พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2566

8-8-66-BL.jpg

       พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก
                           เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์กฏทันตะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าพระองค์ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะอย่างละ ๗๐๐ ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้นขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็นกระแสลมอ่อน ๆ จงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด”


            พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล
                         ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศเรื่องทานเรื่องศีลเรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และอานิสงส์ในการออกบวชแก่พราหมณ์กูฏทันตะ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์กูฏทันตะบนที่นั่งนั่นเองว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

                         ครั้นพราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรมหมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลักคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”

                              พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

                      ที่นั้น พราหมณ์กูฏทันตะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นล่วงราตรีนั้น เขาได้สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในโรงพิธีบูชายัญของตน แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้วภัตตาหารเสร็จแล้ว”

                         ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จไปยังโรงพิธีบูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะพร้อมกับภิกษุสงฆ์แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้

                         จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์พราหมณ์กูฏทันตะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์กูฏทันตะเห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้าปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป


----- กูฏทันตสูตรที่ ๕ จบ -----


      บทสรุป
                       จากการศึกษากูฏทันตสูตรนี้ นอกจากผู้ที่ศึกษาจะได้รับความรู้ในด้านพระสูตรแล้วยังจะได้ข้อคิดต่าง ๆ อีกเป็นอเนกประการ ซึ่งอาจกล่าวได้โดยย่อ ดังนี้


            ความเคารพในการปฏิสันถาร
                       ในขณะที่กูฏทันตพราหมณ์กำลังจะเดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้มีพราหมณ์ผู้มารอบริโภคในพิธีบูชายัญออกมาทัดทาน โดยยกเหตุผลมากมายขึ้นมาแสดง แต่กูฏทันตพราหมณ์ได้ยกถึงองค์คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาลบล้าง และในท้ายที่สุดของการสนทนา กูฏทันตพราหมณ์ ได้กล่าวว่า

                       “...สมณหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมาสู่เขตบ้านของเรา เหล่านั้นจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขก ซึ่งเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม เพราะเหตุที่พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้าน ขานุมัตตะ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกที่เราควรสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม นี้แหละ พระองค์จึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา ที่ถูก เราต่างหากควรไปเฝ้าพระองค์...”

                       ตรงนี้เป็นการแสดงถึง ความเป็นผู้ที่มีความเคารพในการปฏิสันถารอย่างยิ่งเพราะแม้ว่าผู้ที่มาถึงหมู่บ้านของตน จะเป็นสมณพราหมณ์ธรรมดา ก็นับว่าเป็นแขก สมควรที่ตนจะต้องไปต้อนรับ จะกล่าวไปไยถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีองค์คุณอันไม่มีประมาณ


           สาเหตุของการเกิดโจร
                       โจร ๔ กลุ่ม คือ โจรปล้นบ้าน โจรปล้นอำเภอ โจรปล้นบ้านเมือง และโจรที่ดักทำร้ายในหนทางเปลี่ยว สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้ดังนี้

                                ๑. พวกที่ถูกบีบบังคับให้ต้องมาเป็นโจร
                                ๒. พวกที่เป็นโจรโดยสันดาน

                       สำหรับพวกที่ ๑ คือ ถูกความยากจนบีบบังคับให้ต้องมาเป็นโจรหรือได้รับความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตรงนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่ในการปกครองหรือข้าราชการนั้น จะต้องมีความเป็นธรรม ดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือ
ประชาชน ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มิฉะนั้นแล้วเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนไม่อาจอยู่อย่างสันติสุขได้ ก็ต้องจำใจมาเป็นโจร นี้สมด้วยธรรมภาษิตที่มาใน ราโชวาทชาดก ความว่า

เอวเมว มนุสฺเสส
โย โหติ เสฏฐสมุมโต
โส เจ อธมฺม จรติ
ปเคว อิตรา ปชา
สพฺพ รฏฐ์ ทุกข์ เสติ
ราชา เจ โหติ อธมฺมิโก ฯ
ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับสมมุติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรมโดยแท้
ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
รัฐก็ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั่วกัน
๒ 

 


            วิธีปราบปรามโจรที่ถูกต้อง
                     ในการปราบปรามโจรให้หมดไปนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำทั้ง ๒ วิธีนี้ คือ

                     ๑. ยกเว้นภาษีอากร เพราะจะทำให้โจรยิ่งได้ใจ และมีผู้หันมาเป็นโจรกันมากขึ้น
                     ๒. การปราบปรามด้วยวิธีที่รุนแรง เช่น การประหาร การปรับ การตำหนิและการเนรเทศนั้น ไม่เป็นวิธีการที่ถูกต้องนัก เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากการถูกกำจัดยังคงมีอยู่ และอาจจะกลับมาเบียดเบียนบ้านเมืองได้อีกในภายหน้า

                     นี้สมด้วยธรรมภาษิตที่มาใน มหาปทุมชาดก ความว่า

ปริภูโต มุทุ โหติ
อติติกฺโข จ เวรวา
เอตญฺจ อุภย์ ญาวา
อนุมชญ์ สมาจาร ฯ
กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อน ก็ถูกประชาราษฎร์ ดูหมิ่น
กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนักก็มีเวร

