กุญแจไขความสำเร็จของทิศ ๖

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2566

21-8-66-BL.jpg

๕. กุญแจไขความสำเร็จของทิศ ๖
          ๕.๑ การปฏิรูป ๒ วัย
                       บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเราก็คือ ทิศ ๖ เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนิสัย ทั้งที่เป็นมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ การปลูกฝังสัมมาทิฏฐิจึงมีความสำคัญที่ต้องทำตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อป้องกัน ควบคุมกิเลสที่มีอยู่ในใจไม่ให้เติบโตกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิเข้าไปตั้งมั่นในใจของเด็กเสียก่อน จึงแบ่งการปฏิรูปมนุษย์เพื่อปลูกฝังสัมมาทิฏฐิไว้ ๒ วัย คือ
                       • วัยเด็ก ตั้งแต่ช่วงทารกจนจบการศึกษาพร้อมที่จะประกอบอาชีพ
                       • วัยผู้ใหญ่ เมื่อประกอบอาชีพแล้ว


                       การปฏิรูปในวัยเด็ก
                               กิเลสภายในใจเด็กที่แสดงผลในวัยนี้ตามลำดับ คือ โทสะ ด้วยอาการส่งเสียงร้องแบบไม่คิดชีวิต โลภะ ด้วยการแย่งของเล่น หวงของ โมหะ ด้วยการแกล้งสัตว์จับสัตว์มาทรมาน เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้หากพ่อแม่ไม่ห้ามปราม อาจเพราะคิดว่า เด็กยังเยาว์ย่อมทำให้เด็กเกิดความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถทำได้ กลายเป็นการปลูกฝังมิจฉาทิฏฐิตั้งแต่วัยเด็กไป

                               ดังนั้นผู้มีบทบาทสูงสุดในการปฏิรูปช่วงนี้จึงเป็นบิดามารดา (ทิศเบื้องหน้า) และครูอาจารย์ (ทิศเบื้องขวา) ซึ่งจะทำได้ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากพระ (ทิศเบื้องบน) อาศัยหลักการ วิธีการตามอย่างที่กล่าวมาแล้วในบทที่ ๔


                       การปฏิรูปในวัยผู้ใหญ่
                               การปฏิรูปในวัยผู้ใหญ่นั้น อาศัยตนเองเป็นหลัก โดยมีกัลยาณมิตร (บุคคลในทิศทั้ง ๖) คอยชี้แนะและให้กำลังใจ โดยมีรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างซึมซับเอาความดีของกันและกัน ในขณะเดียวกันก็หาทางกำจัดความชั่วของตนเองให้หมดสิ้นไป และไม่ให้ความชั่วถ่ายทอดไปคนอื่น (ทิศ ๖ ของตน)

                               โดยสรุป ผู้มีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการปฏิรูปมนุษย์ทุกคน ก็คือทิศ ๖ ของคน ๆ นั้นนั่นเอง


          ๕.๒ สาเหตุความล้มเหลวของทิศ ๖
                       ตามที่กล่าวมาว่า ทิศ ๖ มีผลมากต่อการปฏิรูปมนุษย์ แต่เราก็จะพบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งแก่เด็ก และแก่ผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมผิดศีล ผิดธรรม ผิดวัฒนธรรมอันดีงามของชาติพฤติกรรมเหล่านี้เองย่อมแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการทำหน้าที่ของตนเองตามแต่ละทิศ ซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลวของทิศ ๖ นั่นเอง

                       สำหรับสาเหตุความล้มเหลวของทิศ ๖ นี้ แบ่งออกได้ ๒ ประการ คือ
                        ๑. ไม่ได้ปฏิบัติตามอริยวินัย
                        เพราะความไม่รู้ เนื่องจากไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดผลเสียคือ

                        • โดยส่วนตัว ตัวเองจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลส กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลไป ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนตามทิศ ๖ ได้
                        • โดยส่วนรวม ผู้คนในสังคมไม่มีการถ่ายทอดสัมมาทิฏฐิอย่างจริงจังจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนรุ่นหนึ่ง อันเป็นผลให้มิจฉาทิฏฐิมีอิทธิพลครองเมืองไปโดยปริยาย

                        ๒. ขาดศิลปะในการครองใจคน
                        ศิลปะการครองใจคน หมายถึง การทำตัวให้เป็นคนน่ารัก น่าเคารพนับถืออยากเป็นมิตร อยากคบหา น่าเข้าใกล้

                        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนวิธีการทำตัวให้เป็นคนน่ารักไว้แล้ว ใน “สังคหวัตถุธรรม” มี ๔ ประการ คือ

                                   ๒.๑. การให้ (ทาน)
                                   มุ่งการให้และการแบ่งปันสิ่งของในสิ่งที่ไม่มีโทษ เกิดประโยชน์ ด้วยน้ำใจเอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารีที่มีต่อกัน

 

                                   ๒.๒ เจรจาไพเราะ (ปิยวาจา หรือเปยยาวัชชะ)
                                   หมายถึง การรู้จักใช้คำพูดเป็นลักษณะคำพูดจึงควรมีองค์ประกอบ คือ

