ปกิณกะธรรม ตอนที่ ๒

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2565

650225_B.jpg

ปกิณกะธรรม ตอนที่ ๒

ที่สุดของคนฉลาด

650225_p001.jpg

           บางคนมีโอกาสทางการศึกษา แต่กลับโดดเรียน พ่อแม่ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เรียนไม่จบ บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ การศึกษาไม่สูง ขาดโอกาสทางการศึกษา ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ หรือภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยห่างไกลจากความเจริญ เด็กบางคนฉายแววอัจฉริยะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ถึงขนาดยังไม่ได้เข้าเรียนก็อ่านหนังสือได้แล้วก็มี

          การศึกษาถือเป็นต้นทุนพื้นฐานของประชาชน ถ้าหากไม่ทั่วถึงจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เพราะคุณภาพของคนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

           คุณครูไม่ใหญ่ได้เล่าเรื่องนี้ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ถ่ายทอดทาง DMC เกี่ยวกับตัวอย่างวิบากกรรมที่ทำให้ด้อยการศึกษา และกรรมที่ทำให้มีปัญญามาก ฉลาด เรียนเก่งว่า...

          พวกไม่ได้เรียน หรือการศึกษาไม่สูง

๑. ในอดีตชาติ ไม่มีบุญสนับสนุนการศึกษา

๒. ในอดีตชาติ ไม่ได้คบบัณฑิต

๓. ในอดีตชาติ มีความเชื่อว่า ลูกผู้หญิง ไม่ต้องเรียนหนังสือ จึงบังคับลูกหลานผู้หญิง ไม่ให้เรียน ห้ามลูกบวช กดขี่ข้าทาสไม่ให้เรียน

๔. ในอดีตชาติ มีมานะถือตัว ด่าว่าคนอื่นว่า “โง่” ส่วนพวกที่เรียนไม่จบ เกิดจากกรรมในปัจจุบัน คบคนพาล ไม่ขยัน และมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง

          ส่วนกรรมที่ทำให้มีปัญญามาก ฉลาด เรียนเก่ง คุณครูไม่ใหญ่ก็เคยเล่าเอาไว้ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ถ่ายทอดทาง DMC เกี่ยวกับกรรมที่ทำให้มีปัญญามาก ฉลาด เรียนเก่งว่า เกิดจาก...

๑. ในอดีตชาติ มีบุญสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา

๒. ในอดีตชาติ มีนิสัยใฝ่การศึกษา

๓. ในอดีตชาติ มีบุญชอบให้วิทยาทาน

๔. ในอดีตชาติ คบบัณฑิต

๕. ในอดีตชาติ ไม่พูดเท็จ

๖. ในอดีตชาติ และปัจจุบัน ชอบเจริญสมาธิภาวนา

           ปัญญาเป็นคุณธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่อง แม้พระองค์ก็ทรงเป็น พระปัญญาธิกพุทธเจ้า

           หากปรารถนาเป็นเด็กอัจฉริยะตั้งแต่เกิด อย่าขัดขวางการศึกษาของใคร อย่าด่าใครว่าโง่ ให้สนับสนุน และรักการศึกษา ไม่หวงวิชาความรู้ คบหาบัณฑิต ไม่โกหก และหมั่นนั่งสมาธิ

          แต่ปัญญามี ๓ ระดับ

๑. รู้จำ เกิดจากการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง

๒. รู้จริง เกิดจากการขบคิดไตร่ตรอง พินิจ พิจารณาโดยแยบคาย

๓. รู้แจ้ง เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา จนใจหยุดนิ่ง เกิดความสว่างภายใน เห็นแจ้งในเรื่องโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต

           คนที่มีปัญญามาก เมื่อไปถึงที่สุดแล้ว จะต้องแสวงหาคำตอบของชีวิตว่า เราเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายสุดสูงของชีวิต ความรู้แจ้งเท่านั้นที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้

          “เอหิปัสสิโก เชิญมาพิสูจน์”

 

“สันโดษ” พระเอกของคนที่ไม่รู้จักพอ

650225_p02.jpg

            ถ้าแบ่งคนในโลกตามฐานะทางเศรษฐกิจ น่าจะแบ่งได้ ๔ จำพวก คือ พวก....

