บทที่ ๕ คัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2566

15-8-66-BL.jpg

บทที่ ๕
คัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์


วัตถุประสงค์การเรียนรู้
๑) สามารถอธิบายความหมายและสาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์ได้
๒) มีความรู้ความเข้าใจ สามารถอธิบายความสำคัญของสัมมาทิฐิและมิจฉาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปมนุษย์
๓) สามารถอธิบายหลักและวิธีการในการปลูกฝังอบรมคนดีที่โลกต้องการได้
๔) สามารถอธิบายถึงความสำคัญของทิศ 5 ที่ส่งผลต่อการปฏิรูปมนุษย์ได้


๑. แนวคิดในการปฏิรูปมนุษย์
          ๑.๑ สาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์
                       ปัจจุบันคงจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูประบบต่าง ๆ มาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูประบบการจัดการการปฏิรูปสังคม เป็นต้น ซึ่งจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปสิ่งต่าง ๆ เพื่อดำเนินการจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไขสิ่งเหล่านั้นซึ่งอาจจะมีข้อเสียข้อบกพร่องให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ให้เกิดประโยชน์กว้างขวางขึ้น การปฏิรูปมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน
                              ปฏิรูป คือ แก้ไขปรับปรุงอะไรของมนุษย์
                              สิ่งที่จะต้องปฏิรูป คือ สันดานและนิสัยที่ไม่ดีงามของมนุษย์

                        ดังนั้น การปฏิรูปมนุษย์ จึงหมายถึง การแก้ไขปรับปรุงมนุษย์แต่ละคนให้ดีขึ้นนั่นคือ การแก้ไขปรับปรุงสันดานและนิสัยที่ไม่ดีให้ดีขึ้นนั่นเอง


                       • สันดานกับนิสัยหมายถึงอะไร แตกต่างกันอย่างไร
                       สันดาน หมายถึง อุปนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือความประพฤติที่เกิดขึ้นเองไม่ต้องมีผู้ปลูกให้ ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี

                       นิสัย หมายถึง ความประพฤติเคยชิน เป็นความประพฤติต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันหลังจากที่เกิดมาแล้ว เป็นความประพฤติที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกลายเป็นนิสัยทั้งที่ดีและไม่ดี


                       • สาเหตุที่ทำให้สันดานและนิสัยไม่ดี คือกิเลส
                       เนื่องจากมนุษย์ทุกคนประกอบด้วยกายกับจิต องค์ประกอบทั้ง ๒ นี้ ถ้าขาดภูมิคุ้มกันก็จะเกิดโรคขึ้น หากร่างกายขาดภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอถูกโรคภัยเบียดเบียน เช่น เป็นไข้หวัด ฯลฯ ส่วนจิตใจถ้าขาดภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอมีโรคภัยเบียดเบียน แต่โรคภัยนี้ในพระพุทธศาสนา เรียกว่า กิเลส จิตใจที่อ่อนแอ จะตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ๓ ตระกูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งแอบแฝงมาแต่กำเนิดทำให้เราแสดงพฤติกรรมร้าย ๆ ออกมา

                       โดยสรุป คือ ถ้าหากใครที่มีภูมิคุ้มกันจิตใจดี พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็ดีด้วยดังนั้น ผู้ที่มีสันดานและนิสัยดีย่อมประประพฤติดี ตรงกันข้ามผู้ที่มีสันดานและนิสัยไม่ดีย่อมประพฤติไม่ดี เพราะถูกควบคุมด้วยอำนาจกิเลส หรือจิตใจของเขาขาดภูมิคุ้มกัน หรือมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอนั่นเอง


                        • ภูมิคุ้มกันจิตใจคืออะไร
                        ภูมิคุ้มกันจิตใจ คือ ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งมีศัพท์ทางธรรมว่า สัมมาทิฏฐิ ตรงกันข้ามผู้ที่ขาดหรือหย่อนภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ก็เพราะขาดความเข้าใจถูกต้องหรือมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโลก และความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งมีศัพท์ทางธรรมว่า มิจฉาทิฏฐิ

                         สัมมาทิฏฐิ คือ ภูมิคุ้มกันจิตใจ ที่ทำให้เกิดนิสัยและสันดานที่ดี ตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ คือ ภูมิคุ้มกันจิตใจที่อ่อนแอ ที่ทำให้เกิดนิสัยและสันดานที่ไม่ดี

                             ดังนั้น การปฏิรูปมนุษย์ก็คือ การปฏิรูปมิจฉาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐินั่นเอง


          ๑.๒ โทษของมิจฉาทิฏฐิ
                        • มิจฉาทิฏฐิมีโทษร้ายแรงอย่างไร จึงต้องปฏิรูป
                        ความเข้าใจผิดอันเป็นมิจฉาทิฏฐินั้น มีโทษร้ายแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนสังคมโลกสุดจะนับจะประมาณ สำหรับโทษต่อตนเองนั้นมีโทษหนักถึงกับต้องตกนรกกันเลยทีเดียว ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มิจฉาทิฏฐิสูตร ว่า

