บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

วันที่ 02 เมย. พ.ศ.2566

บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
อาการกายวาจาอย่างอื่น
ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้
ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้

บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า
อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

อญฺโญ เม อากปุโป กรณีโย

      อากัป คือ กิริยาหรือมารยาทของสมณะ เช่น การยืนการเดิน การนั่ง การนอน การนุ่ง การห่ม เป็นต้น ตลอดจนมารยาททางสังคมของผู้ดีที่ควรแก่สมณะ ซึ่งภิกษุจำเป็นต้องศึกษาเพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และทำให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป

      ต้นแบบของมารยาทไทยและคุณสมบัติของผู้ดี ส่วนใหญ่ก็นำมาจากเสขิยวัตรในพระวินัยของพระภิกษุ ซึ่งผู้ที่เป็นต้นแบบอย่างดียิ่งของสมณะคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พุทธลีลาแห่งพระอิริยาบถ โดยมีผู้ที่เฝ้าสังเกตดูพระอิริยาบถของพระองค์แล้วบรรยายไว้ ดังปรากฏในพรหมายสูตร๑๓ ว่า

      เมื่อจะเสด็จดำเนิน (เวลาเดิน) ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก เสด็จดำเนินพระชานุ (เข่า) ไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอูรุ (โคนขา ขาอ่อน) สูง ไม่ทรงทอดพระอูรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอูรุ ไม่ทรงส่ายพระอูรุ เมื่อเสด็จดำเนินพระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย (พระบาทก้าวไปแต่พระกายยังตรงอยู่)

บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

      เมื่อทอดพระเนตร ก็ทอดพระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด ไม่ทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ลงเบื้องต่ำ เบื้องขวาง๑๔ ขณะเสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแลทิศใหญ่ ทิศน้อย อย่างนั้น ทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก (๔ ศอกหรือประมาณ ๒ เมตร)

      ยิ่งกว่านั้น เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยึดพระกาย ไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งเท้าพระหัตถ์ (เท้าแขน) ไม่ทรงพิงพระกายที่อาสนะ

      เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ (ชันเข่า) ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท (นั่งไขว้เท้า นั่งไขว่ห้าง) ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ (เท้าคาง) เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหวไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน (ไม่ขนลุก) ทรงเวียนมาในวิเวก (มีอาการสงบ)

      เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก

      ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์ มือ) เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้วก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น

      เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนักทรงรับกับข้าวมาในปริมาณพอดีกับข้าวสวย

      ไม่ทรงทำกับข้าวให้เกินกว่าคำข้าว ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอษฐ์ (ปาก) สองสามครั้งแล้วทรงกลืน ข้าวยังไม่ละเอียดไม่ทรงกลืนลงไปไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์แล้วจึงน้อมคำข้าวอีกคำหนึ่งเข้าไป ทรงมีปกติกำหนดรสอาหารแล้วเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงติดในรส

      เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ 
๑) ไม่เสวยเพื่อเล่น 
๒) ไม่เสวยเพื่อมัวเมา 
๓) ไม่เสวยเพื่อประดับ 
๔) ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง 
๕) เสวยเพียงดำรงพระกายไว้ 
๖) เพื่อยังพระชนม์ชีพให้เป็นไป 
๗) เพื่อบำบัดความหิว 
๘) เพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยทรงพระดำริว่า เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่าได้จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไปสะดวก จักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สําราญ

      เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตรไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้นทรงล้างบนพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้วก็เป็นอันล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น

      เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจนเกินไป เมื่อเสวยเสร็จแล้วประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ทรงปล่อยให้เวลาแห่งการอนุโมทนาล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้น ไม่ทรงหวังภัตอื่นทรงชี้แจงให้บริษัท (ผู้ฟัง) นั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา๑๕

      ครั้นแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จไป ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติดพระกาย ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกายทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้ ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง

      ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงใส่พระทัยเพื่อประดับตกแต่งพระบาท ทรงล้างพระบาทแล้วประทับนั่งคู่บัลลังก์ ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายประทับนั่งทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง

      เมื่อประทับอยู่ในพระอารามทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
      ๑) สละสลวย 
      ๒) รู้ได้ชัดเจน 
      ๓) ไพเราะ 
      ๔) ฟังง่าย 
      ๕) กลมกล่อม
      ๖) ไม่พร่า 
      ๗) พระสุรเสียงลึก 
      ๘) มีกังวาน บริษัทจะมีเท่าไรก็ทรงทำให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท

      ชนทั้งหลายที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว เมื่อลุกจากที่นั่งไป ยังเหลียวดูโดยไม่อยากจะละไป ต่างรำพึงว่า เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเสด็จดำเนิน ประทับยืน เสด็จเข้าละแวก เสวยเสร็จแล้วประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนาเมื่อเสด็จกลับมายังพระอาราม เมื่อเสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่งนิ่งอยู่ เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม กำลังทรงแสดงธรรมในบริษัทท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงพระคุณเช่นนี้ ๆ และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น

      ที่กล่าวมาข้างนี้ เป็นพระอิริยาบถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นต้นแบบที่ดีงาม ซึ่งพระภิกษุควรศึกษาไว้เป็นแบบอย่างอย่างไรก็ตาม การฝึกสำรวมในอากัปกิริยาของพระภิกษุ ต้องศึกษาตามลำดับในอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ก่อน แล้วแจกแจงอิริยาบถย่อยให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อเป็นการเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะให้เจริญมากยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

      ในอิริยาบถใหญ่ตั้งมั่น หมายถึง อิริยาบถ ๔ ที่ทำอยู่นาน ๆ เช่น ยืนนาน ๆ เดินนาน ๆ นั่งนาน ๆ นอนนาน ๆ นี้เรียกว่า อิริยาบถใหญ่ตั้งมั่น ซึ่งมีข้อปฏิบัติดังนี้

      ๑. การยืน ควรยืนตัวตรง ไม่คุ้มตัวไปข้างหน้า ไม่เอนตัวไปข้างหลัง ไม่เอียงตัวไปทางซ้ายและขวา วางเท้าเสมอกัน ยืนสงบนิ่งด้วยสติ มีตามองทอดลงชั่วแอก สำรวมอินทรีย์ หากต้องการเหลียวดู ควรพิจารณาถึงประโยชน์และโทษในการเหลียวไปดูสิ่งนั้นด้วยสัมปชัญญะ ขณะเหลียวดูให้ใช้สติประคองรักษาใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอยู่เสมอ ไม่ควรยืนไว้ท่า เดี๋ยวยืดอก เดี๋ยวสงบเสงี่ยม เดี่ยวเท้าเอวเชิดหน้า เหลียวซ้ายแลขวา มองทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง อย่างเช่นคฤหัสถ์

      ๒. การเดิน เมื่อจะเดินให้ตั้งสติ สำรวมอินทรีย์ ไม่เหลียวแลหลุกหลิก สายตามองทอดลงชั่วแอก มีใจสงบ ย่างก้าวสม่ำเสมอไม่ยาว ไม่สั้นเกินไป ไม่เร็ว ไม่ช้าเกินไป ควรใช้สัมปชัญญะกำหนดถึงประโยชน์และโทษของการไปสู่ที่นั้น ๆ แล้วเดินโดยใช้สติประคองรักษาใจไว้ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา

      ไม่ควรแสดงอาการเช่นคฤหัสถ์ คือ ยามเดินก็ดูสิ่งอื่นไปรอบทิศเหมือนเดินช้อปปิ้ง ยามย่างก้าวก็ไม่มีกำหนดแน่นอน เช่น ย่างก้าวยาวๆ เร่งร้อนออกอาการกระหืดกระหอบ หรือก้าวสั้นเกินไปออกอาการอ้อยอิ่ง กระชดกระช้อย หรือบางทีก็วางท่าทางสง่าพึ่งผายเยี่ยงนักรบข่มขวัญศัตรู

