ลักษณะความรู้ตัว ๔ ของผู้ทำงานอย่างมีสติสัมปชัญญะ
ผู้ทำงานวงกว้างจำเป็นต้องตระหนักเบื้องต้นก่อนว่า งานใดถ้าเป็นงานใหญ่เกิดผลประโยชน์มาก ย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านดีและเสียต่อผู้ทำการงานนั้นโดยตรงก่อน แล้วกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบตามมาอีกมากมายด้วย เพื่อป้องกันความเสียหายทำลายประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ผู้ทำงานนั้นจำเป็นต้องศึกษาให้รู้ชัดถึงลักษณะความรู้ตัว ๔ ประการ ของผู้ทำงานอย่างมีสัมปชัญญะที่พึงมีให้ครบ ได้แก่
๑. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า การงานที่ตนกำลังทำนั้นมีประโยชน์หรือโทษกับตนเองหรือผู้อื่นกันแน่
๒. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า การงานที่ตนกำลังทำนั้นเหมาะกับตนเองจริงหรือไม่
๓. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า วิธีการที่ตนกำลังใช้ทำงานนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่
๔. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า การงานที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความฉลาดหรืองมงายกันแน่
ความรู้ตัวทั้ง ๔ ลักษณะนี้ เป็นองค์ประกอบของสัมปชัญญะ ที่ถือว่ามีอุปการะมาก เพราะเป็นต้นทางแห่งการป้องกันแก้ไข พัฒนางานทุกด้านอย่างสมบูรณ์ ทั้งการงานทางโลกและการงานทางธรรม คือ เป็นการทำงานด้วยความระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ชาตินี้ และประโยชน์ชาติหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยลักษณะความรู้ตัว ๔ ประการ ของผู้ทำงานอย่างมีสัมปชัญญะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. พึงรู้ตัวว่า การงานที่กำลังทำนั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่ มีมากหรือน้อยขนาดไหน โดยพิจารณาจากผลกระทบ ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) สุขภาพร่างกาย ๒) สุขภาพจิต ๓) ทรัพย์สินรายได้ ๔) นิสัยและศีลธรรมประจำใจทั้งส่วนตน ครอบครัว ชุมชน ส่วนรวม ๕) สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ๖) สิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์น้อยใหญ่ ในบริเวณนั้น ๗) สิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งก่อสร้างตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ ๘) สิ่งแวดล้อมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีดีงาม กฎหมายบ้านเมือง และศาสนา
ผลดีผลได้ ผลร้ายผลเสียทั้ง ๔ ด้านนี้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะขณะที่เราทำการงานอยู่ มีสองสิ่งที่เราต้องเสียไปโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง และเรียกคืนกลับมาไม่ได้ คือ ๑) เสียเวลาชีวิต เพราะร่างกายต้องแก่ลงไปเปล่าๆ อย่างไร้แก่นสาร ๒) เสียโอกาสทำความดีอย่างอื่น
๒. พึงรู้ตัวว่า การงานที่กำลังทำนั้น เหมาะสมกับตนหรือไม่ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบจาก ๑) ความเหมาะต่อภาวะเพศชาย-หญิง คฤหัสถ์-บรรพชิตของตน ๒) ความเหมาะต่อยศ ตำแหน่ง ฐานะ ชาติ ตระกูล อายุ ความรู้ ความสามารถ ความถนัดของตน ๓) ความเหมาะต่อศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณของตน
๓. พึงรู้ตัวว่าวิธีการที่ตนกำลังใช้ทำนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เนื่องจากความรู้ความสามารถ ความถนัด ศีลธรรมประจำใจของตนที่ได้พิจารณาแล้วเบื้องต้น เป็นเพียงองค์ประกอบหรือคุณสมบัติภายในเท่านั้น เมื่อถึงเวลาทำงานจริง จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบภายนอกที่เหมาะสมอีก คือ วิธีการหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะต้องนำมาใช้ ซึ่งวิธีการหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้นั้น ต้องให้พอเหมาะกับสิ่งแวดล้อมขณะนั้นด้วย จึงจะสะดวกสบายในการทำงานและเพื่อป้องกันไม่ให้หลงใช้วิธีการทำงานที่สิ้นเปลืองเปล่า เป็นทุกข์ไม่สะดวกสบายเท่าที่ควรจึงต้องอาศัยหลักในการพิจารณาวิธีการหรือเทคโนโลยี ให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม ๕ ประการ ดังต่อไปนี้
๓.๑ พิจารณาความเหมาะกับธรรมชาติที่แวดล้อมตั้งแต่ ดิน น้ำ อากาศ ลม แดด ฝน หิมะ แร่ธาตุใต้ดิน บนดิน ภูเขา ป่าไม้ พืชพันธุ์ในเขตนั้น
๓.๒ พิจารณาความเหมาะกับสัตว์น้อยใหญ่ที่แวดล้อม ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก แมลง ในเขตนั้น
๓.๓ พิจารณาความเหมาะกับนิสัยใจคอของผู้คนในเขตนั้น รวมทั้งความรู้ ความสามารถ ค่าจ้างแรงงาน
๓.๔ พิจารณาความเหมาะกับอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือ สิ่งก่อสร้าง การขนส่ง การสื่อสาร ในเขตนั้น รวมทั้งเตรียมที่ว่าง ขยายทางเพิ่ม เพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เครื่องมือ ให้ทันยุคสมัยภายหน้าพอสมควรด้วย เพราะเทคโนโลยีทั้งหลายแม้ทันสมัยขณะนี้ แต่ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขภายหน้าอีกอย่างแน่นอน ต่างแต่ว่า
จะช้าหรือเร็ว
๓.๕ พิจารณาความเหมาะกับขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมายบ้านเมือง และระเบียบศีลธรรมอันดีงามในเขตนั้น ในภูมิภาคนั้นด้วย ว่าจะต้องไม่มีความเดือดร้อนต่อเรา ต่อผู้อื่นตามมาภายหลัง และไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมใดๆ อีกทั้งต้องพิจารณาว่า ถูกต้องตรงต่อกฏสากลของโลก คือ กฎแห่งกรรมหรือไม่ ถ้าถูกต้องเหมาะสมก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างบริบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใดแก่ใครๆ เลย
๔. พึงรู้ตัวว่า การทำงานที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความฉลาดหรืองมงายกันแน่ เพราะความทุกข์กายทุกข์ใจที่เกิดจากโรคประจำกาย 5 คือ โรคร้อน-หนาว โรคหิวกระหาย โรคปวดอ-ปวดฉี บีบคั้น ทำให้ใจมนุษย์แต่ละคนชอบที่จะแวบออกนอกกาย เพื่อแสวงหาบุคคล สิ่งของ และวิธีการคลายทุกข์สร้างสุขให้ตนเองตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังต้องประสบทุกข์มากขึ้นไปอีก ใจของแต่ละคนจึงยิ่งแวบออกนอกกายถี่ขึ้นๆ จนบางครั้งกลับทำให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม
แม้ผู้ที่ร่างกายแข็งแรงหากไม่ฝึกเก็บใจไว้ในกายให้มีสติมั่นคง รักษาใจให้ผ่องใสได้ดีพอ ประกอบกับการงานที่กำลังกระทำอยู่ก็ยาก สิ่งแวดล้อม ๕ ก็ไม่เอื้ออำนวย แม้มีความปรารถนาที่จะเป็นคนดีของโลก ความปรารถนาแสนดีนั้นย่อมสลายไป เพราะสัมปชัญญะของเขามอดหมดไป ทำนองเดียวกับโจรและคนสับปลับที่ยกตัวอย่างไว้แล้ว
จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ
เผด็จ ทตฺตชีโว