู่แล้ว จึงอยากจะเรียนต่อด้านภาษาบาลีเพื่อเป็น “มหา” กับเขาบ้าง เตรียมเก็บอัฐบริขาร บอกลาญาติโยม ได้ชวนพระเพื่อนที่สอบได้นักธรรมชั้นเอกแล้ว คือพระณรงค์ (ต่อมาคือพระราชธรรมโสภณ) กราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อไปเรียนต่อที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ในตัวเมืองฯ พระอุปัชฌาย์อนุญาตให้ไปได้เพียง ๑ องค์ คือพระณรงค์ ส่วนพระไพบูลย์ อยู่สอนนักธรรมที่วัดก่อนปีหน้าค่อยไปก็แล้วกัน พระณรงค์จึงเดินทางไปองค์เดียว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0048812349637349 Mins