                        “บุคคลในโลกนี้ตั้งจิตไว้ผิด กล่าววาจาผิด ทำการงานทางกายผิดมีความขวนขวายน้อย (ไม่ทำประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น) ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้ เขามีปัญญาทราม หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก”


                         สำหรับโทษต่อผู้อื่นและสังคมโลกนั้นมิจฉาทิฏฐิชนจะพยายามชักชวนผู้คนให้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกหรือเครือข่ายของตนอยู่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายก็คือ ในวงการพนันหรือวงเหล้า คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ครั้นได้สนทนาปราศรัยกันเพียงเล็กน้อย ก็ร่วมวงเล่นการพนันกันได้ หรือร่วมวงดื่มสุราฮาเฮกันได้ เพียงแค่ได้ร่วมวงทำกิจกรรมเกี่ยวกับอบายมุขเพียงครั้งเดียว มิจฉาทิฏฐิชนก็สามารถผูกมิตรสนิทสนมกันได้ ยิ่งมีผลประโยชน์เป็นที่คาดหวังด้วยแล้ว เครือข่ายของมิจฉาทิฏฐิก็ขยายวงออกไปได้รวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง การที่เครือข่ายยาบ้าแพร่ขยายไปได้ทั่วประเทศ ในช่วงก่อนที่รัฐบาลจะประกาศสงครามปราบปรามยาบ้า ก็ด้วยกลวิธีผูกมิตรเช่นนี้เอง

                         ดังนั้น อย่าว่าแต่จะปล่อยให้สังคมคลาคล่ำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิชนเลย แม้มิจฉาทิฏฐิบุคคลเพียงคนเดียว ก็มีฤทธิ์มีเดชสร้างความปั่นป่วนขึ้นในสังคมได้ เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มิจฉาทิฏฐิบุคคลเพียงคนเดียวหากเกิดขึ้นในโลก ก็สามารถทำความพินาศให้เกิดขึ้นแก่โลกได้ ดังที่ตรัสไว้ในเอกธัมมบาลี ตติยวรรค ว่า

  “ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต บุคคลนั้นทำให้คนหมู่มาก ออกจาก
สัทธรรม (กุศลกรรมบถ ๑๐) ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม (อกุศลกรรมบถ ๑๐)
บุคคลผู้เป็นเอก (คนเดียว) นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”


                          เพราะเหตุที่มิจฉาทิฏฐิมีโทษภัยร้ายแรงทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นหรือสังคมโลกดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูป คือ กำจัดมิจฉาทิฏฐิออกจากใจผู้คนให้หมดไปโดยสิ้นเชิง แล้วพัฒนาสัมมาทิฏฐิขึ้นมาแทน


           ๑.๓ ความเห็นที่เป็นคู่ปรปักษ์กันอย่างถาวร ๑๐ ประการ
                         ความเห็น ๒ ระดับ (สัมมาทิฏฐิ) ความเห็น มีความหมายเช่นเดียวกับในทางธรรมว่าความเข้าใจระดับลึก

                         ๑. ระดับพื้นผิว (ทั่วไป) เป็นความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับด้านกายภาพ และวัตถุต่าง ๆ มีผลทางด้านจิตใจเพียงเล็กน้อยถ้าเข้าใจถูกต้องก็ไม่มีผลให้คนเราได้ขึ้นสวรรค์ถ้าเข้าใจผิดก็ไม่ตกนรก

                         ๒. ระดับลึก เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิต เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม บุญและบาป มีผลต่อจิตใจมาก ถ้าเข้าใจถูกต้องก็มีโอกาสไปบังเกิดบนสวรรค์ ถ้าเข้าใจผิดก็มีโอกาสตกนรก

                        ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลก และความเป็นไปของชีวิต มีศัพท์ทางธรรมว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นถูก เมื่อสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจของบุคคลจนหยั่งรากลึกอย่างมั่นคง ก็จะกลายเป็นอุดมการณ์ หลักการ ทัศนคติ หรือทฤษฎีชีวิตประจำใจบุคคลอันจะเป็นเหตุให้บุคคลนั้น คิดถูก พูดถูก ทำถูก ประกอบอาชีพถูก คือ ทำหน้าที่การงานของตนด้วยความสุจริตโปร่งใส ไม่ผิดทำนองคลองธรรม สังคมใดที่ผู้คนล้วนสมบูรณ์พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ สังคมนั้นย่อมจะประสบสันติสุขตลอดกาล หรือแม้เพียงผู้คนส่วนใหญ่มั่นคงอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ย่อมหวังได้ว่าสังคมนั้นจะประสบสันติสุขอย่างยั่งยืน

