ทรงวางรากฐานองค์กรพระพุทธศาสนา
ทรงบัญญัติพระวินัย
พระวินัยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับฝึกหัดอบรมกุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพราะผู้เข้ามาบวชนั้นมาจากต่างตระกูล ต่างชนชั้นต่างอัธยาศัย ต่างจิตต่างใจหากไม่มีพระวินัยควบคุมความประพฤติให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่สับสน วุ่นวาย ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา ถ้าภิกษุทุกรูปประพฤติตามพระวินัย ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่งดงาม ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนนาน เปรียบเหมือนดอกไม้นานาชนิดถูกร้อยไว้ด้วยด้าย จึงไม่แตกแยกกระจัดกระจาย ทั้งยังคุมกันเข้าเป็นพวงมาลัยที่สวยสดงดงาม ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในเวรัญชภัณฑ์ว่า
“พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะไม่ทรงผ่อนคลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถาอุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์จึงมีมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก มีการแสดงปาฏิโมกข์ เมื่อสิ้นพระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลัง ๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน เหมือนดอกไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดานเอาด้ายร้อยไว้ ย่อมไม่ถูกลมพัดกระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะเอาด้ายร้อยไว้"
ข้อนี้แสดงว่า การบัญญัติพระวินัยเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ยืนนาน ดังจะเห็นได้ว่า พระมหากัสสปเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในการจัดทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ได้ ตกลงกับพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายว่า จะสังคายนาพระวินัยก่อนทั้งนี้เพราะท่านเห็นว่า พระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา ดังที่สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎกบันทึกว่า “พระวินัยจัดว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่ ดังนั้น จึงขอสังคายนาพระวินัยก่อน”
พระวินัยนั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ประพฤติเช่นนั้นอีก ดังจะเห็นได้ว่า ในตอนต้นพุทธกาล คือ ตั้งแต่พรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๑๑ พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แน่นอนเพราะภิกษุสงฆ์ล้วนมีวัตรปฏิบัติดีงาม
ศีลของภิกษุสงฆ์เรียกว่า “ปาฏิโมกขสังวร" จัดเป็นจาริตตศีล คือ ระเบียบปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติปฏิบัติมา ในระยะที่ยังไม่มีพุทธานุญาตให้ภิกษุสงฆ์สวดพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนใน ๒๐ พรรษาแรกนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน
ในพรรษาที่ ๑๒ ขณะประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชา พระสารีบุตรกราบทูลอาราธนาให้ทรงบัญญัติสิกขาบท ดังปรากฏในเวรัญชภัณฑ์ คัมภีร์มหาวิภังค์ พระวินัยปิฎกเล่ม ๑ ว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงยกปาฏิโมกข์ขึ้นแสดงแก่พระสาวก อันจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้ยืนนาน" พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะในระยะนั้นภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นพระอริยบุคคล ดังที่พระองค์ตรัสตอบพระสารีบุตร ว่า
“จงรอไปก่อนเถิดสารีบุตร ตถาคตรู้เวลาในเรื่องที่จะบัญญัติสิกขาบทนั้น ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวก ไม่ยกปาฏิโมกข์ขึ้นแสดง ตลอดเวลาที่ยังไม่เกิดอาสวัฏฐานิยธรรม (ธรรมเป็นที่ตั้งอาสวะ ความชั่วต่าง ๆ) ในหมู่สงฆ์ เมื่อเกิดอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างในหมู่สงฆ์ ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบทจะยกปาฏิโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวกเพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น.... สารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ยังไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ไม่มีสิ่งมัวหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดำรงอยู่ในสารคุณ แท้จริง ในภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ผู้มีคุณธรรม อย่างต่ำก็ชั้นโสดาบัน”
ต่อมาหลังจากออกพรรษาที่ ๑๒ นี้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ห้ามภิกษุเสพเมถุน โดยปรารภเหตุการณ์มัวหมองในคณะสงฆ์ อันเนื่องมาจากการที่พระสุทินเสพเมถุนกับอดีตภรรยาที่ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ
สิกขาบทครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และทรงบัญญัติเรื่อยมาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีงามขึ้นในคณะสงฆ์
ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้ง มีขั้นตอนดังนี้ คือ เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองขึ้นภายในคณะสงฆ์
๑. พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์
๒. ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้รับ
๓. ทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น และตรัสอานิสงส์แห่งความสำรวมระวัง
๔. ทรงตั้งพระบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีกต่อไป ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิด เรียกว่า ปรับอาบัติ
๑. ทรงบัญญัติพระวินัยเรื่องการประชุมฟังพระปาฏิโมกข์
ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ท่าอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง๑
ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นพวกอัญเดียรถีย์ประชุมกันแสดงธรรมทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ทำให้คนทั้งหลายผู้ใฝ่หาความรู้ได้รับความรู้ และเกิดศรัทธาปสาทะในพวกเดียรถีย์เป็นอย่างมาก พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้ภิกษุสงฆ์ทำกิจกรรมอย่างนั้นบ้าง จึงเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ร่วมประชุมกันทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ
ภิกษุทั้งหลายก็มาประชุมกันตามที่ทรงอนุญาต คนทั้งหลายผู้ใฝ่หาความรู้ เมื่อทราบว่าภิกษุสงฆ์ประชุมกัน ก็พากันเข้าไปหาโดยหวังที่จะได้ฟังธรรม แต่ภิกษุทั้งหลายที่มาร่วมประชุมต่างนั่งนิ่ง ไม่มีการแสดงธรรม คนเหล่านั้นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนา พระผู้มีพระ ภาคทรงทราบความนั้น จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแสดงธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ ต่อมาพระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประมวลสิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้ ให้เป็นปาติโมกขุทเทส จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุทำอุโบสถ ยกสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ขึ้นแสดงทุกวัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่า เรียกว่า “การยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "การสวดพระปาติโมกข์” นั่นเอง
๒.ทรงวางระเบียบเรื่องการให้ความเคารพกันตามอายุพรรษา
เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์กราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมตามลำาดับพรรษา ให้แบ่งอาสนะอันเลิศ อันเลิศ ภัตตาหารอันเลิศ ตามลำดับพรรษา สาเหตุเกิดเมื่อคราวที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจากกรุงเวสาลีไปกรุงสาวัตถี พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ รีบล่วงหน้าไป จับจองวิหาร จับจองที่นอนเพื่อพระอุปัชฌาย์ เพื่ออาจารย์และเพื่อตนเองจนหมด
ท่านพระสารีบุตรไปถึงภายหลัง ไม่ได้ที่พัก จึงไปพักบริเวณร่มไม้ เวลารุ่งอรุณพระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นทรงพระกาสะ ท่านพระสารีบุตรก็ได้กระแอมรับ พระองค์ตรัสถามว่า "ใครอยู่ที่นั่น" ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า "สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า” “สารีบุตร ทำไมเธอจึงมาพักที่นี่เล่า"
ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามเหตุผลนั้น ภิกษุทั้งหลายรับว่าจริง จึงทรงตำหนิพวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์แล้วรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า “ใครควรจะได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศบิณฑบาตอันเลิศ"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้บวชจากตระกูลกษัตริย์ควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้บวชจากตระกูลพราหมณ์ควรจะได้”
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้บวชจากตระกูลคหบดีควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้ทรงสุตตันตะควรจะได้"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า "ภิกษุผู้ทรงพระวินัยควรจะได้"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้เป็นพระธรรมกถึกควรจะได้"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้ได้ปฐมฌานควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้ใต้ทุติยฌานควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้ได้ตติยฌานควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้ได้จตุตถฌานควรจะได้"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า "ภิกษุผู้เป็นโสดาบันควรจะได้”
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้เป็นสกทาคามีควรจะได้"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้เป็นอนาคามีควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ควรจะได้"
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า "ภิกษุผู้ได้วิชชา ๓ ควรจะได้
ภิกษุบางพวกกราบทูลว่า “ภิกษุผู้ได้อภิญญา ๖ ควรจะได้"
พระผู้มีพระภาคได้ทรงยกชาดกเรื่องสัตว์ ๓ สหาย๒ มาแสดง มีนกกระทา ลิง และช้างทั้ง ๓ อยู่กันอย่างไม่เคารพยำเกรงกัน ต่อมาได้ปรึกษากันเพื่อจะหาผู้สูงวัยกว่ากัน จึงสอบถามเรื่องราวเก่ากันและกัน
ช้างตอบว่า เมื่อยังเล็ก ตนเคยเดินคร่อมต้นไทร ต้นที่อยู่ใกล้พวกตน
ลิงตอบว่า เมื่อยังเล็ก ตนเคยนั่งบนพื้นดินกัดกินยอดไทรต้นนั้น
นกกระทากล่าวว่า ในที่แห่งโน้นมีต้นไทรใหญ่ เรากินผลของมันแล้วมาถ่ายมูลที่ตรงนี้ โทรต้นนี้เกิดจากเม็ดของต้นไทรที่เราถ่ายมูลไว้ ดังนั้นเราจึงเป็นผู้ใหญ่โดยชาติกำเนิด
จากนั้นช้างกับสิ่งได้กล่าวกับนกกระทาว่า พวกตนจะสักการะเคารพนับถือบูชาและเชื่อฟังนกกระทา
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายมีความเคารพมีความยำเกรงกันและกันดำเนินชีวิตอย่างเสมอภาคกันแล้วมีรับสั่งสรุปว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้การลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ตามลำดับพรรษา ภิกษุไม่พึงกีดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับพรรษา รูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ
(สรุปวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคพุทธกาล)
จากพระพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระสัทธรรมแก่ปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรก จนกระทั่งพระองค์สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ปักหลักได้อย่างมั่นคงในชมพูทวีป ทรงต้องต่อสู้อย่างหนักกับอุปสรรคที่มีมากมาย โดยเฉพาะความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ และลัทธิอื่น ๆ ที่เผยแผ่คำสอนอยู่ก่อนแล้ว แต่พระองค์ก็อาศัยพระปรีชาสามารถที่เกิดด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ทรงวางแผนการเผยแผ่พระพุทธธรรมอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้พระพุทธศาสนา เผยแผ่ไปอย่างรวดเร็ว จนมีบุคคลชั้นนำของประเทศ และผู้นำทางศาสนาอื่น ๆ มากมายในยุคนั้นที่เปลี่ยนความเชื่อถือเดิม มานับถือเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคต่อ ๆ มา
เชิงอรรถ
๑ อุโบสถขันธกะ มก.ล.๖/๓๗๗
๒ เสนาสนขันธกะ มก.ล.๙/๑๓๕