เรื่องการทําสงครามของเทวดาชั้นตาวติงสา (ดาวดึงส์) กับเทวอสุรา ๕ จำพวก

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2565

เรื่องการทําสงครามของเทวดาชั้นตาวติงสา (ดาวดึงส์) กับเทวอสุรา ๕ จำพวก


เราคือใคร, Who we are, ถวิล วัติรางกูล, เกิดมาทำไม, ตายแล้วไปไหน, ภูมิมนุษย์, มนุษย์, เกิด แก่ เจ็บ ตาย, ภพภูมิ, กิเลส, ตัวเรา, รูปธรรม, นามธรรม, ดวงจิต, สรรพสัตว์, จักรวาลและภูมิ ๓๑, เวียนว่ายตายเกิด, จักรวาล , อบายภูมิ ๔ , นรก , เดรัจฉาน , เปรต , อสุรกาย, เรื่องของพระยายมราชและนายนิรยบาล , พญายม , นายนิรยบาล, เรื่องการทําสงครามของเทวดาชั้นตาวติงสา (ดาวดึงส์) กับเทวอสุรา ๕ จำพวก

             ในสมัยต้นกัป เทวโลกชั้นตาวติงสานั้นเป็นที่อยู่ของอสุรา ครั้นเมื่อมาฆมานพได้บังเกิดเป็นพระอินทร์ขึ้นในที่นั้น เห็นว่าเหล่าเทวอสุราเป็นพวกไม่สมควรอยู่ร่วมกับเทวดาทั้งปวง จึงจัดงานเลี้ยงสุราขึ้น พวกเวปจิตติอสุราเมามายมากที่สุด บรรดาพวกของพระอินทร์จึงจับพวกอสุราเหล่านี้โยนลงไปภายใต้ภูเขาสิเนรุ ซึ่งที่นั่นมีนครหนึ่งคล้ายนครบนตาวติงสาภิภพ ต่างกันตรงที่มีต้นไม้ประจำพิภพคนละชนิด ที่ตาวถึงสาเป็นต้นปาริฉัตตกะ (ต้นทองหลาง) ที่ใต้เขาสิเนรุเป็นต้นปาฏลี (แคฝอย) เมื่อพวกเวปจิตติอสุราถูกเหวี่ยงลงมาอยู่ในนครใต้เขาสิเนรุนี้ ยังคงเข้าใจว่าพวกตนอยู่ในเทวโลกชั้นตาวติงสาดังเดิม เพราะสถานที่ต่าง ๆ ไม่ผิดแปลกกัน จนกระทั่งเมื่อต้นแคฝอยออกดอก จึงรู้ตัวว่าถูกพระอินทร์กลั่นแกล้ง เพราะไม่ใช่ต้นปาริฉัตตกะ ต่างพากันโกรธแค้นประชุมกันจะทำสงครามแย่งตาวถึงสาเทวโลก คืนจากพวกฝ่ายพระอินทร์ เวปจิตติอสุรา จึงจัดตั้งกองทัพขึ้นเรียกว่า กองทัพอสูร

              เวลาพวกอสูรยกทัพจะยกขึ้นไปตามลำดับชั้นของภูเขาสิเนรุต้องผ่านด่านต่าง ๆนี้ทั้ง ๕ ชั้น ชั้นที่ ๑ เป็นพวกเทวดาที่มีรูปร่างเหมือนพญานาค ชั้นที่ ๒ เป็นเทวดาคือ พญาครุฑ (คฬุนะ) ชั้นที่ ๓ มีเทวดาชื่อกุมภัณฑะ ชั้นที่ 4 มีเทวดาชื่อว่ายักขะ และชั้นที่ ๕ มีเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ทั้งหมดนี้ต่างพากันรักษาพื้นที่เวียนรอบตามลำดับชั้นของตน เมื่อกองทัพอสูรยกผ่านถึงชั้นใด เทวดาตามชั้นเหล่านั้นก็พากันยกทัพออกต่อต้านแต่เนื่องจากไม่มีฤทธิ์พอเพียงจึงต้องพ่ายแพ้หนีไปทุก ๆ ชั้นจนถึงดาวดึงสาพิภพ มาฆะพระอินทร์ต้องยกกองทัพออกสู้รบเอง