      ๓. การนั่ง พิจารณาก่อนจึงนั่ง ไม่รีบร้อน นั่งสงบ กายตั้งตรง อกขยาย ไหล่ไม่ห่อ หลังไม่งอ คอไม่ตก ไหล่ไม่ยก ไม่แอ่นจนเกินไป ไม่เผลอสติง่าย การนั่งอย่างนี้ ทำให้กระดูกสันหลัง๑๘ ข้อจรดกัน หนัง เนื้อ และเอ็นทั้งหลายไม่โค้งงอ ทุกขเวทนาที่จะเกิดขึ้นจากการโน้มไปของอวัยวะทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้น

      เมื่อร่างกายสบาย ไม่มีทุกขเวทนา จิตย่อมสงบได้ง่าย เมื่อนั่งลงแล้วควรสํารวมมือเท้า มีตามองทอดลงชั่วแอก ไม่ลอกแลกและไม่ควรนั่งอย่างคฤหัสถ์ คือนั่งหลากหลายท่าทางตามใจชอบบางคราวก็นั่งอย่างยั่วยวน บางคราวก็เก๊กท่าให้ดูดี ทอดสายตามองหาสิ่งที่ชอบใจไปเรื่อย ๆ

บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

      ๔. การนอน พิจารณาก่อนจึงนอน ค่อย ๆ วางตัว วางมือและเท้าลงอย่างมีสติ แผ่เมตตา กำหนดกรรมฐานก่อนนอน คือ อสุภะ มรณสติ และเมตตาสักครู่ เพื่อป้องกันการฝันที่เกี่ยวกับกามและโทสะ ไม่นอนบนเตียงอันนุ่ม พลิกไปพลิกมา หรือนอนตรึกเรื่องกามดังเช่นคฤหัสถ์ ภิกษุควรนอนหลับกลางสภาวธรรมที่เข้าถึงเรียกว่า หลับในอู่แห่งทะเลบุญ เพื่อให้เกิดบุญกุศลและเกิดอานิสงส์แม้ขณะนอน ดังที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า

      “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัวอยู่ มีคุณ ๕ ประการ คือ
      ๑) หลับเป็นสุข
      ๒) ตื่นเป็นสุข
      ๓) ไม่เห็นความฝันอันลามก 
      ๔) เทพยดารักษา
      ๕) อสุจิไม่เคลื่อน
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับมีสติตั้งมั่น รู้สึกตัวมีคุณ ๕ ประการนี้แล"๑๖

      การเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่จะบรรลุสัมโพธิญาณได้จะต้องไม่คิดคำนึงถึงเรื่องกามทั้งหลาย ให้ยินดีในธรรมที่ทำให้ใจสงบตั้งมั่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง และนอน๑๗ หากปล่อยให้ใจนึกถึงแต่เรื่องกาม คือ ยังปรารถนาการครองเรือนอยู่เรียกว่าเป็นความหลง จะไม่สามารถบรรลุสัมโพธิญาณได้๑๘

      ดังนั้น ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ การยืน เดิน นั่ง และนอนนี้ต้องทำความเพียรอยู่ตลอด คือ การทำจิตให้ปราศจากความโลภความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความลังเลสงสัย มีสติตั้งมั่น มีกายสงบ มีสมาธิแน่วแน่ สำรวมอย่างนี้ทั้งเวลาเดิน ยืน นั่ง และนอน จะรู้หรือเหยียดอวัยวะใดก็ให้มีสติ พิจารณาความเกิดขึ้นและเสื่อมไปของขันธ์ทั้งหลายในโลกบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อให้ใจเกิดความสงบ มีสติอยู่ทุกเมื่ออย่างนี้ เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เนืองนิตย์๑๙

