บทที่ ๔ สิงคาลกสูตร

วันที่ 09 สค. พ.ศ.2566

9-8-66-BL.jpg

บทที่ ๔
สิงคาลกสูตร


วัตถุประสงค์การเรียนรู้
๑) สามารถสรุปหลักธรรมสำคัญที่มีในสิงคาลกสูตรได้
๒) สามารถอธิบายเรื่อง กรรมอันลามก ๑๔ ประการ, มิตรแท้ - มิตรเทียม, ทิศ 5 ได้
๓) สามารถอธิบายแนวทางและวิธีการนำสิงคาลกสูตรไปใช้แก้ไขตนเองได้


บทนํา
               ในประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยของโลกที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีบุคคลผู้กล้าหาญจำนวนไม่น้อยที่เพียรพยายามจะปกครองชาวโลกให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อม ๆ กับพัฒนาโลกให้งดงาม น่าอยู่น่าอาศัย

                แม้ปัจจุบัน ความพยายามทุกวิถีทางที่จะจัด “ระเบียบโลกใหม่” ของประเทศที่ได้ชื่อว่ามหาอำนาจของโลกก็ยังคงปรากฏต่อสายตามวลมนุษยชาติตลอดเวลา

                 ถึงวันนี้ หากเราได้กวาดสายตาให้กว้างขวางครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก เราย่อมพบกับความจริงที่ว่า โลกทั้งโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์อันน่าวิตก ทั้งด้านสภาวะแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม

                 ยิ่งไปกว่านั้น หากได้มีโอกาสเจาะลึกไปถึงรากเหง้าแห่งปัญหา ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับสังคมโลก เราย่อมประจักษ์ชัดว่า วิกฤตการณ์ที่เราชาวโลกกำลังประสพพบเจออย่างน่าหวาดกลัวนี้ ล้วนเกิดมาจากวิกฤตการณ์แห่งคุณธรรมของชาวโลกที่กำลังเสื่อมถอยลงไปในทุกหย่อมหญ้า

                  เมื่อเราต่างก็เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรงเช่นนี้ ทำให้เราตระหนักดีว่า หากเราจะพลิกโลกอันสับสนวุ่นวาย ให้กลับกลายเป็นโลกใหม่ที่สดใส ร่มเย็นและมีสันติสุขได้นั้น เราไม่สามารถทำตามลำพังเพียงผู้เดียวได้ หากแต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คนในโลก ที่ต้องหันหน้ามาร่วมแรงร่วมใจอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ วินาทีนี้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองเป็นอันดับแรก

                  อย่างไรก็ตาม แม้ทุกคนจะเข้าใจปัญหาและพร้อมลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเข้มแข็งเพียงใดก็ตาม หากปราศจากแม่แบบที่นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติ ผลสำเร็จที่เรามุ่งหวังตั้งใจก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก เปรียบเหมือนชาวสวนนำเมล็ดพันธุ์พืชจำนวนมากมาหว่านเพาะลงในผืนดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ สภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย แม้จะมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีเลิศเพียงใด ตั้งใจรดน้ำพรวนดินเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้พืชพันธุ์นั้นเจริญเติบโต งอกงามออกดอกออกผลให้ชื่นใจได้

                  ดังนั้น การที่จะสร้างโลก สร้างสังคม สร้างครอบครัว ให้สงบสุขนั้น จึงต้องเริ่มต้นจากตัวเรา ทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจในแม่แบบของคนดีที่โลกต้องการอย่างแจ่มชัดก่อน ถึงจะนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                  กว่า ๒๕๐๐ ปีที่ผ่านมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทาน “แม่แบบคนดี” ที่โลกต้องการนี้ไว้ให้กับชาวโลกทุกคนแล้ว ปรากฏอยู่ในสิงคาลกสูตร

                  พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอด “แม่แบบคนดี” ไว้อย่างชัดเจน ละเอียด ลึกซึ้ง และเป็นขั้นเป็นตอน โดยทรงอธิบายถึงแม่บทมาตรฐานของคุณลักษณะคนดีในสังคม ทรงเริ่มต้นสร้างต้นแบบจากตัวเราไปสู่คนรอบข้าง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติและสู่สังคมโลกอันกว้างใหญ่
เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานอันดีงามให้กับสังคมทุกระดับ