                        ในทำนองกลับกัน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโลก และความเป็นไปของชีวิตไม่ตรงตามความเป็นจริง มีศัพท์ทางธรรมว่า “มิจฉาทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็นผิด เมื่อมิจฉาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจนาน ๆ ไป ก็จะกลายเป็นอุดมการณ์ หลักการ ทัศนคติ หรือทฤษฎีชีวิตประจำใจบุคคล อันเป็นเหตุให้บุคคลนั้นคิดผิด พูดผิด ทำผิด ประกอบอาชีพผิด คือทำผิดไปทุกอย่างแม้ถึงคราวพักผ่อนหย่อนใจ ก็จะแสวงหาความสุขอย่างผิด ๆ เช่น เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขคือหาความสุขบนความทุกข์ความฉิบหายของผู้อื่นบ้าง ของตนเองบ้าง ทั้งของตนเองและผู้อื่นบ้าง ดังนั้น แทนที่จะได้รับความสุข กลับต้องประสบความทุกข์และความเดือดร้อนแทน

                         สังคมใดที่คลาคล่ำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิชน สังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยปัญหาวิกฤตมากมายหลายด้าน เช่น ปัญหาเยาวชน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ นอกจากนี้ผู้คนในสังคมต่างก็จะตกเป็นทาสของอบายมุขหลากหลายประเภท ถ้าปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันท่วงที ไม่ช้าไม่นาน สังคมนั้นก็จะเสื่อมทรามลง เหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน แม้สังคมนั้นจะเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องใหญ่โตสวยงาม ซึ่งแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง แต่ก็เป็นเพียงความเจริญทางวัตถุเท่านั้น ทว่าจิตใจของผู้คนจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ ถ้าเป็นสังคมใหญ่ระดับประเทศชาติ ประเทศชาตินั้นก็อาจจะถึงกาลล่มสลายในที่สุด ดังที่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์โลก ทุกยุคทุกสมัย

                         พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความเห็นถูก และความเห็นผิดอันเป็นคู่ปรปักษ์ต่อกันไว้ ๑๐ คู่ ซึ่งสามารถแสดงเปรียบเทียบกัน ดังตารางต่อไปนี้

 

5-1.PNG


                        ๑. ทานที่ให้แล้วมีผล
                        การทําทานโดยทั่วไปหมายถึงการให้หรือการแบ่งปันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนการให้สิ่งของ การให้ความช่วยเหลือด้านกำลังแรง การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ความรู้ทางธรรมรวมทั้งการให้อภัยแก่กันและกัน แต่การทำทานที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนาหมายถึงการทำทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เพราะนอกจากจะเป็นการให้ตามความหมายของการแบ่งปันแล้ว ยิ่งเป็นการทำบุญกับเนื้อนาบุญ คือ พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลหรืออานิสงส์มาก

                         เหตุที่ต้องทำทาน เพราะคนเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน

                         เหตุที่คนไม่ทำทาน เพราะคิดว่าความมั่งคั่งและมีทรัพย์มากคือความสุข และการให้เป็นการเสียผลประโยชน์

                         โทษภัยของการไม่ทำทาน สังคมจะเต็มไปด้วยคนดูดาย อยู่อย่างตัวใครตัวมันจากนั้นก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ต่างเอาเปรียบเบียดเบียนกันด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่โต

                          สรุป ผู้ที่มีความเห็นว่า การทำทาน มีผล คือ สภาพของใจคนที่ประกอบด้วย “เมตตาจิต” และเป็นจิตใจที่พัฒนาความรับผิดชอบต่อผู้อื่นขึ้นมาระดับหนึ่ง

 
                          ๒. ความเห็นเกี่ยวกับการสงเคราะห์
                          สงเคราะห์ คือการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในด้านต่าง ๆ แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยจะมุ่งที่สังคมสงเคราะห์และศาสนสงเคราะห์

                          ดังนั้น สงเคราะห์จึงแตกต่างกับทาน คือ สงเคราะห์มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่สังคมสงเคราะห์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ส่วนทานจะมุ่งช่วยเหลือ หรือแบ่งปันให้แก่ปัจเจกบุคคลเป็นหลัก


                          วัตถุประสงค์การสงเคราะห์
                               • เพื่อผู้ด้อยโอกาสได้มีชีวิตอยู่ได้ตามสมควร
                               • เพื่อผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสได้รับการอบรมทั้งทางโลก และทางธรรม
                               • เพื่อผู้ด้อยโอกาสสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ตนเผชิญอยู่
                          ทําไมคนไม่ทําสังคมสงเคราะห์
                               • เห็นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ
                               • เห็นว่าที่ยากจนเพราะเกียจคร้าน ถ้าให้คือสนับสนุนให้ขี้เกียจ
                               • ตระหนี่ถี่เหนียว
                               • ไม่เข้าใจธรรมะ จึงไม่สงเคราะห์ทั้งคนและสมณะ


                         โทษภัยของการไม่ทำสังคมสงเคราะห์
                         สังคมใดที่ยังมีผู้อดอยากยากจน พวกเขาต่างก็ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่พบหนทางสุจริต พวกเขาก็พร้อมที่จะทำทุจริต นับตั้งแต่ลักขโมย จี้ปล้น โจรกรรมทำสิ่งผิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นทางนำไปสู่อาชญากรรมทั้งสิ้นสังคมนั้นก็จะหาความสงบสุขไม่ได้