๑. ไม่มีจะกิน

๒. มีกิน แต่ไม่มีใช้

๓. มีกินมีใช้

๔. เหลือกินเหลือใช้

            พวกที่ ๑ และ ๒ ยังมีความทุกข์ เพราะขาดแคลนปัจจัย ๔ พื้นฐานรองรับการดำรงชีวิต

            แต่พวกที่ ๓ และ ๔ ข้ามพ้นความทุกข์จากความขาดแคลนปัจจัย ๔ มาได้แล้ว

            ถ้าวัดความสุขทางกายภาพ พวกที่ ๔ อาจจะมีมากกว่าพวกที่ ๓ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่า พวกที่ ๔ จะมีความสุขทางด้านจิตใจมากกว่าพวกที่ ๓

            เพราะความจนในโลกมี ๒ ประเภท คือ

๑. จนเพราะไม่มี หมายถึงพวกที่ ๑ และ ๒ แต่เป็นความจนชั่วคราว ถ้าฉลาด ขยัน และรู้จักใช้ทรัพย์ อาจจะเลิกจนก็ได้

๒. จนเพราะไม่พอ ตรงนี้ถ้าพวกที่ ๓ และ ๔ ไม่ระวัง อาจจะเข้าข่ายจนประเภทนี้ ถ้าไม่เปลี่ยนทัศนคติในการมองโลกและชีวิตจะเป็นความจนถาวร

           “พอ” จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยดับทุกข์ตรงนี้ เราอาจจะไม่ใช่คนที่สำคัญ ไม่ใช่คนที่เลิศ แต่เรามีความพอใจในตัวเอง แค่นี้ก็มีความสุขได้แล้ว

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

           สันโดษ แปลว่า ยินดี พอใจกับสิ่งที่ได้ สิ่งที่เป็น สิ่งที่มี ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการประกอบเหตุ แต่หมายถึงผลที่ได้รับ หมายถึง ทุ่มเทประกอบเหตุ ทำทุกสิ่งทุกอย่างสุดกำลัง สุดความสามารถแล้ว ก็พอใจกับสิ่งที่ได้ สิ่งที่เป็น สิ่งที่มี ส่วนคราวหน้า ถ้ามีโอกาสก็ว่ากันใหม่

           มีอยู่ ๒ ประการที่ไม่ควรสันโดษ คือ กุศลธรรม (ความดี) และความเพียร

            กุศลธรรม ความดี บุญกุศล ทำเท่าไหร่ มีเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักพอจะหาทางทำความดีให้ยิ่งขึ้น แต่ทำแล้วต้องไม่นำความทุกข์มาให้ เช่น ไม่กู้หนี้มาทำบุญ โดยไม่รู้ว่า จะปลดหนี้ได้อย่างไร ทำแล้วต้องมากังวลกับการจ่ายดอกเบี้ยที่พอกพูน

             ความเพียรในที่นี้ คือ ความเพียรในการละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใส ทำเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต้นแล้ว ก็ปรารภความเพียร ปรารถนาที่จะบรรลุคุณธรรมขั้นสูงขึ้นไปอีก

             ความสันโดษจึงไม่ใช่ความขี้เกียจ เพราะมุ่งที่ผล ไม่ใช่มุ่งที่การประกอบเหตุ คือ ไม่ใช่พอใจจะทำแค่นี้ แต่พอใจกับผลที่ได้รับเมื่อทุ่มเททำเต็มที่แล้ว

            อุปสรรคของความสันโดษ คือ การนำตัวเองไปเทียบกับคนอื่นที่เหนือกว่า เช่น ภรรยาเขาสวยกว่าภรรยาเรา เลยคิดอยากจะหาภรรยาใหม่ ลูกเขาเก่งกว่าลูกเรา เลยมาตำหนิลูกเราว่าโง่เง่า รถเขาแพงกว่ารถเรา กระเป๋า เสื้อผ้า หน้า ผมของคนอื่นเขาดีกว่าเรา เลยทุรนทุรายขวนขวายแสวงหาจนเกินกำลังฐานะของตัวเอง ทั้งที่ควรจะมีความสุข
ก็หาความสุขไม่ได้ นี้แหละไม่สันโดษ จนเพราะไม่รู้จักพอ

           สันโดษ จึงเป็นพระเอกของคนจนที่ไม่รู้จักพอ

 

มีอะไรให้ปลื้มใจบ้าง

650225_p03.jpg

           ในสมัยพุทธกาล ในวันฉลองวิหาร มหาอุบาสิกาวิสาขาเปล่งอุทานด้วยเสียงอันไพเราะ ภิกษุทั้งหลายได้ยิน คิดว่านางร้องเพลง จึงทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสตอบว่า ธิดาของเราไม่ได้ร้องเพลง แต่เธอดีใจว่า ความปรารถนาที่เธอตั้งใจจะถวายมหาทานนั้นถึงที่สุดแล้ว จึงเดินเปล่งอุทานด้วยความปลื้มใจ

             แต่ละชีวิตที่เกิดมา ไม่ช้าก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ชีวิตของใครที่จากโลกนี้ไปพร้อมกับความปลื้มใจ ที่ได้ทำความดีที่ยิ่งยวดเกินกว่าที่คนทั่วไปจะกล้าทำ ย่อมคุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แม้จะมีชีวิตอยู่ในช่วงสั้นๆ อย่างเช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา ผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศในการให้ทานฝ่ายหญิง

           หันมาดูชีวิตจริงในโลกปัจจุบัน ลุงเอี่ยมขอทานผู้ยิ่งใหญ่ที่วัดไร่ขิง รวบรวมทรัพย์ ที่ได้รับจากการบริจาคของคนที่มาทำบุญ เอามาซื้อดอกบัวถวายพระประธานในอุโบสถ จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จากแสนเป็นล้าน เป็นหลายล้านบาท ลุงเอี่ยมไม่ใช่นักธุรกิจอย่างมหาอุบาสิกาวิสาขา แต่ลุงเอี่ยมได้รับการยกย่อง
จากคนที่มีอาการครบ ๓๒ ว่า ไม่กล้าทำอย่างที่ลุงเอี่ยมทำ ขนาดได้ยินยังปลื้มใจแทนลุงเอี่ยมเลย

          อีกตัวอย่างหนึ่ง มีข่าวเป็นระยะๆ ว่าคนขับแท็กซี่นำทรัพย์สินที่ผู้โดยสารลืมไว้ไปแสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อนำส่งคืนเจ้าของเป็นเงินหลายแสน เป็นทองหลายล้านก็มี นี้เป็นความปลื้มจากการไม่เอาของคนอื่น

           ความปลื้มนี้ มีความสุขใจเป็นดอกเบี้ยทุกครั้งที่นึกถึงก็หลับไปกับความสุขใจที่นึกถึง เมื่อถึงคราวจะละสังขาร นึกถึงความดีที่ทำด้วยความปลื้มใจ จิตผ่องใส สุคติเป็นที่ไป

           ไปอยู่ในเทวโลก ระลึกถึงความดีที่ทำด้วยความปลื้มใจ รัศมีกายก็สว่างไสว เมื่อถึงภพชาติสุดท้าย หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ระลึกชาติว่า ในอดีตชาติ สั่งสมบุญมาด้วยความปลื้มใจ ก็นำมาเล่าต่อเป็นแบบอย่างให้กับอนุชนในภายหลัง

          ในทรรศนะกฎแห่งกรรม คุณครูไม่ใหญ่ เคยเล่าไว้ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ถ่ายทอดทาง DMC ว่า การทำบุญจนเกิดความปลื้มปีติ เป็นการทำบุญที่ถูกหลักวิชชา เพราะหากปลื้มมาก ปีติมาก จะมีผลทำให้บุญส่งผลเร็ว หากปลื้มแล้ว ยังระลึกนึกถึงบุญได้บ่อยครั้งมากเท่าไหร่ ก็มีผลต่อจำนวนชาติที่บุญจะส่งผลได้มากชาติขึ้นเท่านั้น

          มาสำรวจดูสิว่า เรามีอะไรให้ปลื้มใจบ้าง

 

