เรื่องของพระยายมราชและนายนิรยบาล

วันที่ 20 มีค. พ.ศ.2565

เรื่องของพระยายมราชและนายนิรยบาล

พระยายมราช

       พระยายมราช เป็นเจ้าของพวกเวมานิกเปรต บางทีก็ได้เสวยความสุข คือได้อยู่ในวิมาน มีต้นกัลปพฤกษ์ สวนทิพย์ เหล่านางฟ้าเป็นบริวาร บางที่ก็ได้เสวยความทุกข์จากผลกรรมของตนและรับความทุกข์ทรมานในนรกเหล่านั้นเสียเอง

        ทั้งนี้เพราะพระยายมราชเหล่านี้ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นผู้กระทำทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรม ครั้นตายลง ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา และด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมที่ประกอบไว้ ย่อมมีโอกาสบรรลุมรรคผลตามสมควร อย่างไรก็ดี ขณะเป็นเทพในชั้นจาตุมหาราชิกานี้ จะต้องได้รับทั้งผลของกุศลและอกุศล นอกจากผู้ใดได้บรรลุอริยมรรค จึงจะได้เสวยความสุขของกุศลตลอด นับเวลาที่ได้บรรลุนั้นเป็นต้นไป

            ในมหานรกขุมหนึ่ง ๆ มิใช่มีพระยายมราชองค์เดียว ความจริงอยู่ประตูละ ๑ องค์ รวมเป็นขุมละ ๔ องค์ รวมมีพระยายมราช ๓๒ องค์

 

นายนิรยบาล

        ส่วนนายนิรยบาลที่มีอยู่ในนรกเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นสัตว์นรก เกิดขึ้นด้วยการประกอบมหากุศลขั้นต่ำไว้ในขณะเป็นมนุษย์ จึงมาเกิดเป็นเทวดาชั้นต้น จาตุมหาราชิกา มีชาติกำเนิดเป็นรากษส ที่ได้รับผลต้องมาปฏิบัติหน้าที่ลงโทษทรมานสัตว์นรก เนื่องจากในระหว่างที่ดำรงชีวิตเป็นมนุษย์ แม้จะมีการบำเพ็ญกุศลอันใดก็ตาม ก็ยังมีใจยินดีในการลงโทษ หรือเบียดเบียนหรือทรมานหรือฆ่าสัตว์อื่นรวมอยู่โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกุศลกรรมชั้นต่ำรวมกับความพอใจในการชอบเบียดเบียนดังกล่าว ทำให้เกิดในนิรยภูมิเป็นนายนิรยบาล มีร่างกายใหญ่โตเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เบียดเบียนสัตว์นรก เป็นผู้ที่มีกำลังมากกว่าสัตว์นรก แสดงกิริยาดุร้าย ทำให้เป็นที่สะดุ้งตกใจกลัว

         พวกกา แร้ง เหยี่ยว สุนัข เป็นต้น ที่เกิดอยู่ในนรก มีหน้าที่ลงโทษสัตว์นรกเหล่านี้ ก็มีร่างกายใหญ่โต แสดงกิริยาดุร้ายน่ากลัว เป็นประเภท นกแร้งยักษ์ กายักษ์ เหยี่ยวยักษ์ และสุนัขยักษ์ ไม่ใช่เดรัจฉานธรรมดา

            ภายในมหานรก ๘ ขุม ไม่มีนายนิรยบาลอยู่ประจำ เพราะที่นั่นไม่มีที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่อยู่ของเหล่านายนิรยบาลอยู่ที่อุสสทนรก ส่วนเครื่องทรมานต่าง ๆ ก็ดีสถานที่อันปราศจากความสุขสบายทั้งหลาย มีแต่ความทุกข์เหล่านั้นก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยมีอกุศลกรรมของสัตว์นรก เป็นปัจจัยเครื่องอุดหนุนให้เกิด

 

เรื่องของพระยายมราชและนายนิรยบาล

          มนุษย์เมื่อเวลาตายมิใช่ถูกนายนิรยบาลพาไปพบพระยามราชเพื่อตัดสิน ไต่ถามก่อนการรับโทษในนรกทุกคนไป เป็นเฉพาะบางคนบางพวกเท่านั้น คือ

           โดยปกติแล้วคนเราในโลกที่เห็นกันอยู่นี้ มีอัธยาศัยและความประพฤติดีเลว กระด้าง ประณีต แตกต่างกันออกไป พอจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท

๑. ประเภทแรก ชอบใจในการบำเพ็ญกุศลมาก

๒. ชอบทั้งกุศลและอกุศลปะปนกันไป ประมาณไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

๓. ชอบทางอกุศลมากกว่ากุศล

๔. ชอบแต่ทางอกุศลฝ่ายเดียว

              เมื่อจิตใจมนุษย์ต่างระดับกันดังนี้ เมื่อถึงเวลาตาย ความเป็นไปย่อมแตกต่างกัน

              พวกที่ ๑ ขณะใกล้ตาย ย่อมระลึกนึกถึงเรื่องที่เป็นกุศลอันตนได้เคยประกอบไว้ได้มาก บุคคลเหล่านี้ย่อมพ้นจากการไปเกิดในอบายภูมิทั้งสี่

             พวกที่ ๒ บุคคลพวกนี้ยามใกล้ตาย ตนเองพยายามระลึกถึงบุญกุศลให้มากเข้าไว้หรือมีผู้อยู่ใกล้ช่วยเตือนสติให้ระลึกถึงกุศลกรรมนั้น ๆ ก็สามารถช่วยให้พ้นจากอบายได้เหมือนกัน เว้นไว้แต่ตนเองไม่พยายามนึก ทั้งไม่มีญาติพี่น้องผู้ใดเตือนให้นึก จิตใจจึงมีแต่ความกลุ้มใจเสียใจห่วงใยทรัพย์สมบัติผู้คน หรือเรื่องกังวลอื่น ๆ ตายแล้วย่อมเข้าสู่อบายภูมิ

           พวกที่ ๓ พวกนี้มีอกุศลอาจิณกรรม คือบาปที่กระทำสั่งสมอยู่เป็นนิจ มากกว่ากุศลเมื่อใกล้ตาย ลำพังตนเองแล้ว ไม่มีหนทางใดที่จะนึกถึงกุศลกรรมได้ การที่จะให้คนธรรมดา เช่นญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิด ก็ไม่สามารถเตือนสติให้ระลึกได้โดยง่าย การช่วยเตือนสติเพียงแค่ธรรมดาไม่มีกำลังรุนแรงพอที่จะสามารถกลับใจผู้ใกล้ตายนั้นให้เปลี่ยนมารับอารมณ์ที่เป็นกุศลได้ ต้องช่วยเหลือกันอย่างแข็งกล้าเป็นพิเศษจริงๆ พอจะช่วยได้

           พวกที่ ๔ พวกนี้ตายแล้วไม่พ้นจากการไปสู่อบายภูมิได้เลย ยกเว้นจะได้รับการช่วยเหลือจากท่านผู้มีบุญบารมีแก่กล้าแท้จริง เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวกเท่านั้น นอกจากนี้ตนเองก็จะต้องเป็นผู้มีกุศลอปราปริยเวทนียกรรม (กุศลกรรมที่เคยสร้างสมไว้ในชาติก่อน) ที่มีกำลังมาก จึงจะพอพ้นจากอบายภูมิ

         ในบุคคลใกล้ตายทั้ง ๔ ประเภทนี้ พวกที่ ๑ ตายแล้วไปสู่สุคติภูมี พวกที่ ๔ ไปสู่ทุคติภูมิโดยทันที ไม่ได้พบนายนิรยบาลและพระยายมราชแต่ประการใด

        ส่วนพวกที่ ๒ และที่ ๓ ถ้าระลึกถึงกุศลกรรมไม่ได้ จะต้องไปสู่นรกแล้ว จะมีโอกาสได้พบพระยายมราชเพื่อทำการไต่ถาม และช่วยตนเองให้พ้นจากนรกอีกครั้ง หากได้สติตอบคำถามของพระยายมราชได้ถูกต้อง

 

