ความจริงคือหัวใจการศึกษา

วันที่ 21 มค. พ.ศ.2565

650121_B.jpg

ความจริงคือหัวใจการศึกษา

           เมื่อถึงตรงนี้คงมองออกแล้วว่า การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมุ่งให้ผู้เรียน เป็นผู้รู้ความจริง ทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตนเองและความจริงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ๕ พร้อมกับรีบประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมกับความจริงที่ตนได้เรียนรู้แล้วนั้น เพื่อแก้ไขปรับปรุงนิสัยตนให้ดียิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนมีชัยเหนือความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ได้ในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาจึงเป็นเรื่องการฝึกฝนตนเองและผู้อื่นให้ ๑) พากเพียรไม่ท้อถอยศึกษาหาความจริงที่ต้องรีบรู้ที่ต้องรีบประพฤติ ๒) พากเพียรประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมตรงตามความจริงให้เคย คุ้น ชินเป็นนิสัยดีประจำตน ดังนั้นความจริงจึงเป็นหัวใจสำคัญการศึกษา เราจึงควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความจริงคืออะไร

ความหมายของความจริง
           ความจริง มีความหมาย ๒ ประการ ดังนี้
           ๑. สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพัด เซลล์ อวัยวะ ระบบต่างๆ ภายในร่างกายคน สัตว์ พืชต่างๆ ระบบต่างๆ ภายในพืชแต่ละชนิด ฤดูกาล เวลา ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างนั้นเองโดยธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไม่ได้

          ๒. สิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ แล้วเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ตัวอย่าง ความจริง

          นาย ก เดินข้ามทุ่ง ขณะพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ฟ้าผ่านาย ก เสียชีวิตที่ทุ่งนา ตำบล... อำเภอ จังหวัด...เมื่อเวลา....
๑) นาย ก เดินข้ามทุ่ง                    เป็นความจริง    ที่เกิดจากการกระทำของนายก
๒) มีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก    เป็นความจริง     ที่เกิดจากธรรมชาติ
๓) ฟ้าผ่า นาย ก                           เป็นความจริง     ที่เกิดจากธรรมชาติกระทำต่อนาย ก
๔) นาย ก เสียชีวิต                        เป็นความจริง     ที่เกิดกับนาย ก เพราะไม่อาจทนต่อความรุนแรงของกระแสฟ้าผ่าได้
๕) เหตุเกิดตำบล... อำเภอ จังหวัด... เวลา... เป็นความจริง เป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ทั้ง ๕ เหตุการณ์ เป็นความจริง เพราะเป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ประเภทของความจริง

            ความจริงแบ่งตามความเป็น-ไม่เป็นประโยชน์ ได้ ๒ ประเภท คือ ๑) ความจริงที่เป็นคุณ ๒) ความจริงที่เป็นโทษ เช่น ฝนตก เป็นความจริงที่เกิดตามธรรมชาติเป็นคุณต่อคน สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะให้น้ำฝน น้ำใช้ น้ำดื่ม ลดมลภาวะ เป็นต้น แต่เป็นโทษถ้าฝนตกยกระดับความรุนแรงเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้น้ำท่วม พัดบ้านเรือนเสียหาย เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต พายุฝนจึงจัดเป็นความจริงที่ให้โทษด้วย

            ความจริงแบ่งตามการรู้ออกเป็น ๒ ประเภท คือ

            ๑. ความจริงกายภาพ เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่มีใจกำกับสั่งการ และรู้ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่างๆ

