4 self เพื่อการพัฒนาตนเอง

วันที่ 18 กย. พ.ศ.2563

4 self เพื่อการพัฒนาตนเอง

                  ปัจจุบันมีหลักในการบริหารงานบุคคลในการพัฒนาตัวเองเกิดขึ้นมามากมาย เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเรียกว่า 4 Self คือ การรู้จักตัวเองใน 4 ด้าน คือ

20063-01.jpg

1.Self Awareness

              คือ การรู้เป้าหมายความต้องการของตัวเอง ว่าจริงๆ ตัวเองอยากจะทำอะไร อยากจะเป็นอะไร อยากจะทำงานประสบความสำเร็จแค่ไหน เป็นต้น

2.Self Discipline

             คือ รู้ว่าตัวเองมีวินัยในตัวเองแค่ไหน

3.Self Improvement

            ได้แก่ การรู้จักพัฒนาตัวเองให้มีความเจริญก้าวหน้า มีความรู้เพิ่มขึ้นตลอด

4.Self Evaluation

             ได้แก่ การรู้จักประเมินว่าตัวเองมีการพัฒนาไปได้แค่ไหน อย่างไร เป็นระยะๆ ตลอด

 

นี่เรียกว่า 4 Self เพื่อการพัฒนาตัวเอง โดยย่อ

20063-02.jpg

              สำหรับในพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวในเรื่องเกี่ยวกับการรู้จักตัวเองไว้ 6 ข้อ คือ

1. ศรัทธา

2. ศีล

3. สุตะ

4. จาคะ

5. ปัญญา

6. ปฏิภาณ

 

เรามาดูกันว่าเหมือนหรือต่างจาก 4 Self อย่างไร

                  อันแรกศรัทธา

                 คือ ในทางธรรม ศรัทธาคือมีความเชื่ออย่างมีเหตุมีผล แต่ถ้ามองในแง่การบริหารตัวเอง ศรัทธาก็คือ รู้ว่าตัวเองมีความมุ่งมั่นอยากจะเป็นอะไร ค่อนข้างจะคล้าย self-awareness แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไร เช่น บางคนอาจจะทำงานเป็นวิศวกรจนอายุ 40-50 แล้ว แต่ถ้าไปถามจริงๆ ในชีวิตคุณอยากจะเป็นอะไร รู้สึกว่าจริงๆ ตัวเองถนัดงานอะไรมากที่สุด

     

                 เชื่อไหมว่าหลายคนตอบไม่ได้ แต่เรียนวิศวะเพราะตอนม.ต้นเขาบอกเลือกเรียนสายวิทย์แล้วจะหางานง่าย พอ entrance ก็บังเอิญติดคณะวิศวะ เกรดเท่านี้ได้เป็นวิศวะโยธา ถ้าเกรดสูงขึ้นอาจจะเป็นวิศวะคอมพิวเตอร์ เรียนก็ทำงานเรื่องการก่อสร้างโยธาเพราะจบโยธามา แล้วมาทำงานที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์เพราะเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง ทำมาเรื่อยๆ 10-20 ปี งานก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้น เงินเดือนก็ขึ้นตำแหน่งก็ขึ้น ความมั่นคงก็ดีก็ทำต่อมาเนื่อง แต่ละตอนมีแต่ความบังเอิญ

 

                 จะเห็นได้ว่าแต่ละอย่างอยู่ที่จังหวะ จน 40 กว่าก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ถามว่าถ้าเราได้ทำงานที่เราถนัดและเรารักจะดีไหม แน่นอนเราจะใช้ความสามารถตัวเองได้เต็มที่ และทำอย่างมีความสุข แต่ปัญหาคือ เราไม่รู้

20063-03.jpg

วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ที่สาม (บิลล์ เกตส์)

 

               ศรัทธา มีความสำคัญมาก เราคงรู้จักชื่อบิล เกตส์ เขาได้รับยกย่องว่าเป็นคนรวยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี จริงๆ แล้วเขาเรียนหนังสือไม่จบปริญญา เขาเรียนคณะวิศวะฯที่มหาวิทยาลัย Harvard ยังไม่จบปริญญาตรีก็ลาออกมาตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์กับเพื่อน 2 คนในโรงรถของพ่อ เราเคยคิดหรือไม่ ทำไม บิล เกตส์ จึงกล้าลาออกจากมหาวิทยาลัยก่อนเรียนจบ

 

              แม้อยากจะทำงานด้านซอฟต์แวร์แต่หากอดทนเรียนจนจบก็ยังมีปริญญาวิศวะ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกอย่าง Harvard ก็เป็นหลักประกันชีวิตที่มั่นคง แล้วค่อยไปทำบริษัท ถ้าล้มเหลวก็ยังไปสมัครงานที่อื่นได้ คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างนี้ แต่ทำไมบิล เกตส์ กล้าลาออกมาทำจนสำเร็จด้วย

 