                         สรุป ผู้มีความเห็นว่า การสงเคราะห์แล้ว มีผล เป็นสภาพของใจคนที่กอปรไปด้วย “กรุณาจิต”


                         ๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
                         การบูชา คือ การยกย่องคุณความดี และความสามารถของบุคคล
                         บุคคลที่ควรบูชา คือ
                              • บุคคลที่มีบุญคุณต่อเราโดยตรง และยังมีชีวิตอยู่
                              • บรรพบุรุษของเราและของชาติ ผู้ล่วงลับไปแล้ว
                              • ผู้เพียบพร้อมด้วยศีลและคุณธรรม
                              • สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
                         ทำไมต้องบูชา
                              • แสดงกตัญญูกตเวที ต่อบุพพการีและผู้มีพระคุณ
                              • แสดงความเคารพนับถือ ยกย่อง เทิดทูนบรรพบุรุษของเรา
                              • ประกาศคุณความดีให้โลกรู้ และเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง
                              • สร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้สังคม คือ เคารพธรรม ถือศีลและธรรมเป็นใหญ่
                              • ป้องกันตนจากความริษยา แต่คอยสังเกตคุณความดีของผู้อื่นไว้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเอง
                              • บำรุงสมณพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวร
                        ทำไมบางคนไม่คิดบูชา
                              • อิจฉาริษยา
                              • ชอบจับผิดผู้อื่น
                              • ขาดความอบอุ่น ทำให้มองโลกในแง่ร้าย
                              • คิดว่าเป็นการฉุดให้ตัวเองตกต่ำ

                       โดยรวมแล้วสาเหตุส่วนใหญ่ที่แต่ละคนไม่ยกย่องบูชาบุคคลที่ควรบูชาก็คือ ความดูเบา ความอิจฉาริษยา และไม่อยากเห็นคนอื่นดีกว่าตนนั่นเอง

                        สรุป ผู้มีความเห็นว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชา มีผล เป็นสภาพของใจคนที่กอปรไปด้วย “มุทิตาจิต”


                        ๔. วิบากของกรรมดีกรรมชั่วของบุคคล
                        วิบากของกรรม หมายถึง ผลของกรรมทั้งดีและชั่วที่ตัวเราเองได้ทำลงไปแล้ว

                        กรรมดี หมายถึง การกระทำโดยสุจริตทางกาย วาจาและใจ ดังนั้น ผู้ทำกรรมดีก็คือ ผู้มีความประพฤติไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดกฎหมาย และไม่มีความคิดทุจริตที่จะก่อกรรมทําบาป

                        กรรมชั่ว หมายถึงการกระทำโดยทุจริตทางกาย วาจา และใจดังนั้น ผู้ทำกรรมชั่วก็คือ ผู้มีความประพฤติผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย และมีความคิดทุจริต คิดแต่จะก่อกรรมทำบาป ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดทุกข์โทษทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น รวมถึงสังคมโดยรวม


                        เกณฑ์ตัดสินกรรมดีและกรรมชั่ว ๒ ประเภท
                             ประเภทที่ ๑ อาศัยกรรมบถ ๑๐ ประกอบด้วยเกณฑ์ ๓ ทาง ได้แก่ ความประพฤติทางกาย วาจา และใจ สำหรับเกณฑ์ตัดสินกรรมดี เรียกว่า “กุศลกรรมบถ ๑๐” มีดังนี้


                  ทางกาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดศีล ๓ ข้อ คือ
                       • จากการฆ่าและเบียดเบียนชีวิต ประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อคนและสัตว์ทั้งหลาย
                       • จากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ประกอบอาชีพสุจริต
                       • จากการประพฤติผิดทางเพศ ศึกษาธรรมะและประพฤติพรหมจรรย์ตามความเหมาะสม

                 ทางวาจา เว้นขาดจากการประพฤติผิดศีล ๔ ข้อ คือ
                       • จากการพูดเท็จ พูดคำจริง รักษาสัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา
                       • จากการพูดส่อเสียด พูดส่งเสริมให้คนมีความรักสามัคคีกัน
                       • จากการพูดคำหยาบ พูดปิยวาจา พูดให้กำลังใจผู้ฟัง
                       • จากการพูดเพ้อเจ้อ พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ

                 ทางใจ เป็นความคิดที่เป็นเหตุให้เกิดการพูด และการกระทำที่สุจริต มี ๓ ประการ คือ
                       • ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ถือสันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้
                       • ไม่พยาบาทจองเวรผู้อื่น มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ให้อภัยอยู่เสมอ
                       • มีความเห็นหรือความเข้าใจถูก (สัมมาทิฏฐิ) เรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิตตามที่เป็นจริง ด้วยการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรม

                       สำหรับเกณฑ์ตัดสินกรรมชั่ว เรียกว่า “อกุศลกรรมบถ ๑๐” ซึ่งเป็นความประพฤติตรงกันข้าม

                       วิธีการให้ตั้งมั่นในกรรมบถ คือ ปลูกฝังสัมมาทิฏฐิ ใส่ใจศึกษา และปฏิบัติธรรม


                            ประเภทที่ ๒ อาศัยอบายมุข ๖
                            เนื่องจากผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกประเภท ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ใช้บริการ ผู้ขายบริการ ผู้ประกอบการ ล้วนมีเจตนาทำกรรมชั่วทั้งสิ้น จึงสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินกรรมดี-ชั่วได้

                            อบายมุข โดยรูปศัพท์ แปลว่า ปากทางแห่งความฉิบหาย หมายความว่า บุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข คือ ผู้ที่เป็นต้นเหตุก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความหายนะให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่นในเบื้องต้น แต่ในที่สุดก็จะกลายเป็นความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นตลอดถึงสังคมโดยรวม ในพระพุทธศาสนาแบ่งอบายมุขออกเป็น ๖ ประการใหญ่ คือ
                                • การติดสุราเมรัย และยาเสพติดประเภทต่าง ๆ
                                • การชอบเที่ยวกลางคืน
                                • การติดการดูการละเล่น
                                • การติดการพนัน
                                • การคบคนชั่วเป็นมิตร
                                • การเกียจคร้านในการทํางาน


                  เกณท้ตัดสินกรรมดีและกรรมชั่ว ด้วยตัวเอง ม ี๒ ลักษณะ คือ
                           ๑. พิจารณาที่ต้นเหตุ (ทำกรรมดี - ชั่ว ด้วยกุศลมูล - อกุศลมูล : ได้ผลเป็นสุข – ทุกข์)
                           ๒. พิจารณาที่ผลสุดท้าย (ทำกรรมแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง : แสดงว่ากรรมนั้นดี)


                  สาระสำคัญของกฎแห่งกรรม คือ “ทำดีได้ผลดีจริง ทำชั่วได้ผลชั่วจริง” มีสาระ ๔ ประเด็นคือ
                           ๑. ทํากรรมใด ตนย่อมได้รับผลนั่นเอง
                           ๒. ผู้ทำดี ย่อมได้ผลดีอย่างแน่นอน
                           ๓. ผู้ทำชั่ว ต้องได้รับผลชั่วอย่างแน่นอน
                           ๔. ผลของกรรม เหมือนการออกดอกของพืชผล

                           ทำไมไม่เชื่อกฎแห่งกรรม เพราะเห็นคนชั่วได้ดีเสมอ ๆ แต่ถึงอย่างไรกรรมชั่วที่ทำก็ยังตามให้ผลอยู่ตามกาล คือ อาจให้ผลชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป


                   ประโยชน์ของความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ๖ ประการ
                          ๑. รู้ว่าทุกคนมีใจ (กรรมเกิดจากเจตนา คือ ใจสั่งให้ทำ)
                          ๒. รู้ว่าตายแล้วไม่สูญ
                          ๓.รู้ว่าไม่มีใครเลี่ยงวิบากได้
                          ๔. รู้ว่าทำดีย่อมได้ผลดีเป็นรางวัล
                          ๕. ใครจะดีหรือชั่วก็เพราะตัวเอง
                          ๖. ข้อที่ ๑ - ๕ ช่วยให้พัฒนาหิริโอตตัปปะได้ถาวร

                   สรุป ผู้ที่มีความเห็นว่า ผลของวิบากจากกรรมที่ทำดีและชั่ว มีผล เป็นสภาพของใจคนที่กอปรไปด้วย “อุเบกขาจิต” (รู้เท่าทันผลวิบากและกรรมดี - ชั่ว ด้วยใจที่ถือธรรมเป็นใหญ่)


                       ๕. โลกนี้
                       โลก ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง สิ่งที่ทรุดโทรม ย่อยยับ สูญสลายได้มี ๓ อย่าง คือ

                              ๑. สังขารโลก หมายถึง ร่างกายของคนและสัตว์ที่มีกายกับใจ
                              ๒. สัตวโลก หมายถึง หมู่สัตว์ทั้งหลาย เทวดา มาร พรหม ดิรัจฉาน
                              ๓. โอกาสโลก (ภาชนโลก) หมายถึง ที่ที่สัตว์โลกอาศัยสร้างกรรม


                      สาระสำคัญของโลกนี้
                              ๑. สัตวโลกล้วนแตกต่างกัน ทั้งด้านรูปร่างหน้าตา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม สติปัญญา นิสัยสันดาน รวมทั้งความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย
                              ๒. สาเหตุแห่งความแตกต่างก็เพราะกรรม ทั้งกรรมในอดีตช่วงใกล้และช่วงไกล
                              ๓. การทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับโลกนี้
                                    • โลกนี้มีที่มา คือ มาจากกรรมที่ตนทำ
                                    • โลกนี้มีความไม่แน่นอน เพราะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งด้วยเหตุอดีตและปัจจุบัน
                                    • โลกนี้มีคุณ เพราะเป็นที่สร้างบุญ
                                    • โลกนี้มีเวลาจํากัด มีความตายเป็นตัวจำกัดเวลาในการมีชีวิต