            ความจริงประเภทนี้ รู้ได้เกือบทุกคนแต่ความลุ่มลึกแตกต่างกัน ผู้ใดที่มีใจจดจ่อกับความจริงนี้ก็จะใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สังเกต เห็นรับรู้ข้อมูลความจริงได้มาก ได้ถูกต้อง ได้ครบถ้วน ทำให้ใจสามารถนำข้อมูลความจริง เหล่านี้มาคิดเชื่อมโยง เห็นเป็นเรื่องราวความเป็นเหตุเป็นผลนำไปสู่การทดลอง พิสูจน์ จนได้ข้อสรุปเป็นความจริง เช่น  ลูกแอปเปิลตกจากต้น ใครๆ ก็เห็น แต่ก็ไม่มีใครสนใจว่าทำไมจึงตกจากต้น จนกระทั่งเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) สังเกตเห็นความจริงกายภาพที่รู้ได้จากการขบคิด ซึ่งเป็นการเห็นในความคิด เพราะใจท่านจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวของความอยากรู้เหตุผลว่า ทำไมลูกแอปเปิลจึงตกจากต้น ใจลักษณะนี้เป็นใจที่ไม่แวบคิดโน่นคิดนี่ให้ฟุ้งซ่านเหมือนคนทั่วไป แล้วก็ได้คำตอบจากการทดลอง พิสูจน์ จนเกิดเป็นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง คือ โลกส่งแรงดึงดูดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งมาที่ศูนย์กลางกายของสรรพสัตว์และจุดศูนย์ถ่วงของสรรพสิ่ง ทำให้สรรพสัตว์และสรรพสิ่งไม่หลุดลอยเคว้งคว้างออกไปจากโลก

           การแสวงหาความจริงกายภาพ เกิดจากการนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การเห็น การฟัง การดม การลิ้มรส การสัมผัส มาขบคิด วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ จนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า วิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ระบบย่อยอาหารของคน-สัตว์ แต่เดิมเราไม่ทราบหรือไม่อาจเห็นได้ด้วยเครื่องมือทางการ
แพทย์ที่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน แต่ก็รู้ว่ามี เพราะเกิดจากการเรียนรู้และสังเกต ความรู้สึกอิ่ม หิว กระหาย จากระยะเวลาที่กินจนกระทั่งเวลาที่ของเสียขับถ่ายออกมาจากร่างกาย

           กล่าวได้ว่า กฎ ทฤษฎี ความรู้ด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นความจริงกายภาพที่พิสูจน์ ทดลองให้เห็นได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แสวงหาความจริงกายภาพด้วยจุดมุ่งหมาย ๑) เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ว่า สิ่งนั้น เรื่องนั้น คืออะไร เกิดได้อย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ทำไมจึงเกิด มีเหตุปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมหรือยับยั้งเหตุการณ์นั้นได้บ้าง ๒) เพื่อนำความรู้ความจริงที่ค้นพบนี้มาใช้ประโยชน์ ๓) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต

          ๒. ความจริงจิตภาพ เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยใจที่มีความบริสุทธิ์ เป็นความจริงที่เป็นนามธรรม ผู้มีสติหมั่นเก็บใจไว้กลางกายเป็นนิจ ใจย่อมผ่องใส ย่อมเห็นความจริงประเภทนามธรรมนี้ได้ง่ายและชัดเจน เพราะเป็นธรรมชาติว่า ความสว่างทำให้เห็นความจริง หากผู้ใดรักษาใจให้หยุด นิ่ง นุ่ม นาน แนบแน่นที่กลางกายอย่างเบาๆ สบายๆ ใจก็
ยิ่งเห็นความจริงจิตภาพได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ

           ธรรมชาติความจริงที่เป็นนามธรรม เช่น ใจ ศีลธรรม กฏสากลประจำจักรวาล กิเลส ทางพ้นทุกข์ สิ่งเหล่านี้ย่อมรู้ได้ด้วยใจที่ผ่องใส ใจที่สว่างเท่านั้น ยิ่งใจสว่าง ใจบริสุทธิ์มากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หรือกายภาพและจิตภาพได้หมดจดมากเท่านั้น เพราะความสว่างทำให้เห็น
ความจริง จึงไม่ต้องใช้ความคิดคาดการณ์หรือจินตนาการไปต่างๆ นานา เหมือนเข้าไปในห้องมืดหรือสลัวๆ เราย่อมเห็นอะไรๆ ได้ไม่ชัดเจนว่ามีอะไรอยู่ในห้องหรือเห็นเพียงตะคุ่มๆ ต้องอาศัยการคาดคะเนไปต่างๆ ต่อเมื่อเปิดไฟ เกิดความสว่างแล้ว ก็เห็นทันทีว่ามีอะไรในห้องบ้าง

