กิจวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2565

18-8-65-1-b.jpg

กิจวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
               พระพุทธกิจ คือ กิจที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตร
หลังจากตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว พระพุทธองค์
ทรงบำเพ็ญพุทธจริยา อันเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ทรงโปรดเวไนยสัตว์ด้วยพระอัธยาศัย
อันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกทั้งหลายให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ ให้
บรรลุอมตธรรมไม่ว่าพระพุทธองค์จะประทับอยู่ ณ ที่ใด พระองค์ก็มิได้ทรงละกิจ ๕ ประการ
คือ กิจในปุเรภัต กิจในปัจฉาภัต กิจในปฐมยาม กิจในมัชฌิมยาม กิจในปัจฉิมยาม ได้แก่
ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตปญฺจ       สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
ปโทเส ภิกขุโอวาทํ                อฑฺฒรตฺเต เทวฺปญฺหนํ
ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล               ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ               วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว


             แปลว่า เวลาเช้า เสด็จบิณฑบาต ๑  เวลาเย็น ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน ๑
เวลาย่ำค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุ ๑   เวลาเที่ยงคืน ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา ๑
เวลาย่ำรุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลก ทั้งที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรเสด็จไป
โปรด ๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมบำเพ็ญกิจ ๕ ประการ ดังนี้

              กิจในปุเรภัต เวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาตและแสดงธรรมโปรดมหาชน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ หลังจากปฏิบัติพระสรีระแล้ว ทรง
ประทับบนพุทธอาสน์ ครั้นได้เวลาภิกขาจาร ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จดำเนินไปบิณฑบาต
ยังคามนิคม บางครั้งเสด็จไปเพียงพระองค์เดียว บางครั้งมีภิกษุสาวกตามเสด็จ ชนทั้งหลาย
พากันบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้และของหอม เป็นต้น กราบทูลอาราธนาว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์ ๑๐ รูป ๒๐ รูป ๓๐ รูป
เพื่อรับอาหารบิณฑบาต ยังเรือนของพวกข้าพระองค์ แล้วรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ปูลาดอาสนะ น้อมถวายอาหารบิณฑบาตโดยเคารพ


             เมื่อพระพุทธองค์ เสร็จสิ้นภัตกิจ แล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน
บางพวกตั้งอยู่ในสรณคมน์ บางพวกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล ทรง
อนุเคราะห์มหาชนดังนี้แล้ว เสด็จกลับไปยังวิหารรอคอยภิกษุที่กลับจากบิณฑบาต ครั้นภิกษุทั้ง
หลายเสร็จภัตกิจแล้ว ภิกษุผู้อุปัฏฐากจึงกราบทูลให้ทรงทราบ ลำดับนั้นพระพุทธองค์เสด็จเข้า
พระคันธกุฎี


๒. กิจในปัจฉาภัต เวลาบ่าย ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุสงฆ์และมหาชน
             ครั้นบำเพ็ญกิจในปุเรภัตแล้ว ประทับนั่ง ณ ศาลาปรนนิบัติใกล้พระคันธกุฎี ทรง
ประทานโอวาทภิกษุสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด และตรัสว่า
การได้เกิดเป็นมนุษย์ หาได้ยาก
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า หาได้ยาก
พระสัทธรรม หาได้ยากยิ่ง
การถึงพร้อมด้วยศรัทธา หาได้ยาก
การบวช หาได้ยาก การได้ฟังพระสัทธรรมหาได้ยากยิ่ง

 

            ณ ที่นั้น ภิกษุบางพวกทูลถามกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทาน
กัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตของภิกษุเหล่านั้น จากนั้นภิกษุทั้งหลายถวายบังคมลา แล้วไปสู่ที่พัก
กลางวันของตน ๆ บางพวกไปป่า บางพวกไปสู่โคนไม้ บางพวกไปภูเขาและถ้ำ เป็นต้น

            ลำดับนั้น พระผู้ที่พระภาคเจ้าจะเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ถ้ามีพุทธประสงค์ก็จะทรงสำเร็จ
สีหไสยาสน์ครู่หนึ่ง ครั้นมีพระวรกายปลอดโปร่งแล้ว เสด็จลุกขึ้นตรวจดูโลกในภาคที่สอง
ณ คามหรือนิคมที่พระองค์เสด็จไปประทับอยู่

            ครั้นได้เวลาอันควร มหาชนพากันถือดอกไม้และของหอม เป็นต้น เข้าประชุมกัน
ในพระวิหาร เมื่อบริษัทพร้อมเพรียงกันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาประทับ ณ
บวรพุทธอาสน์ แสดงธรรมที่ควรแก่กาลสมัยแก่มหาชนเหล่านั้น ครั้นทรงทราบกาลอันควร
แล้ว ทรงส่งบริษัทกลับ มหาชนเหล่านั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพากันหลีกไป


๓. กิจในปฐมยาม เวลาค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย
           ครั้นเสร็จกิจในปัจฉาภัตแล้ว หากมีพุทธประสงค์จะโสรจสรงพระวรกาย ก็จะ
เสด็จเข้าซุ้มอันเป็นที่สรงสนาน ทรงสรงพระวรกายด้วยน้ำที่ภิกษุอุปัฏฐากจัดถวาย เสร็จแล้ว
ทรงครองจีวรเฉวียงบ่า เสด็จไปประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ภิกษุอุปัฏฐากเตรียมไว้ ทรงหลีกเร้น
อยู่ครู่หนึ่งแต่ลำพังพระองค์เดียว


           จากนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันมาเฝ้า บางพวกทูลถามปัญหา บางพวกทูลขอ
กัมมัฏฐาน บางพวกทูลขอฟังธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ความอนุเคราะห์แก่ภิกษุ
ทรงแก้ปัญหา ทรงประทานกัมมัฏฐาน ทรงแสดงธรรม ทรงประทับตลอดยามต้นด้วยกิจเหล่านี้
ให้ภิกษุทั้งหลายสำเร็จกิจตามที่ประสงค์ ครั้นได้เวลาอันควร ภิกษุทั้งหลายถวายบังคมทูลลา
พระผู้มีพระภาคเจ้าหลีกไป นี้เป็นกิจในปฐมยาม


๔. กิจในมัชฌิมยาม เวลาเที่ยงคืน ทรงแก้ปัญหาเทวดา
            เมื่อพระพุทธองค์สิ้นสุดกิจในปฐมยามแล้ว เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุได้โอกาส
ก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างทูลถามปัญหาแก่เทวดาเหล่านั้น ทรงยังให้มัชฌิมยาม
ผ่านไปด้วยการอนุเคราะห์เทวดาทั้งหลาย นี้เป็นกิจในมัชฌิมยาม

๕. กิจในปัจฉิมยาม เวลาย่ำรุ่ง ทรงแผ่ข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ผู้ควรบรรลุธรรม
กิจในปัจฉิมยาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
ส่วนแรก เสด็จจงกรม เพื่อทรงเปลื้องความล้าแห่งพระพุทธสรีระจำเดิมแต่ปุเรภัต
ส่วนที่สอง ทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา
ส่วนที่สาม เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ

             อรรกถาท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะทรงแผ่ข่ายพระญาณ ตรวจดู
สัตว์โลก วันละ ๒ ครั้ง คือ ในเวลาย่ำรุ่ง และในเวลาบ่าย เพื่อพิจารณาบุคคลผู้สร้างสม
บุญญาธิการไว้ด้วยอำนาจทานและศีล ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เพื่อเสด็จไปโปรด
ชนเหล่านั้นให้ได้มนุษย์สมบัติ หรือ นิพพานสมบัติ ตามบุญบารมีของแต่ละคน โดยมิทรงคำนึงถึง
ว่าหนทางนั้นจะไกล หรือ ใกล้เพียงใด นี้เป็นกิจในปัจฉิมยาม
           ครั้งพุทธกาล ในสถานที่มีภิกษุอยู่แม้เพียงรูปเดียว ก็จะเตรียมจัดพุทธอาสน์
ไว้ทุกแห่ง พร้อมที่จะรับเสด็จพระพุทธองค์ เพราะพระศาสดาทรงมนสิการถึงเหล่าภิกษุ
ผู้รับกัมมัฏฐาน ในสำนักของพระองค์ไปแล้ว ว่าจักสามารถยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้หรือไม่
ครั้นทรงทราบว่า ภิกษุใดละจากกัมมัฏฐานตรึกถึงอกุศลวิตกอยู่ เป็นต้น ก็จะไปทรงแสดง
พระองค์ ณ ที่นั้น ประทับบนพุทธอาสน์ที่ภิกษุจัดเตรียมไว้ ประทานโอวาทเพื่ออนุเคราะห์ภิกษุ
นั้นให้สำเร็จประโยชน์ แล้วจึงเสด็จกลับที่ประทับของพระองค์
             พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจ ๕ ประการนี้ ด้วยพระมหากรุณาคุณ
อันยิ่งใหญ่ ทั้งในพรรษากาลและนอกพรรษากาล โดยมิได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยหรือ
ยากลำบากแต่ประการใด นับแต่ตรัสรู้ตราบจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นเวลา
ถึง ๔๕ พรรษา

 

เชิงอรรถ

การท่องเที่ยวรออาหาร

การขบฉันอาหาร หมายถึง การกินอาหาร

สีหไสยา = สีหไสยาสน์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030855313936869 Mins