มาทำนายฝันกันดีไหม

650225_p04.jpg

           คนที่ไม่เคยฝันน่าจะหายาก เราเคยฝันกันมาทั้งนั้น ตำราทำนายฝันบอกว่า

           ถ้าฝันว่าเห็นช้าง ทำนายว่า จะได้โชคลาภจากผู้ใหญ่

          ฝันว่าจับกุ้งปลาจำนวนมาก ทำนายว่า จะได้ลาภก้อนใหญ่

          ฝันว่าสร้อยขาดคอ ทำนายว่า ของรักจะหาย หรือสูญเสียของที่รัก

           ความฝัน คือ การแสดงออกของความนึกคิด ความรู้สึก และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในสมอง ขณะกำลังนอนหลับ ความฝันอาจจะใช้ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ หรืออาจไม่มีสาระก็ได้

            ความฝันมีสาเหตุอย่างน้อย ๔ ประการ คือ

          ๑. ธาตุวิปริต หมายถึง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายกำเริบแปรปรวน เช่น ตอนเด็กๆ ก่อนเข้านอน ดื่มน้ำมากเกินไป ธาตุน้ำในร่างกายแปรปรวน เลยหลับฝันไปว่า ปวดปัสสาวะ รีบเดินไปที่ห้องน้ำ ตั้งท่าอย่างดี ปล่อยสุดๆ ตื่นขึ้นมา กางเกง และที่นอนแฉะไปหมด

          ๒. จิตนิวรณ์ หมายถึง จิตที่มีหมกมุ่นครุ่นคิด มีความห่วงความกังวลเรื่องที่ยังค้างอยู่ในใจ เช่น ตอนใกล้สอบกังวลมาก เพราะไม่เข้าใจองค์ความรู้ที่จะต้องไปสอบ และดูหนังสือไม่ทัน เลยหลับฝันไปว่า ตื่นสาย รีบเดินทางไปเข้าห้องสอบ ไปสาย เข้าห้องสอบไม่ทันครูที่คุมสอบไม่ให้เข้าสอบ ตกใจตื่น!!

           ๓. เทพสังหรณ์ หมายถึง เทวดาที่ดูแลรักษาทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า หรือบุพการีที่ละสังขารไปแล้วไปเกิดเป็นภุมมเทวามาบอก เช่น คุณแม่ที่ตายไปแล้วมาเข้าฝัน ไม่ได้พูดอะไร อย่างนี้มาแสดงตัวเพื่อให้รู้ว่าต้องการให้ทำบุญอุทิศไปให้ เป็นต้น

            ๔. กรรมบอกเหตุ หรือบุพนิมิต หมายถึง ความฝันที่เกิดขึ้นจากอำนาจบุญกุศล หรืออำนาจบาปอกุศลที่เคยทำไว้ในอดีตชาติได้ช่องตามมาส่งผล มักจะเป็นจริง

           ตัวอย่างเรื่องที่เป็นบุญกุศล เช่น พุทธมารดาฝันเห็นช้างเผือกเอางวงจับดอกปทุมสีขาว มาเวียนประทักษิณที่พระไสยาสน์ ๓ รอบ แล้วเข้าพระครรภ์ทางพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวา

          พวกพราหมณ์ทำนายว่า พระครรภ์เป็นบุรุษ พระราชโอรสเป็นผู้มีบารมีมาก ถ้าหากครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกผนวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝันนี้เกิดจากกำลังบุญบารมีของพระโพธิสัตว์

           ตัวอย่างเรื่องที่เป็นบาปอกุศล เช่น ประธานาธิบดีลินคอล์น ฝันเห็นหีบบรรจุศพของตัวเองที่เขาจัดตกแต่งเอาไว้ให้อย่างดี ท่านเดินเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ เขาก็บอกว่า เป็นศพของท่านประธานาธิบดี ท่านได้เล่าความฝันของท่าน มีการบันทึกเอาไว้ ต่อมาไม่กี่วัน ท่านก็ถูกลอบสังหาร มีการจัดพิธี และตั้งหีบศพอย่างสมเกียรติ ตรงตามที่ท่านฝันเอาไว้

          ฝันนี้ เกิดจากกำลังบาปที่ท่านเคยทำไว้ในอดีต ตามมาปรากฏให้เห็น

           สรุปสาเหตุของความฝันคือ ธาตุวิปริต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์ และกรรมบอกเหตุ หรือบุพนิมิต

          ฝันครั้งต่อไป มาทำนายฝันกัน !!!