           แต่ถ้าใครใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ใจมืด ก็ยิ่งเห็นไม่ถูกต้องตรงความจริง เห็นความเท็จเป็นความจริง เห็นความดีเป็นความชั่ว เห็นความชั่วเป็นความดี ดังตัวอย่าง

    ความจริงจิตภาพ                             คนใจใส                                     คนใจขุ่น

ศีล ๕ ทำให้เห็นใจกันและกัน            เห็นว่าจริง ต้องรักษา                เห็นว่าไม่จริง ต้องละเมิดฝ่าฝืน
สติ ทำให้ใจผ่องใส                          เห็นว่าจริง ต้องฝึกฝน               เห็นว่าไม่จริง ไม่ต้องฝึกฝน
อบายมุข มีโทษร้ายแรงดิ่งไปที่ชั่ว     เห็นว่าจริง ต้องเว้นห่าง             เห็นว่าไม่จริง ต้องซ่องเสพ

          ดังนั้น ผู้แสวงหาความจริงจิตภาพย่อมได้ชื่อว่าแสวงหาปัญญาทั้งภายนอกและภายใน โดยเริ่มจากฝึกสติสัมปชัญญะ คือ ให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เก็บใจไว้กลางกาย จนใจหยุดนิ่ง ใส สะอาด กระทั่งสว่างไม่มีประมาณตั้งมั่นอยู่ภายใน แล้วเกิดความรู้แจ้งจากการเห็นภายในนั้น จัดเป็นปัญญาด้านจิตภาพเมื่อรวมกับการเห็นการรู้ภายนอกจากประสาทสัมผัส ๕ ย่อมทำให้สามารถเอาชนะความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการ ได้อย่างเด็ดขาด นี้เป็นเส้นทางศีลธรรม

          จากประเภทความจริงที่กล่าวมาทั้งหมด การศึกษาจึงต้องทำให้ผู้เรียนได้รอบรู้ชัดความจริง ทั้งความจริงกายภาพและความจริงจิตภาพ ทั้งความจริงที่เป็นคุณและโทษ แล้วเลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะความจริงกายภาพ-จิตภาพที่เป็นคุณ เว้นห่างจากการประพฤติปฏิบัติตามความจริงกายภาพ-จิตภาพที่เป็นโทษ จึงจะบังเกิดเป็นความดี ห่างไกลจากความชั่ว คือ ไม่มีความเดือดร้อนใดๆ ตามมาในภายหลังจากการกระทำทางกาย วาจา ใจของตนที่มีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น มีแต่เกิดประโยชน์สุข มีแต่ใจผ่องใสโดยทั่วหน้ากันทุกคน

           ใจผ่องใสเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์รู้ เห็นความจริงกายภาพ-จิตภาพได้ลุ่มลึกสมตามที่ท่านผู้รู้จริงกล่าวไว้ว่า

          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเกี่ยวข้อง สำคัญที่การรู้การเห็นของใจ มีใจเป็นใหญ่ในการตัดสิน มีความสำเร็จกิจจากการสั่งของใจ

๑. ถ้าใจขุ่นมัว มืดบอด การพูดการทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความเดือดร้อนย่อมติดตามตัวเขา เหมือนล้อเกวียนหมุนบดขยี้ตามรอยเท้าโค

๒. ตรงกันข้าม ถ้าใจผ่องใส ใจสว่าง การพูดการทำก็พลอยดีไปด้วย เพราะความดีที่เป็นเหตุแห่งความสุข ความเจริญย่อมติดตามตัวเขาเหมือนเงาตามตน

650121_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E1.jpg

******

 

ยิ่งใจผ่องใส
ยิ่งใจสว่างบริสุทธิ์มากเท่าไร
ก็จะยิ่งทำให้เห็นความจริง
ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
ได้ลุ่มลึกและถูกต้องตรงความจริง
มากเท่านั้น