 

           กษัตริย์ควรทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้วประพฤติเป็นกลาง ๆ
                     แต่การปราบปรามโจรที่ถูกต้องนั้น อาศัยวิธีการดังนี้
                     ๑. ให้พันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกรผู้ขยันในการทำเกษตร
                     ๒. ให้ต้นทุนแก่พ่อค้าผู้ขยันในการค้าขาย
                     ๓. ให้เบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการผู้ขยันในหน้าที่ราชการ

                     ด้วยวิธีการนี้ เกษตรกรผู้ขยันขันแข็งก็ได้รับการสนับสนุนด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และทุนสำรอง พอยังประโยชน์ให้เกิดขึ้น ฝ่ายพ่อค้าผู้มีคุณธรรมขยันหมั่นเพียรก็ได้รับการยกย่องและให้ทุนสนับสนุนกิจการ ข้าราชการผู้มีความอุตสาหะสามารถก็ได้เบี้ยเลี้ยง เงินเดือนปูนบำเหน็จรางวัล ก่อให้เกิดกำลังใจขวนขวายในการงานที่ตนเองรับผิดชอบอย่างเต็มที่

                     เมื่อคนดีได้รับการสนับสนุนให้ทำงานได้อย่างเต็มที่แล้ว โจรปล้นบ้านที่ถูกความจนหรือถูกข้าราชการชั่ว ๆ บีบบังคับให้ต้องเป็นโจร ก็มีโอกาสได้กลับตัวหันมาประกอบสัมมาอาชีพ พวกที่เป็นสมุนของโจรปล้นอำเภอก็ลดลง โจรปล้นอำเภอจึงถูกทอนอำนาจ โจรปล้นบ้านเมืองก็ลดลง เนื่องด้วยประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น คนชั่วไม่มีโอกาสได้ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ของประชาชน ประชาชนจึงไม่ต้องหวาดระแวงภัย ทุ่มเทความสามารถทำมาหากินได้อย่างเต็มที่ การที่จะมายุยงปลุกปั่นก็ทำได้ไม่ถนัดมือ เพราะหาเหตุที่จะยกมาเป็นข้ออ้างได้ยาก จึงเหลือแต่พวกที่เป็นโจรโดยสันดาน ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยนิดไม่อาจจะแสดงฤทธิ์เดชได้อย่างแต่ก่อน นี้สมด้วยธรรมภาษิตที่มาใน เนรชาดก ความว่า


อมานนา ยตฺถ สิยา
สนฺตานํ วา วิมานนา
หีนสมมานนา วาปี
น ตตฺถ วสตี วเส ฯ
ณ ที่ใดมีแต่ความไม่นับถือกัน
การดูหมิ่นสัตบุรุษ หรือการนับถือคนเลว
ณ ที่นั้นคนมีอำนาจ (บัณฑิต) ไม่ควรอยู่


          จะทำการใหญ่ ต้องได้รับความร่วมมือ
                     ในการที่จะประกอบกิจการงานใดก็ตาม จะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลรอบ ๆ ข้าง โดยเฉพาะงานใหญ่ระดับประเทศนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากกลุ่มบุคคลทั้ง ๔ กลุ่ม ดังต่อไปนี้

                     ๑. กลุ่มผู้บริหารบ้านเมือง
                     ๒. กลุ่มข้าราชการประจำชั้นสูง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด, อธิบดี ฯลฯ
                     ๓. กลุ่มนักวิชาการและสื่อมวลชน
                     ๔. กลุ่มมหาเศรษฐี

                     ซึ่งทั้ง ๔ กลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากในสังคม แต่ล้วนเป็นผู้ที่มีศักยภาพสามารถชี้นำแนวความคิดของประชาชนให้เห็นดีเห็นชอบด้วย ดังนั้นในการประกอบกิจการงานใด ๆ จึงจำเป็นต้องขอคำปรึกษา ขอความร่วมมือจากกลุ่มคนทั้ง ๔ กลุ่มนี้ มิฉะนั้นแล้ว อาจเกิดความผิดพลาดเสียหายขึ้นได้ในภายหลัง

 

          คุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ในการปกครอง
                    ในกูฏทันตสูตรนี้ ได้แสดงถึงคุณลักษณะ ๔ ประการของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้เป็นเจ้าของมหายัญ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือคุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่ในการปกครองนั่นเอง

                    ๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดี
                    ๒. เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
                    ๓. มีทรัพย์สมบัติมาก
                    ๔. มีบริวาร ผู้อยู่ในโอวาท
                    ๕. เป็นผู้มีศรัทธา ในการบำเพ็ญทาน
                    ๖. เป็นผู้มีการศึกษาดี
                    ๗. เป็นผู้ที่มีความสามารถ
                    ๘. เป็นบัณฑิตนักปราชญ์