             คำตอบคือ เพราะบิล เกตส์ รู้เป้าหมายชีวิตตัวเอง มีศรัทธาว่าตัวเองต้องการเป็นเจ้าของบริษัท Software ที่เปลี่ยนแปลงโลก เขาไม่ได้คิดจะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในโลก แต่คิดว่าตัวเองจะเป็นเจ้าของบริษัท Software ที่มีโปรแกรมเมอร์ทำงานอยู่ในนั้นและเชื่อว่า Programmer Software นี้จะเปลี่ยนโลก ดังนั้นที่บิล เกตส์ กล้าลาออก คนทั่วไปไม่กล้า

 

             เพราะยังรู้จักตัวเองดีไม่พอ นี่คือความแตกต่าง ถ้าเราหยุดคิดเราจะเข้าใจว่าศรัทธา การรู้จักว่าตัวเองอยากจะทำอะไรจริงๆ มันมีความสำคัญต่อการกำหนดอนาคตตัวเองขนาดนี้

 

             อันที่ 2 เรื่องของศีล

             ศีลจะเกี่ยวกับการบริหารอย่างไร เราต้องจับ concept ของศีลให้ได้ว่าในแง่บริหารงานบุคคลศีลก็คือเรื่องของวินัยในตัวเองนั่นเอง ถ้าเรามีศรัทธารู้ว่าเราอยากเป็นอะไรแต่วินัยเรามีไม่พอ ศรัทธาตัวนั้นก็เป็นศรัทธาลอยๆ อยากจะเป็นเจ้าของบริษัทโปรแกรมเมอร์ที่ใหญ่ที่สุด แต่นั่งฝันนอนฝันไม่ทำก็ไม่สำเร็จ

 

             อย่างนั้นต้องเช็ดตัวเองก่อนว่า วินัยในตัวเองมีพอหรือยัง ทั้งวินัยเรื่องเวลา การควบคุมตัวเอง อะไรควรทำไม่ควรทำ ไม่เตร็ดเตร่เหลวไหล สามารถควบคุมตัวเองได้ ถ้ารู้จักตัวเองในเรื่องของวินัยหรือศีลอย่างนี้ ความมั่นใจจะเพิ่มพูนขึ้น

 

            อันที่ 3 คือ สุตะ

            แปลว่าการฟัง เพราะสมัยพุทธกาลความรู้ได้มาจากการฟังเป็นหลัก ถ้าปัจจุบันคือทั้งการอ่านด้วยทุกรูปแบบ ทั้งอ่านทั้งฟังก็คือความรู้ ต้องเช็คตัวเองว่าเรามีความรู้แค่ไหน จะเพิ่มพูนความรู้ได้อย่างไร ถ้ารู้จักตรงนี้ดีแล้ว จะประเมินตัวเองได้

20063-04.jpg

                   เราอยากจะเป็นเจ้าของบริษัทโปรแกรมเมอร์ เจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ที่สุด วินัยตัวเองเรามีพอความรู้ตัวเองมีพอพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าอย่างนี้แล้วก็เกิดความมั่นใจว่าได้

 

               เราจะเห็นว่าใน 4 self ข้อแรก Self Awareness คือศรัทธา

               ข้อ 2 Self Discipline คือ ศีลหรือวินัย

               ข้อ 3 Self Improvement คือ การพัฒนาตัวเอง ก็คือ สุตะ เรื่องความรู้ ยิ่งไปกว่านั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครอบคลุมกว้างขวางกว่า

               คือข้อที่ 4 จาคะ ความเสียสละเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง คือ เราจะทำงานไม่ได้คิดแต่ตัวเองอย่างเดียว ความเสียสละ สละสิ่งของ คือ มีน้ำใจให้กับคนอื่น รวมถึงการสละอารมณ์

20063-05.jpg

                   หากใครมีจาคะน้อยอย่าไปทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จะไปไม่รอด เพราะการดูแลคนจะเจอเรื่องไม่ถูกใจเราเแน่นอน ตัวเราเองแท้ๆ เรายังเคยขัดใจตัวเอง ถ้าไปอยู่กับคนหมู่ใหญ่ อย่างไรต้องเจอเรื่องขัดใจแน่นอน ถ้าเราเป็นคนที่ไม่รู้จักสละอารมณ์ ขัดใจแล้วเก็บอยู่ในใจ เราจะเครียด ถ้าจะทำงานปกครองคนบริหารคนหมู่มากได้ต้องมีจาคะ เช็คตัวเองเรื่องนี้ให้ดี

 

                  ข้อที่ 5 เรื่องของปัญญา อันนี้เป็นการนำเอาความรู้ความสามารถเราทั้งหมดมาใช้จริง ตอนสุตะเป็นแง่ความรู้นะ เป็นการรับเข้ามา ปัญญาเป็นการเอาความรู้มาย่อย แล้วก็ออกไปสู่ภาคปฏิบัติคือการใช้ความรู้ใช้ความสามารถทั้งหมด ทำให้เกิดเป็นผลิตผลขึ้นมาให้สำเร็จ

