บทที่ ๓
กูฏทันตสูตร
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
๑) เพื่อให้ทราบถึงการบูชายัญหรือการให้ทานที่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อลบล้างความเชื่อผิด ๆ แก่ผู้นำประเทศ และพัฒนาจิตใจของประชาชนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
๒) เพื่อให้เห็นวิธีการปกครองประเทศเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง
บทนำ
กูฏทันตสูตร แปลว่า พระสูตรที่ว่าด้วยกฏทันตพราหมณ์ (กูฏทันตะ แปลว่า ฟันเหยิน) ที่ชื่ออย่างนี้ เพราะเนื้อหาสำคัญของพระสูตร เป็นข้อสนทนาระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับกูฏทันตพราหมณ์ โดยกูฏทันตพราหมณ์เป็นผู้ถาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสตอบ
จุดเด่นของพระสูตร
พระสูตรนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ “เรื่องของการปกครอง” โดยได้แสดงถึงวิธีการปราบปรามโจรผู้ร้ายให้หมดไปด้วยสันติวิธี และการปรึกษาขอความร่วมมือจากกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพในบ้านเมือง เมื่อต้องการจะประกอบกิจการงานใด ๆ รวมถึงการทำบุญที่มีผลมากด้วย
ความย่อ
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ ชานุมัตตะ แคว้นมคธ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานหมู่บ้านนี้เป็นพรหมไทยให้กูฏทันตพราหมณ์ปกครอง กฏทันตพราหมณ์กำลังเตรียมการจัดทำพิธีบูชามหายัญ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ประการ เพื่อความสุขความเจริญของตนเองและประชาชนในหมู่บ้าน โดยเตรียมสัตว์ไว้ฆ่าบูชายัญ คือ วัวเพศผู้ ลูกวัวเพศผู้ลูกวัวเพศเมีย แพะ และแกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว เนื่องจากตนไม่ทราบว่าจะทำพิธีนี้อย่างไร แต่เนื่องจากเคยได้ยินว่าพระศาสดาทรงทราบถึงวิธีบูชามหายัญเป็นอย่างดี ฉะนั้น เมื่อทราบจากพราหมณ์ทั้งหลายว่า ขณะนี้พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ ณ สวนอัมพลัฏฐิกาแล้ว จึงได้ออกไปเฝ้าเพื่อทูลถามถึงวิธีบูชามหายัญ แม้จะถูกพราหมณ์หลายร้อยคนที่มาพักเพื่อรับทานในพิธีบูชามหายัญนั้นคัดค้านว่าไม่สมควรไปเฝ้าควรให้พระศาสดาเสด็จไปหาเองกูฎทันตพราหมณ์จึงได้ยกเอาพระพุทธคุณยกขึ้นมาอ้างลบล้างเหตุผลของพวกพราหมณ์ จนในที่สุดทั้งหมดได้พากันไปเข้าเฝ้าพระศาสดา
กูฏทันตพราหมณ์พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางมาถึงสวนอัมพลัฏฐิกาแล้ว ได้ทูลถามพระศาสดา ถึงพิธีบูชามหายัญ ๓ ประการที่มีองค์ประกอบ ๑๖ ประการ พระองค์จึงตรัสตอบโดยยกเอาพิธีบูชามหายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชมาแสดงประกอบดังนี้
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมีพระราชทรัพย์มหาศาล ทรงมีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ทรงทำสงครามได้ชัยชนะจนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล วันหนึ่งทรงประสงค์จะทำพิธีบูชายัญเพื่อความสุขสวัสดีแก่พระองค์เองและอาณาประชาราษฎร์ จึงทรงปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่าจะทำอย่างไร พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลแนะนำให้ทรงทำเป็นขั้น ๆ ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑ ให้ทรงปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคน เพื่อมิให้กลับมาเป็นเสี้ยนหนามเบียดเบียนประชาราษฎร์ต่อไปอีก โดยวิธีการ ๓ อย่าง คือ
๑) ให้พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกรผู้ขยันในการทำเกษตร
๒) ให้พระราชทานต้นทุนแก่ราษฎรผู้ขยันในการค้าขาย
๓) ให้พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการผู้ขยันในหน้าที่ราชการ
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงปฏิบัติตามคำแนะนำนี้โดยเคร่งครัด ก็ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง คือ พระราชทรัพย์เพิ่มพูนมากขึ้น ๆ บ้านเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเรือนไม่ต้องปิดประตู อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า
ขั้นที่ ๒ ให้มีรับสั่งถึงบุคคลในพระราชอาณาเขต ๔ จำพวก คือ
๑) เจ้าผู้ครองเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราช
๒) อำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่
๓) พราหมณ์มหาศาล
๔) คหบดีผู้มั่งคั่ง
เพื่อขอให้บุคคลเหล่านี้รับทราบการพระราชพิธีบูชามหายัญ และขอความเห็นชอบด้วย ซึ่งปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับการตอบรับรองด้วยดี คำรับรองนี้เรียกว่า อนุมัติ ๔ (จากบุคคล ๔ จำพวก) ถือเป็นองค์ประกอบ ๔ ประการในองค์ประกอบทั้งหมด ๑๖ ประการ