 

อธิษฐานแผลงๆ เกือบโดนตัดกระปุ๋

650225_p05.jpg

          อธิษฐาน หมายถึง การตั้งใจมั่นคง ตัดสินใจรักษาสัจจะ ที่จะบรรลุผลตามที่ตั้งความปรารถนาไว้

           อธิษฐานเป็นบารมี หรือความดีอันยิ่งยวด ที่พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณต้องบำเพ็ญให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์

           การอธิษฐาน ท่านอุปมาเหมือนภูเขาหินแท่งทึบ ที่ไม่หวั่นไหวต่อแรงลมที่พัดมาจากทิศต่างๆ หมายถึง เมื่อตั้งความปรารถนาในสิ่งใดแล้ว ก็จะไม่หวั่นไหว เอนเอียง ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ หมั่นตอกย้ำซ้ำเติม จนกว่าจะได้บรรลุตามที่ตั้งปรารถนาไว้

           การอธิษฐาน เหมือนการวางแผนการใช้บุญ ว่าต้องการให้บุญส่งไปในทิศทางใด เสมือนเรือที่ออกจากฝั่ง น้ำมันเปรียบเสมือนบุญทำหน้าที่ให้เรือมีกำลังแล่นไป ส่วนคำอธิษฐานเปรียบเสมือนหางเสือหรือเข็มทิศ ที่นำเรือไปสู่เป้าหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ การอธิษฐาน อาจมีโทษ ถ้าปลายทางของคำอธิษฐานไม่ได้นำออกจากภพ วนเวียน หมกมุ่นอยู่ในกิเลส

          มีตัวอย่างเล่าว่า ในครั้งพุทธกาล นายเขมกะ หลานอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นหนุ่มรูปหล่อ ถูกตาต้องใจสาวน้อยสาวใหญ่ ต่างยอมพลีกายมีความสัมพันธ์กับนายเขมกะ ทำให้เดือดร้อนไปถึงครอบครัว และญาติของฝ่ายหญิง พวกราชบุรุษ จับตัวนายเขมกะ ไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาเห็นว่า เป็นหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ด้วยความเกรงใจ จึงปล่อยตัวไป นายเขมกะก็ประพฤติผิดในลูกผิดเมียของคนอื่นอีก ราชบุรุษก็จับตัวมาถวายพระราชาอีก พระราชาก็ปล่อยตัว แม้ครั้งที่ ๓ ก็เป็นแบบเดิม อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบ จึงพาตัวนายเขมกะไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงโทษของการประพฤติผิดในกามจบลง นายเขมกะได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล

          พระบรมศาสดาตรัสเล่าบุพกรรมของนายเขมกะว่า ในอดีตชาตินายเขมกะเคยเป็นนักมวยแชมป์เปี้ยนที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ยกธงทอง ๒ แผ่น ขึ้นบูชาสถูปทองคำของพระกัสสปพุทธเจ้า เขาแล้วตั้งความปรารถนาว่า “เว้นหญิงที่เป็นญาติสายโลหิตแล้ว หญิงใดเห็นเราแล้วจงกำหนัดยินดี” ด้วยกำลังบุญ และแรงอธิษฐาน หญิงที่เห็นเขาแล้ว จึงหลงไหลจนควมคุมสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา ป่านนี้คงไปโดนหั่นกะปู๋ที่มหานรกขุม ๓ อีกยาวนาน

           อธิษฐานแผลงๆ เกือบโดนหั่นกะปู๋ !!

 

วิธีเยี่ยมคนป่วย

650225_p061.jpg

          ทันทีที่ทราบว่า มีญาติมิตรป่วย ให้แยกแยะก่อนเลยว่าเป็นคนป่วยประเภทไหนใน ๓ ประเภทนี้

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแยกแยะคนป่วยไว้ ๓ ประเภท คือ คนป่วยประเภทที่...

