กำจัด 5 นิสัยเเย่ๆ ก่อนที่จะเเก้ไม่ได้
มีหลายเรื่องราวด้วยกันที่ทุกคนในโลกนี้ต้องประสบพบเจอ ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย แต่เราจะจัดการกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไร โดยไม่ให้มีอารมณ์ร้ายๆ เกิดขึ้น จนทำให้คนรอบข้างถอยหนี
ให้เราลองสังเกตว่าคนแบบไหน ที่หากเราจำเป็นต้องอยู่ใกล้ แต่เรากลับอยากออกห่าง เบื้องต้นจะเป็นคนที่มีอารมณ์เหล่านี้
อารมณ์โกรธ
ความโกรธเป็นความพลุ่งพล่านที่เกิดขึ้นเวลาเราไม่สบายใจ หรือเวลาที่เรามีเรื่องหงุดหงิดไม่พอใจ ซึ่งสถานการณ์ในโลกปัจจุบันคงจะมีเรื่องน่าหงุดหงิดเกิดขึ้นมากมาย
โดยปกติไม่มีใครอยากอยู่ใกล้คนที่โกรธง่าย และโมโหฉุนเฉียวบ่อยครั้ง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า ความโกรธเกิดได้กับคน สัตว์ และสิ่งของ ดังนั้นถ้าความโกรธเกิดกับสิ่งของก็ไม่มีอะไรมาก จับมันเขวี้ยงทิ้งก็อาจจะจบแล้ว... แต่ถ้าความโกรธเกิดขึ้นกับบุคคลล่ะ?
การที่เราจะโกรธใคร เราต้องคิดดูให้ดีว่าเราโกรธเขาทำไม ถ้าเรามองอย่างเข้าใจก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าเขาอาจจะไม่รู้ตัว เรียกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นทำให้เราโกรธโดยที่เขาอาจไม่รู้ตัว ก็ให้เราทำความเข้าใจตรงจุดนี้ก่อน
อารมณ์อยาก
นอกจากความโกรธจะทำให้คนเราไม่น่ารักแล้ว “ความโลภ” ก็ทำให้คนรอบข้างไม่กล้าเข้าใกล้ด้วย ความโลภหรือความอยากได้จนเกินเหตุ จะทำให้คนอื่น ๆ หลีกหนีเราไปเลย ความไม่น่ารักที่เกิดขึ้นจากความโลภหรือความอยากนั้นมี 2 รูปแบบ
รูปแบบแรก คือ ถ้าเราอยากได้อะไรแล้วมีเงินเราก็ซื้อ แต่ถ้าเราไม่มีเงินซื้อแล้วเรายังอยากได้ อย่างนี้เป็นทั้งปัญหาของเราและเป็นทั้งปัญหาของผู้อื่นด้วยคือ เกิดความอยากซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการกระทำเพื่อที่จะให้ได้มา เช่น ไปเบียดเบียนเอาทรัพย์ของคนอื่นเขามา เป็นต้น ถ้าทำอย่างนี้แล้วความไว้วางใจของเราก็หมดไปด้วย
คนอีกกลุ่มหนึ่งคือ คนที่มีกินมีใช้ แต่ว่ายังอยากได้โน่นอยากได้นี่ เกิดเป็นการสะสมข้าวของ เราต้องแยกระหว่างความจำเป็นกับความต้องการให้ออก บางอย่างมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น เราจำเป็นต้องมีกระเป๋าเพื่อใช้ใส่ของ แต่ถ้าเราสะสมกระเป๋า ซื้อมันมาเรื่อย ๆ จนมีมากถึง 300 ใบ นี่คือเกินความจำเป็นแล้ว เพียงเราแยกแยะให้ออกว่าอะไรจำเป็น หรืออะไรเป็นเพียงความอยาก
ถ้าความอยากได้ทำให้เราเป็นทุกข์ เราควรทำอย่างไรให้ตนเองรู้สึกปล่อยวางอย่างพอเพียง เมื่อเรามองเห็นชัดเจนว่า ทุกอย่างไม่ได้มีความเที่ยงแท้ยั่งยืนและไม่แน่นอน เช่น โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านไป 2 - 3 เดือน ก็ตกรุ่น เราควรซื้อหามาเพื่อประโยชน์ใช้สอย