******

ความจริงที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ

         ความจริงเรื่องอะไรที่ต้องรีบรู้รีบประพฤติ หากเราตอบคำถามนี้ได้ เท่ากับเรากำชัยชนะความสำเร็จในการจัดการศึกษาได้แน่นอน คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ความจริงกายภาพกับความจริงจิตภาพที่เกี่ยวกับตัวเราและสิ่งแวดล้อม ๕ ที่เราต้องเกี่ยวข้องด้วยเมื่อทำกิจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ เหตุผลที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ ท่านผู้รู้จริงได้บอกไว้แล้วว่านี้เป็นประตูแห่งประโยชน์สุข ๖ ประการคือ

๑. เป็นเหตุแห่งความไม่มีโรค

๒. เป็นเหตุแห่งความเป็นผู้มีศีล

๓. เป็นเหตุแห่งความคล้อยตามผู้รู้ เชื่อฟังผู้รู้จริง

๔. เป็นเหตุแห่งการสดับเล่าเรียน

๕. เป็นเหตุแห่งการประพฤติตามธรรม คือ ประพฤติให้เป็นสุจริต

๖. เป็นเหตุแห่งความไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ

          คุณธรรม ๖ ประการนี้ บุคคลควรปรารถนา ควรประพฤติอย่างยิ่ง เพราะเป็นประตู เป็นอุบายด่านแรก นำไปสู่ประโยชน์สูงสุด ความสุขความเจริญสูงสุดทางโลก คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความสุขทางธรรม คือ พ้นทุกข์จริงอยู่เหนือกฎแห่งกรรมจริง

 

650121_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E2.jpg

 

ใจเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ทำให้รู้ความจริง

วิธีรู้ความจริง

          ท่านผู้รู้จริงได้สรุปวิธีแสวงหาความรู้จริงหรือวิธีรู้ความจริงทั้งสรรพสัตว์และสรรพสิ่งไว้ ๓ วิธีด้วยกัน คือ

          ๑. รู้ความจริงจากการสดับตรับฟัง เป็นการรู้ความจริงระดับต้น ซึ่งเกิดจากการตามหาท่านผู้รู้จริงให้พบและได้ฟังคำสอนจากท่านโดยตรง หากท่านผู้รู้จริงได้ลาโลกไปแล้ว ก็ต้องพยายามหาศิษย์ของท่านผู้รู้จริงด้านจิตภาพให้พบ เพื่อรับฟังความรู้จริงที่ลึกซึ้งโดยตรงจากศิษย์ของท่านหรือจากศิษย์ของศิษย์ของท่านก็ยังดี ถ้าหาแม้ศิษย์ของศิษย์ท่านไม่พบ อย่างน้อยต้องหาอ่านความรู้จริงจิตภาพจากตำราที่จดบันทึกของท่าน หรือหาฟังจากผู้ใดก็ตามที่ท่องจำคำสอนของท่านผู้รู้จริงได้ก็ยิ่งดี ส่วนความรู้จริงทางด้านกายภาพสามารถหารับฟังจากผู้รู้จริงด้านนั้นๆ ได้ไม่ยากในปัจจุบัน

          ความรู้จริงที่ได้ฟัง ได้อ่านแล้วเหล่านั้นแม้เราจะเข้าใจตามทันบ้างไม่ทันบ้างก็ตาม ย่อมเป็นประโยชน์มาก เพราะได้พัฒนาจากความรู้จริงระดับการฟัง การอ่าน เป็นความรู้จริงระดับความจำเก็บไว้ในใจแล้ว นี้เป็นการรู้ความจริงด้วยวิธีสดับตรับฟัง