๑. รักษาหรือไม่รักษายังไงก็ไม่หาย เช่น โรคชรา มะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

๒. รักษาหรือไม่รักษายังไงก็หาย เช่น โรคหวัด เป็นต้น

๓. รักษาหาย, ไม่รักษาตาย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

          ประเภทแรก อีกไม่นานต้องตายแน่ๆ ถ้าจะไปเยี่ยม ต้องคิดว่าจะแนะนำอย่างไร ให้คนป่วย และคนเฝ้าไข้ รู้วิธีส่งผู้ป่วยไปสู่เทวโลก

หลักสำคัญที่พระบรมศาสดาตรัสให้ไว้ คือ จิตเต อสังกิลิฎเฐ สุคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวัง จิตจะผ่องใสด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

๑. จิตผูกพันอยู่กับบุญ มี ๒ อย่าง คือ
      ๑.๑ บุญในอดีตที่เคยทำมาแล้ว ถ้ามีใบอนุโมทนาบัตรที่ทางวัดเคยออกให้ ตอนที่ผู้ป่วยไปทำบุญ ให้เอามาอ่านให้ผู้ป่วยนึกถึงบุญ หรือมีรูปภาพงานบุญที่ผู้ป่วยเคยไปทำเอาไว้ ให้เอามาให้ผู้ป่วยดู เพื่อให้นึกถึงบุญ

      ๑.๒ บุญปัจจุบัน วันต่อวัน ถ้าผู้ป่วยยังพอช่วยตัวเองได้ ก็พามาใส่บาตร ถ้าช่วยตัวเองไม่ได้ ก็หาอาหารแห้งที่ไม่รบกวนผู้ป่วยมาให้ผู้ป่วยอธิษฐาน แล้วนำไปใส่บาตร ถ้ามีพระประจำตระกูลหรือมีพระสงฆ์ที่คุ้นเคยก็นิมนต์ท่านมารับบาตร ถ้าพระไม่ได้มาบิณฑบาตก็เอาปัจจัยให้ผู้ป่วยอธิษฐาน แล้วใส่กล่อง หรือซอง สะสมไปทุกวัน เมื่อมีญาติมิตรที่จะไปทำบุญมาเยี่ยม ก็ฝากไปทำบุญ แล้วเอาใบอนุโมทนาบัตรติดกลับมาให้ในวันหลัง

๒. จิตผูกพันกับพระรัตนตรัย เช่น หาภาพหลวงพ่อ หลวงปู่ หรือภาพพระประธานที่ผู้ป่วยเคยสร้าง หรือมีจิตศรัทธามาใส่กรอบ วางไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย ให้ผู้ป่วยหลับตาแล้วนึกถึง และหา MP3 เสียงสวดมนต์ นำนั่งสมาธิ ธรรมเทศนา ที่ฟังแล้วสบายใจ มาเปิดให้ฟัง ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้ว ก็เอาหูฟังใส่ที่หู ให้ฟังไปเรื่อยๆ

           ทั้ง ๒ ประการ คือ ให้จิตผูกพันอยู่กับบุญและพระรัตนตรัย จะทำให้จิตของผู้ป่วยผ่องใส

           คนไข้ประเภทที่ ๒ แล้วแต่เวลากับอารมณ์ ถ้าไม่สะดวก ก็โทรไปเยี่ยม เพราะยังไงก็หาย

           ส่วนคนไข้ประเภทที่ ๓ ต้องได้หมอดี ยาดี ทันเวลาจึงจะรอดได้

          จากนี้ไป ถ้าได้ยินว่าญาติมิตรป่วย ก็แยกแยะดูว่าจะทำยังไงดี แล้วอย่าลืมแยกแยะตัวเราเอง เวลาป่วยด้วยล่ะ !!!

 

กิเลสเพื่อนซี้ที่ไม่รู้จัก

650225_p071.jpg

          กิเลส เป็นศัพท์เฉพาะ มีอยู่ในพระไตรปิฎกเท่านั้น ผู้ที่เห็นกิเลสเป็นท่านแรก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในยามปลายของคืนวันตรัสรู้พระมหาบุรุษทรงบรรลุอาสวักขยญาณ หมายถึง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

           กิเลส คือ ธาตุละเอียดที่สกปรก นอนเนื่องอยู่ในใจของสรรพชีวิตมานาน

           พระบรมศาสดาตรัสแยกแยะกิเลสไว้ ๓ ตระกูล คือ

๑. ราคะ หรือโลภะ

๒. โทสะ

๓. โมหะ

          กิเลสแม้มีอยู่ แต่ตาภายนอกมองไม่เห็น เห็นได้ด้วยตาภายใน ตาภายนอกเห็นได้แต่อาการ อุปมาเหมือนกระแสไฟฟ้า แม้มีอยู่ปอกเปลือกสายไฟออก ก็มองไม่เห็นกระแสไฟ เห็นได้แต่อาการของกระแสไฟ เช่น กระแสไฟเข้าไปในหลอดไฟ หลอดไฟก็สว่าง ความสว่างไม่ใช่กระแสไฟ เป็นอาการของกระแสไฟ ที่เข้าไปในหลอดไฟ