                     ทำไมต้องเข้าใจเรื่องโลกนี้
                     ทำให้เกิดปัญญาคิดที่จะแก้ไขนิสัยตนเอง เพราะเกิดสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

                     สรุป ผู้มีความเห็นว่า โลกนี้มี เป็นสภาพใจของคนที่กอปรด้วย “ศรัทธามั่นในเรื่องผลกรรมข้ามชาติ”


                      ๖. โลกหน้า
                      ความหมาย มี ๒ ประการ คือ
                           ๑. ชีวิตหลังความตาย
                           ๒. สถานที่สถิตของชีวิตหลังความตาย

                      ชีวิตหลังความตาย หมายถึง ตายแล้วไม่สูญ จะสูญสิ้นก็เฉพาะร่างกายซึ่งถูกเผาหรือถูกฝังลงดินเท่านั้น ส่วนใจยังคงอยู่ในกายมนุษย์ละเอียด ซึ่งเคลื่อนออกมาจากกายมนุษย์หยาบในขณะที่คนเรากำลังจะสิ้นชีวิตนั่นเอง ตราบใดที่ใจยังมีกิเลสอยู่ก็จะต้องไปบังเกิดมีชีวิตใหม่ในภพภูมิใหม่ ที่เรียกว่า “ปรโลก” หรือ “ปรภพ” ซึ่งคติหรือแนวทางในปรโลกของสัตว์ทั้งหลาย มี ๒ ทาง คือ

                            ๑. สุคติ หมายถึง สถานที่ที่ไปเกิดหรือแบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ได้แก่มนุษยโลก (โลกมนุษย์) เทวดาโลก (โลกสวรรค์) และพรหมโลก (โลกของพรหม)

                            ๒. ทุคติ หมายถึง สถานที่ที่ไปเกิด หรือแบบการดำเนินชีวิตที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย

                         อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่ไปเกิดของชีวิตใหม่ในโลกหน้าเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน อาจเป็นไปได้ทั้งทุคติและสุคติ ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง โดยมีเหตุปัจจัย ๒ ประการ คือ กรรมที่ทำมาตลอดชีวิตนี้ และสภาวะของจิตก่อนสิ้นลมหายใจ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่าเมื่อเวลาใกล้ตาย ถ้าบุคคลมีจิตเศร้าหมองก็จะไปสู่ทุคติก่อน จิตที่ผ่องใสเท่านั้นจึงจะมีโอกาสไปสู่สุคติ ส่วนกรรมดีหรือชั่วอื่น ๆ ก็จะส่งผลไปตามลำดับ หลังจากได้เสวยวิบากกรรมนั้นแล้ว


                      หลักการเตรียมความพร้อมเพื่อไปโลกหน้า
                             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักการเตรียมความพร้อมเพื่อการไปสู่ปรโลกที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่าและเป็นหลักประกันความสุขของชีวิตในโลกหน้า คือ สัมปรายกัตถประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ

                             ๑. สัทธาสัมปทา คือ เชื่อในพระธรรมคำสอน โดยเชื่อมั่นในสิ่งต่อไปนี้
                                    • เชื่อมั่นว่ากฎแห่งกรรมมีจริงเป็นจริง
                                    • เชื่อมั่นในผลของกรรม
                                    • เชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีกรรมเป็นของตัว

                             ๒. สีลสัมปทา คือ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นทางนำสุขมาให้ ๓ ประการ คือ
                                    • ได้รับการสรรเสริญจากสังคม
                                    • เป็นทางแห่งโภคทรัพย์สมบัติ
                                    • เมื่อตายก็ไปสวรรค์

                             ๓. จากสัมปทา คือ มีนิสัยเสียสละ ชอบแบ่งปัน จนไม่มีความตระหนี่ในใจ

                             ๔. ปัญญาสัมปทา ปัญญาเกิดขึ้นได้ ๓ ทาง คือ
                                    • จินตามยปัญญา เกิดจากการคิดหาเหตุหาผล เป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่กําเนิด
                                    • สุตมยปัญญา เกิดจากการเล่าเรียนและการฟัง จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
                                    • ภาวนามยปัญญา เกิดจากการฝึกทำใจหยุดนิ่ง มีคุณค่าต่อชีวิต ดังนี้
                                               - ทําให้ใจสงบ
                                               - ทำให้มีความสุข
                                               - ชำแรกกิเลสได้

                      สรุป ผู้ที่มีความเห็นว่า ตายแล้วไม่สูญ ต้องเกิดใหม่อีก คือ เป็นสภาพใจของคนที่มีศรัทธามั่นใน “การเวียนว่ายตายเกิด”