เรื่องของพระยายมราชและนายนิรยบาล

คำถามของพระยายมราช เป็นคำถามเกี่ยวกับเทวทูต ๔ อย่างคือ

๑. ความเกิด เทวทูตที่เป็นตัวแทนให้เราพบเห็นคือ เด็กทารกแรกเกิด

๒. ความแก่ ได้แก่ คนชรา

๓. ความเจ็บ ได้แก่ ผู้ป่วยไข้

๔. การถูกลงโทษตามกฎหมาย ได้แก่ คนต้องราชทัณฑ์

๕. ความตาย ได้แก่ คนตาย

         (เทวทูต ๕ อย่าง ของพระยายมราชต่างกับเทวทูต ๔ ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยานพบเทวทูต ครั้งนั้นพบเห็นสมณะ แทนคนต้องราชทัณฑ์)

              พระยายมราชจะถามว่า เมื่อครั้งยังอยู่ในมนุษย์โลกเคยเห็นเทวทูตเหล่านี้บ้างหรือไม่

              เมื่อเห็นแล้วเคยนึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับตนเอง

            ถ้าบุคคลนั้น ๆ ตอบว่าเคยเห็น และนำมาคิดพิจารณาเทียบเคียงว่าตนเองก็จะต้องมีสภาพเดียวกัน จึงได้พยายามสร้างทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางพ้นไปจากความทุกข์เหล่านั้น ในขณะตอบพระยายมราชนี้บังเอิญให้นึกถึงกุศลที่ตนเคยประกอบไว้ได้ จะพ้นจากการต้องไปตกนรกทันที แต่ถ้าระลึกไม่ได้ คงตอบไปแต่เรื่องยินดีพอใจ สนุกสนานไปตามวิสัยธรรมดาของโลก พระยายมราชจะถามเตือนด้วยเทวทูตอย่างที่ ๒ ที่ ๓เรื่อยไปตามลำดับ เพื่อช่วยให้พยายามนึกถึงบุญกุศลให้ได้ เมื่อผู้นั้นนึกไม่ได้จริง ๆ พระยายมราชจะช่วยเตือนสติให้อีกครั้งว่าเคยทำกุศลสิ่งใดไว้บ้าง ทั้งนี้ด้วยเหตุที่สมัยบุคคลเหล่านั้นประกอบการกุศลดังกล่าวมักจะแผ่ส่วนกุศลให้พระยายมราชด้วย (ถ้าหากไม่ได้แผ่ส่วนกุศลให้พระยายมราชไว้ พระยายมราชย่อมนึกถึงกุศลของผู้นั้นไม่ออกเช่นเดียวกัน)

 

เรื่องของพระยายมราชและนายนิรยบาล

            เมื่อพระยายมราชเตือนสติและผู้นั้นระลึกถึงกุศลกรรมของตนขึ้นมาได้ และกล่าวตอบพระยายมราชไป ย่อมจะพ้นจากนรก ส่วนบุคคลที่ตนเองนึกถึงกุศลกรรมใด ๆ ไม่ออกจริง ๆ แม้พระยายมราชจะถามเตือนด้วยเรื่องเทวทูตจนครบทั้งห้าแล้วประกอบทั้งตนไม่เคยอุทิศแผ่ส่วนกุศลใดให้พระยายมราชเลย เป็นเหตุให้พระยายมราชไม่สามารถนึกถึงกุศลกรรมนั้น ๆ นำมาเตือนสติได้ ผู้นั้นก็จำต้องตกลงสู่นรกโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง

              การช่วยเตือนสติให้นึกถึงกุศลกรรมที่พระยายมราชกระทำจึงเป็นเหตุ

              การระลึกตามได้ของบุคคลนั้น ๆ จึงเป็นผล

              การระลึกถึงกุศลเป็นเหตุ

              การพ้นจากนรกจึงเป็นผล

            สำหรับสัตว์ที่มิได้ประกอบกุศลกรรมไว้บ้างเลยในสมัยเป็นมนุษย์เหล่านี้ เมื่อพระยายมราชหมดหนทางช่วยเหลือ จึงกล่าวว่า “ท่านไม่ได้กระทำความดี ทางกาย ทาง วาจา และทางใจไว้เลย เพราะมัวประมาทมัวเมาเสีย ท่านจำต้องถูกนายนิรยบาลลงโทษบาปกรรมอันนี้มิใช่ผู้ใดอื่นทำให้ท่านเลย เป็นของท่านทำของท่านไว้เอง จึงต้องรับโทษของกรรม"

             จากพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๒๙ หน้า ๔๔๒ และ เล่ม ๓๐ หน้า ๓๐๖ กล่าวถึงเรื่องในมหานรกไว้ถึงการลงโทษที่นายนิรยบาลกระทำต่อสัตว์นรกในมหานรก มีประการต่าง ๆ เช่น

               - ทำกรรมกรณ์เครื่องจองจำ ๕ ประการ คือตรึงตะปูเหล็กที่ร้อนแดงด้วยไฟตรงมือสองข้าง เท้าสองข้าง และที่กลางทรวงอก

               - จับสัตว์นรกขึงพืดนอนลงแล้วเอาผึ้ง (เครื่องมือกากไม้ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายจอบ) ถาก

               - จับเอาเท้ายกขึ้น ห้อยศีรษะลงข้างล่าง แล้วถากด้วยพร้า

               - เอาเทียมเข้าที่รถ แล้วให้รถลากวิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่ไฟติดลุกโซนมีเปลวร้อนโชติช่วง

               - ต้อนให้ปืนขึ้น ๆ ลง ๆ บนภูเขาถ่านเพลิงใหญ่มีไฟลุกโพลงทั่วไป

               - จับเท้ายกขึ้น พุ่งหัวลงไปในหม้อเหล็กที่บรรจุของเดือดพล่าน ร่างสัตว์นรก จะถูกพัดกลับไปกลับมาทั้งข้างล่าง ข้างบน ข้างขวางในหม้อนั้น

            การลงโทษเหล่านี้ สัตว์นรกได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวดเม็ดร้อนเป็นที่สุดแต่กระนั้นก็ไม่ตาย ต้องทนรับการลงโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าจะหมดหนี้กรรม และไม่สามารถหนีพ้นจากนรกนั้น ๆ ได้ เพราะลักษณะของมหานรกเป็นลักษณะที่คุมขัง มีกำแพงเหล็กล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ข้างบนปิดครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นล่างเป็นเหล็กมีไฟติดลุกโพลงกว้างยาวถึง ๑๐๐ โยชน์ เปลวไฟรุ่งโรจน์น่ากลัว ไฟลุกจากกำแพงเหล็กด้านหน้าไปจนจดฝาด้านหลัง ลุกจากทิศใต้ผ่านทิศเหนือ ลุกพวยพุ่งจากด้านบนลงมาด้านล่างกายของเหล่าสัตว์นรกจึงดูเหมือนเป็นกายไฟเสียเอง แม้ถูกเผาจนร้อนแดงทั้งกายก็ไม่ตาย ไฟในนรกไม่มีเถ้า ไม่มีเขม่า เกิดจากอกุศลกรรม

         นาน ๆ บางครั้งบางคราวประตูนรกแต่ละทิศจะเปิดออก สัตว์นรกจะพากันรีบวิ่งไปที่นั่นทั้งที่มีไฟลุกติดตามเนื้อตัว ไหม้เนื้อหนังเอ็นกระดูกอยู่ดังนั้น พอวิ่งไปใกล้จะถึง ประตูกลับปิตลงออกไปไม่ได้

           มีบางคราวประตูไม่ปิดทันที บางพวกหนีออกไปได้ กลับต้องพบนรกขุมย่อยที่อยู่ล้อมรอบ ในนรกนั้นเต็มไปด้วยคถ ในคูถมีสัตว์ที่มีปากดังเข็มเจาะไชซอนเฉือนเข้าไปในผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เข้าไปกินเอาเยื่อในกระดูก

               รอบนรกคูถ มีนรกเถ้าดึง (ถ่านที่ติดไฟค มีขี้เถ้าปิดคลุมอยู่) อยู่ล้อมรอบ

             รอบนรกเถ้ารึ่ง มีนรกป่างิ้วใหญ่ล้อมรอบ ต้นสูงชะลูดขึ้นไป ๑ โยชน์ มีหนามยาวถึง ๑๖ องคุลี ที่หนามมีไฟลุกโพลงติดทั่ว นายนิรยบาลบังคับให้สัตว์นรกปีนป่ายขึ้น ๆ ลง ๆ ที่ต้นงิ้วนั้น

               รอบนรกป่างิ้ว เป็นนรกป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบใหญ่ มีลมพัดใบไม้ตัดมือ เท้า จมูก สัตว์นรก

           รอบนรกป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบ เป็นแม่น้ำต่างสายใหญ่อยู่ล้อบรอบ สัตว์นรกที่ตกลงไปทั้งไหลตามกระแสและลอยทวนกระแส น้ำที่เป็นด่างย่อมทำให้สัตว์นรกได้รับทุกขเวทนากล้า

            ที่แม่น้ำนี้เอง นายนิรยบาลจะพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์นรกขึ้นมาวางไว้บนบกแล้วถามถึงความต้องการ สัตว์นรกบางพวกบอกว่าหิว นายนิรยบาลจะเอาเหล็กร้อนมีไฟลุกติดโพลงเกี่ยวให้ปากเปิดออก แล้วเอาก้อนโลหะที่มีไฟลุกติดทั่วใส่เข้าไปในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ตั้งแต่ริมฝีปาก ปาก คอ ท้อง พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ไหลออกมาทางเบื้องล่าง ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แต่ไม่ตาย

            ถ้าสัตว์นรกตอบว่ากระหาย นายนิรยบาลก็จะเอาน้ำทองแดงร้อนลุกเป็นไฟกรอกเข้าไปในปาก ได้รับทุกข์แสนสาหัส

          อายุของมหานรกมีกำหนดประมาณไว้ไม่เท่ากัน ส่วนอายุของสัตว์นรกไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุของขุมนรกที่ตนเองตกไปเสวยทุกข์อยู่ แต่ขึ้นอยู่กับอกุศลกรรมที่ตนเองประกอบไว้ ถ้าเป็นอกุศลกรรมหนักมาก อาจต้องเสวยทุกข์อยู่ถึงอสงไขยปี ถ้าเป็นอกุศลกรรมเบา ๆ อาจเป็นสัตว์นรกอยู่เพียง ๑ ชั่วโมง หรือ ๑ วัน ๒ วันก็มี หรือบางทีสัตว์นรกที่กำลังเสวยทุกข์อยู่นั้น เกิดสามารถระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนเคยสร้างไว้ได้ ก็จะสามารถพ้นจากสัตว์นรก ไปบังเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาตามสมควรแก่กุศลกรรมที่นึกได้ เช่นเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เคยถวายจีวรพระภิกษุสงฆ์ หรือถวายจีวรห่มพระพุทธเจดีย์ เมื่อใกล้ตายนึกถึงกุศลกรรมนี้ไม่ได้ อกุศลอื่นนำไปเกิดอยู่ในนรก ครั้นเห็นเปลวไฟในนรกมีสีคล้ายสีของผ้าจีวรที่ตนเคยทำกุศลไว้ ทำให้ระลึกถึงกุศลกรรมนั้นได้ ก็เป็นเหตุให้พ้นจากนรกทันที ในกรณีดังนี้อาจจะตกนรกเพียงครู่เดียว

 

อกุศลกรรม

          อกุศลกรรมที่พาให้สัตว์ตกนรกนั้นมี ๓ ทางคือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่เป็นอกุศลมีโทษ ไม่สม่ำเสมอ ไม่สะอาด คือ อกุศลกรรมบถ  ๑๐ ได้แก่

กายกรรม ๓ คือ 

- เป็นผู้เบียดเบียนชีวิตสัตว์ให้ตายลง
- เป็นผู้ยึดถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต
- เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือประพฤติลามกในการเสพเมถุน


วจีกรรม ๔ คือ 

- พูดปด
- พูดส่อเสียด
- พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ


มโนกรรม ๓ คือ

- เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนเองโดยไม่ชอบธรรม
- พยาบาท ปรารถนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
- มีความคิดเห็นที่วิปริตผิดทำนองคลองธรรม

         อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีโทษหนักเบาต่างกัน มิจฉาทิฏฐิอันเป็นข้อมีสุดท้ายนั้น สามารถเป็นเหตุให้ประกอบอกุศลกรรมหนักได้มากที่สุด

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010442018508911 Mins