          พระบรมศาสดาทรงอธิบายถึงความแตกต่างของกิเลสไว้ว่า

          ราคะ มีโทษน้อย คลายตัวช้า เกิดขึ้นแล้ว จะมีอาการอยากได้มาเป็นของตน คลายตัวช้า คือ ถ้าผูกพันมากก็ติดข้ามชาติไปได้ เช่น บุพเพสันนิวาส เป็นต้น

           โทสะ มีโทษมาก คลายตัวเร็ว เกิดขึ้นแล้ว จะมีอาการอยากทำลายประโยชน์ และความสุขของคนอื่น เช่น ด่า ทำลาย ทำร้าย เป็นต้น

          โมหะ มีโทษมาก คลายตัวช้า เกิดขึ้นแล้ว ทำให้หลงผิดหลงไหล หลงลืม เป็นต้น ติดตามตัวเป็นจริต อัธยาศัยข้ามชาติ

           โทสะมักจะออกอาการในวัยเด็ก สังเกตเด็กๆ ถ้าเกิดอาการขัดใจ ไม่ได้ดังใจ ก็จะแสดงอาการไม่พอใจในทันที คือ ไม่สามารถทนทานต่อความขัดใจได้ เช่น กรีดร้อง ด่า ทุบ ทำลาย ทำร้าย เป็นต้น

            ราคะมักจะออกอาการในวัยหนุ่มสาว ชีวิตของชาวโลกอยู่ในกามภพ คือ ภพของสัตว์ผู้มีใจข้องในกามคุณ หมายถึง ชอบรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ประณีต ที่ชอบใจ ดังนั้น พอเริ่มเข้าวัยหนุ่มสาวก็จะแสวงหาคน สัตว์ สิ่งของที่ประณีตที่ชอบใจ

            ส่วนโมหะมักจะออกอาการในบั้นปลายของชีวิต คือ ถ้าตลอดชีวิตที่ผ่านมา คุ้นเคยกับความคิดผิดๆ คำพูดผิดๆ หรือการกระทำที่ผิดๆ ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ถึงบั้นปลายชีวิต จะหาทางแก้ไข เป็นเรื่องที่ยากมาก

          เพราะจะหาคนที่มองข้อบกพร่องออกก็ยาก เพราะต้องอยู่ใกล้ชิด ต้องคุ้นเคย รู้แล้วจะกล้าบอกก็ยาก เพราะกลัวเขาโกรธ บอกแล้วจะ
ยอมรับก็ยาก ยอมรับแล้ว รู้วิธีจะแก้ไขก็ยาก

           รู้วิธีแก้ไขแล้ว จะมีแรงบันดาลใจ ที่จะแก้ไขก็ยากอีก

          เรื่องไม่ดีอย่างเดียวกัน ถ้าเป็นเด็ก หรือวัยรุ่น จะแก้ไขได้ง่ายกว่าผู้สูงวัย เพราะยังติดเป็นนิสัยไม่หนาแน่น นี่แหละผู้สูงวัย โมหะ ออกอาการได้มากกว่าวัยอื่น มีโทษมาก คลายตัวช้า

           กิเลสจะตามเราไปตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภายในภพ คอยบังคับให้สรรพชีวิตทำกรรม มีผลของกรรม คือ วิบาก ทำให้วนเวียนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสาร

           ที่ว่ากิเลสเป็นเพื่อนซี้ คือ ตายแล้วก็ยังติดตามไปทุกภพทุกชาติ ถ้าไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่ได้ใช้โยนิโสมนสิการก็จะไม่รู้จัก ถึงรู้จักก็ไม่เคยเห็น จะเห็นกิเลสได้ต้องเจริญสมาธิภาวนาจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

           นี่แหละกิเลสเพื่อนซี้ที่ไม่รู้จัก

 

จากหนังสือ ราตรีสว่าง

พระครูวิบูลนิติธรรม (ไพบูลย์ ธัมมวิปุโล)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024786432584127 Mins