                      ๗. พระคุณของมารดา
                      เหตุที่ทำให้ไม่เห็นคุณมารดา มีหลายประการด้วยกัน คือ
                            ๑. คิดว่าถูกมารดาเข้มงวดไร้เหตุผล
                            ๒. เห็นว่ามารดาไม่เป็นธรรม ลำเอียง รักลูกไม่เท่ากัน
                            ๓. ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว
                            ๔. มารดาไม่เอาใจใส่ ถูกทอดทิ้ง

                      โดยสรุปแล้วผู้ไม่เห็นคุณมารดา เพราะคิดว่า ตนเองเป็นผลผลิตจากความสุขทางกามารมณ์ของผู้ให้กำเนิด

                      พระคุณมารดา ในพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่มารดาว่ามีพระคุณ มี ๔ ประการ
                            ๑. ให้ชีวิตแก่บุตร
                            ๒. ให้ต้นแบบร่างกายที่เป็นมนุษย์
                            ๓. ให้ต้นแบบจิตใจที่เป็นมนุษย์
                            ๔. เป็นบุพการี (ผู้ให้อุปการะก่อน)

                     ความเข้าใจพระคุณมารดา มีประโยชน์กับมารดา (เทียบข้อตามพระคุณ ๔ ประการ) คือ
                            ๑. มารดาต้องมีความพร้อมที่จะให้กำเนิด และรับผิดชอบ
                            ๒. ต้องเลือกบุรุษที่ดีมาเป็นบิดาของบุตร
                            ๓. มารดาต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ
                            ๔. มารดาต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำหน้าที่ (ก่อนแต่งงาน) อย่างน้อย ๓ ด้าน คือ
                                 • ฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง
                                 • มีความรู้ในการเลี้ยงดูบุตร ทั้งทางโลก และทางธรรม
                                 • มีครอบครัวที่มีความสุข และความอบอุ่น (ไม่เป็นภรรยาน้อย)

                     บุตรควรแสดงกตเวทิตาต่อมารดา
                     การตอบแทนคุณมารดาทำได้ ๒ ประการ คือ

                           ๑. ขณะยังมีชีวิต ให้การปรนนิบัติ ให้ความสะดวกเรื่องความเป็นอยู่ความอบอุ่น ความสบายอกสบายใจ และให้ท่านได้บำเพ็ญกุศลทั้งทาน ศีล ภาวนา เพื่อเป็นการสั่งสมบุญ และช่วยให้ท่านมีจิตผ่องใสอันจะเป็นทางไปสู่สุคติ เมื่อถึงคราวละโลกไปแล้ว

                           ๒. เมื่อท่านล่วงลับ แล้ว จัดพิธีศพให้สมเกียรติ เพื่อเป็นการประกาศคุณท่าน และอุทิศบุญกุศลไปให้สม่ำเสมอ

                     สรุป ผู้มีความเห็นว่า มารดา มีคุณ เป็นสภาพใจของผู้เป็นบุตรที่กอปรด้วย “ความกตัญญูกตเวที”


                     ๘. พระคุณของบิดา
                     พระคุณบิดา มีพระคุณเช่นเดียวกับมารดา มี ๔ ประการ คือ
                           ๑. ให้ชีวิตแก่บุตร
                           ๒. ให้ต้นแบบร่างกายที่เป็นมนุษย์
                           ๓. ให้ต้นแบบจิตใจที่เป็นมนุษย์
                           ๔. เป็นบุพการี (ผู้ให้อุปการะก่อน)

                    บิดาไม่รับผิดชอบ ทำให้เกิดปัญหาอย่างไร
                           ๑. บุตรมีปมด้อย ขาดความอบอุ่น พัฒนาตนเองยาก
                           ๒. ถ้าบุตรมีพ่อเลี้ยง อาจเร่ร่อนจรจัด เสียคนตลอดชีวิต
                           ๓. ถ้ามารดายากจน ไม่ส่งเสริมให้ศึกษา ทำให้เด็กเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย
                           ๔. จากข้อ ๑ - ๓ ๓ ทำให้บุตรเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่หย่อนคุณภาพ

                    สรุป ผู้มีความเห็นว่า บิดา มีคุณ เป็นสภาพใจของผู้เป็นบุตรที่กอปรด้วย “ความกตัญญูกตเวที”


                    ๙. สัตว์ที่ผุดขึ้นเกิด
                    สัตวโลกกำเนิดอย่างไร

                    ๑. ในมนุษยโลก มี ๓ ประการ คือ
                                   • เกิดในฟองไข่ (อัณฑชะ) ได้แก่ สัตว์เดรัจฉานต่าง ๆ เช่น นก จิ้งจกเต่า เป็นต้น
                                   • เกิดในครรภ์ (ชลาพุชะ) ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเป็นส่วนมาก เช่น มนุษย์ แมว ช้าง เป็นต้น
                                   • เกิดในสิ่งโสโครก (สังเสทชะ) ได้แก่ เกิดในซากศพ ในน้ำเน่า อาหารบูดเน่า เช่น หนอน จุลินทรีย์ เป็นต้น

                    ๒. นอกมนุษยโลก คือ เกิดแล้วโตทันที เรียกว่า “โอปปาติกะ” ซึ่งเกิดจากแรงกรรมทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ฝ่ายดีจะนำไปเกิดในสุคติภพ ได้แก่ เทวดา และพรหม ส่วนฝ่ายชั่วจะนำไปเกิดในทุกคติภพ ได้แก่ นรก เปรต และอสุรกาย


              โลกมนุษย์เป็นที่สร้างกรรมดีได้เต็มที่ของมนุษย์
                  เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ

                    ๑. มนุษย์มีรูปกายแข็งแรงทรหดอดทน เหมาะแก่การสร้างความดีทุกรูปแบบ

                    ๒. มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากพระอรหันตสาวกแม้พระองค์และเหล่าพระอรหันตสาวกจะเข้านิพพานกันไปหมดแล้ว ก็ยังมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทรงจำพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ไว้ แล้วนำมาถ่ายทอดปลูกฝังอบรมมวลมนุษย์ให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ตั้งใจสร้างแต่กรรมดี อันเป็นเหตุแห่งการไปสู่สุคติ

                    ๓. เป็นดินแดนแห่งเนื้อนาบุญ คือ มีพระสงฆ์สาวก คือมีพระสงฆ์สาวกผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นเนื้อนาบุญ ให้ผู้คนได้ถวายทาน เพื่อสั่งสมบุญกุศล


           ทำไมต้องรู้เรื่องโอปปาติกะ
                    ๑. ช่วยพัฒนาหิริโอตตัปปะในใจคน เพราะทำให้มีความรู้สึกอายต่อการทำบาป ขณะเดียวกันก็รู้สึกกลัวผลของบาปที่จะเกิดขึ้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

                    ๒. เป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อรู้แจ้ง (ช่วยให้คนเราไปสู่สุคติในปรโลกง่ายขึ้น)

          พิสูจน์เรื่องโอปปาติกะ ด้วยการใช้ปัญญาที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา

          สรุป ผู้ที่มีความเห็นว่า โลกหน้า มี คือสภาพใจของคนที่เชื่อมั่นว่า “นรกสวรรค์มีจริง”


                ๑๐. สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ชนิดที่ทำให้แจ้งโลกนี้โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม

                ความหมาย ๒ ประเด็น
                ๑. ทำให้แจ้งโลกด้วยปัญญาอันยิ่ง หมายถึง การฝึกตนจนเกิดทิพยจักษุ หรือธรรมจักษุ ชนิดรู้แจ้งโลก และชีวิตตามจริง

                ๒. สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ หมายถึง สมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อท่านรู้แจ้งแล้วเกิดความเมตตา จึงเป็นกัลยาณมิตรให้ชาวโลก


                สมณพราหมณ์ หมายถึง
                     • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                     • พระอรหันตสาวก
                     • พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสัมมาทิฏฐิ ๑๐ เพราะทรงมีประสงค์จะสอนชาวโลกว่า
                     ๑. ต่างคนต่างเกิดมาเพื่อสร้างกรรมดี
                     ๒. บุญกุศลมีฤทธิ์สยบกิเลสได้
                     ๓. ผู้มีใจสะอาดสมบูรณ์ ย่อมรู้แจ้งเห็นแจ้งโลกนี้โลกหน้าได้
                     ๔. ต่างคนต่างต้องแสวงหาสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้พบให้ได้

               สรุป ทำให้ได้ความรู้ว่า ตราบใดยังมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบ ตราบนั้นยังจะมีพระสงฆ์ผู้รู้แจ้งโลกที่สอนผู้อื่นไม่ขาดสาย


              สรุปท้ายบท
                    จากการศึกษาเรื่องมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ ทำให้รู้ว่าเป้าหมายหน้าที่ของการเกิดมาคือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส (กำจัดกิเลส) ซึ่งเป็นกรรมดีที่จะก่อให้เกิดความสุขทั้งแก่ผู้ทำเองและแก่สังคมโดยรวม นั่นคือ การปฏิรูปมิจฉาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐินั่นเอง

                    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่รู้ว่าตนยังมีมิจฉาทิฏฐิบางประการอยู่ในจิตใจ ก็พึงปฏิรูปให้เป็นสัมมาทิฏฐิเสียให้สมบูรณ์ ใครก็ตามที่มีสัมมาทิฏฐิมั่นคงอยู่ในจิตใจแล้ว ก็พึงทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ญาติมิตรเพื่อนฝูง ที่มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เกิดความเข้าใจถูก สลัดความเข้าใจผิดหรือความเห็นผิดๆ ออกจากใจเสียแล้วพัฒนาสัมมาทิฏฐิขึ้นมาแทน ให้เป็นนิสัยประจำใจ สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นเป็นนิสัยตนเอง

 

 

 

เชิงอรรถ

ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มก.ล. ๔๕/๔๒๑
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มก.ล.๓๓/๑๙๑

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026099781195323 Mins