           ๒. รู้ความจริงจากการขบคิด เนื่องจากความจริงด้วยวิธีสดับตรับฟังหรือระดับจำเก็บไว้ในใจแล้ว มี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ ความรู้จริงระดับฟังหรือจำจากท่านผู้รู้ดังกล่าวแล้วในข้อแรก ประเภทที่ ๒ ความรู้จริงระดับจำที่เกิดจากการได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสแล้ว เคยคิดอย่างฉาบฉวยด้วยตนเองจนรู้ หากเราไม่ปล่อยผ่านความรู้จริงระดับฟังหรือจำทั้ง ๒ ประเภทนี้ แต่นำไปขบคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งเห็นความเชื่อมโยง ความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ เหตุการณ์ที่เราสนใจนั้น จนกระทั่งรู้ความจริงที่สลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังนั้น ย่อมจัดเป็นวิธีรู้ความจริงจากการขบคิดหรือคิดจนรู้ ยิ่งเมื่อนำความรู้จริงจากการขบคิดแล้วไปทดลองพิสูจน์หรือใช้งานจริง ปรากฏผลว่าจริงตรงตามที่คิดไว้ก็ยิ่งเชื่อมั่นในความจริงที่มาจากการขบคิดกระทั่งรู้ยิ่งขึ้น ความจริงต่างๆ ด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ตลอดทั้งโลกได้มาจากวิธีที่ ๑ และ ๒ ซึ่งเป็นความจริงกายภาพเท่านั้น

           ๓. รู้ความจริงจากการเห็นภายในด้วยใจที่ผ่องใสที่สว่าง ผู้ต้องการรู้ความจริงด้วยวิธีนี้ ต้องฝึกใจไม่ให้แวบหนีเที่ยวออกนอกกาย เพราะเป็นเหตุให้ใจขุ่นมัว สลัวลง ยิ่งใจไปหลงยึดติด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนอกกาย หนาแน่นมากเท่าใด ความขุ่นมัวยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จากมืดสลัวก็กลายเป็นมืดมิด คือ ไม่เห็นความจริงจิตภาพใดๆ เลย บุคคลประเภทปล่อยใจแวบออกนอกตัวเป็นนิจเช่นนี้ ย่อมปฏิเสธความมีอยู่จริงของใจ และความจริงด้านจิตภาพโดยสิ้นเชิง

          สำหรับผู้ฝึกใจให้หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายได้เป็นนิจ แม้ใจจะแวบออกนอกกายบ้างก็เพียงบางครั้ง และแวบไปไม่นานก็กลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายตามเดิม ใจของบุคคลเช่นนี้ย่อมสว่างโพลงอยู่ภายในอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้เห็นความจริงกายภาพและจิตภาพของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งได้ชัดทั้งลืมตาและหลับตา ไม่มีอะไรหลงเหลือให้เคลือบแคลงสงสัย จึงรู้ความจริงกายภาพจากการเห็นด้วยตาเนื้อ และรู้ความจริงจากภายในหรือความจริงจิตภาพจากตาธรรมโดยไม่ต้องคิด การรู้ความจริงจิตภาพด้วยวิธีการนี้เป็นวิธีการรู้ที่มีชื่อเฉพาะว่า รู้ด้วยญาณทัสสนะ เป็นความรู้เฉพาะตัวของท่านผู้นั้น แม้ยากต่อการอธิบายให้ผู้ที่ยังไม่สามารถทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเข้าใจได้ แต่สามารถพิสูจน์ได้ ถ้าผู้ต้องการพิสูจน์นั้นฝึกใจของตนให้หยุดนิ่งภายในได้ตามท่าน และท่านเหล่านั้นแม้มีอยู่ในปัจจุบันไม่มากแต่ก็ยังมี ซึ่งส่วนมากก็เป็นนักบวช เช่น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา หากผู้ใดสนใจใคร่รู้เห็นจริง ท่านก็ยินดีจะสอนสั่งความรู้ในการเก็บใจไว้ในกายให้ได้เป็นนิจตามท่าน

