ปัจจัยสําคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันที่ 12 กค. พ.ศ.2566

12-7-66LB.jpg

ปัจจัยสําคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                อาจสรุปโดยย่อได้ ๕ ข้อ ดังนี้

60.JPG


               ๑. สร้างคน
               ทรงมุ่งสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นอันดับแรก โดยทรงมุ่งเป้าไปที่บุคคลที่มีบุญบารมีมากและเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหรือเป็นที่ยอมรับในยุคนั้น มีทั้งที่เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงอย่างท่านโกณฑัญญะ เป็นผู้นำทางศาสนาซึ่งมีผู้เคารพนับถือมากอย่างชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารหนึ่งพันหรือเป็นเศรษฐีมหาศาลที่มีทรัพย์สมบัติมากอย่างท่านยสกุลบุตรและสหาย และมีที่เป็นพระราชาผู้ปกครองประเทศ เช่น พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ เป็นต้น

             กลุ่มบุคคลเหล่านี้เมื่อเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาหรือได้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์แล้ว ย่อมสามารถที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป และทำให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เมื่อได้ยินข่าวที่บุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้หันมานับถือเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็เกิดความสนใจใคร่รู้ต่อคำสอนในพระพุทธศาสนา และง่ายต่อการเปลี่ยนความเชื่อถือดั้งเดิมมายอมรับนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะในกาลต่อมา

               ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเผยแผ่ไปอย่างรวดเร็ว บางคราวจึงมีปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก จะเดินทางไปถึงหมู่บ้านหรือแว่นแคว้น เพื่อประกาศพระสัทธรรม ชาวบ้านชาวเมืองก็ได้รู้ข่าวล่วงหน้าถึงการบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา และมารอต้อนรับการเสด็จมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกกันมากมาย


                ๒. สร้างวัด
                หมายถึง สร้างสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ธรรม โดยสถานที่นั้นอยู่ในทำเลที่ดี คือทั้งเหมาะต่อการฝึกอบรมพระภิกษุ และเหมาะต่อการเดินทางมาฟังธรรรมของชาวบ้านชาวเมือง ดังพระราชดำริของพระเจ้าพิมพิสารที่จะถวายสวนเวฬุวัน (สวนไผ่) แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาว่า

               “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพึงประทับอยู่ที่ไหนดีหนอ ซึ่งจะเป็นสถานที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่ถูกก้อง ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย....

                 สวนเวฬุวันของเรานี้แล ไม่ใกล้ ไม่ไกลจากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคมกลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่ถูกก้องเป็นสถานที่ควรแก่ผู้ต้องการความสงัดและควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย ฉะนั้น เราจึงถวายสวนเวฬุวัน แก่ภิกษุสงฆ์อันมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประมุข”

                 วัดสำคัญอื่น ๆ ในยุคพุทธกาล ก็ล้วนสร้างขึ้นในลักษณะเดียวกับพระเวฬุวันนี้เอง คือ มีลักษณะเป็นสวนป่าที่กว้างขวางร่มรื่น ตั้งอยู่ห่างชุมชน มีความสงบวิเวก เหมาะที่พระภิกษุสามเณรจะศึกษาธรรมะจากอุปัชฌาย์อาจารย์และหลีกเร้นไปบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อกำจัดกิเลสอาสวะให้สิ้นไป แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก พระภิกษุสามารถจะเดินไปบิณฑบาตได้ ไม่ลำบาก และประชาชนก็สามารถเดินทางมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมได้ง่าย ความพอดีของทำเลที่ตั้งของวัดในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ มีส่วนช่วยอย่างมากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปอย่างรวดเร็ว และทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้นาน


                ๓. มีผู้อุปถัมภ์
                หมายถึง มีผู้อุปถัมภ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีศักยภาพมาก ทั้งที่เป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์ด้วยพระราชอำนาจและพระราชสมบัติ รวมถึงมหาเศรษฐีที่สมบูรณ์ด้วยกำลังทรัพย์ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์ผู้ครองประเทศมหาอำนาจในยุคนั้น เมื่อได้บรรลุโสดาบันแล้วได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งป้องกันคุ้มครองภัยอันจะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาในทุกด้าน ดังที่พระองค์ถึงกับสั่งถอดยศและเนรเทศอำมาตย์ที่มีจิตคิดร้ายต่อพระภิกษุ และได้แต่งตั้งหมอชีวกโกมารภัจจ์ ให้เป็นแพทย์หลวงดูแลรักษาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ และพระองค์ยังมีส่วนอย่างสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในแคว้นมคธ และแคว้นอื่น ๆ โดยที่บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ให้ความเคารพเกรงใจต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเหตุว่า ทรงเป็นศาสดาของพระเจ้าพิมพิสารและพระบรมวงศานุวงศ์ และยังปรากฏว่า พระเจ้าพิมพิสารได้ส่งพระราชสาส์นแจ้งข่าวการเสด็จอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปยังพระราชาแว่นแคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีป เช่น พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งแคว้นอวันดี และพระเจ้าปุกกุสาติแห่งแคว้นคันธาระ และทรงเป็นพระญาติกับพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศล จึงเป็นเหตุให้มีพระราชาแคว้นต่าง ๆ เสื่อมใสนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจํานวนมาก

                นอกจากนั้น ยังมีฝ่ายมหาเศรษฐีคนสำคัญหลายท่าน ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย และได้อุปถัมภ์ในการสร้างวัด และบำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ และเครื่องอุปโภคบริโภคอันสมควรแก่สมณะอย่างเต็มที่ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา มหาอุบาสิกาแห่งกรุงสาวัตถี ท่านราชคหเศรษฐีแห่งกรุงราชคฤห์ ท่านเมณฑกเศรษฐีแห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ ท่านธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาเกต เพราะการอุปถัมภ์ของท่านมหาเศรษฐีเหล่านี้เอง ที่มีส่วนอย่างมากต่อการเผยแผ่พระศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในอินเดียยุคนั้นได้อย่างรวดเร็ว สมจริงดังคำที่ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” หากปราศจากการอุปถัมภ์ของท่านเหล่านี้พระภิกษุสงฆ์คงอยู่กันด้วยความยากลำบากต้องขัดสนด้วยปัจจัย ๔ กำลังใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะย่อหย่อนไป ผู้มาบวชในพระศาสนาก็จะน้อยไปตามส่วน


                ๔. มีแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
                หมายถึง มีโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหลักแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พระภิกษุทุกรูปนำไปปฏิบัติเป็นรูปแบบเดียวกัน ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาดำเนินไปอย่างเป็นระบบ มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แม้เมื่อสงฆ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ สงฆ์แพร่หลายอยู่ในที่ห่างไกลกัน ก็ยังคงมีทิศทางในการเผยแผ่พระสัทธรรมไปในทิศทางเดียวกันได้ และที่สำคัญการบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งทางความเชื่อ ทั้งความเชื่อหลักของพวกพราหมณ์ และความเชื่อของลัทธิศาสนาต่าง ๆ ที่มีแพร่หลายในยุคนั้น

                หากว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่ยึดหลักของโอวาทปาฏิโมกข์ คือ ไม่เผยแผ่ด้วยการว่าร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายขู่เข็ญให้เชื่อ รวมทั้งมีความอดทนเป็นพื้นของจิตใจ อาจก่อให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างลัทธิความเชื่อและนำมาซึ่งความรุนแรง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในยุคนั้นอย่างยิ่ง


              ๕. มีรากฐานการปกครอง
              หมายถึง รากฐานการปกครองของสงฆ์ ที่ช่วยให้พระภิกษุสงฆ์อยู่กันด้วยความผาสุก เป็นสังคมที่เอื้อต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ฝึกฝนอบรมตนเอง และสามารถที่จะทำการเผยแผ่พระศาสนาได้อย่างเป็นระบบ และช่วยให้หมู่สงฆ์ตั้งมั่นได้อย่างยาวนาน

              การปกครองหมู่สงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ยุค อาศัยรูปแบบของการบวชพระภิกษุ คือ

              ยุคแรก การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นยุคแรกของพระพุทธศาสนาที่มีพระภิกษุสงฆ์ไม่มากนัก และทุกรูปล้วนแต่เป็นพระอริยบุคคลทั้งสิ้น จัดเป็นการปกครองหมู่สงฆ์แบบมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลาง ทุกรูปรับการฝึกอบรมโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรับนโยบายในการ เผยแผ่พระศาสนาโดยตรงจากพระองค์

               ยุคที่สอง การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา เป็นช่วงหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกชุดแรกจำนวน ๖๑ รูป ออกไปประกาศพระศาสนายังที่ต่าง ๆจึงทำให้มีพระภิกษุบวชเข้ามาบวชจำนวนมากขึ้น บางครั้งเกิดความยากลำบากในการเดินทางมาขอบวชกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงเนื่องจากหนทางไกลทุรกันดาร พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุเหล่านั้น ให้การบวชแบบดิสรณคมนูปสัมปทาแก่กุลบุตรผู้มาขอบวชได้ จึงทำให้เกิดมีการปกครองระหว่างอุปัชฌาย์กับเหล่าศิษย์ที่ตนเองให้บวชเป็นหมู่ย่อย ๆ จัดเป็นการปกครองหมู่สงฆ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบหมายภาระในการปกครองสงฆ์ให้แก่พระสาวกผู้เป็นอาจารย์แต่ละท่าน ให้ช่วยกันปกครองลูกศิษย์ของตนเอง

             ยุคที่สาม การบวชแบบญัตติจตุตถกรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่หมู่สงฆ์ โดยให้หมู่สงฆ์ประชุมกันลงความเห็นและรับผิดชอบในการรับกุลบุตรเข้าบวชในพระศาสนา และให้ช่วยกันอบรมสั่งสอนโดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นหลัก และมีหมู่สงฆ์คอยช่วยเหลือดูแลแนะนำหลักในการพิจารณาของคณะสงฆ์ โดยทรงกำหนดพระวินัยในการบวชนี้อย่างละเอียดให้เป็น

            การบวชแบบที่สามนี้เองเป็นจุดเริ่มต้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางรากฐานให้หมู่สงฆ์ปกครองกันเองได้แม้เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้มากมาย ให้หมู่สงฆ์ใช้ในการตัดสิน วินิจฉัยกระทำกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพระศาสนา เช่น การบรรพชาอุปสมบท การตัดสินอธิกรณ์ การลงโทษพระภิกษุผู้กระทำความผิดการประชุมกันสวดปาฏิโมกข์ การรับกฐิน การปวารณา เป็นต้น

              ปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทําให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ได้อย่างกว้างไกล มีความมั่นคงมากว่า ๒,๕๐๐ ปี อันเป็นเครื่องยืนยันถึงธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ไม่จำกัดกาล คือ อยู่เหนือกาลเวลา ไม่แปรเปลี่ยนอย่างคำสอนของลัทธิความเชื่ออื่น ๆ

              อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของพระสัทธรรมนี้จะยาวนานหรือหดสั้นเพียงใดก็ล้วนขึ้นกับพุทธศาสนิกชนในปัจจุบัน กล่าวคือ มีความเคารพและยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หมั่นศึกษา ฝึกปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด จึงเป็นหน้าที่สําคัญของเราที่จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง ก่อประโยชน์สุขแก่มหาชนตลอดไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034161198139191 Mins