      นอกจากนี้ ในอิริยาบถย่อยก็ต้องทำความรู้สึกตัวทุกขณะเช่นกัน อิริยาบถย่อยดังกล่าว ได้แก่ การก้าวไป การถอย การแลการเหลียว การคู้เข้าและเหยียดออก การทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวรการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การหลับการตีน การพูด การนิ่ง ฯลฯ

      อย่างไรก็ตาม ภิกษุไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ อย่างคฤหัสถ์ คือเคลื่อนไหวโดยไม่พิจารณาก่อนว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถอย่างไร ควรวางอิริยาบถอย่างไร หรือตั้งใจเสแสร้งแกล้งทําท่าทางต่าง ๆ ด้วยมารยา

      การฝึกฝนอิริยาบถด้วยความเพียรอย่างสม่ำเสมอดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้สามารถเข้าถึงสภาวธรรมจริง ๆ ที่เป็นดวงกลมใสได้ในที่สุด

บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

      อิริยาบถที่งดงามต้องมีธรรมดวงเอกผุดขึ้น

      คำว่า “ธรรมดวงเอกผุดขึ้น” ภาษาบาลีเรียกว่า “เอโกทิภาวะ" ไม่ใช่เป็นเพียงสํานวนภาษา แต่เป็นลักษณะของการเข้าสู่สภาวธรรมจริง ๆ โดยเป็นดวงกลมใสสว่างผุดขึ้นอยู่ในกลางกายของผู้ปฏิบัติที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ค้นพบจากการเจริญภาวนา ไม่ได้ตีความจากการคิดวิเคราะห์ศัพท์ เมื่อดำเนินจิตไปในกลางกายย่อมรู้เองเห็นเองโดยมิได้ปรุงแต่งขึ้น ผู้ใดที่มีธรรมดวงเอกผุดขึ้น อิริยาบถทั้งใหญ่และย่อยจะมีความงดงาม มีความสุขตลอดเวลา สามารถเว้นจากการทําบาปทั้งหลายได้ บรรเทาวิบากจากกรรมชั่วที่เคยทำไว้ในอดีตให้เบาบางลงได้ และยังดึงดูดกรรมดีที่เคยทำไว้ในอดีตให้มาส่งผลได้ง่ายขึ้นด้วย

      จะทำได้อย่างนี้ ภิกษุต้องสำรวมกายให้ดีในทุกอิริยาบถรู้อย่างชัดเจนว่า ตอนนี้กำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง หรือนอนอยู่ไม่ว่าจะทำกิริยาอาการใด ๆ ก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียรอยู่ในธรรมอย่างนี้ จะละความคิดฟุ้งซ่านได้ จิตกำหนดอยู่ภายในกายเท่านั้น คงที่ สงบนิ่ง จนธรรมดวงเอกนั้นผุดขึ้นเรียกว่า เจริญกายคตาสติ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

      “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน หรือยืนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน หรือนั่งอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง หรือนอนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนอน หรือเธอทรงกายโดยอาการใด ๆ อยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังทรงกายโดยอาการนั้น ๆ

      ... ในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดู และเหลียวดูในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาทมีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่เป็นเจ้าเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ"๒๐

      ความจริงมารยาทของพระภิกษุยังมีอีกหลายประการ ผู้บวชจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมและฝึกปฏิบัติให้เกิดความเลื่อมใสทั้งแก่ตนเองและผู้ที่พบเห็น การฝึกอากัปกิริยาต่าง ๆ ให้สม่ำเสมอดีงามยังเป็นการช่วยเผยแผ่พระศาสนาในเบื้องต้น แม้ยังไม่ได้แสดงธรรมก็สามารถทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสได้ เหมือนดังที่อุปติสสะมาณพ (ชื่อเดิมของพระสารีบุตรเถระสมัยเป็นคฤหัสถ์) เห็นอากัปกิริยาของพระอัสสชิเถระครั้งแรกก็เกิดความเลื่อมใส ใครฟังธรรมเมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็บรรลุธรรมไปตามลำดับ

      ภิกษุจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องการสำรวมอิริยาบถ หากไม่ศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติก็ถือว่าเป็นกิริยาที่ผิดสมณสารูป เป็นการทำผิดจากจารีตที่พระศาสดาตรัสไว้ ย่อมไม่งามในท่ามกลางหมู่ภิกษุทั้งหลาย

      ดังนั้น ภิกษุจึงควรหมั่นตรวจตราและพิจารณาอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิตให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดุจพญาราชสีห์ผู้มีความเพียรในการสำรวมอิริยาบถของตนตลอดเวลา เหตุที่นำมาเปรียบกับพญาราชสีห์ เนื่องจากอุปนิสัยของพญาราชสีห์นั้น ก่อนนอนจะสังเกตบริเวณที่นอนโดยรอบก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดี ก็สังเกตว่าหาง หู และเท้าของตนนั้นวางไว้เป็นระเบียบอย่างไร แล้วจึงลงนอน

      ครั้นตื่นขึ้นมาก็สังเกตอีกว่า พื้นที่โดยรอบกระจัดกระจายหรือไม่ เท้า หาง หูของตนอยู่ที่เดิมหรือไม่ ถ้าไม่เรียบร้อยก็จะอดอาหาร เป็นการทำโทษตนเองที่นอนขาดสติ ไม่สมกับความเป็นพญาราชสีห์ จึงนอนต่อไปอย่างนั้นโดยไม่ลุกไปหาอาหาร

      วันถัดไปถ้าตื่นมาแล้วอิริยาบถเรียบร้อยอย่างเดิมเหมือนตอนก่อนนอน ก็รอดูต่อเนื่องไปอีกจนครบ ๗ วัน หากรักษาอิริยาบถของตนเช่นนี้ได้ถึง ๗ วัน จึงสมกับความเป็นพญาราชสีห์ คิดดังนี้จึงค่อยลุกไปหาอาหาร

      ดังนั้น สมณะควรมีสติระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นสมณะ มีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะเราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ ดุจดังพญาราชสีห์ผู้มีความเพียรในการสำรวมอิริยาบถ มีท่าทางสง่างามเสมอแม้เวลานอน เมื่อภิกษุฝึกกิริยาอันสมควรแก่นักบวชสม่ำเสมอดังนี้แล้ว สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญาย่อมบริบูรณ์ตามไปด้วย

บรรพชิต อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่

" การฝึกอากัปกิริยาให้สม่ำเสมอดีงาม
เป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่
พระศาสนาอย่างยิ่ง
แม้ยังไม่ได้แสดงธรรม
ก็สามารถทําให้ผู้พบเห็นเกิดกุศลศรัทธาได้ "

 

๑๓ ม.ม. พรหมายุสูตร (ไทย.มมร) ๒๑/๕๘๙-๕๙๙/๒๓๖-๒๓๙
๑๔ เวลาพระพุทธองค์ทรงต้องการทอดพระเนตรอะไร จะทรงหันไปทั้งพระวรกายเพื่อมองตรงๆ
เสมอ ไม่เหลือบมองใครด้วยหางตา สายตาไม่ลอกแลกไปมา
๑๕ ธรรมีกถา คือ ถ้อยคําหรือคําพูดที่ประกอบด้วยธรรม
๑๖ วิ.ม. (ไทย.มมร) ๗/๑๕๖/๒๙๐
๑๗ ขุ.อิติ. จรสูตร (ไทย.มมร) ๔๕/๒๙๑/๗๐๐
๑๘ สัมโพธิญาณ ในที่นี้หมายถึง ญาณอันสูงสุด คืออรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. จารสูตร (ไทย.มมร) ๓๕/๓๖)
๑๙ องฺ.จตุก. สีลสูตร (ไทย.มมร) ๓๕/๑๒/๓๖-๓๗)
๒๐ ม.อุ. กายคตาสติสูตร (ไทย.มมร) ๒๒/๒๙๕-๒๙๖/๓๘๖-๓๘๗


 

 

บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.068708900610606 Mins