ประเภทพระวินัยบัญญัติ

วันที่ 25 ตค. พ.ศ.2564

พระวินัยบัญญัติ 

พระวินัยบัญญัติ 

       สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้เสด็จอุบัติมาเพื่อทรงแสวงหาทางตรัสรู้แล้วเที่ยวจาริกสั่งสอนแนะนำชาวโลก รื้อขนชาวโลกให้พ้นจากทุกข์ทั้งมวล อันเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ด้วยพระองค์เองเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงกำหนดตั้งกลุ่มบุคคลเพื่อเป็นตัวอย่างของสังคมขึ้นมากลุ่มหนึ่งกลุ่มบุคคลนี้คือกลุ่มที่เรียกกันว่า ภิกษุสงฆ์

       บุคคลกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างทั้งในด้านการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมแล้วได้รับผลตอบแทนคือพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นกลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือการเผยแผ่หลักสัจธรรมของพระพุทธองค์ได้อย่างเข้มแข็ง โดยเมื่อตนได้รู้สัจธรรมตามที่ทรงสอนอย่างชัดแจ้งแล้วก็นำไปประกาศเผยแผ่แก่ชาวโลกในทุกทิศทุกทางและเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมที่รักษาศรัทธาชาวโลกที่เลื่อมใสมีโอกาสได้ทำบุญอย่างถูกวิธีมีจิตใจเมตตา มีความเสียสละที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นได้ทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในหมู่สังคม

       เพราะทรงมีภาระต่อหมู่ภิกษุสงฆ์ที่มีมากขึ้นโดยลำดับ ทำให้พระพุทธองค์ทรงมีพระภาระและหน้าที่ที่หนักและกว้างขวาง คือ

       - ทรงเป็นพระธรรมราชา คือ ผู้ปกครองภิกษุสงฆ์มีหน้าที่ในการบัญญัติพระวินัย เพื่อให้ภิกษุสงฆ์มีแนวทางปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสียหายและความเสื่อมศรัทธาของชาวโลกที่อาจเกิดขึ้น ในข้อบัญญัตินั้น ทรงวางโทษที่หนักบ้างเบาบ้างไว้ด้วย

       - ทรงเป็นพระสังฆบิดร คือ ผู้ดูแลภิกษุสงฆ์ซึ่งมีหน้าที่ในการออกกฎระเบียบสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อความเรียบร้อยดีงาม เพื่อความอยู่อย่างผาสุกเพื่อความสามัคคีไม่ทะเลาะขัดแย้งกันของภิกษุสงฆ์ทำให้ชาวโลกศรัทธาเลื่อมใส ถวายความอุปถัมภ์มิให้ภิกษุสงฆ์เดือดร้อนกังวลในเรื่องการดำรงชีพ อันเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์มีเวลาสำหรับปฏิบัติธรรม ยกระดับตนให้สูงขึ้นจนเป็นอริยบุคคลได้สำเร็จโดยสะดวกแล้วนำความสำเร็จนั้นมาเผยแผ่แนะนำชาวโลกให้ปฏิบัติตามและได้รับผลอานิสงส์ที่สมควรแก่การปฏิบัติ

ประเภทพระวินัยบัญญัติ
       พระวินัยบัญญัติอันเป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรง บัญญัติไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการปกครองและการดูแลภิกษุสงฆ์นั้น เมื่อแยกประเภทแล้วได้เป็น ๒ ประเภทคือ

       ๑. อาทิพรหมจริยกาสิกขา เป็นข้อบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้เป็นความประพฤติเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เป็นหลักสำหรับปฏิบัติเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ
       ข้อบัญญัติส่วนนี้เป็นพุทธอาณา มาในพระปาติโมกข์อันเป็นส่วนหนึ่งของสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ซึ่งถือกันว่าเป็นศีลของพระสงฆ์และพระสงฆ์จะรวมกันสวดและฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน โดยไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

       ๒. อภิสมาจาริกาสิกขา เป็นข้อบัญญัติที่เป็นธรรมเนียมเป็นมารยาทอันดีงาม ที่เรียกว่า อภิสมาจาร ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระสงฆ์มีมารยาทที่ดีมีความสง่างาม น่าศรัทธาเลื่อมใสในเมื่อได้ปฏิบัติตาม ซึ่งบางส่วนนับรวมอยู่ในพระปาติโมกข์ด้วย

       ข้อบัญญัติส่วนนี้มานอกพระปาติโมกข์ส่วนหนึ่งมิได้จัดไว้ในหมวดสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บาลีมุตตกะ คือข้อบัญญัติที่มานอกพระบาลีทรงบัญญัติและปรับโทษไว้อย่างเบา เรียกว่า เป็นอาบัติทุกกฏ จึงถือว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อยข้อบัญญัติส่วนนี้มีมากนับจำนวนไม่ได้แต่ล้วนเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความเรียบร้อยดีงาม เพื่อเป็นศักดิ์ศรีเพื่อรักษาศรัทธาเลื่อมใสทั้งสิ้น 

       ตอนใกล้จะเสด็จปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้โปรดประทานพระอนุญาตไว้ว่า 

“ถ้าสงฆ์ปรารถนา ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้”

       แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครกล้าถอนสิกขาบทอันเป็นบาลีมุตตกะเหล่านี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะเกรงว่าจะเป็นเหตุให้พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แม้เป็นข้อใหญ่ๆ จะถูกถอนตามไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

       และที่สำคัญพระสงฆ์ในยุคต่อๆ มาทั้งในประเทศศรีลังกา ประเทศพม่า และประเทศไทย ซึ่งถือพระพุทธศาสนาอย่างกวดขัน ต่างก็ยอมรับและปฏิบัติตามมติของพระธรรมสังคาหกาจารย์ที่สังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกที่ได้ห้ามไว้แล้วว่าไม่ควรถอน

       ในหนังสือนี้ จักแสดงเฉพาะ พระวินัยบัญญัติ ที่เป็นอาทิพรหมจริยกาสิกขาและอภิสมาจาริกาสิกขาที่มาในพระปาติโมกข์เท่านั้น 

       พระวินัยบัญญัติส่วนนี้เป็นมหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ได้แก่  สิกขาบทหรือศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุ ซึ่งเป็นพุทธอาณา เรียกโดยทั่วไปว่า พระปาติโมกข์

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.040888400872548 Mins