เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช
ต่อมา พราหมณ์กฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนาพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขามัต บางพวกกราบพระผู้มีพระภาคบางพวกสนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูลบางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พราหมณ์กฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยินมาว่าพระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนข้าพเจ้าไม่ทราบแต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงบัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ ให้ดี เราจะแสดง” พราหมณ์กฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมา ท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า “เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน'
ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า “พราหมณ์ วันนี้เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมายได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน
เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า “บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยวเมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่างนี้ว่า “เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหารจองจำ ปรับไหม ตำหนิโทษ หรือเนรเทศ” อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้องเพราะว่า โจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้ แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์
๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์
พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนามไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว๑ อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ได้พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองที่ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์ พลเมืองเหล่านั้นขวนขวายในหน้าที่การงานของตนไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และได้มีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน
ต่อมา ท้าวเธอรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ เราได้กำจัดเสี้ยนหนามคือโจรจนหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่าน และได้มีกองราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน
พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ โปรดรับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์และโปรดรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ และรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน” คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิดตอนนี้เป็นเวลาบูชายัญ บุคคล ๔ พวกนี้ที่เห็นชอบตามพระราชดำริ จัดเป็นองค์ประกอบของยัญนั้น
คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหมมีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
๓. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง
๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า๒ อยู่ในระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ
๕. ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก๓ ทรงเป็นทานบดี๔ มิได้ทรงปิดประตู๕ ทรงเป็นดุจ โรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก (คนร้องเพลงขอทาน) และยาจก (คนขอทาน) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ
๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก
๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ
๘. ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้
คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิตัณฑศาสตร์ เกฎภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๔. เป็นบัณฑิตมีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้
ยัญพิธี ๓ ประการ
ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญว่า
๑. เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่ากองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่ากองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป
๓.เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้วก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่ากองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว
พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการดังกล่าวนี้ถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญ
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ
ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะผู้รับทานด้วยอาการ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ คือ
๑. ทั้งพวกที่ฆ่าสัตว์ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ฆ่าสัตว์จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. ทั้งพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้นพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. ทั้งพวกที่ประพฤติผิดในกาม ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามจักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ประพฤติผิดในกามรักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. ทั้งพวกที่กล่าวคำเท็จ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเท็จจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. ทั้งพวกที่กล่าวคำส่อเสียด ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำส่อเสียด จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียดจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำาส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๖. ทั้งพวกที่กล่าวคำหยาบ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำหยาบจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๗. ทั้งพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๘. ทั้งพวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ทั้งพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขาจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขาเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. ทั้งพวกที่มีจิตพยาบาท ทั้งพวกที่ไม่มีจิตพยาบาท จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่มีจิตพยาบาทจักได้รับผลกรรมของเขาเองขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. ทั้งพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลกรรมของเขาเองขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างนี้ก่อนจะทรงบูชายัญ
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
ต่อมา พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เจ้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ
๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญ เห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรมเพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรมเพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ไม่ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูลว่า ถึงกระนั้น ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์มีพระรูปไม่งดงาม ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณไม่ผุดผ่องดุจพรหม ไม่มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นไม่ยากเลย ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์มีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๘. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็งประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่าอยู่ในระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา ไม่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชศรัทธา ไม่ทรงเป็นทายก ไม่ทรงเป็นทานบดีทรงปิดประตูไว้ ไม่ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรงเป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มากโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นบัณฑิตไม่ทรงเฉียบแหลม ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ ไม่สามารถจะทรงดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิตเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงสามารถที่จะดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ไม่ใช่ผู้ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชาทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียน ไม่ทรงจำมนตร์ ไม่รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง นิฆัณฑศาสตร์ เกฎกศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ไม่ใช่ผู้รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ไม่ใช่ผู้ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรมเพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิตัณฑศาสตร์เกฎกศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่ผู้มีศีล ไม่มีศีลที่เจริญ ไม่ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญประกอบด้วยศีลที่เจริญ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่บัณฑิตผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชาโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชาทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติเจ้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้แล
ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิดไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรมแท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้นสิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยขึ้น นมเปรี้ยวน้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พากันนำทรัพย์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราชกราบทูลว่า “ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรงรับไว้เถิด
ท้าวเธอตรัสว่า 'อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเองได้รวบรวมทรัพย์สินจํานวนมาก มาจากภาษีอากรอันชอบธรรม ทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็นของพวกท่านเถิดและพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก'
คนเหล่านั้นเมื่อถูกปฏิเสธ จึงจากไปปรึกษาหารือกันว่า “การที่พวกเราจะรับทรัพย์สินเหล่านี้กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนอีกนั้นไม่เป็นการสมควรเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญ เอาเถอะพวกเรามาร่วมบูชายัญโดยเสด็จพระราชกุศลกันเถิด”
ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันออกแห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศใต้แห่งหลุมยัญ พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญ
ทานทางทิศตะวันตกแห่งหลุมยัญ พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญ แม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกรและสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อ
เบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรมแท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
บุคคล ๔ พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง และยัญพิธีอีก ๓ ประการ จึงรวมเรียกว่า ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า “โอ! ยัญ โอ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กฏทันตะนั่งนิ่ง
ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ได้ถามพราหมณ์กฏทันตะว่า “เหตุใด ท่านกฏทันตะจึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องเล่า” พราหมณ์กฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่ แม้ผู้ไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตกถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกอย่างนี้ว่าพระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้หรือว่า เรื่องนี้ควรเป็นอย่างนี้ แต่พระองค์ตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่นนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า พระสมณโคดมทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้เป็นเจ้าของแห่งยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้นแน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบแจ้งชัดหรือว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญ เห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัยนั้นเราได้ (เกิด) เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้น”
ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน
พราหมณ์กฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุอะไรคือปัจจัยให้นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้น พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีลนั้น พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค จึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ได้ เพราะในยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค จึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้นใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่าแต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทําสืบกันมานี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกัน มานี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา และกว่าวิหารทานนี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์ และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “การที่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบททั้งหลาย คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่าแต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้"
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (จึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ รู้ชัดว่า 'ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป'๖ นี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ พราหมณ์ ไม่มียัญสมบัติอื่น ๆ ที่จะดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว”
เชิงอรรถ
๑ ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก (อุเร ปุตฺเต นจฺเจนตา)
๒ กองทัพ ๔ เหล่า ประกอบด้วย ๑ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
๓ ผู้ทึ่ไม่ใช่มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่สามารถบริจาคไต้ด้วย
๔ ผู้เป็นนายแห่งทาน ไม่ใช่เป็นทาสหรือเป็นสหายของทาน กล่าวคือ ตนเองใช้สอยตามมีตามเกิด แต่บริจาคของดีของประณีตให้แก่คนอื่น
๕ มิได้ปดประตู(อนาวฏทฺวาโร) หมายถึง ไม่ทรงตระหนี่ แต่ยินดีต้อนรับคนอนาถาตลอดเวลา
๖ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร