๒. คุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ
๒.๑ ความเข้าใจของคน ๒ ระดับ
• ระดับพื้นผิว (ทั่วไป) เป็นความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับด้านกายภาพ และวัตถุต่าง ๆ มีผลทางด้านจิตใจเพียงเล็กน้อยน้อยถ้าเข้าใจถูกต้องก็ไม่มีผลให้คนเราได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าเข้าใจผิดก็ไม่ตกนรก
• ระดับลึก (สัมมาทิฏฐิ ๑๐) เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิต เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม บุญและบาป มีผลต่อจิตใจมาก ถ้าเข้าใจถูกต้องก็มีโอกาสไปบังเกิดบนสวรรค์ ถ้าเข้าใจผิดก็มีโอกาสตกนรก
๒.๒ ความจำเป็นในการปลูกฝังสัมมาทิฏฐิ
การปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้เข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงถาวรจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยแล้ว จะทำให้เกิดปัญญาเข้าใจกฎแห่งกรรม ส่งผลให้บุคคลนั้น
• ตั้งสติได้มั่นคง ไม่ยอมให้มิจฉาทิฏฐิย้อนกลับมาครอบงำจิตใจได้
• พยายามพัฒนา “สำนึกรับผิดชอบ” ให้เพิ่มพูนในใจ ๔ ด้าน คือ
- ต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง
- ต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมในสังคม
- ต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
- ต่อสิ่งแวดล้อม
จึงกล่าวได้ว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นปัจจัยหลักที่จะก่อให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบ
๒.๓ ความสำนึกรับผิดชอบของสัมมาทิฏฐิบุคคล
มีรายละเอียดของความสำนึกรับผิดชอบ ๔ ด้าน มีดังนี้
• ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง
ศักดิ์ แปลว่า อำนาจ, ความสามารถ
ศรี แปลว่า สิริมงคล, ความรุ่งเรือง
ศักดิ์แห่งความเป็นมนุษย์ หมายถึง มีอำนาจ มีความสามารถที่จะทำการใด ๆ ที่มนุษย์จึงทำได้
ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ คือ ตระหนักว่ามนุษย์ที่เกิดมาแล้ว ย่อมมีศิริมงคลประจำตัว สมควรได้รับการยกย่อง หมายถึง คนที่ไม่ยอมประพฤติกรรมกิเลส ๔ อย่างเด็ดขาด คือ
ปาณาติบาต การฆ่า ปลดปลงชีวิต การประทุษร้ายกัน การเบียดเบียนกันทางกาย ด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ
อทินนาทาน การถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ การลักขโมย จี้ปล้น คดโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตน ตลอดจนการทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ฯลฯ
กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดทางเพศ การล่วงละเมิดบุคคลที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน การประพฤติสําส่อนทางเพศ ฯลฯ
มุสาวาท การพูดเท็จ หลอกลวง ปั้นน้ำเป็นตัว ฯลฯ
ทำไมจึงเรียกพฤติกรรมทั้ง ๔ ประการนี้ว่า “กรรมกิเลส”
คำว่า “กรรม” หมายถึง การกระทำโดยเจตนา
คำว่า “กิเลส” หมายถึง ความชั่วร้าย หรือโรคร้ายทางใจ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ ตระกูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ซึ่งแอบแฝงอยู่ในใจคนเรามาแต่กำเนิด อันเป็นเหตุให้คนเราแสดงพฤติกรรมเลวร้ายต่าง ๆ
ดังนั้นคำว่า “กรรมกิเลส” จึงหมายถึง การกระทำโดยเจตนาของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส เช่น เมื่อเกิดความโลภ ก็คิดเอาเปรียบแล้วลงมือคดโกงผู้อื่นได้ เมื่อบันดาลโทสะก็ถึงกับทำร้ายผู้อื่นได้ ฆ่าผู้อื่นได้ เมื่อเกิดความหลง ก็แสดงพฤติกรรมชั่วร้ายได้หลากหลายรูปแบบแม้แต่ทำร้ายตนเอง ฆ่าตนเอง หรือเมื่อกิเลสทั้ง ๓ ตระกูลออกฤทธิ์พร้อมๆ กัน คนเราก็อาจทำกรรมกิเลสได้ครบทั้ง ๔ ข้อ เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเรียก พฤติกรรมทั้ง ๔ ประการดังกล่าวว่า “กรรมกิเลส ๔”
• ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมในสังคม
คือ เว้นขาดจากอคติ ๔
ความหมายอคติ ๔
