การแสดงธรรมโปรดผู้นำสำคัญ

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2566

10-7-66-lsb.jpg

การแสดงธรรมโปรดผู้นำสำคัญ
๑. ผู้นําทางการปกครอง
                     โปรดพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาแคว้นโกศล

                     สมัยหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ พระองค์ทรงปฏิญาณได้หรือไม่ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม”

                     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนมหาบพิตร” เมื่อพระองค์จะตรัสโดยชอบก็จึงตรัสความว่า “ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เพราะตถาคตได้ตรัสรู้ธรรมอันยอดเยี่ยมนั้นด้วยตนเองแล้ว"

                     พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า “สมณพราหมณ์บางพวกเป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีเกียรติ มีชื่อเสียง ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถาม ก็ยังมิกล้าปฏิญาณตนได้ว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังมีชันษาอยู่ในวัยหนุ่ม และเป็นผู้ใหม่ในบรรพชิต ไฉนจึงกล้าปฏิญาณได้เล่า”
                     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนมหาบพิตร สิ่ง ๔ ประการเหล่านี้ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย คือ
๑. กษัตริย์   ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู            ไม่ควรดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ          ไม่ควรดูหมิ่นว่ากองเล็ก
๔. ภิกษุ       ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังใหม่ต่อเพศบรรพชิต


ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า
                     กษัตริย์ ได้เสวยราชสมบัติแล้ว เมื่อพิโรธย่อมทรงลงพระอาญาอย่างหนักแก่ชายหญิงได้ เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์
                     งู ที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูหมิ่นว่าตัวเล็ก เพราะงูเป็นสัตว์ที่มีพิษ พร้อมที่จะฉกกัดทำร้ายชายหญิงผู้เขลา เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน จึงงดเว้นการดูหมิ่นงูนั้นว่าตัวเล็ก
                     ไฟ แม้กองเล็ก แต่เมื่อได้เชื้อ ย่อมลุกเป็นกองใหญ่ ลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในบางคราว เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน จึงงดเว้นการดูหมิ่นไฟนั้นว่ากองเล็ก
                     ภิกษุ ผู้ใดดูหมิ่นภิกษุผู้ยังใหม่ต่อเพศบรรพชิต แต่สูงด้วยคุณธรรม เดชแห่งศีลของภิกษุย่อมทำความพินาศแก่ผู้นั้น อีกทั้งทายาทจะไม่ได้รับทรัพย์มรดก บุคคลนั้นจะเป็นผู้ปราศจากเผ่าพันธุ์ เปรียบเสมือนตาลยอดด้วน


                     เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเป็นกษัตริย์ผู้ทรงยศ งู ไฟ และภิกษุ ผู้มีศีลว่าเป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติต่อสิ่งเหล่านั้นโดยชอบทีเดียว”

                     เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจบลง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงมีพระทัยเลื่อมใสในพระรัตนตรัยด้วยเทศนานี้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงยกข้าพระองค์ซึ่งตกไปในอสัทธรรมไว้ในสัทธรรม เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ทรงเปิดพระศาสนาที่มิจฉาทิฏฐิปิดไว้ ทรงกระทำทางสวรรค์และนิพพานให้ชัดแจ้งแก่ข้าพระองค์เหมือนทรงบอกทางแก่ผู้หลงทาง ทรงชูดวงประทีป คือ พระธรรมเทศนา ที่กำจัดความมืด คือ โมหะแก่ข้าพระองค์ ผู้ไม่เห็นพระรัตนตรัย เหมือนทรงส่องประทีปในความมืด ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์โดยปริยายเป็นอันมาก ข้าพระองค์ขอถึง พระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณคมน์จนตลอดชีวิต”


