สิ่งแวดล้อม ๕ ที่ต้องคำนึงถึงก่อนทำความดี

วันที่ 03 มค. พ.ศ.2565

650103_B.jpg

สิ่งแวดล้อม ๕ ที่ต้องคำนึงถึงก่อนทำความดี

           สิ่งแวดล้อม ๕ ประเภท ที่ต้องคำนึงก่อนการทำงานทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเดือดร้อนเสียหายที่จะตามมาคือ

           ๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เช่น แดด ลม ฝน ดิน ต้นไม้ ต้นหญ้า ฯลฯ

           ๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์ปีก แมลงต่างๆ ฯลฯ

           ๓. สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างผิวพรรณ ฯลฯ

          ๔. สิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาอำนวยความสะดวก ซึ่งวัตถุสิ่งของแต่ละชนิดล้วนมีผลข้างเคียงให้ต้องระมัดระวังด้วยกันทั้งสิ้น

       ๕. สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติ เป็นข้อปฏิบัติที่ให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่เกี่ยวกับตนเอง สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สัตว์ คน ชุมชน สังคม และวัตถุสิ่งของ เพื่อให้ใจอยู่ในกายมีความผ่องใสอยู่เป็นนิจ มีสติระลึกรู้สิ่งที่ควรคิด ถ้อยคำที่ควรพูด และกิจที่ต้องทำได้อย่างถูกต้อง เกิดเป็นนิสัยดีงามประจำตัวแต่ละคน จะได้อยู่ร่วมกันสงบสุขร่มเย็น สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤตินี้มี ๒ ประเภท คือ

               ๕.๑ สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติที่กำหนดโดยมนุษย์ แบบแผนนี้เป็นกฏและจริยธรรมของสังคม ที่สังคมมนุษย์ เช่น ประเทศ รัฐบาล สังคม ชุมชน องค์กร หมู่คณะ ครอบครัว ฯลฯ ร่วมกันกำหนดขึ้น กฏนี้มีการประกาศให้ทราบทั่วหน้า หากใครไม่ทำตามก็มีบทลงโทษตามกฎหมาย หรือตามกฏของสังคมนั้นๆ เช่น ระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณี กฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย เป็นต้น สิ่งแวดล้อมประเภทนี้มีผิดบ้าง ถูกบ้างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าผู้บัญญัติกฏมีความรอบรู้ในเรื่องความจริงของโลกและชีวิตถูกต้องมากน้อยเพียงใด ความประพฤติของเขาถูกต้องตรงต่อความจริงที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์เพียงใด หากผู้บัญญัติยึดประโยชน์ตนเฉพาะหน้า ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่จะตามมาแก่ตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม สังคมที่มีผู้บัญญัติกฎเช่นนี้ย่อมก่อความเดือดร้อนต่อสังคมโลกอย่างมหันต์

               ๕.๒ สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติที่มนุษย์ไม่ได้กำหนด แต่เป็นสภาวสากลและเป็นกฏสากลของโลก ได้แก่ กฎแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติความจริงของทุกสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง เป็นกฎที่ไม่มีการประกาศให้ทราบ แต่ปรากฏให้เห็นจนมนุษย์ชาชิน จึงมองข้ามและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เป็นกฎที่แน่นอนและควบคุมสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ให้อยู่ใต้อำนาจของกฏสากลนี้ ดังตัวอย่าง

ใครรักษาศีล ๕             →   เป็นการทำความดี ได้กายมนุษย์ ได้ใจใสระดับมนุษย์เข้าถึงความเป็นมนุษย์ได้

ใครมีหิริโอตตัปปะ         →   เป็นการทำความดี ได้กายเทวดา ได้ใจใสระดับเทวดาเข้าถึงความเป็นเทวดาได้

ใครมีพรหมวิหารธรรม     →   เป็นการทำความดี ได้กายพรหม ได้ใจใสระดับพรหมเข้าถึงความเป็นพรหมได้

ใครไร้ศีล ๕                 →   เป็นการทำความชั่ว แม้กายเป็นคน แต่ใจขุ่นมืดระดับสัตว์เข้าถึงความเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือสัตว์นรกได้

ใครซ่องเสพอบายมุข ๖   →   เป็นการทำความชั่ว แม้กายเป็นคน แต่ใจขุ่นมืดระดับสัตว์เข้าถึงความเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือสัตว์นรกได้

          สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติสากลนี้ แม้ยากที่จะมีผู้ใดค้นพบได้ แต่มีผู้รู้จริงจำนวนมากค้นพบแล้วนำมาเปิดเผย บัญญัติ สั่งสอน หากเราทั้งหลายตั้งใจเพียรศึกษา รีบรู้ รีบประพฤติตามคำสอนของท่านผู้รู้จริง ใจของเราก็จะยิ่งผ่องใสขึ้น เมื่อใจใสขึ้นก็อยากทำความดี เว้นขาดจากความชั่วให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

          อย่างไรก็ตาม สิ่งแวดล้อม ๕ ประเภทข้างต้น ยังสามารถจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ๑) สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต คือ คนและสัตว์ หรือเรียกว่า สรรพสัตว์ และ ๒) สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต คือ สรรพสิ่ง ทั้งสรรพสัตว์และสรรพสิ่งรวมกัน เรียกว่า สิ่งแวดล้อมทั้งปวง สิ่งแวดล้อมทั้งปวงย่อมตกอยู่ภายใต้กฏสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแวดล้อมที่เป็นคน สภาพใจใสหรืออุ่นของคนมีผลอย่างมากต่อความเจริญและความเสื่อมของสิ่งแวดล้อมทั้งปวง คนไม่ว่าทราบหรือไม่ทราบกฎสากลของโลกนี้ ถ้าใจขุ่นมัวย่อมปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง กลายเป็นผู้ทำลายตนและสิ่งแวดล้อมรอบตน แต่หากใครทราบและปฏิบัติตนได้ถูกต้องจนใจใส ย่อมเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่สิ่งแวดล้อมทั้งปวงอีกด้วย

          ความรู้จริงถึงลักษณะหรือคุณสมบัติพิเศษของสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างให้ครบทั้ง ๕ ประเภทอย่างถ้วนถี่รอบคอบก่อนลงมือทำความดีทุกครั้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างล้วนมีทั้งส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

          ที่สำคัญการทำความดีไม่ว่ามากหรือน้อย ย่อมไม่ต่างกันกับการเดินทวนกระแสน้ำ ผู้เดินทวนกระแสน้ำ นอกจากต้องออกแรงเดินฝ่ากระแสน้ำที่ไหลมาปะทะแล้ว ยังต้องระวังโขดหิน หลุมบ่อ หลักตอที่จมอยู่ใต้น้ำด้วยยิ่งน้ำขุ่นหรือยามค่ำคืนยิ่งต้องระวังอันตรายให้มากฉันใด การทำความดีไม่ว่ามากหรือน้อยก็ต้องใช้

๑) แรงกาย แรงสติปัญญา ความรู้ ความสามารถที่ตนเองมีให้เต็มที่

๒) ต้องระมัดระวังภัยอันอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่อำนวย

๓) ต้องหาประโยชน์ที่มีจากสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เต็มที่ ความดีที่ตั้งใจทำจึงจะลุล่วงด้วยดีฉันนั้น

          ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ คนส่วนมากมักหลงทึกทักว่า ตนรู้จริงในสิ่งแวดล้อม ๕ ดีแล้ว เพราะต่างคนต่างอยู่กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาตั้งแต่เกิด จึงขาดความระมัดระวัง ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนลงมือทำความดี ด้วยเหตุนี้ แม้ตั้งใจและลงมือทำความดีอย่างเต็มที่ ก็ยังยากที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเสียหายและความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีจึงเกิดเหตุร้ายซ้ำซาก เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ไฟฟ้าช็อต รถคว่ำ ซึ่งหลายครั้งหลายคราวก็เกิดเหตุตรงสถานที่เดิมๆ ซ้ำๆ บางคราวแม้แต่ผู้ชำนาญการด้านนั้นๆ ก็ทำให้เกิดความเสียหายเสียเอง เพราะประสบกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ดิน ฟ้า อากาศแปรปรวน เป็นต้น จึงกลายเป็นว่า คนเราทำดีได้ยาก ทำชั่วได้ง่าย แล้วพากันท้อถอยในการทำความดี ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพราะเขาเหล่านั้นประมาท ไม่รู้จริงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

 

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010644833246867 Mins