                                         • สุภาพ ฟังสบายหู ฟังแล้วชื่นใจ
                                         • กล่าวด้วยเมตตาจิต
                                         • เป็นคำจริง มีประโยชน์ ถูกกาลเทศะ
                                         • แสดงความจริงใจและปรารถนาดีอย่างแท้จริง
                                         • ทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจทำความดี
                                         • ไม่ส่อเสียดให้คนแตกแยกกัน
                                         • ไม่ทำให้ผู้ฟังท้อแท้ หมดกำลังใจ

                        สาเหตุที่ทำให้เจรจาไม่ไพเราะ (อัปปิยวาจา)
                                   ด้านทิฏฐิ เพราะวาจามาจากความคิด ความคิดมาจากความเห็น ดังนั้นถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลเสียแล้ว จึงมักพูดไม่ดี พูดอัปปิยวาจา

                                   ด้านการปลูกฝังอบรม การพูดไม่ไพเราะ เกิดจากการปลูกฝังอบรมผ่านทางบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือทิศ ๖ ที่แวดล้อมตัวเรา

                                   ด้านอารมณ์ เกิดจากขาดการปลูกฝังสัมมาทิฏฐิมาแต่เยาว์วัย ทำให้ใจคุ้นเคยกับอารมณ์ร้อน ไม่แจ่มใส

                        วิธีฝึกให้มีปิยวาจา 
                                   • คบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร เพื่อให้คุ้นเคยกับการใช้ปิยวาจา
                                   • หลีกห่างคนพาล
                                   • ศึกษาและปฏิบัติธรรม ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำให้ใจผ่องใส เห็นโทษของการกล่าวอัปปิยวาจา เห็นคุณของการกล่าวปิยวาจา

 

                                   ๒.๓ บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน (อัตถจริยา)
                                   หมายถึง ชี้แนะด้วยคำพูดและการกระทำที่เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง โดยมีรูปแบบที่มุ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

                                   จุดมุ่งหมายการบำเพ็ญประโยชน์
                                           จุดมุ่งหมายหลัก คือ เสริมความรู้ด้านศิลปวิทยาแก่ผู้ขาดแคลน
                                           จุดมุ่งหมายรอง คือ ผลพลอยได้จากจุดมุ่งหมายหลัก เช่น ได้แนวทางการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความสัมพันธ์ หรือจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

 

                                   ๒.๔ วางตนสม่ำเสมอ (สมานัตตตา)
                                   หมายถึง การวางตัวให้เป็นคนน่ารัก น่าเคารพ ลักษณะการวางตัวนั้นสามารถแบ่งได้ ๓ ลักษณะ คือ

                                   ๑. ทําตนเสมอต้นเสมอปลาย
                                   คือ ปฏิบัติตัวเองในสิ่งที่ดีอย่างคงเส้นคงวาในทิศทั้ง ๖ ไม่ว่าตนเองจะมีสถานภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามสามารถฝึกฝนได้หากมีความเข้าใจในกฎแห่งกรรมและกฏไตรลักษณ์

                                    ๒. วางตนเหมาะสมกับฐานะ ภาวะ บุคคล สถานการณ์
                                    คือ ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับฐานะที่ตนเป็นในทิศ ๖ เช่น ในฐานะพ่อ แม่ ลูก หรือครู อาจารย์ เป็นต้น

                                    ๓. ทำตนให้สมกับที่เป็นคน
                                    คือ ประพฤติตนเป็นคนดีที่โลกต้องการ ได้แก่ มีสัมมาทิฏฐิ มีสำนึกรับผิดชอบ ๔ ประการ มีโยนิโสมนสิการและหิริโอตตัปปะ

                         ผลเสียของการขาดความรู้เรื่องสังคหวัตถุธรรม
                         เกิดโรคใจแห้ง หรือแล้งน้ำใจในหมู่ทิศ ๖ ซึ่งมีอาการ ๓ ประการ คือ
                                     • ไม่มีเหตุผล ต่างใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ไม่คำนึงศีลธรรม
                                     • ขาดความรับผิดชอบ ทำให้ทำชั่วได้อย่างกว้างขวาง หลากหลายรูปแบบ
                                     • ขาดหิริโอตตัปปะ กล้าทำความชั่ว ทำบาป เมื่อมีโอกาส แม้รู้ว่าไม่ดีก็ตาม


๖. สาระสำคัญกุญแจไขความสำเร็จของทิศ ๖
                         หากทิศ ๖ ประการปฏิบัติตามสังคหวัตถุธรรมทั้ง ๔ ประการ ย่อมทำให้การทำหน้าที่ตามแต่ละทิศเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้ทิศทั้ง ๖ สามารถทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างดี จึงกล่าวได้ว่า สังคหวัตถุธรรม คือลิ่มสลักใจของตัวเรากับทิศ ๖ และถือเป็นบทฝึกสำคัญยิ่งของสัมมาทิฏฐิ ๑๐ หมายความว่าช่วยให้สัมมาทิฏฐินั้นเข้าไปตั้งอยู่ในใจได้อย่างถาวร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.051119816303253 Mins