                      ความเลื่อมใสของพระราชาปเสนทิโกศล
                      พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาของแคว้นโกศล เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเคารพนับถือในพระพุทธองค์อย่างแน่นแฟ้น ครั้งหนึ่ง เมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้เข้ามาหมอบกราบแทบพระบาทพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า มหาบพิตร มีอะไรหรือจึงแสดงความรักความเคารพตถาคตถึงเพียงนี้
                       พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเลื่อมใสในพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เลื่อมใสในสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ปฏิบัติดีแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวสาวัตถี พระองค์ทรงกระทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศล อยู่ในความดี"
                       นอกจากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลความเลื่อมใสในพระธรรม เทิดทูนในพระปัญญาอันยอดยิ่ง และความรักเคารพที่มีต่อพระพุทธองค์อีกหลายประการ ในที่สุดกราบทูลว่า
                       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เท่ากับอายุของหม่อมฉัน ด้วยเหตุนี้แลหม่อมฉันจึงได้มีความรัก ความเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงแสดงอาการฉันท์มิตรเช่นนี้” ตรัสดังนี้แล้ว กราบทูลลาหลีกไปเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปแล้วไม่นาน พระพุทธองค์มีรับสั่งให้หาภิกษุทั้งหลายตรัสว่า “พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัส ธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรมเธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์นี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์"


                      โปรดพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาแคว้นมคธประมาณพรรษาที่ ๓๘
                      พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารได้หลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต จึงได้ทำปิตุฆาตแล้วขึ้นครองราชสมบัติสืบแทน ภายหลังทรงสำนึกในความผิดที่ปลงพระชนม์พระบิดา ทรงมีความเดือดร้อนพระทัย มีรับสั่งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์พาไปเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งประทับอยู่ที่ชีวกัมพวัน ทูลถามถึงสามัญญผลที่พึงได้รับในปัจจุบัน พระพุทธองค์ทรงแสดง สามัญญผลสูตร ว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ คือ ประโยชน์ที่จะได้จากการดำรงเพศเป็นสมณะ ตรัสอานิสงส์ของการออกบวช ทรงชี้แจงให้เห็นว่าชีวิตของฆราวาสคับแคบ บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่งในการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันเป็นสามัญญผลที่เห็นได้ในปัจจุบัน

                         พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะทรงเป็นพุทธมามกะ เป็นกำลังอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาสืบมา

                      เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับไปแล้ว พระศาสดาตรัสกับเหล่าภิกษุว่า “หากเธอมิได้กระทำปิตุฆาต ธรรมที่เราแสดงในวันนี้ อย่างน้อยเธอจะบรรลุโสดาบัน แต่เพราะเธอคบมิตรชั่ว เธอจักต้องไปบังเกิดใน โลหกุมภีนรก อีกเป็นเวลานาน จากนั้นจึงจะสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า ชีวิตวิเสสะ"


                      โปรดกษัตริย์ลิจฉวีและชาวแคว้นวัชชี
                         ในครั้งนั้นกรุงเวสาลีเกิดฝนแล้ง ข้าวกล้าตายเพราะถูกแดดเผา คนยากจน อดตาย ศพกลาดเกลื่อนทั่วพระนคร อมนุษย์ได้กลิ่นศพก็พากันเข้ามาในพระนคร ผู้คนตายเพิ่มขึ้นเพราะความปฏิกูลนั้น โรคระบาดก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย ชาวเวสาลีถูกภัย ๓ ประการ คือ ทุพภิกขภัย อมนุสสภัยและพยาธิภัยเบียดเบียน พวกเจ้าลิจฉวีประชุมกันกล่าวว่า ได้ยินมาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีอานุภาพมาก หากพระองค์เสด็จมาโปรดภัยทุกอย่างก็จักสงบระงับไป จึงส่งเจ้าลิจฉวีชื่อ มหาลี ซึ่งเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารโปรดปราน และอำมาตย์ผู้หนึ่งเดินทางไปขอร้องพระเจ้าพิมพิสาร ให้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปกรุงเวสาลี

                        พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับว่า พระพุทธองค์ทรงรับคำเชิญแล้ว ได้ตระเตรียมหนทางเสด็จให้ราบเรียบ ทรงส่งพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เสด็จไปทางแม่น้ำคงคา พระราชารับสั่งให้โปรยดอกไม้ ยกธงชัย และเศวตฉัตรสองชั้นเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทาง ใช้เวลาเดินทาง ๕ วันจึงถึงกรุงเวสาลี พวกเจ้าลิจฉวีออกมารับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในแม่น้ำ ขณะนั้นเอง มหาเมฆก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ พอพระผู้มีพระภาคเจ้าย่างพระบาทแรกลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ในที่ทุกแห่งน้ำไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว  ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดพาลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาด

                        พระพุทธองค์ประทับยืนใกล้ประตูพระนคร รับสั่งให้พระอานนท์สาธยายรัตนสูตร กล่าวสัจจวาจาอันอาศัยคุณของพระรัตนตรัย เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้นที่ประตูเมืองแล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั่วพระนคร พร้อมพวกเจ้าลิจฉวี

                        เมื่อพระอานนท์กล่าว ยังกิญจิ พวกอมนุษย์ต่างพากันหนีออกจากพระนครปัทวภัยทุกอย่างก็สงบลง มหาชนพากันออกมาบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วน่าเสด็จพระองค์เข้าไปประทับยังสัณฐาคาร ในท่ามกลางพระนครพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์และพระราชา แม้ท้าวสักกะจอมเทพ ก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัทในเทวโลกทั้งสอง

                         พระพุทธองค์ได้ตรัส รัตนสูตร นั้น แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอีก ๗ วัน ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ความสวัสดีได้มีแก่ราชสกุลและมหาชน อุปัทวะทั้งปวงสงบลง การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ทั้งหลายมากมาย

                         จากนั้น พระพุทธองค์เสด็จกลับกรุงราชคฤห์ เหล่าเจ้าลิจฉวีทั้งหลายตามมาส่งเสด็จจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา ด้วยเครื่องสักการะสัมมานะอันยิ่งใหญ่
                         นอกจากพระราชาแห่งแคว้นมหาอำนาจที่กล่าวมาแล้วนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังได้แสดงธรรมโปรดผู้นำในระดับท้องถิ่นอีกมากมาย ในเวลาที่เสด็จจาริกไปทั่วชมพูทวีปตลอด ๔๕ พรรษาของการเผยแผ่พระศาสนา เช่น โปรดโสณทัณฑพราหมณ์ ผู้ครองกรุงจัมปา แคว้นอังคะ จนพราหมณ์เลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต โปรดกูฏทันตพราหมณ์ ผู้ครองหมู่บ้านขานุมัตตะ จนกูฏทันตพราหมณ์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น


๒. ผู้นําทางศาสนา
                         ในที่นี้ขอยกตัวอย่างผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ๒ ท่าน คือ โปกขรสาติพราหมณ์ และพราหมณ์พาวรี
                        โปรดโปกขรสาติพราหมณ์
                         โปกขรสาติพราหมณ์เป็นผู้ปกครองเมืองอุกกัฏฐา ซึ่งมีประชากรมากและมีสมบัติมั่งคั่ง โดยพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จให้ปกครองโปกขรสาติพราหมณ์เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพยกย่องมากในยุคนั้นดังจะเห็นได้จากเวลาที่พราหมณ์อื่น ๆ จะกล่าวสรรเสริญว่าผู้ใดมีเกียรติยศสูง มักจะอ้างว่า แม้แต่โปกขรสาติพราหมณ์ยังให้ความเคารพนับถือ

                         ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้เมืองอุกกัฏฐาซึ่งโปกขรสาติพราหมณ์ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าปเสนทิให้เป็นผู้ครอบครอง

                         โปขรสาติพราหมณ์ได้ยินกิตติศัพท์สรรเสริญพระพุทธเจ้า จึงใช้อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ ให้ไปเฝ้าสังเกตดูว่าจะมีมหาปุริสลักษณะครบตามคัมภีร์มนต์ของตนหรือไม่

                         อัมพัฏฐมาณพไปแสดงอาการอวดดี คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง แต่ตนเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนาด้วย เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเตือน ก็แสดงอาการโกรธ แล้วกล่าวดูหมิ่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นคนชั้นต่ำ

                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัส อัมพัฏฐสูตร ทำลายทิฏฐิมานะ เรื่องการถือชั้นวรรณะของพราหมณ์ โดยพระองค์ทรงตั้งคำถามให้ตอบจนอัมพัฏฐมาณพยอมรับว่า วรรณะกษัตริย์สูงกว่า ประเสริฐกว่าวรรณะพราหมณ์ และตรัสแสดงประเภทของนักบวชที่เสื่อมจากวิชชาและจรณะ แล้วจึงมาสร้างโรงบูชาไฟอยู่ในหมู่บ้าน หรือไปสร้างบ้านเรือน เพื่อคอยบูชาสมณพราหมณ์ที่มาจากทิศต่าง ๆ

                         แล้วพระองค์ตรัสสรุปว่า ทั้งอัมพัฏฐมาณพและอาจารย์ไม่มีคุณความดีอะไรเลยแต่ยังถือผิด ๆ ว่า พระภิกษุเป็นสมณะโล้นเป็นพวกดำ เกิดจากเท้าของมหาพรหม จะเจรจากับผู้รู้ไตรเพทได้อย่างไร โปกขรสาติพราหมณ์ถือตัวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานพรหมไทยด้วยความเคารพเลื่อมใส แต่ทำไมไม่โปรดให้เข้าเฝ้าในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อจะทรงปรึกษาข้อราชกิจ จะต้องมีม่านกั้นบังไว้มิให้เห็นพระองค์เล่า พราหมณ์ในบัดนี้ที่เรียนมนต์จนท่องได้ตามที่ฤาษีผู้เป็นปาจารย์ในอดีตผูก (แต่ง) ไว้ ก็หาใช่ว่าจะเป็นฤาษีเหมือนดังเช่นฤๅษี
ผู้เป็นปาจารย์เหล่านั้นไม่

                         เมื่ออัมพัฏฐมาณพละคลายทิฏฐิแล้ว ได้สังเกตมหาปุริสลักษณะของพระพุทธองค์ แต่ยังมีอยู่บางข้อที่เห็นไม่ได้ เช่น พระคุยหฐาน (อวัยวะที่ลับ) ตั้งอยู่ในฝัก และพระชิวหา (ใหญ่ยาว) พอจะปิดพระพักตร์ และช่องพระนาสิก (จมูก) พระโสต (หู) ได้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอิทธาภิสังขาร (แสดงฤทธิ์) และทรงกระทำให้เห็นได้

                         อัมพัฏฐมาณพกลับไปเล่าให้โปกขรสาติพราหมณ์ฟังทุกประการ โปกขรสาติพราหมณ์โกรธที่อัมพัฏฐมาณพไปรุกรานพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงใช้เท้าเตะ และใครจะไปเข้าเฝ้า แต่พวกพราหมณ์ด้านว่าค่ำแล้วควรไปในวันรุ่งขึ้น

                         แต่โปกขรสาติพราหมณ์คงไปจนได้ โดยให้จุดคบเพลิง เมื่อไปเฝ้ากราบทูลถามเรื่องที่โต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพแล้ว จึงกราบทูลขอโทษแทนอัมพัฏฐมาณพ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธดำรัสว่า อัมพัฏฐมาณพจงเป็นสุขเถิด

                         โปกขรสาติพราหมณ์พิจารณาพระพุทธลักษณะและได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ครบทั้ง ๓๒ ประการ เว้นแต่ ๒ ข้อที่เห็นไม่ได้ พระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงฤทธิ์และทำให้เห็น แล้วจึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น และเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่องอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงประกาศตนพร้อมทั้งบุตร ภริยา บริษัทและอำมาตย์ เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต


                         โปรดพราหมณ์พาวรี และมานพ ๑๖ คน
                         พราหมณ์พาวรีเป็นบุตรของปุโรหิตท่านหนึ่ง ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาโกศล เขามีลักษณะแห่งมหาบุรุษ ๓ อย่าง คือ (๑) มีลิ้นใหญ่ยาวจนสามารถใช้ปิดหน้าได้ (๒) มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว (๓) มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก และเรียนจบไตรเพท มีลูกศิษย์ ๑๖,๐๑๖ คน เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เขาได้รับตำแหน่งเป็นปุโรหิต ต่อมาพระเจ้ามหาโกศลสวรรคต พระราชโอรสพระนามว่าปเสนทิเสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา และได้ทรงแต่งตั้งพราหมณ์พาวให้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตตามเดิม พระเจ้าปเสนทิเมื่อสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ ได้ศึกษาศิลปะในสำนักของพราหมณ์พาวรี