 

                   ข้อที่ 6 คือปฏิภาณ ปัญญาเป็นลักษณะเป็นแบบ long run ระยะยาว แต่ว่าปฏิภาณคือเจอปัญหาสามารถมีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี

 

                  ให้เราเช็ค 6 ด้านนี้ให้ดี เข้าใจรู้จักตัวเอง พัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น นั่นคือการปรับตัวเองให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง แล้วเราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

 

                  สำหรับ Self Evaluation การประเมินตัวเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประเมินทั้ง 6 ข้อ ถ้ามีครบทั้ง 6 ข้อ อย่างที่พระพุทธเจ้าว่าจะสมบูรณ์

 

ทำอย่างไร เราจะปรับทั้ง 6 ข้อให้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง

                ศรัทธา คือ การรู้ว่าจริงๆ แล้ว เราเองอยากจะทำอะไร งานที่เราถนัดคืออะไร ที่เรารักจริงๆ คืออะไร บางท่านอายุ 40-50 ปีแล้วจะให้ไปเปลี่ยนงานใหม่ตอนนี้คงจะไม่ทันแล้ว แต่ให้เรารู้จักตัวเองไว้

 

               โดยเฉพาะถ้าเรามีลูกมีหลานหรือมีลูกศิษย์ช่วยสอนเขาให้มีหลักดังกล่าว ลูกเราแม้เพิ่งอยู่ประถม ก็สอนให้ลูกเริ่มคิดว่าโตขึ้นลูกอยากจะเป็นอะไร เด็กๆอาจจะยังเห่อ เช่นว่าตอนนั้นกำลังเห่อบอล อาจอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

 

                บางทีเห่อดารา อยากจะเป็นดารา อยากจะเป็นนักร้อง อยากจะเป็นนักขับรถแข่ง เขาอยากจะเป็นอะไรเอาเลยให้เขาเขียน 1, 2, 3, 4, 5 บางคนไปดูหนังมาแล้วอยากเป็นทนาย ก็เขียนไปเลย 5 ข้อ และให้เขียนเหตุผลด้วยว่าเพราะอะไรถึงอยากจะเป็นอย่างนั้น เขียนเท่าที่เขาสามารถเขียนได้ เป็นเด็กก็เขียนแบบเด็ก แล้วมาปรับดูอาจจะ 3 เดือน 6 เดือนก็มาปรับใหม่อีกที

 

               พอขึ้นมัธยมต้นมาเขียนใหม่ พอถึง ม.ปลายจะต้องเลือกจริงๆ แล้วประเมินถี่ขึ้นก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ตลอดไปเรื่อยๆ จัดอันดับ 1,2,3,4,5 มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พอเริ่มโตขึ้น จะเริ่มคิดถึงอาชีพจริงๆ แล้ว

20063-06.jpg

                 แล้วพอคิดไตร่ตรองสำรวจตัวเองอยู่เรื่อยๆ ให้เชื่อเถอะว่า ก่อนจะ entrance เขาจะตอบตัวเองได้ว่าจริงๆ ตัวเองอยากจะเป็นอะไร คนทั่วไปไม่รู้จักตัวเองเพราะไม่ค่อยได้หยุดคิดพิจารณาถามตัวเองจริงๆ แต่ถ้าเราสอนให้เขาเองรู้จักไตร่ตรองขบคิดพิจารณาสำรวจตัวเองจริงๆ เขาจะรู้จักตัวเอง

 

                สำหรับเรื่องวินัย เรื่องเวลา เป็นเรื่องหัวใจหลัก เวลาความสะอาดความเป็นระเบียบฝึกให้เขา ทำให้เขา แล้วเขาจะจัดสรรเวลาตัวเองได้

 

               จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ ไม่ตามใจตัวเอง ฝึกให้รู้จักจาคะ รู้จักพัฒนาเสียสละให้คนอื่นเขา ให้แบ่งปันกันไป แล้วก็อย่าไปติดอะไรมาก

 

               คนเราก็อย่างนี้ เราเองยังขัดใจตัวเอง คนอื่นจะยังไงกันนักกันหนา ยิ่งรู้จักให้นั่งสมาธิด้วยใจยิ่งคลาย โตขึ้นจะเป็นคนที่บริหารตัวเองได้ แล้วปกครองคนอื่นได้ด้วย ปัญญาความรู้ความสามารถต้องมาจากลงภาคปฏิบัติจริง ฝึกให้ทำงานแต่ยังเล็ก

 

               งานบ้านให้เขาช่วยทำ แบ่งงานให้ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น ถ้าลูกเราได้ลงภาคปฏิบัติเขาจะเอาความรู้ที่มีออกมาใช้ในเชิงทำงานจริงๆได้ แล้วอนาคตก็จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.040660965442657 Mins