โทษของคนทุศีล ๕ ประการ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในเมืองนาฟันทา รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังปาฏลิคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงปาฏลิคาม พวกอุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคาม” จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับเรือนพักแรมของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี พวกอุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลิคาม ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณเข้าไปยังเรือนพักแรมแล้วปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้วปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำตามประทีปน้ำมันไว้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังเรือนพักแรม ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าสู่เรือนพักแรม ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาค
ส่วนอุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลตามล้างเท้าแล้วเข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตก อยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกอุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏฐิตามมาตรัสว่า “คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้
โทษ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็นอันมาก ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็นโทษประการที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติจะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตามพราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไปนี้เป็นโทษประการที่ ๓ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาตนรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
“คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้แล
อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ อานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมมีโภคทรัพย์เป็นอันมาก ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมขจรไปนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๕. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการ นี้แล
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลิคามเห็นชัดชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาเกือบตลอดคืน ทรงส่งกลับด้วยพระดำรัสว่า “คหบดีทั้งหลายราตรีผ่านไปมากแล้ว๒ ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” อุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลิคามทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลิคามเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง
เชิงอรรถ
๑ ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เป็นสำนวนแสดงประเพณีในการฟ้าบ้าน นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้พระผู้มี พระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง ถือบาตรและจีวรไป โดยเปลือยพระวรกายส่วนบนครองอันตรวาสก หมายถึง พระผู้รพระภาค ทรงผลัดเปลี่ยนสบง หรือขยับสบงที่น่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึง ทรงถือบาตรด้วยพระหัตถ์ทรงถือจีวร ด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง
๒ ราตรีผ่านไปมากแล้ว หมายถึง เกือบจะสว่างนั่นเอง