                         สมัยต่อมาพราหมณ์พาวรีกราบทูลพระเจ้าปเสนทิว่า ต้องการจะบวช ท้าวเธอทรงห้าม แต่ไม่สำเร็จ จึงทรงขอร้องให้พราหมณ์พาวรีบวชอยู่ใกล้ ๆ ในเขตพระราชอุทยานเพื่อพระองค์จะได้ถวายความอุปถัมภ์ได้สะดวก จากนั้นพราหมณ์พร้อมกับบริวาร ๑๖,๐๑๖ คน ก็ได้ออกบวช พระราชาทรงถวายความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปอุปัฏฐากทั้งเช้าเย็นต่อมาลูกศิษย์เรียนอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้เมืองทำให้มีความกังวลมาก พวกเราควรไปอยู่ป่าอันสงัดเถิด อาจารย์เห็นด้วยกับลูกศิษย์ จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระองค์ทรงห้ามแต่ไม่สำเร็จ จึงรับสั่งให้อามาตย์น่าเงิน ๒ แสนกหาปณะมาถวาย พร้อมกับรับสั่งให้สร้างอาศรมถวายฤๅษีทั้งหลายในสถานที่ที่ท่านต้องการอยู่ จากนั้น พราหมณ์พาวและลูกศิษย์ได้เดินทางมุ่งสู่ทักขิณาชนบท และตั้งสำนักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรีจนเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา

                        วันหนึ่ง มีขอทานเข้าไปขอเงินจํานวน ๕๐๐ กหาปณะ พราหมณ์พาวรีไม่มีให้ เพราะได้ทำการบูชายัญหมดแล้ว ขอทานจึงสาปแช่งว่า ขอให้ศีรษะของท่านแตก ๓ เสี่ยง ในวันที่ ๗ พราหมณ์พาวรีเกิดความกลัว ทุกข์ใจจนซูบผอม เทวดาองค์หนึ่งสงสารจึงแนะนำให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังนั้น เขาจึงเรียกศิษย์เอก ๑๖ คน มีอชิตมาณพ เป็นต้นมาหา พร้อมกับตั้งปัญหาให้เหล่าศิษย์ไปทูลถามพระพุทธเจ้า ปัญหาที่พราหมณ์ให้ไปทูลถามมี ๓ ข้อ คือ
(๑) เรื่องชาติ
(๒) เรื่องโคตร
(๓) เรื่องลักษณะของพราหมณ์พาวรี
(๔) เรื่องมนต์ที่พราหมณ์พาวรีเรียน
(๕) เรื่องศิษย์ (มีเท่าไร)
(๖) เรื่องศีรษะ
(๓) เรื่องธรรมที่ท่าให้ศีรษะตกไป
             การไปถามปัญหามีข้อแม้ว่าต้องถามด้วยใจ แล้วพระพุทธเจ้าจะทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา จากนั้นมาณพทั้ง ๑๖ คน ก็ได้ลาอาจารย์ ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธ ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ กรุงราชคฤห์ ครั้นมาณพ ๑๖ คน เดินทางไปถึง จึงขอเข้าเฝ้า และอชิตมาณพก็ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจทันที

                        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์มีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตรมีลักษณะ ๓ อย่างอยู่ในตัวคือ
(๑) มีสิ้นใหญ่ยาวสามารถใช้ปิดหน้าได้
(๒) มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว
(๓) มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
                        เรียนจบไตรเพท สาเร็จวิชาลักษณะมนต์ (มนต์ทำนายลักษณะ) และสอนศิษย์ ๕๐๐ คน อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะและวิริยะเป็นธรรมที่ทําให้ศีรษะตกไป
                        จากนั้น มาณพทั้ง ๑๖ คนก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับไป โดยเริ่มจากอชิตมาณพเป็นคนแรก จนถึงปิงดิ มาณพคนสุดท้าย

 

 

เชิงอรรถ

สัณฐาคาร หมายถึง บ้านเรือน, ที่พักอาศัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.043343182404836 Mins