                  หากเราทุกคนน้อมนำ “แม่แบบคนดี” นี้มาศึกษาให้เข้าใจลึกซึ้ง และพร้อมใจกันแก้ไขปัญหา ประคับประคองดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และทำหน้าที่ของตนเองต่อบุคคลรอบตัวเราได้อย่างสมบูรณ์ โลกใบนี้ย่อมมีแสงสว่างกว้างไกลไม่มีประมาณ อันจะเป็นนิมิตหมายว่าชาวโลกจะได้รับประโยชน์สุขอันมหาศาล ตราบสิ้นยุคสมัยแห่งวิกฤตการณ์อย่างแน่นอน


        สรุปหลักธรรมในพระสูตร
                  หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ เริ่มต้นด้วยการสอนให้รู้จักรักษามนุษยธรรม คือ ความเป็นมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยการละกรรมกิเลส ๔ เพื่อรักษาความเป็นคนไว้ให้สมบูรณ์ ให้ละอคติ ๔ เพื่อรักษาหมู่คณะเอาไว้ให้ละอบายมุข 5 เพื่อรักษาทรัพย์สมบัติเอาไว้เลี้ยงชีวิตให้เป็นสุข ต่อมาทรงชี้แนะการเตรียมความพร้อมไว้เป็นทุนชีวิตที่ดีงามคือ การบริหารจัดการทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ และรู้จักเลือกคบมิตรแท้ สุดท้ายทรงสอนให้เข้าใจและปฏิบัติหน้าที่ของตนตามสถานภาพต่าง ๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยหลักทิศ ๖ พร้อมด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสังคมให้มีเอกภาพและมีความสมานสามัคคี


        สิงคาลกสูตร
                  เรื่อง สิงคาลกคฤหบดีบุตร - ว่าด้วยคิหิปฏิบัติ
                  ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้
                           สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันอันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกบุตรคฤหบดีลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน

                           ครั้งนั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองผ้าถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็น สิงคาลกบุตรคฤหบดี ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า
ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสถามว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี เธอลุกแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียกประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุอะไร

                            สิงคาลกบุตรคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์เมื่อจะทำกาลกิริยา ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระองค์สักการะเคารพนับถือบูชาคำของบิดาจึงลุกขึ้นแต่เช้าออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียกประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้ายทิศเบื้องหลังทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่

                            ดูก่อนคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อม ทิศทั้ง 5 กันอย่างนี้ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้า ท่านนอบน้อมทิศ 5 กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด พระเจ้าข้า


                            กรรมอันลามก ๑๔ ประการ
                            ดูก่อนคฤหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว
                                   สิงคาลกคฤหบดีบุตร กราบทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลส ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์


                             กรรมกิเลส ๔
                                    กรรมกิเลส ๔ เป็นไฉน ที่อริยสาวกละได้แล้ว ดูก่อนคฤหบดีบุตร กรรมกิเลส คือ

๑. ปาณาติบาต ๑                       ๒. อทินนาทาน ๑
๓. กาเมสุมิจฉาจาร ๑                 ๔. มุสาวาท ๑

                             กรรมกิเลส ๔ เหล่านี้ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดาครั้นตรัส ไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

                             ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญ


                              อคติ ๔
                              อริยสาวกไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน

                                  ๑. ปุถุชนถึงฉันทาคติ ย่อมทำกรรมลามก
                                  ๒. ปุถุชนถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมลามก
                                  ๓. ปุถุชนถึงโมหาคติ ย่อมทำกรรมลามก
                                  ๔. ปุถุชนถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมลามก

                             ดูก่อนคฤหบดีบุตร ส่วนอริยสาวก ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามก โดยฐานะ ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

                             ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชังความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น เหมือนดวงจันทร์ในข้างขึ้น

 

 

 

 

เชิงอรรถ

 พระสูตรและอรรถกถา แปล ทีฆนิกาย ปฎิกวรรค เล่ม ๑๖ หน้า ๗๗ - ๑๒๒

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011341492335002 Mins