เมื่อถึงเวลาที่ใช้จนพังแล้วค่อยหาใหม่ แต่ถ้าเราไปติดตามมันจนเกิดเป็นการสะสม ถามว่าจำเป็นไหม แน่นอนว่าไม่จำเป็น ต้องตระหนักให้ดีว่าอะไรจำเป็นและอะไรเป็นเพียงความต้องการ
อารมณ์หดหู่
ส่วนอีกอารมณ์หนึ่งที่ทำให้คนอื่นรู้สึกอยากเดินหนีจากเราไปก็คือความหดหู่ การเป็นคนหดหู่เซื่องซึม เหงาหงอยท้อแท้นั้น คนที่อยู่ใกล้จะรู้สึกว่าพลังของเขาหมดไปด้วย เราต้องลองหันกลับมามองตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนเคยเหงา ทุกคนเคยรู้สึกว้าเหว่ รู้สึกซึมเศร้า รู้สึกว่าตนเองอยู่คนเดียวในโลก ใคร ๆ ก็เคยตกอยู่ในอารมณ์นี้ด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าเรามาเจาะลึกแล้วจะพบว่า จริง ๆ แล้วเราอาจจะขาดที่ปรึกษาที่ดีในเรื่องนั้น ๆ จึงเหมือนกับว่าพอเราประสบเหตุการณ์อะไรแล้ว เราต้องฝ่าฟันด้วยตนเอง บากหน้าไปหาใครพูดกับใครก็ได้คำปรึกษาที่ไม่ถูกใจ หรือทำให้เรายิ่งเศร้าไปกันใหญ่ ยิ่งทำให้คุณค่าในตนเองลดลงไปอีก เราจึงมีความรู้สึกเหมือนกับว่าต้องต่อสู้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น อาการเหงาซึมเศร้าที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นไปได้ว่า
เราอาจจะยังไม่เจอที่ปรึกษาที่ดี แต่ถ้าเรายังหาที่ปรึกษาที่ดีไม่ได้ ให้ลองมาดูสิว่าที่ปรึกษาดี ๆ อาจจะไม่ใช่บุคคลเสมอไปก็ได้ เช่น ลองกลับไปหาหนังสือธรรมะดี ๆ มาอ่าน เราอาจจะได้ความคิดใหม่ ๆ หรือได้กัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นก็ได้
หรือเราอาจจะไปนั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบลง แล้วกลับไปค้นคว้าหาหนังสือธรรมะอ่านอีกสักรอบ ก็อาจจะทำให้เรามองอารมณ์ตนเองออก อาจจะหลุดพ้นจากความเหงาหงอยซึมเศร้าต่าง ๆ แล้วสร้างกำลังใจขึ้นมาใหม่ได้
ผู้ที่ประสบความสำเร็จล้วนผ่านจุดที่ล้มเหลวมาแล้วทั้งนั้น ถ้าเราล้มเหลวแล้วไม่ลุกขึ้นสู้ เกิดความท้อแท้ ก็จะไม่ได้เปิดโอกาสให้ชีวิตเราได้ประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า เหมือนกับการเดินขึ้นบันไดที่ต้องเดินผ่านขั้นที่ 1 ก่อนเสมอ เพราะฉะนั้น พอเราเริ่มท้อแท้ สิ่งแรกเลยให้ไปหาธรรมะดี ๆ อย่าไปปรุงแต่งให้ความทุกข์มันเจริญเติบโตเกินเหตุ ไม่อย่างนั้นชีวิตเราจะจมลงและถูกทับถมด้วยความทุกข์
อารมณ์ฟุ้งซ่าน
อีกอารมณ์หนึ่งที่ทำให้คนเราดูไม่ดีเลยคือ อารมณ์ฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ คนรอบข้างจะรู้สึกว่าถ้าคุยกับคนแบบนี้แล้วไม่เกิดสาระใด ๆ และรู้สึกรำคาญใจ จริง ๆ แล้วคนที่ฟุ้งซ่านนั้นเป็นเพราะเขาจับหลักไม่ได้ เขาไม่สามารถแยกแยะว่าแก่นของแต่ละเรื่องนั้นเป็นอย่างไร จึงคิดจนเรื่องราวในสมองพันกันไปหมด กลายเป็นความคิดฟุ้งซ่าน บางคนก็ชอบตามความฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ
เรียกว่า “ฟุ้งจนไม่มีที่จะไป” เพราะฉะนั้น หลักการแก้ไขไม่ให้เราฟุ้งซ่านคือ ให้เราลองนั่งจับประเด็นว่า ประเด็นของเรื่องนั้น ๆ คืออะไร ถ้าเรื่องไหนแยกแยะในเชิงการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียได้ ก็ให้นำมาเขียนใส่ตาราง แล้วดูว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก็จะทำให้เรามองเห็นอะไร ๆ ได้ชัดเจนขึ้น
แต่ถ้าเรื่องราวมีความซับซ้อนมากกว่าที่จะแยกว่าอะไรเป็นข้อดีข้อเสีย เราอาจจะใช้วิธีการทำแผนที่ความคิด หรือเรียกว่า (Mind Map) ซึ่งจะทำให้เราเห็นกิ่งก้านสาขาของความคิดของเราเองชัดเจนขึ้น
แล้วเราจะพบว่า ที่จริงเรื่องราวมันไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่เราเองที่จับประเด็นไม่ได้ แล้วทำมันฟุ้งไปเอง ถ้าเราแตกกิ่งก้านสาขาของความคิดออกเราจะรู้เลยว่า แต่ละเรื่องราวนั้นมีแนวทางความคิดของตนเองอยู่
มีหลักการและมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่ เมื่อผลลัพธ์ต่างๆ แสดงออกมาแล้ว เราก็จะมองภาพของแผนภูมิความคิดนั้นได้อย่างแจ่มชัด และแยกแยะออกได้อย่างชัดเจน และถ้าเราคิดได้อย่างนั้นแล้ว เราก็จะปล่อยวางได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น เราควรหัดเขียนแผนที่ความคิด (Mind Map) เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่านออกไป
อารมณ์ลังเล
คนอีกประเภทที่เป็นที่รำคาญของคนรอบข้างคือ คนที่ลังเลสงสัยไม่แน่ใจอะไรไปหมด คอยแต่ถามคนโน้นคนนี้ตลอด มักจะขอให้คนอื่นช่วยตัดสินใจเสมอ คนแบบนี้มีอยู่มากมายในสังคม
โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็มักจะมีความลังเลสงสัยเยอะแยะไปหมด เพราะว่าเขาทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สิ่งที่ทำไปนั้นจะดีหรือไม่ดี ซึ่งในภาวะนั้นเราอาจจะแยกแยะไม่ออกว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรบุญอะไรบาป อะไรถูกอะไรผิด หรืออะไรควรอะไรไม่ควร
เพราะฉะนั้น บางครั้งเราอาจจะมองคนพาลเป็นบัณฑิต แล้วเผลอไปคบคนพาล เพราะเราลืมแยกแยะว่าลักษณะของคนพาลนั้นเป็นอย่างไร
หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านให้คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งว่า “คิดมากจะยากนาน” เวลามีเรื่องอะไร คนที่ลังเลสงสัยมักจะคิดจนไม่ได้ทำ ท่านบอกว่าให้ลงมือทำไปก่อน แล้วพอเจอปัญหาอะไรก็ค่อยแก้กันไปทีละเปลาะ
โดยสรุปคือ เราต้องละทิ้ง “5 นิสัย” ที่ทำให้เราไม่น่ารักในสายตาคนอื่นคือ ความโกรธ ความอยาก ความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