           การทำสงครามระหว่างพระอินทร์กับอสูรนั้น ไม่เหมือนสงครามในเมืองมนุษย์ซึ่งมีการตาย การบาดเจ็บ สงครามในเทวโลกไม่มีการตาย การบาดเจ็บ เหมือนรูปหุ่นรบกันฝ่ายใดสู้ไม่ไหวก็พากันหลบหนีเข้าไปในนครของตน แล้วพากันปิดประตูนครเสียทั้ง ๔ ทิศ อีกฝ่ายก็ต้องล่าถอยเพราะไม่สามารถทำลายประตูได้ แม้นครของพวกอสูรที่มีลักษณะ ดังนี้เช่นเดียวกันจึงเรียกนครชนิดนี้ว่า “อยุชฌปุรนคร” แปลว่านครที่สามารถป้องกันเหตุอันตรายที่เกิดจากภายนอกได้

        สงครามระหว่างพระอินทร์กับอสูรนี้ ต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตั้งแต่ต้นกัปเรื่อยมาจนสมัยพุทธกาล และจนกระทั่งบัดนี้ ยังทำสงครามกันอยู่เสมอ เมื่อดอกแคฝอยบานเหล่าอสูรย่อมคิดแค้นยกกองทัพไปทำสงครามอยู่ทุกครั้งไป

              ในสมัยพุทธกาล มีบุรุษผู้หนึ่งนั่งพักผ่อนอยู่ริมขอบสระโบกขรณีได้มองเห็นกองทัพอสูรพรั่งพร้อมด้วยพลรบทั้ง ๔ เหล่า พลช้าง พลม้า พลรถ พลเท้า กำลังแตกพ่ายหนีทัพหลบมา พอถึงสระโบกขรณีก็พากันเนรมิตตัวให้เล็กลง แล้วเข้าไปอยู่ในดอกบัวจนหมดทั้งกองทัพ บุรุษนั้นเห็นเรื่องอัศจรรย์เหลือวิสัยเช่นนั้นคิดว่าตนเองคงเสียสติเป็นบ้าแน่แล้ว จึงได้นำเรื่องราวที่ตนพบทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสตอบยืนยันว่าเป็นความจริงเป็นกองทัพของอสูรพ่ายหนีพวกพระอินทร์ เมื่อพากันซ่อนตัวในดอกบัวแล้ว ก็จะพากันเดินทางเล็ดลอดกลับยังนครของตน ณ ภายใต้เขาสิเนรุ

            ที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นทั้งหมดนี้ เป็นการกล่าวถึงอบายภูมิ ๔ เรียกว่า ทุคติภูมิ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เป็นทุคติภูมิโดยตรง ส่วนติรัจฉานเป็นการเรียกโดยอ้อม เพราะติรัจฉานบางจําพวก เช่น พญานาค ราชสีห์ พญาช้างฉัททันต์ พญาครุฑ เหล่านี้ล้วนแต่มีฤทธิ์มากและมีความสุข อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความสุขมากเพียงใดก็ได้ชื่อว่าเป็น อาภัพพสัตว์ ไม่สามารถบรรลุคุณธรรม เบื้องสูง คือมรรคผล นิพพานได้

          สำหรับคำว่าเปรต ในที่บางแห่งใช้เป็นที่เรียกรวมสัตว์ทั้ง ๓ ภูมิ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เพราะถือเอาความหมายที่ว่า รูปร่างสัณฐานของสัตว์ทั้งสามจำพวกนี้เป็นอนิฏฐารมณ์ คือไม่น่าดูน่าชม และการจุติจากภาพเดิมมาเกิดในภพใหม่เป็นการเกิดโดยปรากฎร่างกายโตใหญ่ทันที จึงเรียก “เปรต” เหมือนกันทั้ง ๓ ภูมิ

 

        สัตว์มีดมาก่อนซ้ำ มือใหม่ ไปแล
มืดเก่าอนาคตใส สว่างไว้
สว่างมาก่อนกลับไป มืดหม่น
มาสว่างไปสว่างได้ ช่วยด้วยพุทธธรรม

อังคาร กัลยาณพงศ์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017438634236654 Mins