อคติ แปลว่า ความลำเอียง ได้แก่ การกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้ไม่ควรได้รับประโยชน์กลับได้รับ ผู้ควรได้รับกลับไม่ได้รับหรือผู้ควรได้รับน้อยกลับได้รับมาก ส่วนผู้ที่ควรได้รับมากกลับได้รับน้อย เป็นต้น มี ๔ ประเภท คือ
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบกัน ทำให้เกิดปัญหาคอรัปชั่น
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะฟังกัน ทำให้เกิดปัญหาการกลั่นแกล้งกันในสังคม
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา ทำให้กฎเกณฑ์ และกฎหมายบ้านเมืองขาดความศักดิ์สิทธิ์
๔. ภยาคติ ล่าเอียงเพราะกลัว ทำให้เกิดภัยมืดจากเหล่ามิจฉาชีพ
• ความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
คือ การละเว้นจากอบายมุข ซึ่งหมายถึง ปากทางแห่งความฉิบหาย มี ๖ ประเภท คือ
๑. ติดสุราและยาเสพติดต่าง ๆ
๒. ชอบเที่ยวกลางคืน
๓. ติดการดูการละเล่น
๔. ติดการพนัน
๕. การคบคนชั่วเป็นมิตร
๖. การเกียจคร้านในการทํางาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโทษของอบายมุขที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เสพคุ้นหรือเกี่ยวข้องไว้อย่างน้อยประเภทละ ๖ ประการ มีดังนี้
โทษของการเสพสุรา โทษแต่ละประการจะก่อให้เกิดปัญหากระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของผู้เสพ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมากทีเดียว
โทษของการเที่ยวกลางคืน ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนของผู้ที่ชอบเที่ยวกลางคืนก็คือการเสียทรัพย์เป็นจำนวนมากอย่างไร้ประโยชน์ เพราะเหตุนี้ผู้ชอบเที่ยวกลางคืน นอกจากจะเก็บออมทรัพย์ไม่ได้แล้ว ยังอาจจะกลายเป็นคนมีหนี้สินตามมาอีก โดยสรุปก็คือปัญหาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับนักเที่ยวกลางคืนเสมอ
โทษของการติดการดูการละเล่น ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกับตัวอย่างทั้ง ๖ ประการนี้ ย่อมฟ้องว่าเขาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งบันเทิงเริงรมย์ จนทำให้เสียเวลาในการทำมาหากิน วิถีชีวิตเช่นนี้ ในที่สุดก็จะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย
โทษของการติดการพนัน ผู้ติดการพนันย่อมจะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่เสมอ สภาพเช่นนี้ย่อมฟ้องว่า เขาเป็นผู้ที่ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจอย่างชัดแจ้ง
โทษของการคบคนชั่วเป็นมิตร คนชั่วนั้นมีมิจฉาทิฏฐิฝังแน่นอยู่ในกมลสันดานมีใจมืดมิดเป็นประจำ ย่อมไม่สนใจหรือไม่เชื่อกฎแห่งกรรม จึงกล้าทำกรรมกิเลส ๔ ได้ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับอบายมุขได้ทุกประเภท แน่นอนเหลือเกินว่าคนประเภทนี้ย่อมมีอคติ จะหาความเป็นธรรม และความรับผิดชอบจากคนประเภทนี้ได้สุดแสนยาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่รู้กันในหมู่สัมมาทิฏฐิชนว่า สุดยอดแห่งอบายมุข คือการคบคนชั่วเป็นมิตร
พฤติกรรมของคนเกียจคร้าน ใครก็ตามที่ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ยกข้ออ้างต่าง ๆ ในทำนองเดียวกันนี้ แล้วไม่ทำงาน ก็ย่อมแสดงได้อย่างชัดเจนว่า เป็นคนที่มีนิสัยเกียจคร้าน เป็นคนเอาดีไม่ได้ จึงไม่ใช่คนดี
จากเรื่องโทษของอบายมุขทั้ง ๖ ประเภทใหญ่ ที่กล่าวมานี้ นักศึกษาคงจะพบคำตอบด้วยตนเองแล้วว่า ทำไมอบายมุขจึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความฉิบหาย บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิฝังแน่นอยู่ในใจ ย่อมตระหนักถึงโทษภัยร้ายแรงของอบายมุขเป็นอย่างดี จึงเว้นขาดจากอบายมุขทั้งปวง จะมีก็แต่เหล่ามิจฉาทิฏฐิชนเท่านั้น ที่พอใจเกลือกกลั้วอยู่กับอบายมุข เฉกเช่น แมลงเม่าที่ชอบบินเข้ากองไฟ ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง ย่อมมีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
• ความสํานึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ต่อบุคคลที่แวดล้อมตัวเรา คือ ทิศ 5 ได้แก่
• ทิศเบื้องหน้ามารดาบิดา
• ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์
• ทิศเบื้องหลังภรรยา (สามี) และบุตร
• ทิศเบื้องซ้าย ญาติสนิทมิตรสหาย
• ทิศเบื้องล่าง ผู้ใต้บังคับบัญชา
• ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่สอนวิชาความเป็นมนุษย์ให้แก่ชาวโลก
จากทิศ ๖ นี้ย่อมเห็นได้ว่า คนเราแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางมีความสัมพันธ์กับทิศ ๖ ขณะเดียวกันทิศ ๖ ก็มีความสัมพันธ์กับตัวเรา ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับทิศ ๖ ดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งตัวเราและทิศ ๖ ก็สามารถดำรงชีวิต อยู่อย่างมีความสุขตาม
อัตภาพ เนื่องจากไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น ถ้าตัวเราปฏิบัติหน้าที่ของเราโดยไม่บกพร่องก็ถือว่าตัวเรามีความสำนึกรับผิดชอบต่อบุคคลที่แวดล้อมตัวเรา หรือมีความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ ดีแล้ว
๒. ต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ มี ๒ ประเภท คือ
• สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ได้แก่ ที่อยู่อาศัย พื้นดิน อากาศ ถนน ต้นไม้ใหญ่น้อยบริเวณในบ้าน และใกล้บ้าน รวมทั้งสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
• สิ่งแวดล้อมไกลตัว ได้แก่ ทะเล มหาสมุทร ป่าเขา ภูมิอากาศ สัตว์ป่านานาชนิด ฯลฯ
ผู้มีสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง ย่อมมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ย่อมตระหนักดีว่า สิ่งแวดล้อมทั้งใกล้ตัวและไกลตัว แม้บางอย่างจะมีอันตราย แต่ส่วนมากก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และสัตว์ รวมถึงพืชพันธุ์ไม้อีกด้วย พวกเขาจึงพยายามร่วมมือ กันปกป้อง บำรุงรักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา
๒.๔ สรุปท้ายบท
คนดีที่โลกต้องการ ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน ดังนี้
๑. มีสัมมาทิฏฐิอยู่ในใจ
บุคคลที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่โลกต้องการนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหลายประการแต่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนดีก็คือ สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการที่เข้าไปอยู่ในใจบุคคลอย่างมั่นคง จนพัฒนาขึ้นเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวประจำใจ
คุณสมบัติพื้นฐานของคนดีนี้เอง จะเป็นแหล่งกำเนิดของคุณสมบัติอื่น ๆ ตามมาอีกหลายประการ การมีสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการอยู่เพียงระดับความเข้าใจ แต่ยังไม่เข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง คุณสมบัติดีงามอื่น ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็ไม่ยั่งยืน และอาจจะถูกแทนที่ด้วยมิจฉาทิฏฐิได้โดยง่าย
๒. มีความสำนึกรับผิดชอบ ๔ ประการ อันเกิดจากความเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ
๒.๑ ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนโดยเว้นขาดจากการทํากรรมกิเลส ๔
๒.๒ ความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์และศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมสังคม โดยเว้นขาดจากการมีอคติ ๔
๒.๓ ความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ โดยเว้นขาดจากอบายมุขทั้งปวง
๒.๔ ความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกได้ เป็น ๒ ประเภท คือ
• บุคคลที่แวดล้อมตัวเรา ได้แก่ ทิศ ๖ การมีความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ของตนตาม อริยวินัยประจำทิศให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง
• สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ การมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ก็คือการไม่ทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่ทว่าพยายามบำรุงรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ดีที่สุด