เครื่องมือรู้ความจริง

          วิธีรู้ความจริงทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมานั้น ต่างต้องใช้ใจเป็นเครื่องมือรู้ทั้งสิ้น เพราะใจเป็นธาตุรู้ หมายถึง การที่จะรู้ความจริงทั้งหลายได้นั้น ไม่ใช้กายไม่ใช้สมอง แต่ต้องใช้ใจที่อยู่ในกาย เมื่อใจและกายอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อใจอยู่ที่กลางกาย ตรงบริเวณที่โลกส่งแรงโน้มถ่วงมาดึงดูดสรรพสัตว์ไม่ให้หลุดลอยเคว้งคว้างออกไปนอกโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้ง ที่อยู่ เป็นบ้านของใจ ทำให้ใจและกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ใจไร้แรงต้านบีบคั้น ไร้แรงดึงให้กระเจิงแวบออกนอกกาย กายก็จะสงบ ผ่อนคลาย ความปวดเมื่อยล้าใดๆ ของกายก็มลายหายสูญไปสิ้น ส่วนใจก็จะผ่อนคลาย ว่าง โปร่ง โล่ง เบา กระชุ่มกระชวย ทรงพลังไม่จำกัด ความผ่องใสของใจก็จะฉายแสง ทำให้เห็นข้อมูลความจริงของปรากฏการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ ได้เป็นลำดับๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ จึงรู้ความจริงไม่ผิดเพี้ยนจากการเห็น ซึ่งเป็นการเห็นด้วยตนเองจากใจที่ผ่องใสนั่นเอง สำหรับสมองเป็นสำนักงานให้ใจใช้สั่งงาน

          ใจจึงเป็นเครื่องมือรู้ความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีเครื่องมืออื่นใด การรู้ความจริงด้วยวิธีการฟังก็ดีด้วยการคิดก็ดี ด้วยการเห็นจากใจก็ดี ความจริงทั้งหมดเหล่านี้ต้องใช้ใจที่ฝึกมาดี คือ มีสติสัมปชัญญะกำกับเป็นนิจเท่านั้น ใจจึงจะจดจ่อ เกิดความตั้งใจฟัง สังเกตเห็น รับรู้จำได้หมายรู้ คิดไตร่ตรอง กระทั่งรู้ความจริงกายภาพ-จิตภาพ ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งได้หมดจด

          จากความจริงที่ว่า ใจเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือรู้ความจริง โดยต้องเป็นใจที่มีสติสัมปชัญญะกำกับอย่างรอบคอบ มั่นคงด้วย การศึกษาที่แท้จริงจึงอยู่ที่การฝึกฝน พัฒนาใจให้มีสติสัมปชัญญะเป็นอันดับแรกก่อน ก็เพราะมองข้ามความจริงประการสำคัญที่สุดนี้ การศึกษาเกือบทั้งโลก จึงเน้นทุ่มเทสรรพความรู้ และงบประมาณ ไปที่การพัฒนาวิธีการได้ความรู้มากกว่ามุ่งพัฒนาใจที่เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงสรรพความจริง ทั้งวิธีรู้ความจริงก็มุ่งเน้นเฉพาะจากการฟัง การคิดค้นคว้าทดลองจากแหล่งความรู้ต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัยล้ำยุค ยิ่งได้ข้อมูลความรู้กว้างไกล ก็ยิ่งภูมิใจว่าตนมีความรู้เหนือกว่าผู้ใด อันเป็นทางมาแห่งความร่ำรวย ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

           แต่หารู้ไม่ว่า ยิ่งเน้นแต่วิธีการรู้ความจริง แต่ไม่เน้นการพัฒนาใจ ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความผ่องใสเป็นนิจ เพื่อเป็นกุญแจไขประตูแห่งความจริง ผู้เรียนจะยิ่งห่างไกลจากความจริง สับสนระหว่างข้อมูลจริง-เท็จจำนวนมากมายที่ไหลบ่าท่วมท้นจนแยกไม่ออก ไม่ต้องกล่าวถึงว่าอะไรคือความดีความชั่ว ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีการใดมารู้ก็ยิ่งแยกไม่ออก

          สรุปได้ว่า สติสัมปชัญญะเป็นรากฐานการศึกษาที่แท้จริงแต่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีครูดีมาสั่งสอนฝึกฝนอบรมอย่างใกล้ชิดให้ จึงจะสามารถเข้าถึงแก่นของการศึกษาที่แท้จริงได้

******

ใจเท่านั้น
ที่เป็นเครื่องมือรู้ความจริง
โดยต้องเป็นใจที่มีสติสัมปชัญญะ
กำกับอย่างรอบคอบมั่นคงด้วย
การศึกษาที่แท้จริงจึงอยู่ที่การฝึกฝน
พัฒนาใจให้มีสติสัมปชัญญะเป็นอันดับแรก

******

 

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027152216434479 Mins