ขั้นที่ ๓ ตรวจหาคุณสมบัติ ๘ ประการของเจ้าของพิธีบูชามหายัญ คือ พระเจ้ามหาวิชิตราช และคุณสมบัติ ๔ ประการของผู้ทำพิธี คือ พราหมณ์ปุโรหิตเอง ปรากฏว่าทั้งพระเจ้ามหาวิชิตราช และพราหมณ์ปุโรหิตมีคุณสมบัติครบถ้วนตามตำรา
จึงเป็นอันได้องค์ประกอบของมหายัญครบทั้ง ๑๖ ประการ (อนุมัติ ๔, คุณสมบัติของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘, และคุณสมบัติของปุโรหิต ๔) พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลอธิบายเหตุผลให้ทรงสบายพระทัยว่า ผู้เป็นเจ้าของบูชามหายัญที่มีองค์ประกอบ ๑๖ ประการอย่างนี้ จะไม่มีใครครหานินทาได้ภายหลัง
ขั้นที่ ๔ ให้ทรงวางพระทัยในการบูชามหายัญ ๓ ประการ คือ ต้องไม่ทรงเดือดร้อนพระทัยว่า
๑) กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรา จักสิ้นเปลืองไป
๒) กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรา กำลังสิ้นเปลืองไป
๓) กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรา ได้สิ้นเปลืองไปแล้ว
ขั้นที่ ๕ ให้ทรงวางพระทัยในผู้มารับทาน ซึ่งจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน โดยให้ทรงตั้งพระทัยเจาะจงให้แก่ผู้ที่งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เท่านั้น
ขั้นที่ ๖ ในการทำพิธีบูชามหายัญนั้น ต้องไม่ฆ่าวัว แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ต้องไม่ตัดไม้ทำลายป่ามาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องตัดหญ้าคา พวกทาสกรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ต้องถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ตนไม่ต้องการ สิ่งที่ต้องใช้ในพิธีมีเพียงเนยใส เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเตรียมการตามขั้นตอนนั้นแล้ว เจ้าผู้ครองเมือง พวกอำมาตย์ พวกพราหมณ์มหาศาล และพวกคหบดี ได้นำทรัพย์พวกละจำนวนมากมาถวายร่วมในพิธีนั้น แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชไม่ทรงรับ กลับพระราชทานทรัพย์ให้แก่บุคคลเหล่านั้นอีกด้วยบุคคลทั้ง ๔ จำพวกจึงได้จัดตั้งโรงทานขึ้นในทิศทั้ง ๔ ของหลุมยัญ คือ พวกเจ้าผู้ครองเมืองตั้งโรงทานในทิศตะวันออก พวกอำมาตย์ในทิศใต้ พวกพราหมณ์มหาศาลในทิศตะวันตก และพวกคหบดีในทิศเหนือ แล้วทำการแจกทานไปพร้อม ๆ กับพระเจ้ามหาวิชิตราช
จากนั้น กูฏทันตพราหมณ์จึงทูลถามพระศาสดาว่า ยังมียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่ามหายัญดังกล่าวหรือไม่ พระศาสดาตรัสตอบว่า มี คือ นิตยทาน (การให้ทานเป็นประจำแก่ผู้มีศีล)
ทูลถามว่า ยัญอย่างอื่นที่มีการเตรียมน้อย แต่มีผลมากกว่านิตยทานมีหรือไม่ตรัสตอบว่า มี คือ การสร้างวิหารอุทิศถวายแก่สงฆ์จากทิศทั้ง ๔
ทูลถามว่า ยัญอย่างอื่นที่มีการเตรียมน้อย แต่มีผลมากกว่าการสร้างวิหารมีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือ การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ทูลถามว่า ยัญอย่างอื่นที่มีการเตรียมน้อย แต่มีผลมากกว่าการถึงพระรัตนตรัยมีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือ การสมาทานศีล ๕
ทูลถามว่า ยัญอย่างอื่นที่มีการเตรียมน้อย แต่มีผลมากกว่าการสมาทานศีล ๕ มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือ การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ระดับ เจริญสมาธิภาวนาจนได้ฌาน ๔ วิชชา ๘ (รายละเอียดในสามัญญผลสูตร)
เมื่อทราบดังนี้แล้ว กูฏทันตพราหมณ์เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนาประกาศตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แล้วสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหมดที่เตรียมไว้ เมื่อได้ฟังอนุปุพพิกถาต่อไปอีก กูฎทันตพราหมณ์จึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ข้อสังเกต
พระสูตรนี้แสดงถึงหลักการที่สำคัญ ๓ ประการคือ
๑. ทรงปฏิวัติแนวความคิดเรื่องการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ เป็นการบูชาด้วยเนยใส เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ ตลอดจนการตัดไม้ทำลายธรรมชาติ
๒. ทรงแสดงให้เห็นว่ามหายัญ ๓ ประการ อันมีองค์ประกอบ ๑๖ ประการ ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์มีผลมากนั้น จริง ๆ แล้วเป็นพิธีที่ต้องเตรียมการมากแต่มีผลน้อย คือ น้อยกว่านิตยทาน (เช่น การใส่บาตรทุก ๆ เช้า) ซึ่งมีการเตรียมการน้อย หรือแม้การถือศีล ๕ ซึ่งมีการเตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่า
๓. ทรงแนะนำวิธีพัฒนาที่ยั่งยืน ๒ แบบ ได้แก่ การพัฒนาคนและการพัฒนาบ้านเมือง
• การพัฒนาคน คือ พัฒนาให้มีศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นยัญสุดท้าย
• การพัฒนาบ้านเมือง คือ พัฒนาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ หลักการปราบโจรผู้ร้าย ๓ ประการ