         คุณสมบัติของที่ปรึกษา
                    นอกจากผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองจะต้องมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังกล่าวมาแล้วผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษา จะต้องมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

                    ๑. เป็นผู้ที่มีชาติกำเนิดดี
                    ๒. เป็นผู้คงแก่เรียน
                    ๓. เป็นผู้มีศีล
                    ๔. เป็นบัณฑิตนักปราชญ์

                    โดยเฉพาะคุณสมบัติในข้อที่ ๓ นั้น จะขาดไปมิได้เลย เพราะผู้ที่ให้คำปรึกษาถ้าไม่มีศีลแล้ว ย่อมแนะนำการแก้ปัญหาที่อาจนำไปสู่บาปกรรมได้ แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชมีที่ปรึกษาที่ดี มีศีล จึงแนะนำแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ก่อให้เกิดบาปกรรม และเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกประเด็นอีกด้วย


         หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
                   ในพระสูตรนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำวิธีพัฒนาที่ยั่งยืน ๒ แบบอันได้แก่ การพัฒนาคนและการพัฒนาบ้านเมือง

                   ๑. การพัฒนาคน คือ พัฒนาให้มีศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นยัญสุดท้าย
                   ๒. การพัฒนาบ้านเมือง คือ พัฒนาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ หลักการปราบโจร ๓ ประการ ที่แสดงให้เห็นว่า

                   เป็นการให้โอกาสคนดีได้ทำความดีเพิ่มขึ้น มีโอกาสปกครองบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจและไม่สามารถก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองได้


        การให้ทานที่มีผลมาก
                  ในการให้ทานที่จะได้รับผลมากนั้น ผู้ให้จะต้องประกอบด้วยองค์ทั้ง ๓ ที่เรียกว่าทานสมบัติ ๓ ข้อ คือ

                   ๑. วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง สิ่งของที่จะบริจาคทาน ต้องเป็นสิ่งที่เราได้มาโดยสุจริต ไม่ได้เบียดเบียน ลักขโมย คดโกง หรือหลอกลวงใครมา

                   ๒. เจตนาบริสุทธิ์ หมายถึง จะต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งให้เกิดความดีงาม ให้ใจใส ใจสะอาด ไม่ได้ให้เพื่ออวดมั่งมี อวดรวย อวดดี หรือโอ้อวด อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น เพราะการให้เช่นนี้จะเป็นการให้ที่มีเจตนาเห็นแก่ตัว ทำไปแล้วใจจะไม่สบาย ใจไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเจตนาที่บริสุทธิ์เต็มที่ จะต้องบริสุทธิ์ทั้ง ๓ วาระ คือ

                        • ปุพพเจตนา หมายถึง เจตนาก่อนที่จะให้ทาน ก็มีความดีใจ ปลื้มใจ ปีติใจว่าเราจะได้ทำบุญด้วยการให้ทาน

                        • มุญจนเจตนา หมายถึง เจตนาในขณะที่ให้ ก็มีใจเลื่อมใส ยินดีที่จะทำ เต็มอกเต็มใจ และไม่ยอมให้อารมณ์ขุ่นมัวเกิดขึ้นในขณะที่ทำเลย

                        • อปราปรเจตนา หมายถึง เจตนาหลังจากที่ให้แล้ว ก็มีความสุขใจแช่มชื่นเบิกบานใจ ไม่นึกเสียดายในทานที่ให้ไปแล้ว

                  ๓. บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง บุคคล ๒ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทานนั้น คือ ผู้ให้และผู้รับ ต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์ ผู้ให้ต้องเป็นผู้มีศีลธรรม ผู้รับต้องมีศีลาจารวัตรงดงาม มีคุณธรรมสูง

            ดังนั้นเราจึงควรทำทานให้บริสุทธิ์ครบองค์ทั้ง ๓ อย่าง คือ วัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ (ทั้งก่อนให้ ขณะให้และหลังให้) และบุคคลบริสุทธิ์ (ทั้งผู้รับและผู้ให้) ย่อมได้ผลบุญมาก

             ผู้ที่มีส่วนในการปกครองทุกระดับ เมื่อต้องการทราบถึงหลักการในการปกครองและคุณสมบัติที่ดีของนักปกครอง รวมถึงการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นที่ปรึกษา จึงศึกษาในกูฏทันตสูตร

             แม้บุคคลธรรมดาผู้ไม่มีส่วนในการปกครอง ก็ย่อมสามารถนำเนื้อหาสาระต่าง ๆ ในกูฏทันตสูตรนี้ ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านส่วนตัว ครอบครัว ตลอดจนหน้าที่การงานได้อย่างกว้างขวาง เช่น วิธีการทำบุญที่มีผลมาก เป็นต้น

            ดังนั้นการศึกษากูฏทันตสูตร จึงเป็นไปเพื่อความสุขและความเจริญของทุกคนในสังคมทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

 

 

 

เชิงอรรถ

พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนาหรือทูลถาม
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๖๐๖
๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๖๐ หบ้า ๑๘๗ฃ
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๔๕

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031398785114288 Mins